เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ชาญ ปุยทอง ผลิตผักชีฝรั่ง ทำสวนลดเคมี ได้ผลดีเกินคาด
   
ปัญหา :
 
 
"ผักชีฝรั่ง" เป็นพืชผักอีกชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคใบสดและนำมาประกอบรสในการปรุงอาหาร การบริโภคใบสดนั้นจะต้องระมัดระวังเรื่องของสารเคมีตกค้างเป็นพิเศษสักหน่อย เพราะผักชีฝรั่งมีศัตรูคือ หนอนและเชื้อราคอยลงทำลาย เกษตรกรผู้ปลูกนิยมป้องกันกำจัดหนอนและศัตรูของผักชีฝรั่งด้วยสารเคมี ดังนั้น ก่อนบริโภคควรล้างทำความสะอาดกันหลายน้ำ เพื่อความสนิทใจในการบริโภค

แต่การปลูกผักชีฝรั่งก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้สารเคมีกันอย่างหนักเสมอไป ที่บ้านลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นแหล่งปลูกผักชีฝรั่งแหล่งใหญ่ของจังหวัดนครปฐมและในเขตภาคกลาง ปัจจุบันเกษตรกรมีความตื่นตัวในเรื่องของการลดการใช้สารเคมีในแปลงปลูกผักชีฝรั่งสูงมาก มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักชีฝรั่งอินทรีย์ขึ้นมา เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพื่อสนองตอบนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ และของรัฐบาลที่ประสงค์จะให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกับพืชผลในการทำเกษตร

กลุ่มผู้ปลูกผักชีฝรั่งอินทรีย์บ้านลานตากฟ้าแห่งนี้ มี คุณชาญ ปุยทอง เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 50 กว่าราย กลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อราวปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการปลูกพืชผักและผักชีฝรั่งให้ปลอดภัยจากสารพิษเรื่อยมา จนกระทั่งมีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มมากขึ้น ผลผลิตพืชผักปัจจุบันของกลุ่ม ตลาดให้การยอมรับแล้ว

คุณชาญ บอกว่า ทางเจ้าหน้าที่เกษตรก็ให้ความสำคัญ เข้ามาให้คำแนะนำทางวิชาการอยู่สม่ำเสมอ มีการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรผู้ปลูกผักขึ้นที่บ้านลานตากฟ้า เพื่ออบรมให้เกษตรกรชาวสวนได้รู้จักวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ ทำสารสกัดกำจัดแมลงและศัตรูผักใช้เอง ประการสำคัญคือ แนะนำให้เกษตรกรรู้จักการทำพืชผักอินทรีย์ เพื่อให้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษ เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดกลางจังหวัดนครปฐมก็ให้การยอมรับพืชผักจากกลุ่มเกษตรกรบ้านลานตากฟ้าเป็นอย่างดี

คุณชาญ ปุยทอง ประธานกลุ่มผู้ปลูกผักชีฝรั่งอินทรีย์บ้านลานตากฟ้า ปลูกผักชีฝรั่งอยู่ที่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลลานตากฟ้า ทั้งหมด 3 แปลง แต่ละแปลงมีเนื้อที่ราว 5 ไร่ คุณชาญ บอกว่า การปลูกผักชีฝรั่งนั้นจะต้องทำโรงเรือนมุงซาแรนรอบด้าน ให้แสงสว่างส่องเข้าไปภายในโรงเรือนได้ประมาณ 60% ถ้าแสงผ่านเข้าไปน้อยกว่านั้นประมาณ 70% ขึ้นไป ก็จะทำให้เกิดความชื้นในโรงเรือนมากเป็นเหตุให้เกิดเชื้อรา ส่งผลให้ผักชีฝรั่งเป็นโรครากโคนเน่าง่าย แต่หากแสงผ่านเข้าโรงเรือนมากราว 50% ขึ้นไป ก็จะทำให้ผักชีฝรั่งไม่เติบโต ฉะนั้นเรื่องแสงสว่างในโรงเรือนจึงมีผลต่อการปลูกผักชีฝรั่งมาก โรงเรือนควรสูงประมาณ 1.70-2.00 เมตร ให้พ้นศีรษะเวลายืนเป็นใช้ได้

การปลูกผักชีฝรั่งต้องปลูกระบบร่องน้ำจึงจะได้ผลดี หน้าร่องกว้างประมาณ 6 เมตร หรือ 3 วา ความยาวแล้วแต่พื้นที่ ร่องน้ำกว้างประมาณ 1 เมตร ลึก 1 เมตร ระดับน้ำจะต้องสามารถสูบน้ำเข้า-ออกให้ลดระดับน้ำสูงต่ำในร่องน้ำได้

ผักชีฝรั่งจะเจริญเติบโตได้ดีกับดินเหนียว การเตรียมดินหากเป็นแปลงปลูกใหม่ๆ ดินยังมีสภาพดีตากดินให้แห้งเสียก่อน จากนั้นก็ตีดินด้วยรถตีดินให้ร่วนซุย เมื่อพร้อมปลูกก็หว่านเมล็ดบางๆ ลงหน้าร่อง อัตราส่วนเมล็ดพันธุ์พื้นที่ 1 ไร่ ต่อเมล็ดพันธุ์ 4 กิโลกรัม หลังจากหว่านเมล็ด ประมาณ 10-15 วัน เมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้าขึ้นมา ระดับน้ำในร่องควรให้อยู่ระดับปริ่มหน้าร่อง

พอต้นกล้างอกให้โชยน้ำพอประมาณทิ้ง ระยะให้น้ำ ห่าง 3-7 วัน ให้ครั้งหนึ่ง จนกระทั่งต้นผักชีฝรั่งอายุ 1 เดือน คราวนี้หยุดให้น้ำแล้วก็ลดระดับน้ำในร่องลงครึ่งหนึ่ง ปล่องทิ้งไว้ให้ดินแห้งสักระยะหนึ่ง สังเกตดินแห้งแตกระแหงพอสมควร ต้นผักชีฝรั่งค่อนข้างเหี่ยวเฉาแล้วให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกหว่านให้ทั่วแปลง จากนั้นก็รดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้รากดูดซึมน้ำและปุ๋ยขึ้นไปเลี้ยงลำต้นได้มากๆ เพิ่มระดับน้ำในร่องให้ปริ่มหน้าร่อง

หลังจากรดน้ำวันแรก วันที่สองให้พักการรดน้ำจะไปรดน้ำอีกครั้งในวันที่ 3 หลังจากนั้นก็ให้น้ำเช้า-เย็นตามปกติ การใส่ปุ๋ยผักชีฝรั่งให้ปุ๋ยอีก 2 ครั้ง คือในช่วงเดือนที่ 2 และเดือนที่ 3 พอถึงเดือนที่ 4 ก็สามารถถอนต้นที่ใหญ่ใบอวบสวยตามตลาดต้องการขายได้

ต้นผักชีฝรั่งจะเจริญเติบโตไม่เสมอกัน เกษตรกรจะถอนต้นที่ใบใหญ่ออกเท่านั้น ส่วนที่เหลือรดน้ำดูแลต่อไปให้ใบใหญ่ได้ขนาดก็ถอนขาย การถอนก็ง่ายๆ ถอนต้นที่ใหญ่ทั้งกอมากำรวมกันแล้วมัดด้วยหนังยางโยนลงร่องน้ำ พอถอนเสร็จก็เก็บต้นผักชีฝรั่งที่กำไว้แล้วอยู่ในน้ำ นำขึ้นมาทำความสะอาด กำให้เรียบร้อยรอพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อต่อไป

หลังจากถอนต้นครั้งแรกให้หว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยสูตร 25-7-7 บำรุงต้นเล็กที่ยังไม่ได้ขนาดเก็บให้เจริญเติบโต รดน้ำเช้า-เย็น ทิ้งห่างจากเก็บครั้งแรกประมาณ 25 วัน จึงเก็บครั้งที่สอง โดยการเลือกถอนต้นที่ใหญ่ได้ขนาดออกมากำแล้วทำความสะอาดส่งขาย จากนั้นก็หว่านปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ให้ทั่วแปลงรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งห่างไปอีก 25 วัน จึงเก็บครั้งที่สาม หลังถอนต้นต้องใส่ปุ๋ยทุกครั้ง ผักชีฝรั่งสามารถถอนได้ 4-5 ครั้ง จึงจะหมดแปลง

สำหรับศัตรูของผักชีฝรั่ง คุณชาญ บอกว่า เกษตรกรกลัวแมลงหวี่ขาวที่สุด แมลงหวี่ขาวจะทำให้ใบผักชีฝรั่งหงิกเสีย เมื่อเกิดระบาดในแปลง หากควบคุมไม่ได้ถึงกับล่มทั้งแปลงเลยทีเดียว การกำจัดก็ต้องใช้สารเคมีฉีดให้ทั่วทั้งแปลงเมื่อพบว่ามีการระบาดมาก แต่หากไม่ถึงขั้นระบาดรุนแรงเพียงแค่พบว่าผักชีฝรั่งมีใบหงิกเกิดขึ้น ก็ให้ใช้สารสมุนไพรผสม พ.ด.7 ฉีดคลุมทุก 5-7 วัน สม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันการระบาดของแมลงหวี่ขาวได้

"ที่แปลงผมไม่ค่อยได้ใช้สารเคมี หากพบว่าแมลงหวี่ขาวระบาดมากก็ฉีดสารเคมีสักครั้งหนึ่ง จากนั้นก็หยุดฉีดเป็นเดือนๆ ไปเลย หันมาควบคุมด้วยสารสกัดสมุนไพร ส่วนปุ๋ยเคมีก็ไม่นิยมใช้ จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เสียมากกว่า สาเหตุสำคัญก็คือ ปุ๋ยเคมีราคาแพงครับผม"

คุณชาญ กล่าวอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับแนะนำเรื่องศัตรูของผักชีฝรั่งต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ ก็มีหนอนกระทู้ หรือที่ชาวบ้านเขาเรียก หนอนหนังเหนียว

"แถวบ้านผมชาวบ้านเขาเรียก ควายพระอินทร์"

คุณชาญ บอกว่า เจ้าหนอนกระทู้ยาเคมีเอามันไม่ค่อยอยู่ วิธีการกำจัดของผมใช้วิธีขึ้นน้ำให้ท่วมร่องผักเลย ให้ระดับน้ำขึ้นไปอยู่ราวๆ ปลายยอดผักชีฝรั่ง เจ้าควายพระอินทร์มันจะหนีน้ำไปเกาะอยู่ที่ยอดใบ คราวนี้ก็ใช้สารอะไรก็ได้ที่ฉีดแล้วหนอนตาย เชิญได้เลย

พอฉีดสารเสร็จให้รีบลดระดับน้ำออกให้เหลืออยู่แค่ปริ่มร่องตามเดิม อย่าช้ามิเช่นนั้นต้นผักชีฝรั่งจะตายได้ เมื่อใช้น้ำกำจัดหนอนหนังเหนียวหรือเจ้าควายพระอินทร์แล้ว ก็ควรฉีดไตรโครเดอร์ม่าหรือยากำจัดเชื้อราด้วย ป้องกันโรครากโคนเน่ามาเยือน

เชื้อราเป็นศัตรูของผักชีฝรั่งอีกชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นได้เสมอ สาเหตุก็เพราะผักชีฝรั่งปลูกในโรงเรือนที่มีความชื้นสูง เกษตรกรควรใช้เชื้อไตรโครเดอร์ม่าดีกว่าได้ผลกว่า การใช้ไตรโครเดอร์ม่าให้ผสมน้ำราดทั่วทั้งแปลงก่อนหว่านเมล็ด แล้วหลังจากนั้นก็ฉีดทุกๆ 4 เดือน จะช่วยป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นหน้าฝนมักเกิดโรครากโคนเน่าง่าย หากพบว่าเกิดโรครีบใช้สารกำจัดเชื้อรา หรือใช้ไตรโครเดอร์ม่าผสมน้ำฉีดบริเวณที่เกิดเชื้อราทันที อย่าปล่อยให้ลุกลามมากยิ่งขึ้น เดี๋ยวจะควบคุมไม่อยู่

สำหรับหน้าร้อนปัญหาที่พบก็คือ ผักชีฝรั่งเกิดใบไหม้หรือใบเหี่ยวเฉา เป็นที่รู้ๆ กันเลยว่า ถ้าหากอากาศร้อนจัดๆ ติดต่อกัน 3-5 วัน แล้วเกิดฝนตกลงมา ผักชีฝรั่งจะเจอปัญหาใบเหี่ยวเฉา บางต้นเกิดปลายใบไหม้ก็ต้องปล่อยให้เป็นไป หายามาฉีดเสียเงินเปล่า สู้ปล่อยให้ใบเสียใช้ไม่ได้หรือตัดทิ้งไปเลย ต้นก็จะแตกใบใหม่ขึ้นมา

หลังจากถอนต้นขายหมดแปลง ก็ให้ "ล่มน้ำใหม่" เอาหลังคาโรงเรือนออกให้หมด ตากดินใหม่พอจะเริ่มปลูกผักชีฝรั่งชุดใหม่ก็ตีดิน บำรุงดิน ใส่ปุ๋ยขี้วัว ขี้เป็ดคลุกให้ทั่ว หว่านปูนขาวแล้วก็หว่านเมล็ดพันธุ์ลงปลูกรุ่นต่อไป

คุณชาญ บอกว่า ในเรื่องเมล็ดพันธุ์นั้นตนจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในรุ่นต่อๆ ไปเอง โดยเลือกเก็บต้นที่ให้ดอกสมบูรณ์ๆ เลือกดูต้นที่ใหญ่ ถ้าติดดอกเก็บเอาดอกของต้นนั้นไว้ทำพันธุ์ต่อไป ใช้หลักวิธีคิด "แม่พันธุ์ดี ต้นลูกพันธุ์ก็ต้องดี"

ผักชีฝรั่งพันธุ์ที่ไม่ดี พอลงปลูกต้นโตไม่ทันไรเลยติดดอกเสียแล้ว บางครั้งต้นยังไม่ถึง 2 เดือน ติดดอกทั้งแปลง แสดงว่าได้เมล็ดพันธุ์มาปลูกไม่ดี เมล็ดพันธุ์ดีๆ ต้นต้องอยู่ได้นาน 3-4 เดือน จึงจะติดดอก

"เมล็ดพันธุ์ผักชีฝรั่งปัจจุบันราคาแพงมาก กิโลกรัมหนึ่งราว 3-4 พันบาท"

การปลูกผักชีฝรั่ง ต้นทุนมีค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ปลูกใหม่ๆ ก็ต้องซื้อซาแรน ซื้อเสามาทำโรงเรือน แต่เป็นการลงทุนครั้งแรกเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ พอต้นโตเก็บได้ก็ต้องจ้างคนมาเต๊าะใบ เขาจะเก็บเอาใบเสียออก เลือกเอาใบดีๆ ไว้ คิดค่าเก็บเอาใบเสียชั่งน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต่อค่าเต๊าะใบ 3 บาท ค่าแรงงานถอนต้นชั่วโมงละ 20 บาท ต้นทุนการผลิตมี แต่ถ้าช่วงไหนราคาผักชีฝรั่งตก เกษตรกรก็ต้องนั่งมองหน้ากันเอง

สนใจปลูกผักชีฝรั่งแบบอินทรีย์หรือแบบปลอดภัยจากสารพิษ ติดต่อคุยกับคุณชาญได้เลยที่โทร. (081) 344-4983 เจ้าตัวยินดีให้คำปรึกษา ถือว่าเป็นวิทยาทานแก่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันขอรับ

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครปฐม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 439
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM