เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ทุเรียนบ้านโป่ง ปลูกในไร่อ้อยเก่า ผสมผสาน ได้ผลดี
   
ปัญหา :
 
 
"บ้านโป่ง" เมืองคนงาม จังหวัดราชบุรี ดินแดนที่ประชากรมีอาชีพเป็นเกษตรกรทำไร่อ้อยเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมาเอ่ยถึง "ทุเรียนที่บ้านโป่ง" หลายๆ คนเป็นงง แล้วก็ถามด้วยความสงสัยว่า มีด้วยหรือ?

บางคนอาจจะบอกว่า ทุเรียน มีสิทธิ์ที่จะขึ้นและเติบโตได้ในทุกพื้นที่ไม่เห็นจะน่าแปลกอะไรตรงไหนเลย ที่จังหวัดศรีสะเกษ ภาคอีสานก็มีทุเรียน แถมดีซะด้วย ภาคเหนือ ภาคใต้ ทุเรียนเติบโตได้ทั้งนั้น ไม่น่าแปลก

ซึ่งจะว่าไปแล้วก็จริงดั่งคำกล่าวทุกประการ ?ทุเรียนบ้านโป่ง? ไม่ใช่สิ่งที่แปลก แต่ก็ยังไม่มีใครรู้จักว่ามีสวนที่ไหนบ้าง ตำบลไหน หมู่บ้านไหน ในเขตพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่ปลูกทุเรียนเป็นการค้าสำเร็จ อาจจะมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่ได้ปลูกเป็นธุรกิจการค้า แล้วก็ยังไม่เป็นที่เปิดเผยออกมา

มองไปที่สวนบ้านหมู่ที่ 7 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง เจ้าของสวนคือ คุณนเรนทร รวยดี เกษตรกรผู้ปลูกสวนทุเรียนตัวจริงเสียงจริงยืนยิ้มเผล่ให้การต้อนรับอยู่ที่หน้าร่องสวนทุเรียน กล่าวให้การต้อนรับเมื่อเราไปเยือน พร้อมพาเที่ยวชมสวนผลไม้ที่ปลูกไว้หลากหลายผสมผสานกันจนเต็มสวน ซึ่งเราเองก็แปลกใจว่า ทำไม จึงปลูกผลไม้ผสมผสานในร่องเดียวกันเช่นนั้น

คุณนเรนทร บอกว่า แรกๆ ก็ทดลองปลูกดูก่อน ปลูกจนกระทั่งไม้ทุกต้นโต ครั้นจะตัดออกหรือก็เสียดาย ลงแรงรดน้ำพรวนดิน จึงไม่อยากโค่นทิ้ง จึงปล่อยเลยตามเลย ซึ่งไม้ทุกต้นก็ให้ผลผลิตดี

คุณนเรนทร เกษตรกรหนุ่มใหญ่วัยกลางคน เล่าถึงความเป็นมาของตนเองก่อนที่จะมาปักหลักทำสวนผลไม้ที่บ้านเขาขลุง อำเภอบ้านโป่งแห่งนี้ว่า เดิมทีตนเป็นคนกรุงเทพมหานคร ทำงานรับราชการอยู่ที่กรมเจ้าท่ามาก่อน รับราชการได้เงินเดือนน้อยจึงคิดทำเกษตร เริ่มจากการปลูกพลู เก็บใบส่งขายต่างประเทศ ทำสวนพลูอยู่ที่เขตภาษีเจริญเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ทำสวนพลูรายได้ดี ทำอยู่ได้ 10 กว่าปีความเจริญย่างก้าวเข้าสู่เขตภาษีเจริญ หมู่บ้านจัดสรรเข้าครอบครองเต็มพื้นที่ คนทำสวนเกษตรจำต้องเลิกทำไปโดยปริยาย

คุณนเรนทร บอกว่า ตนจึงขายที่ดินเลิกทำสวน ขณะเดียวก็ลาออกจากราชการ มีเงินก้อนหนึ่งมาซื้อที่ดินบ้านหมู่ที่ 7 ตำบลเขาขลุง ประมาณ 30 ไร่ จากนั้นก็อพยพพาครอบครัวมาปักหลักทำมาหากินที่อำเภอบ้านโป่งแห่งนี้ เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

มาถึงที่บ้านเขาขลุงแห่งนี้ก็เริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นเกษตรกรชาวสวนผัก พลิกฟื้นผืนไร่อ้อย ยกร่องปลูกผัก ขณะเดียวกันก็คิดปลูกผลไม้ไปด้วย คุณนเรนทร บอกว่า

?"คิดปลูกผลไม้ครั้งแรกไม่ได้ตั้งใจทำเป็นการค้า เพียงแค่คิดปลูกไว้ทานกันเอง เพราะไม่แน่ใจว่าไม้ผลที่เราปลูกจะได้ผลหรือไม่ เห็นดินเป็นดินทรายแดงๆ"

คุณนเรนทร กล่าวต่อไปอีกว่า ยกร่องสวน หน้าร่องกว้าง 3 วา ร่องน้ำเมตรครึ่ง ยกร่อง ประมาณ 20 กว่าร่อง พอยกร่องเสร็จก็ไปหากิ่งพันธุ์มะยงชิดมาปลูกก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เอาทุเรียนมาปลูกตามด้วยไม้ผลหลากหลาย เช่น เงาะ ส้มโอ ลองกอง มังคุด กระท้อน ได้กิ่งพันธุ์ไม้ผลอะไรมาก็เอาลงไปปลูกในร่องสวนหมด

คุณนเรนทร บอกว่า ขณะที่ไม้ผลยังเล็กๆ อยู่ก็ปลูกผักบนร่องก่อน พอไม้ผลโตก็ย้ายที่ปลูกผักไปอยู่แปลงอื่น ปล่อยให้ไม้ผลแย่งกันเจริญเติบโตในพื้นที่จำกัด เรื่องระยะปลูกไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ตรงไหนว่างก็ปลูกแซมๆ กันไปจนเต็มร่อง

พอย่างเข้าปีที่ 3 ไม้ทุกชนิดโตเต็มที่ ลำต้นสูงชะลูดเบียดกันแทงยอดขึ้นฟ้า การบำรุงรักษาก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแค่รดน้ำให้ชุ่มเสมอ ปุ๋ยก็ใส่สูตร 16-16-16 นานๆ สลับ 25-7-7 บ้าง ยึดหลัก ใส่น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง

ปีที่ 3 มะยงชิดติดดอกติดผล ปรากฏว่าได้ผลผลิตดี มะยงชิดผลใหญ่ สีผลสวย รสชาติหวานกรอบอร่อย เงาะ ก็ติดผลดี พอปีที่ 4 ทุเรียนก็เริ่มติดผลและไม้ผลอื่นๆ ก็ทยอยให้ผลตามมา จนมีผลไม้เต็มสวนในเวลาต่อมา

คุณนเรนทร กล่าวต่อไปอีกว่า ทุเรียนที่ปลูกมี 2 พันธุ์ คือพันธุ์ชะนีกับหมอนทอง นับจำนวนต้น มีชะนีอยู่ 20 กว่าต้น หมอนทอง 30 กว่าต้น ปลูกแรกๆ เอากิ่งพันธุ์มาลงเป็นร้อยต้นแล้วก็ค่อยๆ ตายไปทีละต้นสองต้น จนเหลือรอดมาได้ดังกล่าว

คุณนเรนทร กล่าวต่อไปอีกว่า ทุเรียนพอสอนเป็นปีแรกก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ย่างเข้าปีที่สองทุเรียนจะติดดอกราวต้นกุมภาพันธ์ สาเหตุที่ติดดอกล่ากว่าที่ควรจะเป็นก็เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำ บริเวณสวนของตนเกิดอาภัพน้ำซะอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ฝั่งตรงข้ามกับสวนมีคลองชลประทานใหญ่ก็ตาม กล่าวคือ ช่วงเดือนมกราคมจะเป็นช่วงที่รอบๆ อาณาบริเวณเขาเกี่ยวข้าวกัน ทางชลประทานจะไม่ปล่อยน้ำเข้าคลอง ผลกระทบจะมาถึงที่สวนโดยอัตโนมัติ เพราะช่วงดังกล่าวทุเรียนควรจะต้องได้น้ำเพื่อการติดดอกติดผล ซึ่งก่อนหน้าราวกลางเดือนธันวาคมถึงต้นมกราคม จะปิดน้ำไม่ให้เข้าสวนเป็นการให้ต้นทุเรียนอดน้ำเพื่อการแตกตาดอก เมื่อต้นอดน้ำโศกได้ที่ตกราวกลางมกราคมหรือต้นกุมภาพันธ์จะต้องอัดน้ำเข้าสวน แต่พอมาถึงตอนนี้กลับไม่มีน้ำสาเหตุก็เพราะเป็นช่วงที่นาข้าวเขาจะเกี่ยว

?บางปีผมต้องไปขอน้ำจากนายก อบต. ขอให้เขาเปิดน้ำมาบ้าง เพื่อให้ทุเรียนในสวนติดดอกติดผล ปัญหาน้ำมีทุกปี จะไปโทษใครเขาก็ไม่ได้ ต้องโทษตัวเอง โทษฐานทำสวนผลไม้ไม่ได้ดูพื้นที่?

คุณนเรนทร กล่าวพลางหัวเราะอย่างไม่ทุกข์ร้อน ก็เป็นอุทาหรณ์สำหรับเพื่อนๆ เกษตรกรทุกท่านว่าจะปลูกพืชต้องดูพื้นที่ด้วยมิเช่นนั้นจะมีปัญหาเหมือนกับคุณนเรนทร

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คุณนเรนทร ก็ไม่ย่อท้อเพียรพยายามขอน้ำเข้าสวนทุกปี เมื่อได้น้ำก็รดทุเรียนไปพร้อมๆ กับไม้ในสวนทุกต้น อัดน้ำเต็มที่ถึงตอนนี้ทุเรียนจะติดดอกติดผล ช่วงติดดอกให้ฉีดยากำจัดเพลี้ยไฟไรแดง กำจัดหนอน และเชื้อราจนกระทั่งติดผลให้ฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟไรแดงป้องกันหนอน เชื้อราอีก 3 เที่ยว ขณะเดียวกันก็ฉีดฮอร์โมนบำรุงผล ให้ขั้วเหนียวและผลใหญ่เนื้อมากไปด้วย ทางดินใส่ปุ๋ย 16-16-16 จนกระทั่งเกิดผลผลิต

ทุเรียนสวนของคุณนเรนทร จะเก็บผลได้ราวเดือนมิถุนายน ซึ่งจะล่ากว่าทุเรียนระยองและปราจีนบุรี แต่จะเก็บก่อนทุเรียนใต้ คุณนเรนทรบอกว่า ทุเรียนสวนของผมรสชาติอร่อยมาก ส่งขายตลาดกรุงเทพฯ ใครได้รับประทานปีต่อๆ ไปจะมาจองขอซื้อผลผลิตเป็นลูกค้าประจำกันไปเลย ทุเรียนชะนีก็ไม่หวานจัด รสชาติออกหวานมัน เนื้อแห้ง กลิ่นไม่หอมแรง สีเนื้อเหลืองส้มสวยมาก ส่วนหมอนทองก็หวานมันอร่อย ใครได้รับประทานติดใจทุกราย บางคนบอกว่าไม่ต่างจากทุเรียนเมืองนนท์เลย ก็วิพากษ์วิจารณ์กันไปตามแต่ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคน

ทุกวันนี้ คุณนเรนทร บอกว่า ถึงปีตัดทุเรียนส่งขายตลาดกรุงเทพฯ และบ้านโป่งแค่นี้ก็ไม่พอแก่ความต้องการแล้ว ส่วนไม้ผลอื่นที่ได้ดีก็คือ มะยงชิด ลองกอง ลิ้นจี่ ส้มโอ เงาะ ส่วนมังคุดกับกระท้อนนั้นยังให้ผลผลิตไม่เต็มที่นัก

นอกจากปลูกผลไม้ที่หลากหลายแล้ว ข้างร่องสวนคุณนเรนทรยังปลูกหมากเหลืองตัดใบขายอีก ข้างๆ สวนรอบนอกปลูกผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง ส่งลูกค้าประจำที่มาให้ปลูกรับซื้อในราคาประกัน ทำให้เกิดรายได้หลายทางด้วยกัน

ทุเรียนสวนของคุณนเรนทรที่อำเภอบ้านโป่งสวนนี้เพิ่งจะมาเปิดตัวเป็นครั้งแรก คุณนเรนทร บอกว่าไม่อยากดังครับ

?ผมปลูกไม่มีหลักเกณฑ์อะไรหรอก ครั้นจะโค่นไม้บางต้นออกบ้างก็เสียดาย เลยปล่อยตามเลย ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้?



สำหรับท่านใดต้องการพูดคุยหรือจะไปเยี่ยมสวนเกษตรกรไม้ผลแห่งบ้านโป่งรายนี้ โทร.ไปคุยกันได้ ที่ (089) 520-8097 เจ้าตัวบอกยินดีต้อนรับทุกท่านครับผม

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 439
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM