เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แก่นตะวัน พืชใหม่ ที่ท้าทายการพัฒนา มข. ภูมิใจเสนอ
   
ปัญหา :
 
 
มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พัฒนา "แก่นตะวัน" ได้ 2 สายพันธุ์ จากพืชเมืองหนาวนำมาปลูกในไทย เกษตรกรอีสานหลายจังหวัดหันมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ หลายบริษัทเปิดรับซื้อ ใช้ผลิตเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เชื่อว่าการพัฒนาในอนาคตจะเป็นพืชพลังงานทดแทนอีกหนึ่งชนิด

รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำพืชเมืองหนาว Jerusalem artichoke หรือเรียกชื่อในไทยว่า "แก่นตะวัน" มาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในเขตร้อนเมืองไทย ซึ่งพบว่ามีศักยภาพที่จะส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้อีกชนิดหนึ่ง

ล่าสุด ได้ปรับปรุงพันธุ์แก่นตะวัน ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในเมืองไทย ได้ 2 สายพันธุ์แล้ว คือ แก่นตะวันพันธุ์ 1 จะให้ผลผลิตสูง ประมาณไร่ละ 2-3 ตัน หัวใหญ่แขนงน้อย รสชาติหวาน เหมาะใช้บริโภคหัวสด และใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นแป้งผง ส่วนแก่นตะวันพันธุ์ 2 ให้ผลผลิตสูง หัวใหญ่แขนงน้อยมาก มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน กรอบ เหมาะใช้บริโภคหัวสด

แก่นตะวัน หรือ Jerusalem artichoke มีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นพืชล้มลุกใกล้ชิดกับทานตะวัน มีดอกสีเหลืองสดใส คล้ายดอกทานตะวัน แต่ขนาดเล็กกว่า มีหัวใต้ดินคล้ายขิงหรือข่า โดยใช้รับประทานในส่วนหัวสด ซึ่งการวิจัยพบว่า เป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง ช่วยจับยึดไขมันในเส้นเลือดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไขมัน Cholesterol Triglyceride และ LDL จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ให้แคลอรีต่ำไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน ที่สำคัญยังเป็นสารเยื่อใยอาหาร จะไม่ถูกย่อยในกระเพาะและลำไส้เล็ก อยู่ในระบบทางเดินอาหารเป็นเวลานาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว กินอาหารได้น้อย จึงช่วยลดความอ้วน นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น Coliforms และ E.Coli แต่จะเสริมการทำงานของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย คือ Bifidobacteria และ Lactobacillus จึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดีขึ้น"

รศ.ดร.สนั่น บอกว่า จากคุณสมบัติดังกล่าว จึงทำการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง ทั้งการเป็นพืชพลังงานทดแทนที่ใช้เป็นวัตถุดิบ แปรรูปเป็นเอทานอล และเป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะมีการส่งเสริมในการแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้น ซึ่งคณะนักวิจัยได้วางแผนประชาสัมพันธ์ ให้แก่นตะวันเข้าถึงประชาชนเพิ่มขึ้น ในลักษณะบริโภคเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ เชื่อว่าในอนาคตจะมีการขยายการเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลาย

แม้ว่า แก่นตะวัน จะยังเป็นพืชชนิดใหม่ ไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยนัก และอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะต่อการปลูกในเมืองไทย แต่หลังจากปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกในเมืองไทย ได้ 2 สายพันธุ์ ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้มีเกษตรกรสนใจปลูกในหลายจังหวัดของภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย นครพนม มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา ร้อยเอ็ด รวมถึงลพบุรี และสระบุรี เริ่มมีผู้สนใจบริโภคเพิ่มขึ้น

"มีภาคเอกชนหลายบริษัท นำหัวแก่นตะวันเป็นวัตถุดิบแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยจะมีการประกันราคารับซื้อจากเกษตรกร ที่กิโลกรัมละ 5 บาท เช่น บริษัท แก่นตะวันไบโอเทค จำกัด รับซื้อผลผลิตหัวแก่นตะวันสดจากเกษตรกรไปแปรรูปเป็น ซุปแก่นตะวัน และผักสดในลักษณะสลัดผัก มีบางบริษัทนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในลักษณะแคปซูล ล่าสุด มีบริษัทผู้ผลิตน้ำผักผลไม้รายใหญ่สนใจ เตรียมนำหัวแก่นตะวันไปแปรรูปเป็นน้ำผักผลไม้บรรจุกล่อง" รศ.ดร.สนั่น กล่าว

รศ.ดร.สนั่น กล่าวต่อว่า สำหรับการวิจัยเพื่อเป็นพืชพลังงานทดแทน โดยใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นเอทานอล ซึ่งหัวแก่นตะวัน เป็นพืชให้น้ำตาล สามารถใช้จุลินทรีย์หมักเป็นเอทานอลได้ โดยหัวแก่นตะวันสด 1 ตัน สามารถหมักเป็นเอทานอลได้ 80 ลิตร สูงกว่าอ้อย 1 ตัน ที่สามารถหมักเป็นเอทานอลได้ประมาณ 65-70 ลิตร แต่ก็ยังต่ำกว่าหัวมันสำปะหลังสด 1 ตัน ที่หมักเป็นเอทานอลได้ถึง 160 ลิตร เนื่องจากเป็นที่นิยมนำไปแปรรูปเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพมากกว่า ทำให้มีราคาสูงกว่าอ้อย และมันสำปะหลัง จึงยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเป็นเอทานอล และในเบื้องต้น น่าจะส่งเสริมขายผลผลิตหัวแก่นตะวันสดเพื่อการบริโภค

"ปลูกแก่นตะวัน มีต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 9,800 บาท มีผลผลิตสูงสุดไร่ละ 3.2 ตัน หรือคิดเป็นต้นทุนการเพาะปลูกอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.10 บาท ขณะที่ราคาหัวมันสำปะหลังสด ราคาเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 1.20-1.40 บาท หรือปัจจุบันอาจสูงกว่านี้ แต่ไม่มากนัก ดังนั้น ในปัจจุบัน แก่นตะวันอาจจะยังไม่เหมาะที่จะปลูกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล แต่อาจมีความเป็นไปได้ในอนาคต ที่ยังสามารถต่อยอดงานวิจัยพัฒนาพันธุ์ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น หากเพาะปลูกในพื้นที่ที่การจัดการด้านชลประทานที่ดี จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าไร่ละ 6 ตัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อไร่ต่ำลงเพียงกิโลกรัมละ 1 บาทเศษเท่านั้น ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปที่สูงขึ้น น่าจะทำให้แก่นตะวันเป็นพืชพลังงานทดแทนอีกชนิดหนึ่ง" รศ.ดร.สนั่น กล่าว

เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ ในยุคพลังงานมีราคาแพง
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ขอนแก่น
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 439
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM