เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เลี้ยงไก่เนื้อด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ ซีพีเอฟ ปักธงชัย
   
ปัญหา :
 
 
จากระบบการควบคุมภายในอาคารโรงเรือนเพาะชำหรือกรีนเฮาส์ของประเทศอิสราเอล ได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างนวัตกรรมใหม่ของระบบการเลี้ยงไก่เนื้อในประเทศไทย โดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จึงได้พัฒนามาเป็นการจัดการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการฟาร์ม

"เพราะในระบบการควบคุมในกรีนเฮาส์ที่ประเทศอิสราเอลพัฒนานั้น จะมีการใช้เซ็นเซอร์ในการควบคุมเรื่องต่างๆ ไม่ว่า อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น เราจึงคิดนำมาเป็นต้นแบบที่จะพัฒนามาใช้กับการเลี้ยงไก่เนื้อ จึงเกิดโครงการพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ"

ระยะเวลาของการพัฒนาระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ได้ดำเนินการมาเป็นเวลาประมาณ 5 ปี

" เมื่อนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในวันนี้ คนหนึ่งสามารถดูแลไก่ที่เลี้ยงได้กว่า 100,000 ตัว ซึ่งการที่คน 1 คน สามารถเลี้ยงไก่ได้ประมาณแสนตัวนั้น เป็นสิ่งที่ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ได้มอบให้เป็นนโยบายไว้นานแล้ว เราจึงได้พัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นมา และในวันนี้ได้มีการนำแนวทางของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้ไปใช้กับการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เช่น การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงไก่พ่อแม่พันุธุ์" คุณนพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่ ( สระบุรี-โคราช) กล่าวถึงที่มาของความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น

สำหรับการลงทุนของระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้ คุณนพดลบอกว่า ใช้เงินลงทุนต่อ 1 โรงเรือน ที่ประมาณ 50,000 บาท

แต่การพัฒนาระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ยังไม่สิ้นสุด ทาง ซีพีเอฟ ยังคงเดินหน้าพัฒนาอีกอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายสำคัญในอนาคตที่วางไว้อย่างหนึ่ง การทำให้คอมพิวเตอร์สามารถตัดสินใจแทนคนเลี้ยงได้เลยตั้งแต่เริ่มต้นการเลี้ยงไปจนอายุพร้อมจับ

ทั้งนี้ ภายในฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อของ ซีพีเอฟ จะมีหลักการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการควบคุมดูแลและตรวจสอบการจัดการฟาร์มไก่เนื้อ ผ่านอุปกรณ์อัตโนมัติที่ติดตั้งอยู่ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ ซึ่งโปรแกรมที่ใช้ดังกล่าวนี้จะมีจุดเด่นในด้านการประมวลผลและการจัดการ รวมถึงการสื่อสาร สามารถรายงานสถานการณ์ที่มีปัญหาให้ผู้รับผิดชอบทราบได้ทันท่วงที

จากจุดนี้จึงส่งผลให้การจัดการฟาร์มมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการควบคุมจัดการฟาร์มได้ 24 ชั่วโมง ทำให้ผู้เลี้ยงไก่ 1 คน สามารถจัดการดูแลโรงเรือนเลี้ยงไก่ กว้าง 12 เมตร ยาว 120 เมตร ความจุไก่เนื้อกว่า 18,000 ตัว ได้กว่า 6 โรงเรือน จากเดิมที่สามารถดูแลได้เพียงโรงเรือนเดียวเท่านั้น หรือหมายความว่า ผู้เลี้ยง 1 คน สามารถจัดการฟาร์มไก่เนื้อกว่า 1.25 แสนตัว ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากที่พักในบริเวณฟาร์ม โดยไม่ต้องเข้าไปในโรงเรือน

ดังนั้น การใช้คนงานถึง 6 คน ในการดูแลไก่เนื้อกว่า 1.25 แสนตัว จึงกลายเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว

ภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ของ ซีพีเอฟ จะประกอบด้วยอุปกรณ์อัตโนมัติ เช่น ที่ชั่งน้ำหนักไก่ ที่ให้อาหาร ที่ให้น้ำ ตัวควบคุมความชื้น เป็นต้น ทั้งจะทำงานร่วมกันภายใต้การควบคุมดูแลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้การจัดการดูแลและการเลี้ยงเป็นไปตามเป้าหมายที่ฟาร์มกำหนดไว้

เช่น การกำหนดอุณหภูมิและความชื้นในโรงเรือนให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของไก่ โดยไก่อายุ 1-7 วัน ต้องการอุณหภูมิระหว่าง 32-35 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิภายในโรงเรือนลดลงจนต่ำกว่าที่กำหนด โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะสั่งการให้เครื่องทำความร้อนหรือฮีเตอร์ทำงานเพื่อปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม

แต่ในกรณีไก่อายุประมาณ 20-40 วัน ต้องการอุณหภูมิระหว่าง 27-29 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นจนเกินโปรแกรมที่กำหนดไว้ โปรแกรมจะสั่งการให้ม่านน้ำไหลผ่านเยื่อกระดาษ เพื่อปรับอุณหภูมิให้เย็นลง

ด้านการควบคุมดูแลจะแสดงสถานะการเลี้ยงและการจัดการฟาร์ม เช่น อายุของไก่ อุณหภูมิ และความชื้นภายในโรงเรือน อุณหภูมิและความชื้นภายนอกโรงเรือน ความดันอากาศที่ใช้ควบคุมภายในโรงเรือน น้ำหนักเฉลี่ยของไก่ ปริมาณอัตราการกินอาหารและน้ำ ระดับการทำงานของพัดลม อัตราการสูญเสียของไก่ที่เลี้ยง ไปจนถึงสัญญาณเตือนความผิดปกติไปจากค่าที่กำหนดไว้ เช่น เกิดน้ำรั่วในระบบ

ในส่วนของผู้เลี้ยง จะดูแลสุขภาพไก่ ตลอดจนอัตราการเจริญเติบโตผ่านโทรทัศน์วงจรปิดโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปในโรงเรือนได้เลย

ทั้งนี้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นมานี้ ยังสามารถบันทึกข้อมูลการจัดการฟาร์มให้ผู้เลี้ยงตรวจสอบได้อีกครั้งว่ามีความผิดปกติในระหว่างการเลี้ยง หรือมีความเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งโปรแกรมจะมีการบันทึกสถานะการดูชนิดวันต่อวัน การตรวจสอบย้อนหลัง 10 วัน หรือการตรวจสอบตลอดการเลี้ยง

จากข้อมูลที่ได้รับมานี้ จึงทำให้ผู้เลี้ยงสามารถนำส่งแฟ้มข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการได้อย่างสะดวก โดยลดการใช้กระดาษเพื่อจัดทำเอกสารต่างๆ ลงได้เป็นอย่างมาก และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสามารถเรียกดูข้อมูลต่างๆ ได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสั่งพิมพ์ข้อมูลได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการจดบันทึก

ในการจัดการฟาร์ม ผู้เลี้ยงสามารถตรวจสอบเป้าหมายการเลี้ยงได้จากปริมาณอาหารและน้ำที่ใช้ในการเลี้ยง ซึ่งจะแสดงปริมาณอาหารและน้ำที่ไก่กินได้ในแต่ละวัน ปริมาณอาหารและน้ำที่ไก่กินสะสม และสัดส่วนการกินเมื่อเทียบกับการเลี้ยงวันต่อวัน เทียบกับน้ำหนักเฉลี่ยของไก่ที่ขึ้นชั่งบนเครื่องชั่งอัตโนมัติที่ติดตั้งไว้ภายในบริเวณโรงเรือน หากมีค่าหนึ่งค่าใดเบี่ยงเบนไปจากค่าเฉลี่ยที่กำหนดไว้ ผู้เลี้ยงสามารถเข้าไปตรวจสอบภายในโรงเรือนหรือรายงานให้ผู้เกี่ยวข้องทราบได้ทันที

เมื่อผู้เลี้ยงเข้าตรวจสอบในโรงเรือนแล้วมีไก่ตาย ผู้เลี้ยงก็สามารถบันทึกข้อมูลความสูญเสียที่เกิดขึ้นภายในโรงเรือนไว้ในระบบได้ทันที แทนการจดบันทึกแล้วนำออกมาพิมพ์ในภายหลัง

นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงยังสามารถตรวจสอบสถานะการทำงานของอุปกรณ์อัตโมมัติภายในโรงเรือนต่างๆ จากภาพจำลองที่โปรแกรมแสดงไว้ และยังสามารถตรวจสอบการทำงานจากสัญลักษณ์ภายในภาพจำลองนั้นอีกด้วย

การสรรหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อนำมาใช้ในการเลี้ยงไก่เนื้ออย่างตลอดเวลานี้ มีเป้าหมายสำคัญคือ การผลิตเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อไก่ที่สดสะอาด ปลอดสาร ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคทั่วทั้งมุมโลกนั่นเอง
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครราชสีมา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 434
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM