เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ฟาร์มกล้วยไม้ปราโมทย์ กับความสำเร็จของการผลิตกล้วยไม้สกุลหวาย (ตอนที่ 1)
   
ปัญหา :
 
 
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไทยได้ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ มีสมาคมและชมรมกล้วยไม้ต่างๆ อยู่หลายแห่งและเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของงานประจำจังหวัดหรือจัดระดับประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร หรือแม้แต่สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ที่มี คุณอนันต์ ดาโลดม เป็นนายกสมาคมคนปัจจุบัน ได้จัดงาน "มหัศจรรย์กล้วยไม้ไทย" ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ทำให้คนไทยและคนต่างชาตินับล้านคนได้เห็นถึงความสวยงามและพัฒนาการของกล้วยไม้ไทยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ในหนังสือ "มหัศจรรย์กล้วยไม้ไทย" ที่จัดทำโดยสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยได้อธิบายคำว่า "กล้วยไม้ไทย" ที่ได้นำมาใช้กับกล้วยไม้ลูกผสม ซึ่งหมายถึงกล้วยไม้ลูกผสมที่มีการปลูกเลี้ยงเป็นการค้าในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อพันธุ์กล้วยไม้ที่นำมาจากต่างประเทศ และได้มีการพัฒนาโดยการคัดเลือกและผสมพันธุ์ขึ้น สามารถนำมาปลูกในสภาพแวดล้อมของบ้านเราอย่างเป็นการค้าได้ และแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ กล้วยไม้ต้น หมายถึง กล้วยไม้ที่ใช้ประโยชน์ทั้งต้น และกล้วยไม้ตัดดอก หมายถึง กล้วยไม้ที่ตัดดอกไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันความก้าวหน้าของการปลูกกล้วยไม้ลูกผสมในประเทศไทยได้แบ่งออกเป็นหลายสกุล แต่สกุลที่จัดเป็นกล้วยไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศไทยปีละหลายพันล้านบาทและกล้วยไม้สกุลหวายของไทยนับว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก

ข้อได้เปรียบของการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในประเทศไทยมีอยู่หลายประการ อาทิ ต้นทุนแล็บ ในการปั่นตาจะใช้เงินทุนประมาณ 3 บาท ต่อต้น เท่านั้น ซึ่งนับว่าถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับแล็บจากต่างประเทศ ประการต่อมา สภาพดินฟ้าอากาศในบ้านเรามีความเหมาะสมในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ได้ทั่วประเทศ ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่มภาคกลางในเขตจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ฯลฯ เหมาะที่จะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลหวาย ซึ่งจัดเป็นกล้วยไม้ไทยที่ทำรายได้จากการส่งออกในแต่ละปีเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท สำหรับพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนเหมาะที่จะเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแคทลียา และฟาแลนนอฟซีส กล้วยไม้สกุลแวนด้าเหมาะที่จะเลี้ยงในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น

คุณปราโมทย์ อุณหบัณฑิต เจ้าของฟาร์มกล้วยไม้ปราโมทย์ บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 74110 โทร. (081) 256-8815 เป็นคนอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยกำเนิด ชีวิตมีความผูกพันและรักอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่เด็ก จัดได้ว่าลำบากมาตั้งแต่เด็ก เรียนหนังสือจบเพียงประถมศึกษาปีที่ 7 อาชีพเกษตรกรรมของครอบครัวเคยปลูกมะม่วง ส้มโอ องุ่น เลี้ยงหมู เมื่อผลผลิตออกมามีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้านและถูกกดราคา คุณปราโมทย์ได้ยกตัวอย่างประกอบ ปลูกแตงกวา และผักชี พ่อค้ามารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 20 สตางค์ (เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน) แต่เมื่อพ่อค้านำมาขายถึงผู้บริโภคได้ราคาแพงกว่าหลายเท่าตัว

คุณปราโมทย์จึงได้ปรึกษากับครอบครัวว่า ผลผลิตที่ได้ควรจะไปขายเอง จึงได้ตัดสินใจนำผลผลิตทางการเกษตรมาขายที่ปากคลองตลาด ผักชีที่ปลูกได้ เมื่อมาขายที่ปากคลองตลาดได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 3 บาท ช่วงแรกขายเฉพาะผลผลิตที่ทางครอบครัวผลิตได้ ต่อมาไม่พอขายจึงได้เป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรใกล้เคียงมาขายด้วย เมื่อเริ่มมีฐานะดีขึ้น คุณปราโมทย์ได้ไปเซ้งตึกแถวตลาดลาดพร้าวเพื่อขายของโชห่วย (ขายข้าวสาร มะพร้าวขูด ขนมหวาน ฯลฯ) ต่อมาครอบครัวใหญ่ขึ้น พี่น้องเริ่มมีครอบครัวซึ่งรวมถึงคุณปราโมทย์ด้วย คุณปราโมทย์จึงได้ตัดสินใจแยกตัวออกมาเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรรมใหม่ด้วยการปลูกกล้วยไม้



เริ่มต้นการปลูกกล้วยไม้สกุลหวาย

ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2529


คุณปราโมทย์เริ่มต้นการปลูกกล้วยไม้ด้วยการซื้อกล้วยไม้กระถางดินมาต้นละ 50 บาท ซึ่งนับว่ามีราคาแพงมากในสมัยนั้น (เคยเห็นญาติปลูกกล้วยมาก่อน คิดว่าไม่ยาก) เริ่มต้นด้วยการไปกู้เงินมาลงทุนปลูกกล้วยไม้อย่างจริงจัง พอทำเข้าจริงคุณปราโมทย์บอกว่าไม่ง่ายดังที่คิด จึงได้หาความรู้จากตำราและการไปดูงานจากสวนกล้วยไม้อื่นๆ เพิ่มเติม มีการจัดประชุมกล้วยไม้ที่ไหนก็จะไปฟัง เก็บเอาข้อคิดดีๆ จากบุคคลอื่นมาประยุกต์ใช้ ที่ผ่านมาคุณปราโมทย์บอกว่า ความรู้ในตำรากับทางปฏิบัติอาจจะไม่เหมือนกัน คุณปราโมทย์จึงได้ย้ำฝากถึงเกษตรกรที่คิดจะปลูกกล้วยไม้ว่า "อาจารย์ที่สำคัญที่สุดของเราก็คือ ความผิดพลาดของเรานั่นเอง" เมื่อประสบความสำเร็จในด้านการผลิตกล้วยไม้ ปัญหาที่ตามมาคือ ปลูกแล้วไม่รู้จะไปขายที่ไหน ด้วยอาชีพเคยเป็นพ่อค้ามาก่อนและมีประสบการณ์ในเรื่องของการผลิตและจำหน่ายเอง จึงได้นำต้นกล้วยไม้ไปขายทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดพิษณุโลก จนเป็นขาประจำมานานกว่า 20 ปี จนถึงทุกวันนี้



เริ่มซื้อที่ทำสวนกล้วยไม้เอง เมื่อปี พ.ศ. 2536

จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า คุณปราโมทย์เริ่มต้นในการปลูกกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์ด้วยการเช่าที่ทำก่อนและกล้วยไม้สกุลหวายที่เริ่มต้นปลูกนั้นไม่ได้มีการพัฒนาทางด้านสายพันธุ์ เริ่มต้นปลูกพันธุ์การค้าเพื่อตัดดอกคือ พันธุ์บอม 28 เมื่อปี พ.ศ. 2536 คุณปราโมทย์ได้ซื้อที่จำนวน 22 ไร่ (พื้นที่ซื้อแปลงแรกคือ ที่ปลูกบ้านในปัจจุบัน) ในขณะที่ซื้อที่เป็นของตนเองและปลูกกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์แล้ว คุณปราโมทย์ได้เริ่มต้นฝึกและศึกษาวิธีการผสมพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวายโดยศึกษาวิธีการผสมพันธุ์จากตำรา เริ่มผสมจาก 1-2 ฝักก่อน ได้ฝักแล้วก็เอามาดูสีว่าเป็นอย่างไร จดบันทึกไว้ว่าใช้ต้นไหนเป็นพ่อและต้นไหนเป็นแม่ ในช่วงเริ่มแรก คุณปราโมทย์ไม่ได้คำนึงว่าจะได้กล้วยไม้ลูกผสมดีเลิศ เปรียบเหมือนคนเริ่มหัดว่ายน้ำ คิดเพียงว่าผสมพันธุ์ให้เป็นก่อน ในการผสมพันธุ์ครั้งแรกคุณปราโมทย์ได้กล้วยไม้สกุลหวายลูกผสม 4-5 สายพันธุ์ และไม่ได้มีการตั้งชื่ออะไร เพียงแค่เห็นดอกกล้วยไม้ลูกผสมดอกแรกที่ผสมด้วยฝีมือของตนเองก็ภูมิใจมากแล้ว มาถึงปัจจุบันจะต้องยอมรับว่าที่ฟาร์มกล้วยไม้ปราโมทย์มีสายพันธุ์กล้วยไม้ลูกผสมนับร้อยสายพันธุ์ เพียงแต่หลายคนไม่รู้เท่านั้น เป็นที่สังเกตว่ากล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมของคุณปราโมทย์จะไม่มีการปั่นราคา ขายตามสภาพความเป็นจริงและผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพงนัก ตัวอย่างกล้วยไม้ลูกผสมของคุณปราโมทย์ที่ติดตลาดและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ กล้วยไม้สกุลหวาย ดอกสีขาว ที่มีชื่อว่า "ขาวปราโมทย์" เหล่านี้เป็นต้น ปัจจุบันกล้วยไม้ที่ปลูกเพื่อการตัดดอกเป็นการค้าในบ้านเรานั้นมีมากกว่า 100 ชนิด เกือบทั้งหมดเป็นกล้วยไม้สกุลหวายลูกผสม และกล้วยไม้ลูกผสมเหล่านี้ถึงแม้พ่อแม่เกือบทั้งหมดจะไม่ใช่กล้วยไม้ป่าของไทย แต่เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มาเลี้ยงในไทยนานจนกลายเป็นไม้พื้นเมืองของไทยไปแล้ว

ปัจจุบันคุณปราโมทย์มีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้สกุลหวายประมาณ 70 ไร่ (พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกกล้วยไม้ได้ประมาณ 40,000 ต้น) มีต้นกล้วยไม้ประมาณ 2.8 ล้านต้น ผลิตกล้วยไม้ขายในรูปไม้กระถาง ไม้ตัดดอกหรือแม้แต่ขายดอกเพื่อไปร้อยเป็นพวงมาลัยเพื่อส่งออก ตลาดในประเทศมีรถบริการส่งต้นกล้วยไม้ขายทั่วประเทศ และมีบริษัทหลายแห่งมาซื้อเพื่อการส่งออกหรือแม้แต่โรงแรมใหญ่มาซื้อโดยตรงเพื่อนำไปจัดงานต่างๆ และตกแต่งสถานที่

ความแตกต่างในการปลูกกล้วยไม้สกุลหวายของฟาร์มกล้วยไม้ปราโมทย์ เมื่อเปรียบเทียบกับฟาร์มอื่น

ประการแรก กล้วยไม้หวายลูกผสมที่เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ของฟาร์มกล้วยไม้ปราโมทย์จะไม่มีการปั่นราคาขาย จะขายในราคาที่ผู้บริโภคหาซื้อได้ ราคาจะเฉลี่ยอยู่ต้นละ 30-40 บาท และใครที่ได้ไปเที่ยวชมหรือดูงานที่สวนกล้วยไม้แห่งนี้จะพบว่า เป็นสวนกล้วยไม้ที่มีการจัดการดีมากอีกแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องความสะอาดของสวน คุณปราโมทย์ย้ำว่า การลงทุนทางด้านโรงเรือนกล้วยไม้จะใช้เงินลงทุนสูงกว่าที่อื่น โดยยึดหลักว่าสร้างครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายสิบปี และจากประสบการณ์ได้สอนให้คุณปราโมทย์ได้เรียนรู้ว่า จะต้องมีการศึกษาการเดินของน้ำในช่วงฤดูฝน เมื่อมีน้ำขังในโรงเรือนจะมีปัญหาโรคราตามมา ปัญหาเรื่องหอยระบาดทำลายมากขึ้น ถ้าสร้างโรงเรือนไม่ดี ลมแรงก็พัง ดังนั้น การลงทุนในด้านโรงเรือนกล้วยไม้ของคุณปราโมทย์จะสูงกว่าที่อื่น และสิ่งที่คุณปราโมทย์ อุณหบัณฑิต ฝากถึงเกษตรกรที่คิดจะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จะต้อง "มีความมานะพยายามไม่ท้อ หรืออาจจะท้อบ้างแต่อย่าถอย"



ขั้นตอนการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลหวายเพื่อการตัดดอก

คุณปราโมทย์บอกว่า การผลิตกล้วยไม้สกุลหวายในฤดูกาลผลิตปี พ.ศ. 2551 ราคาตกต่ำลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี กล้วยไม้ตัดดอกเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2550 จะขายได้ถึงช่อละ 8 บาท แต่ในเดือนมิถุนายน 2551 ราคาตกต่ำเหลือเฉลี่ยเพียงช่อละ 2 บาท เท่านั้น สาเหตุหลักมาจากปีนี้ฝนดีมากและปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย

สำหรับขั้นตอนการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลหวายโดยสรุปแล้ว เกือบทั้งหมดจะปลูกบนโต๊ะภายใต้หลังคาที่มุงด้วยตาข่ายพรางแสงประมาณ 50-60% การปลูกกล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมจะปลูกประมาณ 20-24 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร หรือประมาณ 16,000-19,000 ต้น ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ส่วนใหญ่จะใช้วัสดุปลูกที่หาได้ง่ายคือ กาบมะพร้าว ซึ่งจะปลูก 1 ต้น บนกาบมะพร้าวแข็งวางหงาย หรือจะปลูก 4-5 ต้น บนกระบะกาบมะพร้าว วางอยู่บนโต๊ะที่มีความสูงประมาณ 70 เซนติเมตร และกว้าง 1 เมตร เว้นทางเดินระหว่างโต๊ะ 1 เมตร ต้นกล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมจะเจริญเติบโตและออกดอกได้ตลอดปี จากการสังเกตการเดินระหว่างโต๊ะของฟาร์มกล้วยไม้ปราโมทย์จะเทคอนกรีตทั้งหมด ช่วงที่ออกดอกมากที่สุดคือ ช่วงฤดูฝนและออกดอกน้อยในช่วงฤดูแล้ง

ต้นกล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้จากการตัดหน่อส่งไปให้ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือวงการกล้วยไม้เรียกว่าส่งแล็บขยายพันธุ์จะใช้เวลาประมาณ 1-1 ปีครึ่ง จะได้ต้นในสภาพปลอดเชื้อมาปลูก หลังจากนำมาปลูกในโรงเรือนนานประมาณ 4-6 เดือน จะย้ายไปปลูกบนกาบมะพร้าวหรือบนกระบะกาบมะพร้าว เลี้ยงอีกจนต้นมีอายุประมาณ 1 ปี หลังจากนำออกจากสภาพปลอดเชื้อ จะเริ่มให้ดอกจากลำที่ 4 (พันธุ์ที่ออกดอกดกและเจ้าของดูแลดี จะให้ช่อดอกพร้อมกัน 2 ช่อ)



หนังสือ "การผลิตและการตลาดกล้วยไม้สกุลหวาย" พิมพ์ 4 สี จำนวน 84 หน้า แจกฟรีพร้อมกับหนังสือ "เทคนิคการปลูกกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์" รวม 168 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสาคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 436
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM