เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แนวทางเกษตรกรปลูกต้นไม้ "กฤษณา" ภาคใต้ รวมกลุ่ม ครบวงจร ขายเอง ปลูกเอง ทำตลาดเอง
   
ปัญหา :
 
 
เป็นแนวคิดที่เพิ่งริเริ่ม ในการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกไม้กฤษณาในพื้นที่ภาคใต้จะได้เป็นสมาชิกต่อกัน ทั้งนี้เพื่อการจัดการบริหารทั้งด้านการปลูก การขาย การตลาด

คุณโกศล นาวาทอง สมาชิกกลุ่มเกษตรกรรักษ์ไม้กฤษณาภาคใต้ บอกว่า กลุ่มเกษตรกรรักษ์ไม้กฤษณาในภาคใต้ ได้รวมตัวกันเป็นครั้งแรกของภาคใต้ สมาชิกจำนวน 40 ราย

ขณะนี้ มีปลูกประมาณ 100,000 ต้น โดยเริ่มปลูกกันมาตั้งแต่ปี 2540 โดยพื้นที่ปลูกมากที่สุดขณะนี้ คือที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง กระบี่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

"ในการรวมกลุ่มสมาชิกฯ เพื่อรวบรวมผลผลิตมาอยู่ในศูนย์เดียวกันในการออกขายในแต่ละคราว โดยแต่ละคราว จะออกสู่ตลาด ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม แล้วจะทำการเชิญพ่อค้าจากต่างประเทศ มาทำการประมูลซื้อ โดยจะได้ราคาที่เป็นจริง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางบางกลุ่มที่รับซื้อ ทั้งนี้ พ่อค้าจะมีข้ออ้างถึงคุณภาพของไม้กฤษณาว่าไม่ดีเท่าที่ควร ที่ผ่านมาจะกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริง 30-40 เปอร์เซ็นต์" คุณโกศล บอก

คุณโกศล บอกว่า ปัจจุบันราคาไม้กฤษณาในตลาดโลก ราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อพ่อค้ากดราคาเสียประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็จะไม่ได้ราคาตามความเป็นจริง จึงมีความคิดริเริ่มในการรวบรวมกลุ่มขึ้นมา แล้วมีการจัดการบริหารในการทำการตลาดเอง

ในการรวบรวมไม้กฤษณาจากกลุ่มเกษตรกร ให้สมาชิกนำต้นไม้กฤษณาออกมารายละ 1 ต้น ต่อครั้ง ไม่จำเป็นนำออกมาขายเป็นจำนวนมากและทั้งหมด จะทยอยออกขายเป็นคราวๆ ให้สมดุลกับราคาและความต้องการของตลาด

"เร็วๆ นี้ กลุ่มเกษตรกรรักษ์ไม้กฤษณา จะรวบรวมไม้จากสมาชิก จำนวน 100 กิโลกรัม เพื่อให้พ่อค้ามาประมูลซื้อ เป็นรุ่นแรกและล็อตแรกในภาคใต้ ที่มีไม้กฤษณาอยู่ ประมาณ 100,000 ต้น น้ำหนักต้นละตั้งแต่ 10-20 กิโลกรัม" คุณโกศล บอก

ปัจจุบัน ไม้กฤษณาความต้องการของตลาดโลกมาก แต่สามารถสนองตอบได้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ตลาดโลกยังต้องการอีกถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ตลาดโลกมีคำสั่งซื้อและสั่งจองมาจำนวนมากแล้ว และเกษตรกรปลูกไม้กฤษณาทางภาคใต้ก็มีความพร้อมจะนำออกจากสวนแล้ว

เพราะต้นไม้กฤษณาได้อายุแล้วที่ปลูกกันมาเมื่อปี 2540 อายุครบ 10-12 ปี ก็มีความสมบูรณ์ ในการให้ผลผลิตน้ำมัน ส่วนตัวไม้กฤษณาจะนำไปประกอบพิธีต่างๆ และส่วนน้ำมันจะนำไปแปรรูป เช่น น้ำหอม

"ไม้กฤษณาเศรษฐีชาวอาหรับมีความต้องการมาก โดยเฉพาะกิ่งที่รูปทรงสง่าสวยงาม จะเอาไว้ประดับบ้าน เพื่อความสง่างามของบ้าน" คุณโกศล กล่าว

การปลูกต้นกฤษณา สามารถปลูกได้ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด ทั้งในเชิงปลูกเดี่ยว และเชิงปลูกสวนผสม เช่น ปลูกผสมกับสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนเงาะ อย่างยางพารา ปลูก 77 ต้น ต่อไร่ ไม้กฤษณาก็สามารถปลูกผสมได้ 77 ต้น ยางพารา กรีดได้ในระยะเวลา 7 ปี ไม้กฤษณาก็นำผลผลิตออกจำหน่ายในเวลา 7 ปี

วิธีปลูกไม้กฤษณา ถ้าไร่เชิงเดี่ยว ขุดหลุดกว้างขนาด 50 คูณ 50 เซนติเมตร ระยะห่าง 2 เมตร ต่อต้น หากเป็นไร่นาสวนผสม ให้ใช้ความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ แต่ต้องให้แสงแดดส่องเข้าถึง เพราะต้นกฤษณาต้องการแสงแดด ไม้กฤษณาจะปรับตัวเข้ากับสภาพทุกพื้นที่ ยกเว้นที่ดินซับน้ำ ดินทราย ต้นกฤษณาไม่ค่อยชอบ ต้นกฤษณาจะชอบที่ดินเนิน ที่ดินกรวด สำหรับในภาคใต้เหมาะสมทุกพื้นที่ ยกเว้นที่ดินนา

การบำรุงรักษา เน้นการบำรุงด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ในระยะปีแรก ใช้ 2 เดือน ต่อครั้ง ในการบำรุงรักษา และในระยะเวลาต่อไปในการบำรุงรักษา หากใส่ปุ๋ยเคมีอย่าใช้มาก แต่เห็นสมควรให้บำรุงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ดีกว่า

"ไม้กฤษณามีหลายสายพันธุ์ มีทั้งพันธุ์งอกงามขึ้นตามธรรมชาติ และพันธุ์ที่เพาะปลูกขึ้นเอง ไม้กฤษณาเป็นพันธุ์ไม้สงวน แต่หากมีการปลูกขึ้นเองก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย โดยจะต้องนำเสนอรายละเอียดต่อทางการในการปลูก ตลอดจนการซื้อขาย" คุณโกศล บอก

เดิมไม้กฤษณา พรานป่าไปหาของป่านำออกมาขาย โดยมีพ่อค้าปลีกมารับซื้อ แล้วรวบรวมส่งขายที่ตลาดซอยนานา กรุงเทพฯ มีพ่อค้าชาวไทยกับชาวต่างชาติเป็นศูนย์รับซื้อเพื่อส่งออกต่างประเทศ ไม้กฤษณามีเท่าไหร่ ตลาดรับซื้อทั้งหมด



ไม้กฤษณา ในไทยพบ 3 ชนิด

ไม้กฤษณา (Agarwood, Eaglewood, gaharu, aloewood) เป็นไม้ในสกุล Aquilaria เป็นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีการใช้ประโยชน์มานานกว่า 5,000 ปี ใช้เป็นยารักษาโรค (medicine) ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม (perfume) ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอม (incense) พบและปรากฏอยู่ทั่วโลกประมาณ 16 ชนิด‚

ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศต่างๆ ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังสามารถกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ ปาปัวนิวกินี จนถึงจีน

ไทยพบไม้กฤษณาอยู่ 3 ชนิด

1. จาแน (Aquilaria subintegra) กระจายพันธุ์อยู่ในภาคใต้แถบจังหวัดนราธิวาส

2. ไม้พวมพร้าว (Aquilaria malaccensis) กระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทางใต้ ที่มีความชื้นสูง แถบจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กระบี่ ตรัง ยะลา ปัตตานีและพัทลุง

3. ไม้หอม, กฤษณา (Aquilaria crassna)

พบอยู่ทั่วไปในภาคกลางและภาคตะวันออก แถบจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด โดยเฉพาะในพื้นที่เขาสอยดาว แถบจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ กำแพงเพชรและเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์และศรีสะเกษ และภาคเหนือ แถบจังหวัดแพร่ น่านและเชียงราย

ไม้กฤษณา (agar wood) จัดเป็นไม้สำคัญและหายาก พรรณไม้ในสกุล Aquilaria หลายชนิดมี เรซินสะสมอยู่ในส่วนแก่นไม้ในต้นที่มีอายุมากและเป็นโรค ชนิดที่สำคัญมากที่สุด ได้แก่ A. malaccensis, A. crassna Pierre ex H. Lecomte ในอินโดจีนและไทย และ A. sinensis (Lour.) Sprengel (ชื่อพ้อง A. grandiflora Benth.) ในตอนใต้จีน ในการค้าไม่มีการจำแนกชนิดของไม้ กลิ่นหอมที่เกิดจากการเผาไม้กฤษณา

เป็นที่ชื่นชอบมานานนับพันปี มีการนำไปใช้เป็นกำยานในพิธีกรรมทางศาสนา ในศาสนาพุทธ ลัทธิขงจื้อ และศาสนาฮินดู อย่างแพร่หลายในแถบตะวันออกและตอนใต้ของเอเชีย

ในไทยใช้ใส่ในกองฟอนเผาศพ ในญี่ปุ่นใช้เป็นกำยานเผาในพิธีชงชา ในต้นศตวรรษที่ 19 ไม้หอมจัดเป็นเครื่องราชบรรณาการที่ เวียดนามส่งไปให้จีน มีการนำเนื้อไม้ที่มีเรซิน อยู่เล็กน้อยแต่ยังคงมีกลิ่นหอมตลอดจนเศษไม้หลังจากการกลั่นมาใช้ผลิตธูป

น้ำมันหอมที่สกัดจากเนื้อไม้กฤษณา (agar wood oil) ได้จากการกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำหอมที่มีราคาแพง เช่น ใน oriental และ woody-aldehydic base, "chypres" ให้กลิ่นที่น่าสนใจเมื่อผสมกับน้ำมันกานพลู เช่น ใน carnation base น้ำมันหอม จัดว่าหายากและมีราคาแพงมาก

มีการผลิตเฉพาะเมื่อต้องการซื้อเท่านั้น มีการใช้ประโยชน์อัททาร์ ของไม้หอมอย่างกว้างขวางในตะวันออกกลาง และอินเดีย

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 439
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM