เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปุ๋ยนั้นสำคัญไฉน
   
ปัญหา :
 
 
ผมปลูกต้นไม้ไว้หลายชนิดในสวนหลังบ้าน มีทั้งไม้ผลและพืชผัก การปลูกต้นไม้ ผมใช้ปุ๋ยเคมีที่ซื้อมาจากร้านค้า เป็นปุ๋ยสูตรเสมอ ผลของการใช้ปุ๋ยนับว่าได้ผลดี แต่ผมยังมีข้อข้องใจว่า หน้าที่ของธาตุอาหารในปุ๋ยนั้นทำหน้าที่อะไรบ้าง และการเพาะปลูกจะไม่ใช้ปุ๋ยได้หรือไม่ ขอคำอธิบายด้วยครับ
วิธีแก้ไข :
 
ปุ๋ย หมายถึง สารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ เมื่อใส่ลงดินแล้วให้ธาตุอาหารแก่พืช เพื่อบำรุงให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ตามต้องการ ก่อนที่ผมจะพูดถึงเรื่องปุ๋ยในรายละเอียดต่อไปนั้น ผมขออนุญาตพูดถึงเรื่องดินเป็นการปูพื้นก่อน เพื่อให้เข้าใจเรื่องปุ๋ยดีขึ้น

ดินดี ในอุดมคตินั้น เมื่อนำดินมา 1 กำมือ หรือ 1 ปี๊บ ก็ได้ จะประกอบด้วยเนื้อดิน 45 เปอร์เซ็นต์ ทำหน้าที่ค้ำจุนต้นไม้ อีก 5 เปอร์เซ็นต์ คืออินทรียวัตถุ ช่วยทำให้ดินร่วนซุย เก็บความชื้นได้อย่างพอเหมาะพอดี เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นไม้อย่างช้าๆ อีก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นอากาศ หมายถึงดินต้องโปร่ง และ 25 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย เป็นส่วนของความชื้น ปริมาณเปอร์เซ็นต์ข้างต้นคิดจากหน่วยปริมาตร สรุปแล้วดินดี ต้องมีเนื้อดิน 45 ส่วน อินทรียวัตถุ 5 ส่วน อากาศในดิน 25 ส่วน และน้ำหรือความชื้นอีก 25 ส่วน หากคุณปรับปรุงดินได้ตามสมบัติข้างต้น การปลูกต้นไม้ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยใดๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว อินทรียวัตถุในดินของไทย มีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น อินทรียวัตถุในดินต่ำ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ฝนตกชุก เมื่อเปิดหน้าดิน ทำการเกษตรอย่างต่อเนื่องยาวนานจึงเกิดการชะล้างหน้าดิน พัดพาความอุดมสมบูรณ์ลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง ธาตุอาหารจำนวนมากที่พืชดูดดึงไปใช้ อินทรียวัตถุในดินจะถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายนำไปใช้ประโยชน์ของตัวมันเองอย่างรวดเร็ว ทำให้อินทรียวัตถุคงเหลือในดินเฉลี่ยทั่วประเทศเพียง 0.8 เปอร์เซ็นต์ ดังที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น อดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน ประเทศไทยทำนาปีละครั้ง ชาวนาทิ้งเศษฟางข้าวไว้ในนาหลังฤดูเก็บเกี่ยว เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุลงดิน ในฤดูฝนน้ำเหนือไหลบ่านำความอุดมสมบูรณ์มาให้ ระหว่างไถนา ควายจะขับถ่ายของเสียลงในนา เป็นอาหารของต้นข้าวต่อไป นอกจากนี้ พันธุ์ข้าวปลูกยังเป็นพันธุ์ที่ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ย คือต้องการปุ๋ยในอัตราที่น้อยมาก ณ เวลานั้น ประเทศไทยผลิตข้าวได้ปีละ ประมาณ 4 ล้านตันข้าวเปลือก

หลังจากประเทศไทยมีการพัฒนาพันธุ์ข้าว กข 1 กข 2 และ กข 3 ได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา พันธุ์ข้าวทั้ง 3 ถูกออกแบบให้มีลักษณะต้นเตี้ย ตั้งตรง ใบสีเขียวเข้ม ผลผลิตสูง คุณภาพหุงต้มดี และตอบสนองต่อการให้ปุ๋ยสูง จากวันนั้นถึงวันนี้ ผลผลิตรวมของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 12, 19, 21 และ 23 ล้านตัน ตามลำดับ และสามารถครองเจ้าตลาดมาหลายปีติดต่อกัน ปริมาณการส่งออกปีละ 9.0 ล้านตันข้าวสาร มีเวียดนาม สหรัฐอเมริกา และปากีสถาน เป็นผู้ส่งออก รองลงมาตามลำดับ ในปริมาณ 4.0, 3.5 และ 2.7 ล้านตันข้าวสาร

ปัจจุบันในบริเวณที่ลุ่มภาคกลางและนาข้าวในเขตชลประทานภาคอื่นๆ ปลูกข้าวได้ 5 ครั้ง ในรอบ 2 ปี ดินแทบไม่ได้พักเลยก็ว่าได้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการใช้ปุ๋ย จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อใช้ทดแทนธาตุอาหารที่ต้นข้าวนำไปใช้บำรุงต้นและให้ผลผลิต พืชอื่นๆ หากมีการปลูกในลักษณะเดียวกันก็จะต้องใช้ปุ๋ยมากขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปุ๋ยมีราคาสูงขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว ต่อไปนี้เกษตรกรจะต้องใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อลดต้นทุนการผลิตลงได้ ทางรอดอีกทางหนึ่งคือ เกษตรกรควรใช้ปุ๋ยผสมผสานระหว่างปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีอย่างพอเหมาะพอดี

ผมขอกลับมาคุยเรื่องปุ๋ยต่อ ปุ๋ยเคมีนั้น ตามความเป็นจริงนักวิชาการเคยเรียกว่า ปุ๋ยธาตุอาหาร แต่คำแรกนั้นได้ซึมลึกเข้าไปทุกหัวระแหงแล้ว ปุ๋ยเคมีที่มีวางขายในตลาด ประกอบด้วยธาตุอาหารพืช 3 ตัว ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม

ปุ๋ยไนโตรเจน ได้จากสิ่งเหลือใช้จากอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ได้ปุ๋ยอยู่ในรูปของยูเรีย หรือปุ๋ยน้ำตาลทราย มีโครงสร้างเช่นเดียวกับน้ำปัสสาวะของมนุษย์และของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อีกรูปคือแอมโมเนียมซัลเฟต ไนโตรเจน ทำหน้าที่เร่งการเจริญเติบโตของลำต้น และใบ ทำให้ใบพืชมีสีเขียวสมบูรณ์ แต่หากให้มากเกินไป เซลล์ของพืชจะอวบน้ำ เซลล์เปราะแตกง่าย ทำให้เกิดโรคระบาดได้

ปุ๋ยฟอสฟอรัส แหล่งของวัตถุดิบได้จากหินฟอสเฟตที่มีอยู่ในดิน เนื่องจากหินชนิดนี้มีในประเทศไทยน้อยมาก จึงต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ กระบวนการผลิตปุ๋ย ทำได้ด้วยวิธีบดหินฟอสเฟตให้ละเอียด ทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถัน และก๊าซแอมโมเนีย จะได้ปุ๋ยฟอสฟอรัสในรูปของไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ทำหน้าที่เร่งการเจริญเติบโตของราก การแตกกอและการออกดอกของต้นไม้

ส่วน ปุ๋ยโพแทสเซียม แหล่งของธาตุชนิดนี้ได้จากใต้ดิน ประเทศไทยพบที่จังหวัดชัยภูมิ และอุดรธานี เรียกว่าแร่โพแทส ทำหน้าที่สนับสนุนการผลิตและส่งแป้งและน้ำตาลจากใบไปยังผลหรือลำต้น ทำให้สีของผลไม้สวยงาม น่ารับประทานยิ่งขึ้น

เนื่องจากราคาปุ๋ยสูงขึ้นมาก จึงแนะนำวิธีการใช้ปุ๋ยให้ใช้ตามค่าวิเคราะห์ดิน เมื่อพบว่าในดินมีฟอสฟอรัสอย่างพอเพียงก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยชนิดนี้อีก ทั้งนี้ เนื่องจากฟอสฟอรัสถูกอนุภาคดินดูดยึดไว้ หลังจากพืชดูดไปใช้อย่างพอเพียงแล้ว และจะปลดปล่อยฟอสฟอรัสให้เป็นประโยชน์กับพืชปลูกในฤดูต่อไป หากมีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว จะเป็นวิธีลดต้นทุนการผลิตลงอย่างเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้ หน่วยราชการที่รับบริการวิเคราะห์ดิน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคที่มีการเรียนการสอนทางการเกษตร

ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
คลองหนึ่ง
อำเภอ / เขต :
คลองหลวง
จังหวัด :
ปทุมธานี
รหัสไปรษณีย์ :
12120
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 436
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM