เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"ปุ๋ยสั่งตัด" ฉีกกฎหว่านปุ๋ยทิ้ง ใช้ปุ๋ยตรงพืช ตรงดิน ลดต้นทุน
   
ปัญหา :
 
 
เมื่อร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องบริโภคอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่...ผืนดินก็เช่นเดียวกัน มันจำเป็นต้องมีธาตุอาหารคอยหล่อเลี้ยงเพื่อบำรุงโครงสร้างให้อยู่ในสภาพดี และเพื่อทดแทนธาตุอาหารที่ถูกพืชดูดดึงไปใช้

ธาตุอาหาร N-P-K (ไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส-โพแทสเซียม) ที่ผ่านการผลิตทางเคมี ซึ่งเกษตรกรรู้จักกันดีในนามของ "ปุ๋ยเคมี" นั้นก็คือ อาหารที่จำเป็นสำหรับพืช แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาว่าเกษตรกรมักใช้ปุ๋ยเคมีตามความคุ้นเคย โดยมองข้ามไปว่าแท้จริงแล้ว ดินและพืชที่ปลูกต้องการธาตุอาหารใด ปริมาณเท่าไหร่ หรือปุ๋ยสูตรที่จำหน่ายตามท้องตลาดนั้นเหมาะสมกับพืชและดินแล้วหรือไม่

เกษตรกรหลายรายยึดติดกับความคิดที่ว่า ใส่ปุ๋ยมาก ได้ผลผลิตมาก แต่สุดท้ายก็ได้พบความจริงว่า สิ่งที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ผลผลิตแต่เป็นต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงขึ้นแบบเท่าทวีคูณ หากการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากกว่าความต้องการของดินและพืช นั่นหมายความว่า เกษตรกรกำลังฉีกเงิน ฉีกสตางค์ แล้วหว่านทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ นั่นเอง

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรใส่ปุ๋ยชนิดใด ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด??? หลายคนตั้งคำถาม

คำตอบจาก ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครูผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านปุ๋ยแก่เกษตรกรมาตลอดเกือบ 10 ปี ก็คือ "ปุ๋ยสั่งตัด" หรือการใช้ปุ๋ยเฉพาะที่เฉพาะทางตามค่าวิเคราะห์ดิน เจาะจงความเหมาะสมเฉพาะแปลงของเกษตรกรแต่ละราย

"ปุ๋ยเคมีทั่วไป เปรียบเทียบได้กับเสื้อผ้าที่ขายในท้องตลาด ที่เรียกกันว่าเสื้อโหล ซึ่งอาจจะไม่พอดีกับเรา ต่างกับเสื้อสั่งตัดที่เป็นขนาดของเราโดยเฉพาะ ปัจจุบันเกษตรกรยังใช้ปุ๋ยแบบเสื้อโหล นั่นหมายความว่า คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเฉพาะข้าวหรือข้าวโพดจะใช้ทั้งสูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยเหมือนกันหมดทุกดินในประเทศไทย แต่ดินในประเทศไทยมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด แล้วจะให้เหมือนกันทั้งหมดได้อย่างไร"

ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องมีตัวช่วย ดร.ทัศนีย์ รวมทีมวิจัยนำแบบจำลองการปลูกพืชมาพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยโดยนำปัจจัยต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย ดิน พืช และภูมิอากาศ มาร่วมคำนวณหาข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อให้ได้คำแนะนำปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพจากโปรแกรม จากนั้นนำมาทดสอบในแปลงทดสอบและแปลงสาธิตโดยเกษตรกร และได้เปรียบเทียบผลผลิตที่คาดคะเนจากโปรแกรมกับผลผลิตที่ได้จริงในภาคสนาม พบว่ามีค่าใกล้เคียงกันมาก จากจุดเริ่มตั้งแต่ปี 2540 ได้พัฒนาเป็นคำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" สำหรับข้าวโพดที่เรียกว่า SimCorn ในปี 2544 และสำเร็จเป็นคำแนะนำปุ๋ยสั่งตัดสำหรับข้าวเรียกว่า SimRice ในปี 2549 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ส.ก.ว.)

ผลจากการวิจัยดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน ธ.ก.ส. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ได้นำคำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" ไปขยายผลกับข้าวนาชลประทาน 8 จังหวัดภาคกลาง ในปี 2550 ปรากฏว่าได้ผลดีมาก พบว่า ถ้าใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินแล้วค่าปุ๋ยเคมีต่อไร่ต่อฤดูปลูกลดลงร้อยละ 47 ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ในปี 2551 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กำลังนำไปขยายผลกับนาข้าว 1 ล้านไร่ในภาคกลาง และอีสานอีก 2,000 ไร่

"ปุ๋ยสั่งตัด" เป็นคำแนะนำปุ๋ยที่แตกต่างกันในดินแต่ละชนิด ในกรณีที่เป็นดินชนิดเดียวกัน แต่อยู่ต่างพื้นที่ วิเคราะห์ดินแล้ว มี เอ็นพีเค เท่ากัน แต่น้ำฝนไม่เท่า อากาศไม่เท่า แสงแดดไม่เท่า ก็จะมีคำแนะนำที่ต่างกัน ดังนั้น คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" จึงเป็นคำแนะนำปุ๋ยที่ละเอียดอ่อนมากและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เหมือนกับเราใส่เสื้อผ้าที่พอดี แต่เกษตรกรยังต้องมีการปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองเพิ่มเติม จะได้เป็นข้อมูลเฉพาะดินของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนใคร แม้กระทั่งแปลงใกล้เคียง เพราะลักษณะดินและการจัดการดินมีส่วนทำให้ธาตุอาหารในดินแตกต่างกัน"

แต่เมื่อเอ่ยถึง "การวิเคราะห์ดิน" แล้ว สิ่งที่ต้องผุดอยู่ในความคิดของเกษตรกรทันทีก็คือ "เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก!!"

"การตรวจดินเป็นเรื่องที่เกษตรกรทำได้ ไม่ยุ่งยากเลย เพราะขั้นตอนที่สลับซับซ้อน เราทำให้มันง่ายแล้ว เพียงแค่เกษตรกรต้องเก็บดินในวิธีการที่ถูกต้อง เปลี่ยนพฤติกรรมจากปกติที่ซื้อปุ๋ยมาโยนๆ มาลองเก็บดินให้ถูกวิธี และมาดูว่าเป็นดินชุดใด และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือว่ามีธาตุอาหารอะไรอยู่ในดินบ้าง จากนั้นก็นำค่าที่ได้มาเทียบเคียงกับตารางคำแนะนำการใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด" แต่ต้องเป็นปัจจุบันที่สุด ไม่ใช่นำผลวิเคราะห์ดินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เก็บใส่ลิ้นชัก เมื่อถึงเวลาแล้วเก็บขึ้นมาใช้ เพราะดินมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็เหมือนกับคนเรามีอ้วนมีผอม เสื้อผ้าชุดเดิมก็อาจใส่ไม่ได้แล้ว มีเกษตรกรบางรายใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 มานานมาก ซึ่งหมายความว่าไม่มีธาตุอาหารตัวท้าย แต่ปรากฏว่าเมื่อนำดินไปวิเคราะห์ปุ๊บ ดินในแปลงดังกล่าวขาดตัว K ดังนั้น แม้จะใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 ไปมากแค่ไหน ดินก็ไม่เคยได้รับธาตุอาหารที่ขาด การใช้ปุ๋ยต้องมีความสมดุลตามปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน จึงต้องมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ซึ่งขั้นตอนการวิเคราะห์ดินง่ายมาก แต่เกษตรกรที่ยังไม่เคยลงมือมักจะมองว่าเป็นเรื่องยาก"

วิธีการตรวจสอบชุดดินสามารถปฏิบัติตามคู่มือตรวจสอบชุดดินที่ทีมงานได้พัฒนาขึ้น หรือสามารถสอบถามได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ส่วนการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ก็สามารถวิเคราะห์เองได้ภายใน 30 นาทีด้วย "ชุดตรวจสอบ N P K ในดิน" ปัจจุบันราคาประมาณ 3,745 บาท สามารถวิเคราะห์ดินได้ 50 ตัวอย่าง หากเทียบกับการส่งดินตัวอย่างมาตรวจสอบในห้องแล็บซึ่งมีรายจ่ายราว 400 บาท ต่อ 1 ตัวอย่าง และใช้เวลามากกว่า 3 สัปดาห์ จึงจะรู้ผล นับว่าการตรวจสอบเองที่คุ้มค่าและคุ้มเวลากว่ามาก

การลงทุนจุดนี้ หากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มใช้ชุดตรวจสอบร่วมกัน หรือทางผู้นำชุมชน อบต. อบจ. หรือศูนย์ชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนก็นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง

เมื่อได้ค่าวิเคราะห์ดินเสร็จแล้ว เกษตรกรก็สามารถนำมาเทียบเคียงกับคู่มือแนะนำการใช้ปุ๋ย หรือในท้ายเล่มหนังสือธรรมชาติของดินและปุ๋ย หรือคำนวณเองง่ายๆ ผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากเว็บไซต์ www.ssnm.agr.ku.ac.th

และเร็วๆ นี้ เกษตรกรยังสามารถรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยผ่านมือถือได้ง่ายๆ โดยระบบ SMS ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

มาถึงบรรทัดนี้มีคำถามตั้งขึ้นต่อว่า แล้วจะนำปุ๋ยตามคำแนะนำมาจากที่ใด ???

คำตอบก็คือ การใช้แม่ปุ๋ย N P K เป็นหลัก นำมาผสมตามสัดส่วนตามคำแนะนำนั่นเอง

"อาจจะไม่ง่ายเหมือนการซื้อปุ๋ยสูตร แต่การใช้แม่ปุ๋ยจะช่วยลดปัญหาปุ๋ยปลอมระบาดได้ส่วนหนึ่ง เพราะปัญหาทุกวันนี้คือเกษตรกรใส่ปุ๋ยเท่ากับใส่ดิน แต่ปัจจุบันพบปัญหาอีกว่าแม่ปุ๋ยก็หาได้ยาก จังหวะเหมาะที่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนรายหนึ่งที่สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มสั่งซื้อแม่ปุ๋ยนำเข้าผ่านบริษัทเพื่อให้ได้แม่ปุ๋ยในราคาที่ถูกกว่าได้ ที่ต่างประเทศไม่ได้ขาดแคลนเลย ส่วนปุ๋ยสูตรที่นิยมใช้นั้นหน้าตาก็เหมือนกันไปหมด เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจริงหรือปลอม จนกว่าจะมาวิเคราะห์ทางเคมี ปรากฏว่ามีคนไปเจอสูตร 15-15-15 ผลคือ มีแค่ 11-1-1 นี่เป็นต้นเหตุของเรื่องที่เกษตรกรแปลกใจว่าทำไมใส่ปุ๋ยไปแล้วมันเขียวแค่แป๊บเดียว นั่นก็เพราะธาตุอาหารมีแค่นิดเดียวเท่านั้น" ดร.ทัศนีย์กล่าวเสริม

จากผลการใช้งานจริงของเกษตรกรตัวอย่างเคยใช้ปุ๋ยรวม 72 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อวิเคราะห์ดินแล้วเหลือ 25 กิโลกรัม ขณะที่ผลผลิตไม่ต่างกันมาก บางรายลดการใช้ปุ๋ยเหลือ 1 ใน 3 เฉลี่ยแล้วพบว่า เกษตรกรสามารถลดการใช้ปุ๋ย 38-49% นอกจากนี้ ยังส่งผลไปถึงการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสิ่งแวดล้อมด้วย

"ที่ผ่านมา เกษตรกรเข้าใจว่าใส่ปุ๋ยมากจะทำให้ผลผลิตมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ชอบคือแมลง เพราะไนโตรเจนทำให้พืชอวบ เต่งตึง แมลงก็มากิน เกษตรกรจึงต้องฉีดยาฆ่าแมลง บางคนเห็นแมลงอะไรก็ฉีดแล้ว แต่จริงๆ แล้ว มันมีทั้งแมลงตำรวจ แล้วก็แมลงผู้ร้าย เกษตรกรก็ฉีดหมด กันไว้ก่อน ในที่สุดผลร้ายก็ตามมา เขาก็เลยโทษกันว่าสารเคมีมาจากปุ๋ยเคมีที่เป็นอันตราย อันที่จริงแล้วมาจากยาฆ่าแมลงเหล่านี้นี่เอง"

แต่การใช้ "ปุ๋ยสั่งตัด" นี้ มีเงื่อนไขสิ่งหนึ่งคือ เกษตรกรต้องไม่เผาฟาง ศ.ดร.ทัศนีย์บอกว่า หากเผาฝางทิ้งก็เท่ากับการเผาเงินทิ้งเช่นกัน เพราะฟางข้าวเหล่านั้นก็คือปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีที่ไม่ต้องซื้อหา ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้โปร่งขึ้น ลดปัญหาดินแน่นทึบได้ดีและเพิ่มธาตุโพแทสเซียม

"ตอนนี้ปุ๋ยแพง เกษตรกรจะมาโยนเล่นไม่ได้ แต่ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ไม่ว่าปุ๋ยจะแพงอย่างไร ถ้าเราจัดการได้ดีและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็คุ้ม ส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ราคาตันละ 7,000-12,000 บาท (ราคาต่อหนึ่งหน่วยธาตุอาหาร เท่ากับ 175-300 บาท) เกษตรกรอาจจะมองเห็นว่ามันถูกเมื่อเทียบราคาต่อตันกับปุ๋ยยูเรีย ซึ่งมีราคาสูงถึงตันละ 28,000 บาท (ราคาต่อหนึ่งหน่วยธาตุอาหาร เท่ากับ 61 บาท) เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารต่ำกว่าปุ๋ยเคมีมาก จึงมีราคาต่อหน่วยธาตุอาหารสูงกว่าปุ๋ยเคมี หากนำมาใช้ตามความต้องการของพืช เท่ากับว่าเกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่สูงกว่า ซึ่งหมายถึงรายจ่ายที่สูงขึ้น ยกตัวอย่าง การใช้ปุ๋ยยูเรียกับปุ๋ยอินทรีย์ พบว่า ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากกว่า คิดเป็นสัดส่วน 17 ต่อ 400 ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีไม่ได้ แต่ต้องใช้ด้วยกัน เพราะหน้าที่ปุ๋ยอินทรีย์ก็คือปรับปรุงสภาพกายภาพ แต่บังเอิญว่าในปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีธาตุอาหารอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ปุ๋ยเคมีนั้นมีหน้าที่ให้ธาตุอาหารโดยตรง จึงเป็นคำตอบที่ว่า เราไม่สามารถเอาของที่ไม่เหมือนกันมาเทียบมาแทนกันได้ แต่สามารถใช้ร่วมกันได้"

ศ.ดร.ทัศนีย์ ยอมรับว่ารู้สึกหนักใจกับกระแสการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่ายที่เริ่มผิดเพี้ยนไป เพราะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ถูกต้องคือเป็นการนำเอาวัตถุทางธรรมชาติ เช่น เศษพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่มาไถกลบลงไปในดิน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการแปรรูปให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และพยายามปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับพืชหลักที่ปลูกอยู่ แต่สิ่งที่หนักใจยิ่งกว่าก็คือ ยังมีเกษตรกรค่อนประเทศที่มองข้ามความสำคัญของดินที่เหยียบย่ำ ใช้ประโยชน์จากมันอย่างละเลย

"ตอนนี้ดินประเทศไทยเสื่อมโทรมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อีสาน เมื่อไปวิเคราะห์ดินแล้วอยู่ในระดับต่ำเกือบทั้งหมด ไม่มีธาตุอาหารใดๆ เหมือนทราย ภาคกลางเองก็เยอะ ทางเหนือก็เสื่อม ขณะที่เกษตรกรก็ไม่รู้ ประชากรก็เกิดทุกวัน แต่เราไม่สามารถไปบุกป่าสร้างพื้นที่ใหม่ได้อีกแล้ว เราต้องใช้พื้นที่เดิม แต่ถ้าเราไม่ดูแลเรื่องดินเสื่อมโทรม ผลผลิตก็จะค่อยๆ ลดลงจนถึงจุดที่แย่ถึงที่สุด แล้ววันนั้นกว่าเราจะสามารถฟื้นฟูได้ต้องใช้เวลาอีกเป็นสิบปี เกษตรกรไม่เพียงใช้ปุ๋ยเป็นอย่างเดียว แต่ต้องใส่ใจกับดิน หมั่นตรวจดิน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันให้ความรู้กับเกษตรกร"

ความพยายามในการถ่ายทอดความรู้เรื่องดินและการใช้ปุ๋ยของ ดร.ทัศนีย์และทีมงาน เนิ่นนานมาร่วม 10 ปีแล้ว แต่การนำไปใช้จริงของเกษตรกรมีเพียง 10% เท่านั้น หลายคนบอกกับ ดร.ทัศนีย์ว่า เหมือนการหยดน้ำทีละหยดในมหาสมุทร แต่เธอบอกว่าไม่เป็นไร สักวันคงจะได้สักกระป๋องหนึ่ง การมีพันธมิตรมีผู้สนับสนุนร่วมเผยแพร่หรือต่อยอดงานวิจัยที่มากขึ้น ทำให้ภาพความหวังให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้เริ่มชัดเจนขึ้น

"อาจารย์ไม่ได้คาดหวังว่าเกษตรกรทุกคนทั่วประเทศจะต้องวิเคราะห์ดินเก่งหรือให้คำแนะนำ "ปุ๋ยสั่งตัด" เก่ง แต่สิ่งที่เราหวังก็คือแกนนำชุมชนที่สามารถเรียนรู้วิธีการนี้ไปใช้หรือเผยแพร่ในชุมชน สอนกันเองในชุมชน เกษตรกรเก่งๆ บ้านเรามีเยอะเลย เพียงแต่ว่าเราจะขยายผลอย่างไรให้เกษตรกรมีความรู้ จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ ทุกวันนี้ให้อาจารย์ไปสอนไปบรรยายที่ไหน รวมกลุ่มกันมา อาจารย์ก็ไปหมด สักวันก็คงได้รับผลสำเร็จ...ก็คงจะทำไปจนกว่าอาจารย์จะตาย" คำทิ้งท้ายจาก ศ.ดร.ทัศนีย์

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 439
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM