เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เทคนิคฝึกปลาช่อน ให้กินอาหารเม็ด และจิ้งหรีด
   
ปัญหา :
 
 
ปลาช่อน มีชื่อสามัญ STRIPED SNAKE-HEAD FISH

ชื่อวิทยาศาสตร์ Channa striatus เป็นปลาพื้นเมืองของไทย พบเห็นทุกภาคของไทย นอกจากนี้ ยังมีแพร่หลายในประเทศจีน อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ด้วย

ในธรรมชาติชอบอาศัยอยู่ในแม่น้ำลำคลอง อ่างเก็บน้ำ หนอง และบึง ซึ่งมีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงอยู่ในน้ำเท่านั้น แต่ยังสามารถเคลื่อนไหวไปมาบนบกหรือฝังตัวอยู่ในโคลนเป็นเวลานานๆ ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจนั่นเอง

ข้อมูลทางวิชาการของกรมประมงระบุไว้ว่า ปลาช่อน เป็นปลาที่มีเกล็ด ลำตัวอ้วนกลมและยาวเรียว ท่อนหางแบนข้าง หัวแบนลง เกล็ดมีขนาดใหญ่และเกล็ดตามลำตัวเป็นสีเทาจนถึงน้ำตาลอมเทา ปากกว้างมาก มุมปากยาวถึงตา ริมฝีปากล่างยื่นยาวกว่าริมฝีปากบน มีฟันซี่เล็กๆ อยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ตามีขนาดใหญ่ ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหลังมีก้านครีบ 38-42 อัน ครีบก้นมีก้านครีบ 24-26 อัน ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบท้องมีขนาดเล็ก ครีบหางกลม โคนครีบหางแบนข้างมาก ลำตัวส่วนหลังมีสีดำ ท้องสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง เกล็ดตามเส้นข้างลำตัวมีจำนวน 49-55 เกล็ด

สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม แต่ช่วงที่แม่ปลามีความพร้อมมากที่สุดคือในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ในฤดูวางไข่จะเห็นความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้กับปลาเพศเมียได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ปลาเพศเมียลักษณะท้องจะอูมเป่ง ช่องเพศขยายใหญ่มีสีชมพูปนแดง ครีบท้องกว้างสั้น ส่วนปลาเพศผู้ลำตัวมีสีเข้ม ใต้คางมีสีขาว ลำตัวยาวเรียวกว่าตัวเมีย พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ควรมีน้ำหนักตัวประมาณ 800-1,000 กรัม

ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ปลาช่อนจะสร้างรังวางไข่ตามแหล่งน้ำนิ่ง ความลึกประมาณ 30-100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังด้วยการกัดหญ้าหรือพันธุ์ไม้น้ำ และใช้หางโบกพัดตลอดเวลา เพื่อทำให้รังมีลักษณะเป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-40 เซนติเมตร ปลาจะกัดหญ้าที่บริเวณกลางๆ ของรัง ส่วนดินใต้น้ำปลาก็จะตีแปลงจนเรียบ

หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะคอยรักษาไข่อยู่ใกล้ๆ เพื่อมิให้ปลาหรือศัตรูอื่นเข้ามากิน จนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้พ่อแม่ปลาก็ยังให้การดูแลพาลูกหาอาหาร เมื่อลูกปลามีขนาด 4.5-6 เซนติเมตร จึงสามารถแยกตัวออกไปหากินตามลำพังได้ ซึ่งลูกปลาในวัยนี้มีชื่อเรียกว่า ลูกครอกหรือลูกชักครอก

ลูกปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะมีประมาณ 2,000 ตัว ซึ่งระยะนี้ชาวบ้านผู้รวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจะจับมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเนื้อ

ในประเทศไทยมีข้อมูลว่า มีการเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพครั้งแรกเกิดขึ้นเกือบครึ่งศตวรรษ ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยชาวจีน ที่ตลาดบางลี่ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นนายทุนได้รวบรวมลูกพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตพื้นที่อำเภอสองพี่น้องมาทดลองเลี้ยงดู และเห็นว่าพอเลี้ยงได้จึงออกทุนให้กับชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาติดกับแม่น้ำท่าจีนและคลองสองพี่น้องเลี้ยงเป็นอาชีพ ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ แต่ที่ยังเป็นแหล่งผลิตใหญ่อยู่ก็หนีไม่พ้นอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ปลาช่อนในธรรมชาติชอบกินลูกกบ ลูกเขียด และลูกปลาเป็นอาหาร ดังนั้น เมื่อนำมาเลี้ยงเกษตรกรจะนิยมซื้อปลาเป็ดหรือปลาทะเลมาเลี้ยงเป็นอาหาร ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเลี้ยงปลาชนิดนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลทะเล

มีชาวบ้านหลายที่ฝึกให้ลูกปลาช่อนหรือลูกครอกกินอาหารเม็ด แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากในช่วงวัยแรกเกิดจนถึงเป็นลูกครอก พ่อแม่ปลาจะสอนให้กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร

ดังนั้น เมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อหรือกระชัง ลูกครอกมักไม่ยอมกินอาหาร ยกเว้นปลาเป็ดผสมรำ โดยวางไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบบลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2-3 เซนติเมตร

ปลาโตขึ้น ลักษณะการให้อาหารและประเภทอาหารส่วนใหญ่ก็ยังเหมือนเดิม มิแปลกที่พื้นที่ไกลจากชายฝั่งทะเลจึงไม่นิยมเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ ทั้งๆ ที่ราคารับซื้อผลผลิตสูง แต่ก็ยังไม่คุ้มค่ากับการเลี้ยงขนส่งปลาทะเลเพื่อใช้เป็นอาหารปลาช่อน โดยเฉพาะยุคที่ราคาน้ำมันสูงลิ่วขึ้นทุกๆ วัน



ฝึกปลาช่อน ให้กินอาหารเม็ด ต้องใจเย็นๆ

คุณปราโมทย์ สิงห์แก้ว เกษตรกรบ้านคลองแขยง หมู่ที่ 1 ตำบลพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร โทร. (087) 509-8159 เกษตรกรน้องใหม่ที่อยากเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ เนื่องจากตลาดรับซื้อปลาใหญ่ที่นี่ให้ราคาดี

"ผมเพิ่งเลี้ยงปลาช่อน และไม่ค่อยมีเงินด้วย แต่มีเวลาเหลือหรือว่างเยอะ ดังนั้น ทำให้สามารถนั่งดูพฤติกรรมลูกปลาได้วันละหลายชั่วโมง และพบว่าลูกปลาช่อนนี้เราสามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ โดยการทำให้อาหารเม็ดเคลื่อนไหวได้คล้ายกับอาหารปลาตามธรรมชาติทั่วๆ ไป"

คุณปราโมทย์ บอกว่า การทำอาหารเม็ดให้เคลื่อนไหวได้นั้น จะต้องใช้วิธีการหว่าน แต่ค่อยๆ หว่านทีละนิด ซึ่งทำให้ลูกปลาเข้าใจว่าเป็นเหยื่อที่มีชีวิต จากนั้นจะใช้ปลาฮุบเหยื่อเลย

"เราต้องใจเย็นๆ ไม่ใช่นำอาหารมาใส่ในกำมือแล้วโยนลงไปในบ่อเลี้ยงเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ลูกปลาจะไม่กินอาหาร และทำให้น้ำในบ่อเลี้ยงเน่าเสียได้ง่าย ส่งผลให้ลูกปลามีอัตรารอดชีวิตน้อยลงด้วย" คุณปราโมทย์ กล่าว

ลูกปลาช่อนที่คุณปราโมทย์นำมาเลี้ยงหรืออนุบาลนั้น นำมาจากธรรมชาติ โดยคุณปราโมทย์จะใช้สวิงช้อนจับตามหนอง บึง และท้องนา

จากนั้นนำมาอนุบาลในรองปูนซีเมนต์ โดยปล่อยเลี้ยงในอัตรา 100-150 ตัว ต่อ 1 รองปูนซีเมนต์ คุณปราโมทย์ บอกว่า วันแรกไม่ต้องให้อาหาร เนื่องจากปลายังไม่สามารถปรับสภาพตัวเองในสถานที่ใหม่ได้

วันที่สอง เริ่มให้อาหาร โดยให้กินไข่ตุ๋น วันละ 3 ครั้ง เช้า-เที่ยง-เย็น นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้เนื่องจากปากลูกปลายังมีขนาดเล็ก ทำให้ไม่สามารถกินอาหารเม็ดได้นั่นเอง ซึ่งการอนุบาลในช่วงนี้ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทิ้ง 80 เปอร์เซ็นต์ ต่อวัน

หลังจากนั้นหรือจากลูกครอกที่มีลักษณะตัวแดงกลายสีเป็นน้ำตาลหรือดำ ปากปลาก็เริ่มใหญ่ขึ้น ก็สามารถเปลี่ยนสูตรอาหารได้ โดยใช้อาหารเม็ดไฮเกรดที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วๆ ไป เข้ามาแทนที่ได้

"อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนสูตรอาหารในช่วงแรกๆ หากเรายังเห็นว่าปากปลายังเล็กอยู่อีก ก็ควรให้อาหารเม็ดละลายน้ำหรือแช่น้ำพอหมาดๆ กินก่อนสัก 4-5 วัน ก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้กินอาหารเม็ดสำเร็จรูปในเวลาต่อมา"

อาหารเม็ดดังกล่าว คุณปราโมทย์จะให้กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ซึ่งแต่ละครั้งจะนาน เพราะว่าค่อยๆ หว่านลงไปทีละนิด

"ฟาร์มที่อื่นๆ ในช่วงลูกปลาเริ่มโต มักนิยมซื้อปลาเป็ดมาบดละเอียด และผสมกับรำ วางให้กิน แต่ที่นี่ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าห่างไกลกับทะเลมาก ไม่คุ้มกับการสั่งปลาทะเลมาเลี้ยง สู้เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดไม่ได้ แถมน้ำก็ไม่ค่อยเน่าเสียด้วย"

ในช่วงที่ลูกปลาโตขึ้น คุณปราโมทย์จะเปลี่ยนถ่ายน้ำเพียง 2-3 วัน ต่อครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะถ่ายออกทิ้ง 20-30 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง

"เราค่อยๆ หว่านอาหารเม็ดลงไป ปลาก็จะได้กินอาหารทุกตัว ทำให้ตัวโตเกือบเท่าๆ กัน และไม่มีโอกาสกินกันเองด้วย สรุปแล้วมีความเสียหายน้อย และเจริญเติบโตดีด้วย" คุณปราโมทย์ กล่าว



เพาะจิ้งหรีด เป็นอาชีพเสริมปลาช่อน

เมื่อปลาเริ่มโตขึ้น รองปูนซีเมนต์ที่ใช้เป็นสถานที่อนุบาลช่วงแรกเริ่มแคบลง คุณปราโมทย์ก็จะย้ายปลาทั้งหมดมาเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร โดยปล่อยเลี้ยงในอัตราหนาแน่น 2,000 ตัว ต่อบ่อ

"ผมเป็นเกษตรกรรายใหม่ และยังไม่ได้เลี้ยงเป็นฟาร์มใหญ่ เพราะว่ามีทุนน้อย และต้องการประสบการณ์ก่อน ซึ่งตอนนี้ผมพอมีความรู้บ้าง คิดว่าเดินมาถูกทางแล้ว เนื่องจากลูกปลาที่เราอนุบาลนี้มีอัตราเสียหายน้อย ส่วนใหญ่สุขภาพดี ตัวโตเท่าๆ กัน"

ที่ฟาร์มของคุณปราโมทย์นั้นมีลูกปลาช่อนที่เลี้ยงไว้ไม่ถึง 10,000 ตัว จุดประสงค์หลักเพื่อขุนไว้เป็นปลาใหญ่ และส่วนหนึ่งเพื่อจำหน่ายลูกปลาให้กับผู้สนใจทั่วๆ ไปด้วย

"เท่าที่ผมรู้ ปัญหาหลักในการเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพนั้น มาจากอาหาร หากเราฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ โตขึ้นเราก็มาเปลี่ยนจากอาหารไฮเกรดมาเป็นอาหารเม็ดของปลาดุกได้เลย ซึ่งก็สามารถเลี้ยงได้ทั่วประเทศ ไม่จำกัดอยู่พื้นที่ชายทะเลเท่านั้น"

ที่ฟาร์มขนาดเล็กของคุณปราโมทย์ ไม่เพียงเลี้ยงปลาช่อนเท่านั้น พื้นที่ส่วนหนึ่งยังจัดสรรเพื่อเลี้ยงจิ้งหรีดด้วย ทั้งนี้เพื่อเพาะขยายพันธุ์จำหน่ายให้ผู้สนใจและนำผลผลิตส่วนหนึ่งมาเป็นอาหารเสริมของปลาช่อนด้วย

รองปูนซีเมนต์เกือบ 20 รอง ถูกวางอย่างมีระเบียบ ภายใต้หลังคากระเบื้อง ซึ่งอยู่ข้างบ่อเลี้ยงปลาช่อนของคุณปราโมทย์ ภายในรองปูนซีเมนต์ดังกล่าว มีพ่อแม่พันธุ์จิ้งหรีดนับพันตัวต่อรองปูนซีเมนต์ และมีภาชนะใส่ขี้แกลบผสมกับน้ำด้วย ทั้งนี้เพื่อไว้สำหรับให้แม่พันธุ์จิ้งหรีดวางไข่

ไข่จะฟักเป็นตัวประมาณ 15 วัน และลูกจิ้งหรีดจะกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ ต้องมีอายุอย่างน้อย 1 เดือนครึ่ง หรือ 45 วัน

"จิ้งหรีด ที่ผมเลี้ยงนั้นขยายพันธุ์กันเร็ว และมีปริมาณมาก เพียงพอกับมาเป็นอาหารเสริมของปลาช่อนได้ ซึ่งมีต้นทุนการเลี้ยงค่อนข้างต่ำ เพราะว่าจิ้งหรีดพวกนี้มันกินใบไม้ ใบหญ้า เป็นอาหารนั่นเอง"

ปลาช่อนตัวเล็ก เขาให้กินลูกจิ้งหรีด หากปลาตัวใหญ่ขึ้นก็ให้กินพ่อแม่ที่หมดสภาพหรือมีอายุ 3 เดือน เป็นอาหาร

แม้ว่าคุณปราโมทย์เพิ่งเลี้ยงปลาช่อนเป็นอาชีพ แต่มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จสูง ด้วยว่ารู้จักสังเกต เสาะหาแนวทางแก้ปัญหาอยู่ตลอด อีกทั้งเสาะหาอาหารราคาถูก โดยเฉพาะจิ้งหรีดมาเลี้ยงเป็นอาหารด้วย จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อยู่วงการสัตว์น้ำทั้งรายใหม่และรายเก่าต่อไป

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สุพรรณบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 435
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM