เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ข้าวโพดหวานของไทย อนาคตยังไปได้ ตลาดนอกมี
   
ปัญหา :
 
 
ข้าวโพดหวาน เป็นพืชอาหารเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศ ในแต่ละวันมีการบริโภคและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าวโพดหวานเป็นจำนวนมาก ข้าวโพดหวานเป็นพืชอายุสั้นให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง สามารถจำหน่ายได้ทั้งตลาดบริโภคสดและส่งโรงงานอุตสาหกรรมบรรจุกระป๋อง ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และฮังการี ในปี 2546 มูลค่าการส่งออกประมาณ 2,078 ล้านบาท

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานประมาณ 210,000 ไร่ ปลูกแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางตะวันตกของประเทศไทย อายุเก็บเกี่ยวสั้น เก็บฝักสดเมื่ออายุ 65-80 วัน (ขึ้นอยู่กับพันธุ์) ปลูกได้ดีในช่วงฤดูฝน และสามารถปลูกได้ตลอดปี ถ้ามีแหล่งน้ำและดินอุดมสมบูรณ์

ข้าวโพดหวาน ส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวฝักสด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นข้าวโพดหวานกระป๋อง เช่น ซุปข้าวโพด และเมล็ดข้าวโพดในน้ำเกลือ ต้นที่เหลืออยู่หลังจากเก็บเกี่ยวฝักแล้วจะยังคงมีใบและลำต้นเป็นสีเขียวอยู่มาก ส่วนของฝักที่นำไปแปรรูปก็จะมีเศษเหลือพวกเปลือก ฝัก ไหม และซัง เป็นจำนวนมาก เศษวัสดุเหลือใช้ของข้าวโพดหวานเหล่านี้ สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้



ข้าวโพดกินฝักสดได้

เข้าโรงงานดี


ปัจจุบัน เกษตรกรในประเทศไทยปลูกข้าวโพดหวานกันมาก เนื่องจากมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น สามารถปลูกได้ตลอดปี

ข้าวโพดหวานยังเป็นพืชที่มีภาคอุตสาหกรรมรองรับแปรรูปเป็นสินค้าส่งออก จึงสร้างความตื่นตัวและมั่นใจ ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงาน ไม่ต้องกลัวว่าเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมาแล้วจะไม่มีที่ขาย แต่เกษตรกรต้องเจอกับปัญหาอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นราคาต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งน้ำมัน ปุ๋ย สารเคมีต่างๆ นอกจากนี้ ในการผลิตจากนั้นก็ยังมีปัญหาในเรื่องของโรคพืชเข้ารบกวนทำความเสียหาย ทำให้ขาดโอกาสที่จะสร้างรายได้อย่างคุ้มค่าต่อพื้นที่การเกษตร

ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จึงได้พยายามหาทางพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา ที่จะต้านทานโรคพืชต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรได้ประสบกับปัญหาน้อยที่สุดหรือไม่มีปัญหาเลย บางบริษัทก็ได้ประสานงานกับหน่วยงานทางวิชาการของรัฐในการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ได้มีการจัดงานดีๆ ขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยเชิญทางด้านเกษตรกรผู้ที่ปลูก หรือกำลังคิดที่จะปลูกข้าวโพดหวานให้มารับฟังเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการป้องกันโรคและเพิ่มผลผลิตในข้าวโพดหวาน ซึ่งงานนี้ทาง บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ได้จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดชนิดต่างๆ ราคาค่าแรงการเตรียมดินปลูก วิธีการปลูก การเลือกดินและสถานที่ การป้องกันและรักษาจากโรคของข้าวโพดหวานที่พบกันบ่อยๆ คือ โรคใบไหม้แผลใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่มีข้อสงสัย หรือกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถนำไปใช้ปรับปรุงการปลูกข้าวโพดหวานเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตให้แก่ตนเองได้ต่อไป



วิเวอร์แคว ให้ข้อมูล

ในงานดังกล่าว ได้มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลสำคัญจาก 2 บริษัทค้าส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ ของจังหวัดกาญจนบุรี ถึงสถานการณ์ของการส่งออกข้าวโพดหวานในปัจจุบัน แนวโน้มในอนาคต และบทบาทด้านต่างๆ ของบริษัทที่จะมีส่วนช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดหวานในประเทศ

ท่านแรกคือ คุณเฉลิมฉัตร จันทร์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา บริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

คุณเฉลิมฉัตร กล่าวว่า ระบบการส่งเสริมของข้าวโพดหวานในประเทศไทยนั้นมี 2 ประเภท 1. ส่งเสริมแบบฟาร์มมิ่ง คือ จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปช่วยส่งเสริมชาวบ้าน ไปแนะนำ สอน อบรมเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดหวาน

2. วิธีการจัดซื้อ คือการรับซื้ออย่างเดียว ไม่ได้ลงไปช่วยเหลือแต่อย่างใด ทางด้าน บริษัท ริเวอร์แควฯ นั้น ใช้ประเภทแรก คือ จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปถึงเกษตรกรรายย่อยอย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายประมาณ 8,000 ครอบครัว

ปัจจุบัน ทางบริษัทพัฒนาการส่งเสริมไปจนถึงขั้นระบบตรวจสอบย้อนกลับ คือทุกแปลงปลูกนั้นจะมีใบกิจกรรมแปลง มีระบบติดตามเอกสาร มีระบบแผนปลูก แล้วเชื่อมโยงมาถึง ระบบ foodsafety หรือระบบอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด สำหรับทางด้านราคา ก็จะมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งทางโรงงานนั้นตามปัจจัยค่าผลิตของเกษตรกร พื้นที่ที่ส่งเสริมอยู่มีประมาณ 30,000 ไร่ ความต้องการข้าวโพดหวานของบริษัท อยู่ที่ 70,000 ตัน ต่อปี

ส่วนเหตุผลที่จะต้องจัดอบรมหรือเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอยู่ตลอดนั้น เพราะผลผลิตต่อไร่นั้นคือสิ่งสำคัญ ถ้าผลผลิตต่อไร่เยอะขึ้นก็จะทำให้ช่วยลดต้นทุนลงได้ ยกตัวอย่าง ถ้าปลูกข้าวโพดหวานได้ไร่ละ 1 ตัน จะต้องใช้ต้นทุนเท่านี้ แต่หากได้ไร่ละ 2 ตัน ก็จะใช้ต้นทุนเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นมาไม่มากเป็นการช่วยลดต้นทุนได้หากรู้จักวิธีการปลูกที่ถูกต้อง นอกจากนี้ หากเกิดปัญหากับเกษตรกรแล้วเกษตรกรไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ก็อาจทำให้หันไปปลูกอย่างอื่นแทนก็ได้ หากเป็นเช่นนั้นจำนวนเกษตรกรที่บริษัทส่งเสริมอยู่นั้นก็จะลดลง จำนวนผลผลิตของบริษัทก็จะลดลงด้วย ถือว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะหากเกษตรกรสามารถปลูกข้าวโพดหวานขายแล้วอยู่ได้ บริษัทนั้นก็อยู่ได้ เหมือนคำสุภาษิตไทยที่ว่า "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า"

สำหรับสถานการณ์การส่งออกและแนวโน้มในอนาคตของข้าวโพดหวานนั้น คุณเฉลิมฉัตร กล่าวว่า ในเชิงการตลาดถือว่ายังดีอยู่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปรวมไปถึงภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทำให้ต่างประเทศนั้นประสบปัญหาทางด้านผลผลิตการเกษตร และการขาดแคลนอาหาร ทำให้โอกาสที่ต่างชาติจะสั่งซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเรา เป็นไปได้สูงมาก และโอกาสที่ราคาของข้าวโพดหวานจะสูงขึ้นมากกว่านี้ก็มีเช่นเดียวกัน



ความเห็นจากกาญจน์คอร์น

คุณปรีชา จงประสิทธิพร จาก บริษัท กาญจน์คอร์น จำกัด กล่าวว่า ในโลกนี้บริโภคข้าวโพดหวานปีละประมาณ 10,000 ตู้คอนเทรนเนอร์ เป็นของยุโรป 4,000-5,000 ตู้ ที่เหลือก็จะกระจายไป ไม่ว่าจะเอเชีย หรืออเมริกา เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกโรงงานในประเทศไทยก็จะส่งออกไปยังยุโรป กาญจน์คอร์น นั้นมีผลผลิตทั้งหมด 50,000 ตัน แต่ในปีนี้ ตั้งเป้าที่จะทำผลผลิต 10,000 ตัน และในปีหน้าอาจจะเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับแนวโน้มในอนาคตนั้น คุณปรีชา กล่าวว่า ทางด้านข้าวโพดหวานฝักสดจะไม่ลดลง เพราะปริมาณการบริโภคของคนน่าจะคงที่ ส่วนทางด้านข้าวโพดโรงงาน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง จะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยการปรับตัวของราคาพืชทุกอย่าง เช่นตอนนี้จะเจอกับ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ซึ่งตอนนี้มีราคาสูงทีเดียว และอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะมีผลต่อราคาของข้าวโพดหวานคือ ปริมาณความต้องการข้าวโพดในยุโรป ถ้าหากมีความต้องการสูงก็จะทำให้ราคาข้าวโพดหวานนั้นสูงขึ้นอย่างแน่นอน



เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด กว่าทศวรรษ

ได้ไปเยี่ยมชมสวนของ คุณจำนงค์ มาดทอง เกษตรกรวัย 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 97/2 หมู่ที่ 3 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และได้สอบถามถึงเรื่องราคาและรายได้

คุณจำนงค์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ตนเองขายข้าวโพดกิโลกรัมละ 3.90 บาท สำหรับการขายก็จะแล้วแต่ว่าจะแจ้งโรงงานหรือไม่ ถ้าไม่แจ้งก็ต้องแจ้งให้แม่ค้ามารับไป ช่วงเดือนตุลาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์นั้นจะได้ราคาดี ถ้าให้แม่ค้ามารับซื้อไป เพราะจะไม่ค่อยมีผลไม้ฤดูกาลออก เวลาที่ขายให้แม่ค้าเขาก็จะมารับถึงที่เลย เราก็จ้างคนมาเก็บข้าวโพดแล้วใส่ถุงปุ๋ยแล้วชั่งกิโลขาย แล้วจ่ายเงินกันเลย

"ทำไร่ข้าวโพดอย่างเดียวประมาณ 30 ไร่ ประมาณ 10 ปีเศษ เริ่มแรกนั้นข้าวโพด มีราคาโลละ 3 บาท แล้วก็ค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนนั้นน้ำมันลิตรละ 10 บาทกว่าๆ เท่านั้น ก็ไม่รู้ว่าขาดทุนหรือไม่ ก็ทำไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จะทำอะไร และก็ไม่ได้ไปกู้หนี้ยืมสินใคร ทุกอย่างเราทำเอง รถไถเราก็มี เครื่องพ่นยาก็มี ถ้าไม่มีรถไถก็จะต้องไปจ้างเขาทีละประมาณ 900 บาท ต่อ 1 ไร่ ส่วนพวกต้นข้าวโพดนั้นก็เอาไปให้วัวกิน สำหรับค่าใช้จ่ายของการปลูกข้าวโพดก็มี ยาฉีดแมลง ปุ๋ย โดยปุ๋ยนั้นใช้เยอะเหมือนกัน โดยจะให้ 3 ครั้ง ต่อ 1 ฤดูปลูก โดยจะชักร่องใส่ก่อนรอบหนึ่ง เมื่อโตมาระดับหนึ่งก็ใส่อีก เมื่อออกเกสรก็ใส่อีกทีเพื่อจะเร่งให้เม็ดข้าวโพดไม่ลีบ โดยการปลูกนั้นจะใช้เวลาประมาณ 70 วัน แต่ถ้าเป็นหน้าหนาวก็จะ 80 วัน สามารถปลูกได้ทั้งปีเลย เพราะใช้น้ำในบ่อแล้วก็เอาเครื่องสูบขึ้นมา ใช้น้ำบาดาล แต่ถ้าเป็นน้ำชลประทานก็ดีเลย สำหรับค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำนั้นจะใช้เยอะหน่อยเพราะใน 1 ไร่ นั้น จะต้องสูบประมาณ 15-16 ครั้ง เพราะเราต้องปล่อยให้น้ำอยู่ในร่องตลอด" คุณจำนงค์ บอก

คุณจำนงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนมากที่ทำนั้นก็จะทำกันในครอบครัว จะจ้างคนอื่นก็ตอนที่ฉีดยาแล้วก็เวลาหักข้าวโพด ก็ต้องจ้างเขามาช่วย จ้างหักข้าวโพดแต่ละครั้ง ประมาณกิโลกรัมละ 0.30 บาท หรือคิดกันตันละ 300 บาท ส่วนจ้างฉีดยา จะจ้างเขาถังละ 200 บาท ซึ่ง 1 ถัง ก็จะฉีดได้ประมาณ 6 ไร่ กับ 2 งาน แต่ถ้าเป็นยาคุม 6 ไร่ ต้องใช้ 2 ถัง สำหรับค่าจ้าง 200 บาท นั้น คือค่าฉีดอย่างเดียว ไม่รวมค่ายา

จากการพูดคุยกับผู้แปรรูปส่งออกข้าวโพดหวาน รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานยังน่าสนใจปลูกอย่างมาก

อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด เลขที่ 1 หมู่ที่ 13 ถนนพหลโยธิน ตำบลพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โทร. (036) 266-316-9

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 434
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM