เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปลาสวาย โตเร็ว ผลตอบแทนดี
   
ปัญหา :
 
 
พูดคุยกับเซียนเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนักวิชาการและเจ้าของฟาร์มหลายคนบอกว่า ปลาสวาย เป็นปลาน้ำจืดน่าเลี้ยงมาก ด้วยว่ามีปัจจัยหลักๆ คือ ลูกพันธุ์ราคาถูก ต้นทุนอาหารต่ำ และเจริญเติบโตดี ที่สำคัญตลาดรับซื้อเปิดกว้างมาก

ผลผลิตของปลาสวายนี้มีตลาดรับซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นอาหาร อาทิ ลูกชิ้นปลา ปลาเค็ม และต้มยำ รวมทั้งแกงได้เกือบทุกประเภท

เป็นปลาที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับปลาน้ำจืดทั่วๆ ไป คือ กิโลกรัมละ 15-20 บาท เท่านั้นเอง ทำให้ผู้คนที่มีรายได้น้อยและปานกลางมักนิยมบริโภคกันมาก

ปลาสวาย มีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดียและพม่า ต่อมาได้แพร่เข้ามาในประเทศอินโดนีเซีย และไทย มีชื่อสามัญหรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Stripped Catfish มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pangasius sutchi Fewler

ในประเทศไทยปลาชนิดนี้ได้รับความนิยมในการเลี้ยงเป็นอาชีพอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว และไม่ค่อยมีโรคเบียดเบียนเช่นปลาอื่นๆ อีกทั้งสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อ ในกระชัง และเลี้ยงได้ทั้งชนิดเดียว หรือเลี้ยงรวมกันกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังเป็นปลาที่กินอาหารได้เกือบทุกชนิด แม้เศษอาหารจากร้านค้า ครัวเรือน หรือมูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลสุกร ฯลฯ ก็ใช้เป็นอาหารปลาสวายได้เป็นอย่างดี



เลี้ยงปลาสวายได้ทั้งบ่อดินและกระชัง

ในการเลี้ยงปลาสวายนั้น สามารถเลี้ยงรวมกับปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ ได้ อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาดุก ปลาจะละเม็ด เป็นต้น ส่วนการเลี้ยงชนิดเดียวนั้น ข้อมูลจากกรมประมงระบุไว้ว่า ปัจจุบันนิยมอยู่ 2 วิธี คือ เลี้ยงในบ่อดินและเลี้ยง ในกระชัง

การเลี้ยงปลาในบ่อดิน

ปลาสวายในบ่อดินนิยมเลี้ยงกันมากในเขตภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์ลงมาถึงสุพรรณบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร แต่ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยง การให้อาหาร ตลอดจนการเจริญเติบโตค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก ทั้งนี้ เป็น เพราะมีปัจจัยอยู่หลายอย่างที่ทำให้มีข้อแตกต่างดังกล่าว เช่น น้ำ และคุณสมบัติของน้ำที่ใช้เลี้ยง อาหารที่ใช้เลี้ยง วิธีการเลี้ยง และการจัดการ ตลอดจนการเอาใจใส่ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลี้ยงทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงปลาสวายควรจะได้มีการพิจารณาหลักทั่วๆ ไป ดังต่อไปนี้ ขนาดของบ่อและที่ตั้ง ควรเป็นบ่อขนาดใหญ่ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ขึ้นไป หรืออย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 400 ตารางเมตร ความลึก ประมาณ 2 เมตร ที่ตั้งของบ่อควรใกล้แม่น้ำหรือลำคลองที่สามารถรับน้ำและระบายน้ำเข้า-ออก ได้เมื่อต้องการ

สำหรับการเตรียมบ่อนั้น ใช้หลักการและวิธีการเดียวกับหลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วไป แต่น้ำที่นำมาใช้นั้นต้องมีคุณสมบัติมีความเป็นกรด-ด่าง และปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสม

ส่วนการคัดเลือกพันธุ์ปลานั้น ควรพิจารณาถือเอาหลักง่ายๆ ดังนี้ คือเป็นปลาขนาดไล่เลี่ยกัน เพราะปลาที่โตแตกต่างกันจะรังแกกันและแย่งอาหาร สู้ตัวโตไม่ได้ เมื่อถึงเวลาจับขายทำให้มีปัญหาด้านการจัดการ นอกจากนี้ ต้องเป็นปลาที่สมบูรณ์ ไม่เป็นแผล ไม่แคระแกร็นหรือพิการ และปราศจากโรค

ปลาที่ปล่อยเลี้ยงควรมีขนาดค่อนข้างโต หรือขนาด 5-12 เซนติเมตร อัตราการปล่อย 2-3 ตัว ต่อตารางเมตร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของน้ำที่ใช้เลี้ยง

ส่วนอาหารนั้น กินเกือบทุกประเภทโดยไม่เลือก ซึ่งได้แก่พืช สัตว์เล็กๆ อยู่ในน้ำ เช่น พวกแมลง ไส้เดือน หนอน และตะไคร่น้ำ ตลอดจนพวกจอก แหน และผักที่กินใบ นอกจากนั้น ปลาสวาย ยังมีความสามารถในการใช้มูลสัตว์จำพวกหมู ไก่ และจำพวกวัว ควาย ให้เป็นอาหารโดยตรงได้อีกด้วย เพราะเหตุนี้เองปลาสวายจึงเป็นปลาที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นปลาเลี้ยงแบบไร่นาสวนผสม หรือเรียกว่าแบบผสมผสานชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

การเลี้ยงปลาสวายให้ประสบความสำเร็จหรือให้ได้ผลกำไรนั้น ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการหาวัสดุมาใช้เป็นอาหาร ถ้าหากได้ในราคาถูก การเลี้ยงปลาก็ได้กำไร และในทางตรงกันข้าม ถ้าวัสดุอาหารราคาแพงก็จะได้กำไรน้อยหรือขาดทุน ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาสวายในเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปลาสวาย ส่วนใหญ่จะได้มาจากเศษอาหารจากภัตตาคารและร้านค้า พวกมูลสัตว์ หรืออาหารจากส่วนที่ย่อยไม่หมดของกระเพาะและลำไส้ของโค กระบือ และสุกร จากโรงฆ่าสัตว์ เศษผักจากสวนผัก ซึ่งผู้ทำสวนผักตัดและคัดทิ้ง หรือจากตลาดสดที่ถูกตัดทิ้ง ตลอดจนเศษเครื่องในและเหงือกปลาที่แม่ค้าในตลาดควักออกทิ้ง นอกจากนี้ สามารถนำเศษมันเส้น (จากมันสำปะหลัง) หรือมันเส้น หัวมัน ตลอดจนใบมัน โดยเฉพาะใบมันเป็นอาหารโดยตรงหรือต้มผสมกับวัสดุอื่นให้กิน

การเลี้ยงปลาสวายในบ่อดินจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8-12 เดือน ปลาสวายจะมีขนาด 1-1.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่จำหน่ายได้ในท้องตลาดทั่วๆ ไป

ผลผลิตในระยะดังกล่าว รวมๆ แล้ว ประมาณ 4,000-6,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ทั้งนี้แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารที่ให้และน้ำที่ใช้เลี้ยง

สำหรับวิธีการจับปลาขายนั้น หากต้องการจำนวนน้อยจะนิยมใช้แหหรือสวิง แต่ถ้าจำนวนมากมักใช้อวนหรือเฝือกสุกล้อม อย่างไรก็ตาม หากเป็นบ่อขนาดใหญ่ให้แบ่งตอนของบ่อด้วยเฝือกหรืออวนก่อน แล้วใช้อวนล้อมสกัดจับส่วนที่ต้องการออก เพื่อไม่ให้ปลาในบริเวณที่เหลือมีอาการตื่นตกใจตามไปด้วย

อนึ่ง กลิ่นสาบโคลนของปลาสวายที่เลี้ยงในบ่อดินนั้น สามารถแก้ปัญหาได้ โดยก่อนจะนำไปจำหน่ายหรือทำอาหาร ควรจับปลาหรือถ่ายปลาจากบ่อใหม่ที่มีน้ำสะอาดและถ่ายเทได้พอสมควร แล้วให้อาหารจำพวกปลายข้าวต้มผสมรำก่อนนำไปจำหน่าย 2-3 วัน จะทำให้ปลามีกลิ่นดีขึ้นเมื่อทำอาหาร

การเลี้ยงปลาในกระชัง

การเลี้ยงปลาสวายในกระชังนั้น เป็นการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูงกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน เป็นการเลี้ยงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จากชาวบบ้านที่อาศัยเรือนแพในแม่น้ำ ลำคลอง แถบภาคกลาง เช่น จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ หลักเกณฑ์การเลี้ยงปลาสวายในกระชังมีดังนี้ คือที่ตั้งของกระชัง ควรมีน้ำไหลถ่ายเทได้ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หากจะเลี้ยงในอ่างเก็บน้ำควรตั้งกระชังให้อยู่ในบริเวณตอนบนของอ่าง ซึ่งมีกระแสน้ำพอที่จะช่วยถ่ายเทของเสียจากกระชังได้บ้าง ก็จะเป็นการดี

วัสดุที่ใช้สร้างกระชัง ส่วนใหญ่นิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง และจะมีอยู่บ้างที่ยังใช้ไม้ไผ่สานทำเป็นกระชัง นอกจากนั้น ก็มีการใช้เนื้ออวนโพลีเอทิลีน แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ในการใช้วัสดุพยุงกระชังให้ลอยน้ำนั้น นิยมใช้ไม้ไผ่มัดเป็นแพลูกบวบ

ขนาดของกระชัง ส่วนใหญ่ถ้าเป็นกระชังไม้หรืออวน จะมีขนาด 8-15 ตารางเมตร ลึก 1.25-1.50 เมตร และถ้าเป็นไม้ไผ่สาน จะมีขนาด 2x5x1.5 เมตร

อัตราการปล่อยปลาที่เลี้ยงในกระชัง ขนาด 7-12 เซนติเมตร ปล่อยในอัตรา 100-200 ตัว ต่อตารางเมตร ส่วนการเจริญเติบโตนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของอาหารที่ให้ หากเป็นกระชังขนาดประมาณ 10 ตารางเมตร ลึก 1.25 เมตร ปล่อยปลา 150-200 ตัว ต่อตารางเมตร ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี จะให้ผลผลิตประมาณ 1,500 กิโลกรัม ต่อกระชัง

สำหรับการจับปลาสวายที่เลี้ยงในกระชังนั้น ทำง่ายกว่าการจับในบ่อดินมาก และสามารถลำเลียงทางบกเพื่อให้ได้ปลามีชีวิตไปขายในตลาด โดยใช้รถยนต์บรรทุก ถังสี่เหลี่ยมขังน้ำพอประมาณหรือให้ท่วมปลา แล้วใช้อวนปิดถัง ซึ่งการลำเลียงแบบนี้ควรทำตอนเช้ามืด หรืออากาศเย็นจะได้ผลดีมาก



ประโยชน์ของปลาสวาย

ใช้บริโภคในครัวเรือน ใช้จำหน่ายสด และนำไปแปรรูป เช่น ทำปลาสวายรมควัน ลูกชิ้นปลาสวาย ข้าวเกรียบปลาสวาย ปลาสวายหวานและเค็ม ในกรณีจำหน่ายปลาสวายสดไม่ได้ทันที สามารถเก็บไว้โดยวิธีแช่แข็ง คือแล่เนื้อปลาเป็นชิ้น แล้วอัดเป็นก้อน เคลือบด้วยน้ำแข็งนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านี้ จะเก็บรักษาเนื้อปลาสวายได้นานถึงประมาณ 60 วัน โดยเนื้อปลาจะมีคุณภาพคงเดิม



โรคของปลาสวายและการรักษา

โดยปกติปลาสวายมักจะไม่ค่อยเป็นโรคมากนัก โรคที่พอจะพบได้บ้าง คือ

1. โรคที่เกิดจากพยาธิ "อิ๊ค" (Ichthyophthirius sp.) เกิดได้กับปลาทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จัดว่าเป็นโรคที่ทำความเสียหายให้แก่ผู้เลี้ยงปลามากที่สุด เนื่องจากตัวเต็มวัยของพยาธิอยู่ใต้ผิวหนังของปลาและดูดเลือดกินเป็นอาหาร ปลาที่เป็นโรคชนิดนี้จะปรากฏจุดสีขาวกระจายไปทั่วลำตัว มีเมือกหลุดออกมา และมีอาการเฉื่อยชา โรคนี้มักเกิดจากการเลี้ยงปลาหนาแน่นมากเกินไป อาหาร คุณภาพ และปริมาณไม่พอเพียง อุณหภูมิต่ำ ถ้าพบว่าปลาตัวใดเป็นโรคนี้ ให้รีบใช้ยากำจัดทันที ก็สามารถป้องกันการระบาดของโรคได้ เพราะอิ๊คเข้าทำลายตัวปลาไม่พร้อมกัน

วิธีแก้ไข

ก. แช่ปลาในน้ำยาฟอร์มาลิน (Formalin) เข้มข้น 25 ส่วน ในล้านส่วน โดยแช่วันเว้นวัน

ข. แช่ปลาที่เป็นโรค ใช้น้ำยาเมทิลีนบลู (Methylene blue) เข้มข้น 200 ส่วน ในล้านส่วน ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วย้ายมาขังไว้ในบ่อที่มีน้ำสะอาด ประมาณ 2-3 วัน จุดขาวๆ จะค่อยๆ หายไปเอง

ค. แช่ปลาในสารละลายไนโตรฟูราโซน ความเข้มข้น 1 กรัม ต่อน้ำ 40 ลิตร นานประมาณ 2-3 วัน

ง. แช่ปลาในสารละลายออรีโอมัยซิน ความเข้มข้น 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร นานประมาณ 4 วัน

2. โรคที่เกิดจากพยาธิ "ทริโคดินา" (Trichodina sp.) ส่วนมากเป็นกับปลาขนาดเล็ก พยาธิชนิดนี้จะเกาะอยู่ตามบริเวณลำตัว ครีบ ซี่เหงือก อาการที่ปรากฏคือ มีลักษณะเป็นแผ่นเยื่อบางๆ ปกคลุมบริเวณดังกล่าว ทำให้ปลามีอาการเฉื่อยชา ไม่ค่อยกินอาหารและจะตายในที่สุด

วิธีกำจัดทำได้หลายวิธี เช่น

ก. แช่ปลาในน้ำเกลือเข้มข้น 3% เมื่อปลามีอาการกระวนกระวายแล้วจึงเปลี่ยนน้ำใหม่

ข. แช่ปลาในน้ำยาฟอร์มาลินเข้มข้น 25 ส่วน ในล้านส่วน

ค. แช่ปลาในสารละลายด่างทับทิม 3 ส่วน ในล้านส่วน

3. โรคท้องบวม เกิดกับปลาสวายทุกชนิด อาการที่ปรากฏคือ ส่วนท้องของปลาจะบวมออกมาเห็นได้ชัดเจน ทำให้ปลามีการเคลื่อนไหวช้าลงและตายในที่สุดเช่นกัน การรักษาที่ได้ผลคือ การถ่ายน้ำ และใส่เกลือลงในบ่อปลา

4. โรคที่เกิดจากพยาธิ "แดดทีโลไยรัส" (Dactylogyrus sp.) หรือพวกพยาธิตัวแบน เกิดกับปลาทุกขนาดที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหายใจไม่สะดวก เพราะพยาธิจะเข้าเกาะและทำลายซี่เหงือกปลา การกำจัดทำได้โดยการใช้น้ำยาฟอร์มาลิน 50 ส่วน ในล้านส่วน หรือสารละลายดิพเทอเร็กซ์ 0.25 ส่วน ในล้านส่วน ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน และการใช้ตัวยาเข้มข้นในระดับนี้หากปลาที่ใส่ลงแช่ในน้ำยามีอาการทุรนทุราย ควรรีบจับปลาไปปล่อยไว้ในน้ำธรรมชาติต่อไป มิฉะนั้นปลาอาจตายได้ โดยทั่วไปจะแช่ไม่เกิน 10-15 นาที ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับน้ำและอุณหภูมิของน้ำที่ใส่แช่ หากอุณหภูมิสูง น้ำมีปริมาณน้อย ก็ต้องใช้ระยะเวลาน้อยกว่านี้

หมายเหตุ อัตราส่วน 1 ส่วน ในล้านส่วน หมายถึง น้ำยา 1 ซีซี ต่อปริมาณน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 1,000 ลิตร

5. โรคหูดเม็ดข้าวสาร ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีตุ่มสีขาวขุ่นอยู่ตามลำตัว ลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสาร มักพบในกรณีที่มีการปล่อยปลาเลี้ยงอย่างหนาแน่น และการถ่ายเทน้ำไม่สะดวก ปลาจะมีอาการผอม ไม่กินอาหาร และทยอยตาย สาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อสปอร์โรซัวขนาดเล็ก ชนิดของปลาที่มีรายงานว่าเป็นโรคนี้ ได้แก่ ปลาดุก ปลาสวาย



การป้องกันและรักษา

1. อย่าปล่อยปลาแน่นเกินไป และควรถ่ายเทน้ำในบ่อปลาอย่างสม่ำเสมอ

2. ถ้าพบปลาเป็นโรค ควรเผาหรือฝังเสีย เพื่อป้องกันการระบาดของโรค

3. เมื่อปลาเป็นโรคแล้วไม่มีทางรักษา

4. ถ้านำปลาที่เป็นโรคในขั้นไม่รุนแรงมากมาเลี้ยงในที่ที่มีน้ำถ่ายเทสะดวก และในอัตราที่ไม่หนาแน่นมาก ปลาก็อาจจะหายจากโรคได้เองบางส่วน

ที่มา : เอกสารการเพาะเลี้ยงปลาสวาย กรมประมง

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 439
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM