เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ทหารพลิกวิกฤตปุ๋ยเคมีแพง ชวนชาวนาทำปุ๋ยหมักราคาถูกใช้เอง
   
ปัญหา :
 
 
วิกฤตการณ์ของชาวนาภาคอีสาน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ทำนาได้ปีละ 1 ครั้ง ยังเป็นปัญหาหนักอกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวผู้เป็นเกษตรกรเอง เพราะแม้ฤดูกาลเพาะปลูก 2550 ที่ผ่านมา ข้าวไทยจะมีราคาแพงในตลาดโลก แต่อานิสงส์ของราคาข้าวไม่ได้ตกถึงมือของเกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าวอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามสิ่งที่ชาวนาไทยต้องเผชิญในฤดูกาลเพาะปลูก ปี 2551 คือ "?ปุ๋ยแพง?" หรืออาจต้องเจอปุ๋ยปลอมซ้ำเติมเข้าอีก

จากปัจจัยการผลิตที่ชาวนาอีสานส่วนใหญ่ยังพึ่งพาสารเคมีด้วยเชื่อว่า ปุ๋ยจะเป็นตัวเร่งให้ผลผลิตชูช่อออกรวงได้เต็มกำลัง เพิ่มรายได้ในการผลิตแต่ละครั้ง แต่จากภาวะข้าวยากหมากแพง ข้าวของทุกชนิดขึ้นราคาเป็นบ้าเป็นหลัง ทำให้มีการค้นหาวิธีทางลดภาระที่เกิดขึ้น ทางเลือกที่ดูเหมาะสมกับสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบันคือ การหันกลับไปพึ่งพาธรรมชาติ และอยู่กับธรรมชาติอย่างพอเพียง ไม่หลงละเมอไปตามแนวเศรษฐกิจไร้พรมแดนที่มุ่งกอบโกยแต่ผลกำไร การยึดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ จึงถูกนำมาเผยแพร่ เพื่อช่วยลดภาระการเพาะปลูกพืชผลของเกษตรกรในแต่ละปี

ร.ท.ชาตรี ผลนาค หัวหน้าศูนย์พัฒนาการเกษตรอินทรีย์ กรมทหารพรานที่ 23 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ โดยนำชาวบ้านในพื้นที่รับผิดชอบของกรมทหารพรานที่ 23 ก่อตั้งเป็นกองทุนทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2540 ขณะที่ พ.อ.อรรถ สิงหัตสถิตย์ เป็นผู้บังคับการกรมในสมัยนั้น และได้ดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก พ.อ.ธัญญา เกียรติสาร ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 23 คนปัจจุบัน

ส่วนงบประมาณใช้อบรมให้ความรู้และจัดซื้อวัสดุได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรมูลนิธิอื่นๆ โดยมีจุดประสงค์ให้เกษตรกรชาวนาและเกษตรกรในภาคเกษตรกรรมทุกชนิดหันมาใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมไม่ให้ดินเสื่อมโทรม รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาความยากจนให้เกษตรกรอย่างถาวร

ร.ท.ชาตรี เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาแม้มีการออกอบรมให้ความรู้ พร้อมทั้งนำชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ร่วมมือทำปุ๋ยชีวภาพใช้เองจำนวนหลายร้อยกลุ่ม แต่ด้วยปัจจัยทั้งเรื่องความมักง่าย ไม่เห็นความสำคัญของการทำปุ๋ยหมักธรรมชาติไว้ใช้ ทำให้กระบวนการผลิตปุ๋ยหมักยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลังจากปุ๋ยเคมีมีราคาแพงอย่างมากในปีนี้ และชาวบ้านประสบปัญหาค่าครองชีพสูงเป็นเท่าตัว ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เกิดการตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำเกษตรมากขึ้น

?"ซึ่งกรณีปุ๋ยเคมีมีราคาแพงถือเป็นแนวโน้มที่เกษตรกรจะหันมายึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยผลิตปุ๋ยหมักมาใช้เอง และทำให้เกษตรกรเห็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยชีวภาพว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตได้จริง และช่วยรักษาดินให้มีประสิทธิภาพขึ้น เพราะประสบการณ์ที่ชาวบ้านได้รับจริงจะกลับมายืนยันคำพูดที่เราได้เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้"?

ร.ท.ชาตรี กล่าวอีกว่า เมื่อเกษตรกรเห็นผลที่เกิดขึ้น ก็จะเผยแพร่ความรู้ประสบการณ์ไปสู่เกษตรกรรายอื่นที่ยังไม่ใช้ปุ๋ยชีวภาพให้หันมาใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จากการออกอบรมให้ชาวบ้านในปีนี้พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่นำเงิน เอสเอ็มแอล ของหมู่บ้านมาก่อตั้งกองทุนปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ และออกมาร่วมทำกิจกรรมโดยการทดลองทำปุ๋ยดังกล่าวด้วยตัวเองเป็นจำนวนมาก ซึ่งชี้ชัดเจนว่าเกษตรกรเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาปุ๋ยเคมียังมีราคาไม่แพงเหมือนปัจจุบัน

สำหรับวิธีการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพทำไม่ยาก คือนำแกลบดิบ 1 ส่วน ผสมกับมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ อีเอ็ม 20 ซีซี หรือ 1 ช้อนโต๊ะ โดยใช้น้ำสะอาด 10 ลิตร รดให้ทั่วส่วนผสม ก่อนใช้พลั่วหรือเท้าคลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน เพื่อให้ส่วนผสมของปุ๋ยหมักมีความชื้นประมาณ 50% จากนั้นจึงใส่รำละเอียดลงไปอีก 1 ส่วน แล้วคลุกเคล้าให้ส่วนประกอบทั้งหมดเข้ากันอีกครั้ง ก่อนบรรจุลงในกระสอบปุ๋ย ตั้งกองไว้บนพื้นหนาประมาณ 15-20 เซนติเมตร คลุมด้วยกระสอบป่าน และกลับกองปุ๋ยทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง โดยหมักทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถนำไปใช้ได้

สำหรับปุ๋ยหมักที่ได้ครั้งนี้ จะมีชื่อเรียกว่า "?โบกาฉิ"? โดยมีกลิ่นหอมเหมือนเห็ดแห้ง และเมื่ออุณหภูมิจากการหมักเริ่มเย็นลงก็นำไปใช้ได้ทันที ส่วนที่เหลือให้บรรจุไว้ในกระสอบแห้งไม่มีความชื้น การทำแต่ละครั้งเกษตรกรควรใช้ปุ๋ยให้หมดภายใน 4 เดือน ส่วนคุณสมบัติของปุ๋ยหมักที่ได้ สามารถใช้ได้กับการปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล หรือนาข้าว และยังมีคุณสมบัติใช้ในการบำรุงดินในไร่ ในนา ในสวน ให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ และสามารถใช้ในการเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง ปลา หรือสัตว์น้ำอื่น เพราะปุ๋ยหมักมีคุณสมบัติช่วยปรับสภาพน้ำเน่าและกำจัดกลิ่นแทนการใช้สารเคมีปรับสภาพน้ำได้อีกด้วย

ด้าน คุณอรวรรณ จำปาแย้ม เกษตรกรบ้านสมสะอาด ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ที่เข้าร่วมอบรมกล่าวถึงครอบครัวตนเองมีที่ดินทำนาประมาณ 15 ไร่ ทุกปีต้องใช้ปุ๋ยเคมีปีละ 10-12 กระสอบ แต่ปีนี้ราคาปุ๋ยเคมีมีราคาแพงอย่างมาก และมีเกษตรกรในหมู่บ้านบางรายเจอปุ๋ยเคมีปลอม จึงหาทางออกโดยหันมาลองทำปุ๋ยชีวภาพใช้แทนปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำของหน่วยทหารพรานที่มาสาธิตและนำชาวบ้านผลิตปุ๋ยชีวภาพใช้เอง

ขณะนี้ชาวบ้านที่ตั้งเป็นกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ตัดสินใจร่วมกันตั้งเป็นกองทุนผลิตปุ๋ย เพื่อลดต้นทุนการปลูกข้าวประจำฤดูกาลผลิต 2551 เพราะปุ๋ยอินทรีย์มีต้นทุนเฉลี่ยกระสอบละ 300-400 บาท ซึ่งถูกกว่าปุ๋ยเคมีกว่าเท่าตัว และทราบว่าเมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไปนานๆ จะลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงได้เรื่อยๆ เนื่องจากดินใช้เพาะปลูกมีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งผิดกับปุ๋ยเคมีที่ยิ่งใช้ก็ต้องเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ เพราะดินมีคุณภาพเสื่อมลง

คุณพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ. อุบลราชธานี กล่าวถึงการอบรมโครงการทำปุ๋ยชีวภาพเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรจัดตั้งกองทุนปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพขึ้นทุกหมู่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในภาคเกษตรกรรมจากวิกฤตปุ๋ยเคมีมีราคาแพง สำหรับการใช้ปุ๋ยหมักด้วยจุลินทรีย์ชีวภาพนอกจากเกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตแล้วยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งรักษาดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งที่สนใจ สามารถขอรับงบประมาณใช้สนับสนุนจัดตั้งกองทุนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองได้ทันทีจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ถ้าร่วมมือร่วมใจกันอย่างนี้ เชื่อว่าชาวนาชาวไร่ไทยจะปลดแอกลงจากหลังของทุกคนได้
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ศรีสะเกษ
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 439
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM