เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะพร้าวทะเล มหัศจรรย์แห่งพืชพรรณ
   
ปัญหา :
 
 
ผมเกิดมาท่ามกลางดงมะพร้าวก็ว่าได้ เพราะรอบๆ บ้านเมื่อหันไปทิศไหนก็เจอแต่สวนตาลมะพร้าว ส่วนมากเป็นมะพร้าวที่ปลูกไว้ เพื่อทำน้ำตาลมะพร้าว หรือน้ำตาลปี๊บมากกว่าการเก็บผล ซึ่งพอคุ้นเคยกับสวนมะพร้าว แม้ครอบครัวไม่ได้มีอาชีพทำสวนตาลมะพร้าวก็ตาม แต่รู้จักกับมะพร้าวหลายชนิด เช่น มะพร้าวเล็ก มะพร้าวกลาง มะพร้าวใหญ่ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวทุย และมะพร้าวกะทิ เป็นต้น

แต่ มะพร้าวทะเล นั้นไม่รู้จัก พื้นที่ของจังหวัดติดกับทะเลก็ไม่เคยได้ยินชื่อ มะพร้าวทะเล ออกไปเที่ยวทะเลนับครั้งไม่ถ้วนก็ไม่เคยเห็นมะพร้าวทะเล เห็นแต่ต้นจาก มีใบคล้ายมะพร้าวแต่แตกเป็นกอขึ้นอยู่ตามชายฝั่ง มารู้จักและเห็นหน้าค่าตามะพร้าวทะเลก็ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอีกหลายคนก็คงเคยเห็นเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน มะพร้าวทะเล กลายเป็นต้นไม้ที่ได้รับความสนใจมากๆ ไม่แพ้ต้นขวดยักษ์ ที่เด่นตระหง่านบนเนินดินด้านหน้า

มะพร้าวทะเล ไม่ใช่มะพร้าวของไทยและไม่มีในประเทศไทย ไม่มีการเพาะปลูกเป็นสวนมะพร้าวทะเลขนาดใหญ่เหมือนกับสวนตาลมะพร้าว สวนตาลโตนด สวนมะพร้าวน้ำหอม สวนมะพร้าวน้ำหวาน และสวนมะพร้าวกะทิ คงมีการนำเข้ามาปลูกตามสวนปาล์มประดับบางแห่ง เนื่องจากเป็นพรรณไม้หวงห้ามของประเทศเจ้าของ ดังนั้น มะพร้าวทะเล จึงเป็นพรรณพืชที่แปลกใหม่

มะพร้าวทะเล เรียกกันได้อีกหลายชื่อ เช่น มะพร้าวแฝด ตาลทะเล หรือมะพร้าวก้นนิโกร เป็นต้น ในประเทศตุรกี เรียกมะพร้าวทะเล ว่า "kuka"

คำว่า "กูก" หรือ "กูกา (kuka)" มีที่มาจากการบันทึกไว้ว่า...มะพร้าวทะเล ที่พบในอาระเบียคงถูกนำเข้าไปถวายสุลต่านแห่งออตโตมาน เพื่อทำเครื่องประดับและทำลูกประคำ "กูกา (kuka) " ที่ชาวตุรกีเรียก ก็เป็นคำที่ขอยืมมาจากภาษายุโรปคือ coco ซึ่งแปลว่า "ปาล์ม" และชื่อภาษาอังกฤษเองก็ขอยืมมาจากฝรั่งเศส ว่า Coco de mer ชื่อ Coco de mer แปลตรงตัวว่า มะพร้าวทะเล

บาทหลวงลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศส เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เรียกมะพร้าว ว่า Co co tree มะพร้าวทะเลมีรูปร่างเหมือนมะพร้าวแฝด เพราะมีสองลูกติดกัน อังกฤษจึงเรียกมะพร้าวทะเลอย่างง่ายๆ ว่า ดับเบิลโคโคนัท (Double coconut) แปลว่า มะพร้าวคู่แฝด มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อในยุโรป อาทิ มะพร้าวมัลดีฟ (Maldive Coconut), ปาล์มแห่งความรัก (Palm of Love ), ปาล์มแห่งอารมณ์รัก (Palm of Romance), เมล็ดแห่งความรัก (Love nut) มะพร้าวโซโลมอน (Coco de Solomon), Coco Jumeau, มะพร้าวราชา (Coco Royal), มะพร้าวอุจจาด (Coco Indecent), มะพร้าวก้นนิโกร (Cul de Negresse), (Coco Fesse) เป็นต้น

ภาษาฮินดีในอินเดียเรียกมะพร้าว ว่า นาริยาล และเรียก มะพร้าวทะเล ว่า ดัรยาส นาริยาล Daryas Nariyal (แปลว่า มะพร้าวแห่งทะเล) ต่อมาเพี้ยนเป็น ญาฮารี ในสำเนียงชาวบอมเบย์ ซึ่งแปลว่า "มีพิษ" พวกฟากีรจึงท้าทายพิษของมันด้วยการเอากะลามาทำเป็นภาชนะใส่อาหาร ชาวฮินดูในอินเดียเอามะพร้าวตั้งแท่นแล้วกราบไหว้บูชาเสมือนเป็นโยนีของเจ้าแม่ ในภาษามัลดีฟเรียกมะพร้าวทะเลนี้ว่า ตาวา กัรฮี (Tava Karhi) ซึ่งคำว่า กัรฮี แปลว่า มะพร้าว มีชื่อในภาษามาเลย์และชวาว่า Calappa laut จีน เรียก Hayja



ทำไมหรือจึงเรียกมะพร้าวทะเล

สาเหตุที่ถูกขนานนามอย่างนี้ก็เพราะว่า พวกเดินเรือในอดีตจะพบลูกมะพร้าวทะเลลอยในมหาสมุทร แต่ไม่มีใครเห็นหรือพบเห็นต้นของมัน จึงสันนิษฐานว่าคงมีต้นอยู่ใต้ทะเล บ้างก็ไปไกลยิ่งกว่านั้น คือเชื่อว่าคงเป็นผลไม้จากสวรรค์แน่ๆ และอาจจะเป็นผลไม้แห่งความอมตะ ที่อีฟ หรือ ฮาวา ภรรยาอาดัม ถูกหลอกให้กินก็ได้

นานๆ ครั้ง จะมีผู้พบเห็นมะพร้าวทะเลถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง มะพร้าวทะเลจึงกลายเป็นของแปลกและหายากยิ่งกว่าเพชรพลอย และแน่นอนผลไม้พิสดารนี้ก็จะถูกนำไปถวายให้แก่คนที่สำคัญที่สุดในแผ่นดิน นั่นคือ กษัตริย์ หรือสุลต่าน ไว้ประดับบารมีหรือเป็นยาวิเศษรักษาสารพัด

มะพร้าวทะเล จะพบมากที่สุดในทะเลตามหมู่เกาะมัลดีฟ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนเรียกชื่อมะพร้าวทะเลนี้ว่า มะพร้าวมัลดีฟ และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นภาษาละตินว่า Lodoicoa maldivica นอกจากนี้ ยังพบในทะเลแถวอาระเบีย ศรีลังกา และอินเดียใต้ สุมาตรา และชายฝั่งแหลมมลายูอีกด้วย

แท้จริงมะพร้าวทะเลไม่ได้มีต้นกำเนิดที่มัลดีฟ แต่มีต้นกำเนิดที่หมู่เกาะเซเชลส์ สาเหตุที่เรียกว่า มะพร้าวทะเล ก็เพราะว่าพวกเดินเรือในอดีตมักพบลูกมะพร้าวทะเลลอยอยู่ในมหาสมุทร แต่จนแล้วจนรอดไม่มีใครพบเห็นต้นของมัน จึงสันนิษฐานว่าคงมีต้นอยู่ใต้ทะเล มะพร้าวทะเลที่ลอยมาขึ้นฝั่งเกาะมัลดีฟและเกาะอื่นๆ เป็นมะพร้าวที่ภายในเน่าเกิดเป็นก๊าซจึงลอยขึ้นมา ดังนั้น มะพร้าวที่ลอยมาติดตามชายฝั่งต่างๆ จึงไม่สามารถงอกเจริญขึ้นมาเป็นต้นได้ นอกเสียจากที่แหล่งกำเนิดของมันแห่งเดียว

กษัตริย์ในมัลดีฟออกกฎว่า ผู้ใดพบเห็นมะพร้าวทะเล แล้วไม่นำไปถวายพระองค์จะถูกลงอาญาถึงขั้นประหารชีวิต ในอดีตราชินีแห่งโปรตุเกสเคยสั่งให้นำมะพร้าวทะเลไปถวายพระองค์บ่อยครั้ง แม้แต่กษัตริย์รูดอล์ฟก็ยังเคยทรงจ่ายทอง จำนวน 4000 ฟลอรีน (ฟลอรีนละ 3.88 รวมเป็นทองหนัก 15,522 กรัม หรือประมาณ 9.4 ล้านบาท) เพื่อซื้อมะพร้าวทะเลเพียงใบเดียวจากครอบครัวของกัปตันวอลเฟิร์ท เฮอร์มันส์เซน (Wolfert Hermanszen) ชาวดัตช์ ซึ่งกัปตันคนนี้ได้รับพระราชทานลูกมะพร้าวทะเลนั้นจากสุลต่านฮันโญโกรวาตี (Sultan Hanyokrowati ทรงมีพระนามเดิมว่า มัสโจลัง Mas Jolang) กษัตริย์แห่งบันตัม บนเกาะชวาตะวันตก (ครองราชย์ระหว่างปี 1601-1613 มีพระชนมายุเพียง 11 พรรษา เมื่อขึ้นครองราชย์) เนื่องจากกัปตันวอลเฟิร์ทได้ช่วยต่อสู้ เพื่อขับไล่ทัพเรือโปรตุเกสออกจากบันตัม ปี ค.ศ. 1602 แต่กลับต้องตกอยู่ภายใต้ฮอลแลนด์ในเวลาต่อมา

ความพิลึกพิลั่นของมะพร้าวประกอบกับตำนานอันพิสดารต่างๆ ที่เล่าต่อกันมากมายหลายเรื่อง เฉพาะอย่างยิ่งก็จากบันทึกการเดินทางรอบโลกของแม็กเจลแลน ที่บอกว่า มะพร้าวทะเลขึ้นอยู่กลางมหาสมุทรที่ไหนสักแห่งหนึ่งใต้เกาะชวาและบนต้นไม้นี้เป็นรังของพญาครุฑ บันทึกนี้ไปสอดพ้องกันพอดีกับบันทึกของมาร์โคโปโล ก็เลยทำให้ผู้คนเชื่อกันเป็นตุเป็นตะ ทำให้กะลาของมะพร้าวทะเลมีราคาและคุณค่า เป็นที่ต้องการของบรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายมาแต่โบราณกาล จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 Emperor Rudolph II แห่งอาณาจักรโฮลี่โรมันก็มีพระประสงค์จะได้ไว้ครอบครอง ถึงกับเปรยว่า ขอก็แล้ว ฝรั่งเศสก็ยังไม่ส่งไปถวายเสียที จะรบราฆ่าแกงกันหรืออย่างไร สุดท้ายต้องซื้อไปในราคาถึง 600 เหรียญทอง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum )

ชาวมลายูในอดีตเชื่อว่า มะพร้าวทะเล มีต้นเพียงต้นเดียวอยู่ใต้ทะเล ที่สะดือทะเลมีน้ำวน มียอดขึ้นเหนือน้ำ มีพญาครุฑใช้ทำรังอยู่ ต้นไม้นี้มีนามว่า ปาโอะห์ ญังกี (Pauh Janggi) แปลว่า มะม่วงญังกี ซึ่งกลายเป็นนิยายที่ใช้เล่นหนังมลายู มีบางครั้งบางคราวที่ชาวพื้นเมืองเก็บลูกมะพร้าวทะเลได้จากฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของสุมาตรา แล้วเอามาขายในเมืองปาดัง (Padang) และปรีอามัง (Priamang) บรรดาเจ้าเมืองมลายูยอมจ่ายในราคามหาศาลเพื่อให้ได้ครอบครองผลไม้วิเศษนี้



การเปิดตัวสู่โลกภายนอก

แต่แล้ววันหนึ่งความลับของมะพร้าวทะเลก็ถูกเปิดเผย เมื่อชาวอังกฤษได้เดินทางกับเรือ Ascension และเรือ Good Hope เพื่อเดินทางไปอินเดียตะวันออก ได้มาถึงเกาะเซเชลส์ ในปี ค.ศ. 1609 แต่ในครั้งนั้น อังกฤษไม่ได้ยึดครองหมู่เกาะในเซเชลส์ ใน ปี ค.ศ. 1742 ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Lazare Picault ได้มาถึงเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะเซเชลส์ แล้วตั้งชื่อเกาะนั้นว่า เกาะมาเฮ (Mahe) ซึ่งเป็นชื่อของ Mahe de Labourdonnais ผู้ว่าการหมู่เกาะเมริเซียส์ในเวลานั้น ที่ได้ส่งเขามาประจำที่เกาะนี้ อีก 14 ปีต่อมา เกาะมาเฮและเกาะอื่นๆ ก็ถูกยึดครองเป็นของกษัตริย์ฝรั่งเศส ตั้งชื่อใหม่ว่า หมู่เกาะเซเชลส์ (Isle Sechelles) และเป็นชื่อหมู่เกาะแห่งนี้ในเวลาต่อมา

ในปี ค.ศ. 1768 ชาวฝรั่งเศสได้เข้าจับจองเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ และตั้งชื่อเกาะนี้ว่า ปรัสลีน Praslin อันเป็นชื่อของรัฐมนตรีเดินเรือ คือ ดุ๊กแห่งปรัสลิน (Duke of Praslin) ส่วน Curieuse อันเป็นเกาะเล็กๆ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของปรัสลีนเป็นชื่อเรือ ซึ่งพวกเขาใช้โดยสารมาถึงเกาะในครั้งนั้น เมื่อนั้นปริศนาของมะพร้าวทะเลก็ถูกคลี่คลาย นั่นก็เพราะว่าพวกเขาพบต้นมะพร้าวทะเลบนเกาะทั้งสอง และเริ่มเข้าใจว่าลูกมะพร้าวแฝดที่ตกลงไปในทะเลนั้นเองที่ลอยข้ามมหาสมุทรอินเดียจนถึงมัลดีฟ ศรีลังกา และอินเดีย กัปตันชาวตะวันตกคนหนึ่งบรรทุกมะพร้าวทะเลเต็มลำเรือเพื่อเอาไปขาย ตั้งแต่นั้นมาปริศนามะพร้าวทะเลก็คลี่คลาย ราคาของมะพร้าววิเศษก็ตกไปด้วย ใน ปี ค.ศ. 1772 ชาวฝรั่งเศสได้นำทาสเข้ามาเพาะปลูกเครื่องเทศบนเกาะและเริ่มกลายเป็นที่อยู่อาศัยตั้งแต่นั้นมา

เรื่องราวของ มะพร้าวทะเล ถูกเปิดตัวสู่โลกภายนอก เมื่อ ชาร์ล กอร์ดอน (Charles Gordon) เดินทางมาถึงเซเชลส์ ในปี ค.ศ.1881 เขาได้ส่งมะพร้าวทะเลไปทำการศึกษาที่ซูดาน เขาอ้างทฤษฎีขึ้นมาว่า เซเชลส์เคยเป็นแผ่นดินใหญ่อยู่ระหว่างแอฟริกาและเอเชีย ทำไม ชาร์ล กอร์ดอน จึงคิดว่าเขาเป็นคนแรกที่พบสวนสวรรค์หรือสวนเอเดน (Garden of Eden) เข้าแล้ว เขามาที่เกาะปรัสลินและได้เจอกับต้นสาเกและมะพร้าวทะเล ทำให้เขาปักใจแน่วแน่ว่าที่นี่แหล่ะคือ สวนเอเดน (Garden of Eden) สาเก เป็นผลไม้แห่งชีวิต และมะพร้าวทะเล เป็นผลไม้ต้องห้าม เขาเชื่ออีกว่าทั้งอาดัมและอีฟไม่ได้กินแอปเปิ้ลหรอก แต่กินมะพร้าวทะเลต่างหาก ในไบเบิ้ลไม่ได้ระบุว่าผลไม้ที่อาดัมกินคือแอปเปิ้ล เพียงบอกว่ากินผลไม้ต้องห้าม คนทั่วไปคิดเอาเองว่าเป็นแอปเปิ้ล บ้างก็ว่าเป็นทับทิม

นิโคไล โอซิพอฟ (Nikolai Osipov) นักเดินเรือชาวรัสเซีย ได้เขียนหนังสือ ชื่อ "ท่องไปเจ็ดคาบสมุทร"(Sailing Seven Seas) เมื่อ ปี ค.ศ. 1985 ว่า บนเกาะมัลดีฟมีการค้าขายของแปลกที่เกาะได้จากชายฝั่งนั้นก็คือ มะพร้าวทะเล ซึ่งไม่รู้ว่ามันมาจากไหน ส่วน การ์เซีย เดอ ออร์ต้า (Garcia de Orta) ได้เสนอทฤษฎีว่า มะพร้าวทะเลไม่ได้ลอยเท้งเต้งมาจากที่ไหนหรอก มันมีอยู่ที่เกาะมัลดีฟนี่แหล่ะ ตั้งแต่มัลดีฟยังเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย เป็นผืนแผ่นดินใหญ่ มะพร้าวเมื่อมันแก่จัดก็หล่นจมใต้ดิน ครั้นน้ำทะเลท่วมผืนแผ่นดินใหญ่และเกิดการแยกตัว ทะเลปั่นป่วนลูกมะพร้าวบางส่วนก็พ้นจากการถูกฝั่งผุดขึ้นมาและถูกน้ำทะเลซัดเข้าฝั่ง ชาวเกาะจึงมาเก็บเอาไป

ประเทศเซเชลส์ (Seychelles) เป็นหมู่เกาะที่อยู่ในซีกโลกใต้ ต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตรราว 5 องศา ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมาดากัสการ์ จะค่อนไปทางแอฟริกาและต่ำลงมาจากเกาะมัลดีฟนิดๆ (ใกล้เกาะมอริเชียส) หมู่เกาะเซเชลส์ รวบรวมเกาะแก่งงดงามในรูปลักษณ์แปลกๆ ไว้ถึง 113 เกาะ เกาะสำคัญคือ เกาะมาเฮ (Mahe) ไม่ใช่เกาะที่มีแต่ความสนุกสนานสรวลเสเชิญมาเฮฮากัน

มาเฮ (Mahe) เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 142 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งเมืองหลวงวิกตอเรีย มีถนนสองสาย และตลาดใหญ่อยู่กลางเมือง บนเกาะปลูกมะพร้าว วานิลลา และเครื่องเทศ ใช้เงินรูปี สัญลักษณ์ของเกาะเป็นรูปลูกมะพร้าวทะเล รองลงมาเป็นเกาะปรัสลิน (Praslin) มีพื้นที่ 38 ตารางกิโลเมตร เกาะใหญ่เป็นที่ 2 ของเซเชลส์ ได้ชื่อว่าเป็นเกาะแห่งมะพร้าวทะเล เซเชลส์ถูกค้นพบโดยชาวโปรตุเกส เมื่อ ปี ค.ศ. 1505 ต่อมาใน ปี ค.ศ. 1609 นักเดินเรือชาวอังกฤษของบริษัท บริติช อีสต์ อินเดีย ของอังกฤษ ใช้เซเชลส์เป็นที่สำรวจและล่าอาณานิคม ในยุคสมัยของการค้างาช้างและทาสเป็นสินค้าหลักที่ต้องการจากแอฟริกา ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองใน ปี ค.ศ. 1743 และได้ผนวกรวมเข้ากับเมริเซียส์เป็นเมืองในอาณานิคมฝรั่งเศส ใน ปี ค.ศ. 1750

กระทั่งถึงศตวรรษที่ 18 เกิดการปฏิวัติขึ้นในฝรั่งเศส (French Revolution) บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครองสถานการณ์สั่นคลอน ฝรั่งเศสห่วงบ้านเมืองตัวเองก่อนจึงไม่มีเวลามาปกครองอาณานิคมต่างๆ เหมือนเดิม และเสื่อมอิทธิพลไป เกิดการเปลี่ยนแปลงในประทศฝรั่งเศสเอง เซเชลส์กลับมาเป็นของอังกฤษ ใน ปี ค.ศ. 1794 แต่อังกฤษก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกาะนี้มากมายนัก มีการบันทึกไว้แต่เพียงว่า เกาะนี้เป็นแหล่งเครื่องเทศ และมีเต่าขนาดใหญ่

ผู้ที่เป็นแขกประจำของเซเชลส์ คือพวกโจรสลัดมักขึ้นมาพักเพื่อเติมน้ำจืดและซ่อมเรือกัน แล้วก็ถึงยุคของนักสำรวจชาวฝรั่งเศส มาตั้งที่ทำการค้า และสำรวจบริเวณนี้อย่างจริงจัง แต่ก็ทิ้งเซเชลส์ไว้ในสภาพของเมืองท่า และใช้เป็นที่กักกันนักโทษการเมืองคนสำคัญๆ ที่รัฐบาลส่งตัวมาอยู่ เช่น สังฆราชมาคาริออส แห่งไซปรัส คงไม่ได้ต่างไปจาก "เกาะตะรุเตา" บ้านเรา แต่ที่ฮือฮาที่สุดของประวัติศาสตร์เซเชลส์ก็คือ ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Pierre Louis Poiret ที่มาลงหลักปักฐานอยู่ที่เกาะนี้ตั้งแต่เด็กๆ เขาเป็นใคร มาจากไหน ไม่มีใครรู้ และไม่มีใครสนใจเขา เขาทำไร่ฝ้ายอยู่บนเกาะ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย จนกระทั่งก่อนถึงวันที่เขาจะสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 70 ปี ใน ค.ศ.1856 เขาได้เปิดเผยความจริงเหมือนละครน้ำเน่าว่า ตัวเองคือโอรสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระนางมารีอังตัวเนตต์ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเขาคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แต่เรื่องนี้รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ให้การรับรอง โดยอ้างว่าโอรสองค์นั้นได้สิ้นชีพด้วยกิโยติน พร้อมกับพระราชบิดาตั้งแต่คราวปฏิวัติฝรั่งเศสโน่น เพียงแต่ว่าพระศพหายไปเท่านั้นเอง เซเชลส์ยังเป็นที่ฝั่งศพของ Jean-Francois Hodoul และเจ้ายักษ์ปักหลั่น Charles Dorothee Savy สูงถึง 9 ฟุต เป็นนักโทษตั้งแต่อายุ 14 ปี เซเชลส์เป็นแหล่งของพรรณพืชที่หายาก พบได้แห่งเดียวถึง 81 ชนิด แต่ที่รู้จักกระฉ่อนกันทั่วโลก ก็คือ "มะพร้าวทะเล"



แหล่งกำเนิดมะพร้าวทะเล

มะพร้าวทะเล มีแหล่งกำเนิดที่เกาะปรัสลีน (Praslin) รองลงมาพบที่เกาะคูรีอัส (Curieuse) มีพบบ้างกระจัดกระจายไม่มากที่ เกาะเงาดำ (Silhouette) โดยมีสวนมะพร้าวทะเลอยู่บนเกาะปรัสลินนั้นเรียกว่า Vallee de Mai มาจาก Valley of May ซึ่งเป็นชื่อเดือนที่ค้นพบพื้นที่แห่งนี้ ถูกขึ้นบัญชีให้เป็นมรดกโลก ใน ปี ค.ศ. 1983 โดยองค์การยูเนสโกได้ระบุให้ Vallee de Mai เป็นพื้นที่ป่าที่มีต้นมะพร้าวทะเลเป็นป่าสงวนของมรดกโลก มีพื้นที่เพียง 40 เอเคอร์ หรือประมาณ 80 กว่าไร่เป็นดงมะพร้าวทะเลขึ้นหนาแน่น ปลายใบจรดกัน แสงแดดส่องลงพื้นได้น้อย เวลาฝนตกอยู่ในดงมะพร้าวทะเลนี้ไม่มีทางเปียก แต่ขณะที่เดินต้องคอยแหงนมองว่าต้นไหนมีผลมะพร้าวทะเลแก่จัดบ้าง เพราะมันอาจจะล่วงหล่นถูกศีรษะได้ สวนแห่งนี้มีต้นมะพร้าวทะเลที่มีอายุถึง 800 ปี

มะพร้าวทะเล อยู่ในตระกูลปาล์ม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จัดเป็นพืชที่มีตระกูลเก่าแก่มาก ซึ่งจากการขุดค้นซากโบราณได้พบปาล์มบางชนิด เช่น ปาล์มซาบาล (Sabal) มีอายุตั้งแต่เมื่อ 85 ล้านปีมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีปาล์มซาบาลให้เห็นกันอยู่ ปาล์มเป็นพืชตระกูลใหญ่มาก มีความหลากหลายต่างๆ กันถึงกว่า 3,500 ชนิด (Species) แบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามลักษณะใบ ดอก ผล ลำต้น ฯลฯ อีกมาก

มะพร้าวทะเล ได้รับการกล่าวถึงในกินเนสส์บุ๊กว่า เป็นเมล็ดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มะพร้าวทะเลมีลำต้นสูงได้ถึง 34 เมตร ใบรูปพัดต่างจากใบมะพร้าว คล้ายใบพวกตาล ใบเป็นรูปพัดแกนโค้งเว้าลึกถึงครึ่งตัวของใบ ใบยาว 7-10 เมตร กว้าง 4.5 เมตร ส่วนที่เป็นก้านใบยาว 4 เมตร

ช่อดอกจะออกระหว่างกาบใบ ผลคล้ายรูปใบโพหรือรูปหัวใจ เมื่อแก่จะเป็นสีคล้ำออกดำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 40-50 เซนติเมตร

ผลโตเต็มที่เมื่ออายุได้ 6-7 ปี จึงจะแก่จัด น้ำหนักของผลระหว่าง 15-30 กิโลกรัม ผลใหญ่สุดเคยพบหนักถึง 42 กิโลกรัม และเมื่อปอกเปลือกออกแล้ว เหลือแต่เมล็ดเป็นลูกกะลาล้วนๆ หนักราว 17.6 กิโลกรัม เมล็ดกะลามี 2 ลอน เชื่อมติดกันจนเป็นมะพร้าวแฝด มีลักษณะคล้ายตะโพกหญิงสาว เป็นมะพร้าวที่แยกเพศกันอย่างชัดเจน เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมียเหมือนกับต้นตาลโตนดเมืองเพชรบุรี จะรู้ว่าต้นไหนเป็นต้นตัวผู้ ต้นตัวเมีย เมื่อออกช่อดอกแล้ว แต่คนที่ชำนาญเมื่อเห็นต้นก็สามารถแยกออกได้ว่าต้นไหนเป็นต้นตัวผู้ ต้นไหนเป็นต้นตัวเมีย

จัดเป็นปาล์มที่มีช่อดอกใหญ่ที่สุดในโลก ช่อดอกของต้นตัวผู้เป็นงวงยาวถึง 1 เมตร รูปร่างคล้ายงวง (Catkin-like) สีน้ำตาลเข้มโค้งงอลงมา บางคนจินตนาการไปให้เหมือนกับอวัยวะสำคัญที่ตัวผู้ควรมี โดยมีดอกเป็นเกสรตัวผู้ที่ไม่สามารถติดผลได้ แต่ให้น้ำหวานหรือน้ำตาลสดได้ ต้นตัวเมียมีช่อดอกเป็นทะลายใหญ่ มีดอกตัวเมียที่จะเป็นผลเมื่อได้รับการผสมเกสรจากต้นตัวผู้ ช่อดอกหรือทะลายหนึ่งติดผล 2-4 ผล ติดผลไม่มาก ทะลายหนึ่งเคยมีถึง 10 ผล ทั้งทะลายหนักประมาณ 200 กิโลกรัม ปีหนึ่งออกได้ 3-4 ทะลาย ช่วงชีวิตอยู่ระหว่าง 50-100 ปี แต่ก็สามารถมีอายุถึง 350 ปี

แต่ปาล์ม Livistona eastonii ในออสเตรเลีย มีอายุถึง 720 ปี

รูปลักษณ์ที่ไม่เหมือนมะพร้าวธรรมดา กลับหัวกลับหางเอาด้านจุกหันลงพื้น แล้วก็นานตั้ง 9-12 เดือน กว่าใบเลี้ยงใบแรกจะผลิลูกมะพร้าวที่นอนแห้งอยู่นั่นก็จะกระดุกกระดิก เพราะถูกใบเลี้ยงค่อยๆ ดันจนลูกมะพร้าวพลิกกลับด้าน มะพร้าวลูกนี้ก็ค่อยๆ เติบโตมาตามลำดับ แม้จะยังไม่มีลำต้น ก็ยังสูงตั้ง 8-14 เมตร จนอายุได้ 8 ปี จึงจะมีลำต้นปล้องแรก และจากนั้นก็อีกปีละปล้อง จนอายุได้ 25 ปี คืออยู่ในวัยเจริญพันธุ์แล้ว ช่วงนี้จึงจะรู้ว่าต้นไหนเป็นตัวผู้ ต้นไหนเป็นตัวเมีย มีดอก และเกสร ลูกมะพร้าวทะลายนี้ถึงจะแก่ สุกได้เต็มที่ ผลหนึ่งจะกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ยาว 45 เซนติเมตร หนัก 14 กิโลกรัม ใช้เวลางอก 1-2 ปี สามารถออกช่อดอกได้เมื่ออายุ 60 ปี ใช้เวลา 6 ปี ในการออกผล และผลจะโตเต็มที่ในเวลา 2 ปี

นับจากออกดอกถึงผลแก่เร็วที่สุดใช้เวลา 6 ปี ช้าสุดประมาณ 10 ปี ลักษณะผลมีกาบเป็นเส้นใยคล้ายกาบมะพร้าว ผลแก่มีเปลือกสีดำทำให้ผลของมะพร้าวทะเลกลายเป็นผลไม้ที่มีขนาดและน้ำหนักมากที่สุดในโลก ภายในของผลมะพร้าวทะเลเป็นเมือกใส สีขาว คล้ายมะพร้าวกะทิของบ้านเรา



แหล่งที่จะยลโฉม

มะพร้าวทะเล ในประเทศไทย


ท่านสามารถจะชมมะพร้าวทะเลได้ที่ สวนนงนุช ตั้งอยู่ที่หลักกิโลเมตรที่ 163 ระหว่างพัทยา-สัตหีบ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่อยู่ 1,500 ไร่ และที่สวนแสนปาล์ม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยอยู่นอกรั้วของส่วนหลักของวิทยาเขต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อาจารย์ปิฏฐะ บุนนาค ปรมาจารย์ปาล์มของเมืองไทย เป็นผู้บุกเบิกการส่งเสริมปลูกและให้ความรู้เรื่องปาล์ม

อาจารย์ปิฏฐะท่านได้สะสมพันธุ์ปาล์มไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อ พ.ศ. 2536 จึงได้รวบรวมพันธุ์ปาล์ม จัดการเพาะ ปลูก ขุดย้ายมาปลูกไว้ในบริเวณดังกล่าว โดยมีพันธุ์ปาล์มจากแหล่งต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีปาล์มประมาณ 260 ชนิด แต่มีจำนวนทั้งหมดหลายหมื่นต้น สำหรับที่มาของคำว่า สวนแสนปาล์ม หมายความว่า มีปาล์มจำนวนมาก และยังตั้งให้สอดคล้องกับอำเภอกำแพงแสน อันเป็นที่ตั้งของวิทยาเขตแห่งนี้ด้วย พื้นที่ประมาณ 40 ไร่

สวนนงนุช ได้เปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2523 จัดให้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและการแสดงช้างแสนรู้ ในโรงแสดง ซึ่งรอบล้อมไปด้วยสวนสวยงามทุกวัน จากนั้นประมาณ 6 ปีให้หลัง คุณนงนุช ตันสัจจา ได้มอบการบริหารงานให้ลูกชายคือ คุณกัมพล ตันสัจจา สวนนงนุช พัทยา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับแนวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก เข้าเยี่ยมชมกว่าวันละ 2,000 คน



สวนปาล์มโลก (Palm Collection Garden)

การรวบรวมพันธุ์ปาล์มและการนำปาล์มไปจัดภูมิทัศน์ในสวนพฤกษศาสตร์นงนุชนั้น เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก เพราะนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างแดนมีมากมาย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านพืช หรือผู้ที่สนใจเฉพาะเรื่องปาล์มได้เป็นพยานให้เป็นอย่างดี ไม่มีที่ใดในโลกที่มีจำนวนชนิดปาล์มมากมายที่เห็นได้ในที่แห่งเดียวเท่ากับที่สวนพฤกษศาสตร์นงนุช เรื่องนี้ได้รับการยืนยันตั้งแต่สวนพฤกษศาสตร์นงนุชได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมของสมาคมปาล์มที่มีทุกๆ 2 ปี เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ซึ่งมีผู้แทนจำนวน 250 คน ที่มาจากประเทศต่างๆ 34 ประเทศ เข้าร่วมประชุม และทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สวนพฤกษศาสตร์นงนุช มีปาล์มมากชนิดที่สุด ที่จริงแล้วเป็นวัตถุประสงค์หลักของผู้อำนวยการและผู้จัดการสวนพฤกษศาสตร์นงนุช ที่จะดำเนินการต่อไปในทิศทางนี้ ปัจจุบันในโลกมีปาล์ม อยู่ 2,600-2,800 ชนิด และสวนพฤกษศาสตร์นงนุชก็มีอยู่ 880 ชนิด ที่ได้บันทึกไว้ และไม่เป็นสิ่งที่เหลือบ่ากว่าแรง ที่จะรวบรวมให้ได้ถึง 2,000 ชนิด ในอนาคต



การผสมพันธุ์มะพร้าวทะเลในไทย

สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี ได้ผสมพันธุ์มะพร้าวทะเลออกลูกเป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 กันยายน 2549 หลังที่จากนายแอนเดรส ลินสตรอม (Mr. Andears Lindstrom) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ประจำสวนนงนุช พัทยา ได้ผสมเกสรมะพร้าวทะเลจนออกลูกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกในโลกที่มะพร้าวทะเลออกลูกก่อนกำหนดถึง 10 ปี สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดานักพฤกษศาสตร์ด้วยกันอยู่ไม่น้อย ซึ่งตามปกติแล้วมะพร้าวทะเลจะตกดอกออกผลเมื่ออายุ 20 ปี ขึ้นไป ไม่ทราบว่านายแอนเดรส ลินสตรอม ได้ใช้เทคนิคอะไรเร่งให้มะพร้าวทะเลออกดอกเร็วขึ้น มะพร้าวทะเลอยู่ที่จุด 15 หมู่บ้านไทย ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น เนื่องจากอยู่หลังบ้านทรงไทย ต้นที่นายแอนเดรส ลินสตรอม ผสมเกสรให้ออกผลมีอยู่ต้นเดียว สูงประมาณ 4 เมตร ถูกล้อมรอบด้วยแผงตาข่ายเหล็กทั้ง 4 ด้าน เราคงได้แต่ยืนชมอยู่นอกแผงตาข่าย ที่ต้องกั้นไว้ก็เพราะนักท่องเที่ยวที่ชมใกล้ๆ อาจจะทำให้งานทดลองแปรปรวนหรือสร้างความเสียหายโดยมิรู้ได้ หรือบางคนไปขีดเขียนสลักสิ่งที่ชอบและไม่ชอบบนผลมะพร้าว และบางคนจะไปบนบานศาลกล่าวขอเลขเด็ดเนื่องจากเป็นของแปลก

คุณสุภาพ แสงวิเศษ ผู้จัดการแผนกขยายพันธุ์ปาล์ม สวนนงนุช พัทยา เปิดเผยว่า มะพร้าวทะเลนี้ทางสวนนงนุชได้ซื้อเมล็ดพันธุ์มาจากหมู่เกาะเซเชลส์ราคานับหมื่นบาทก่อนนำมาเพาะพันธุ์ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว จนต้นมะพร้าวทะเลออกช่อออกดอกและผสมพันธุ์ สวนนงนุชได้นำเข้ามาปลูกไว้หลายต้น ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ได้ทดลองผสมเกสรจนออกผลสำเร็จ มะพร้าวทะเลออกลูกก่อนกำหนดถึง 10 ปี ก็เท่ากับว่า ถ้านับตามเวลาของธรรมชาติกำหนดไว้มะพร้าวทะเลต้นนี้จะมีอายุถึง 28 ปีไปแล้วก็อยู่ในช่วงที่มันจะตกดอกออกผล



วิธีการผสมเกสร

ในช่วงผสมพันธุ์ เกสรเพศเมียก็จะเปิดรับเกสรตัวผู้ที่ปลิวเข้ามา กว่าจะออกดอกเป็นผลต้องใช้ระยะเวลานับสิบๆ ปี การผสมเกสร ชาวเซเชลส์เชื่อว่า มะพร้าวทะเลจะผสมเกสรกันต่อเมื่อพระอาทิตย์พ้นขอบฟ้าไปแล้ว เมื่อความมืดเข้าปกคลุม บทรักของต้นมะพร้าวทะเลตัวผู้จะเริ่มขึ้นซึ่งไม่ต่างไปจากพฤติกรรมการสมสู่ของสัตว์ทั่วไป โดยต้นมะพร้าวทะเลตัวผู้จะคืบคลานเข้าหาต้นมะพร้าวทะเลตัวเมีย คลอเคลียพลอดรักกัน ถ้าใครไปแอบดูหรือเห็นขณะที่มะพร้าวทะเลกำลังทำบทรักกันอยู่อาจทำให้ผู้นั้นตาบอดได้ หรือต้องคำสาปให้เสียชีวิตได้

แต่บางตำนานกล่าวว่า ทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียจะโน้มเข้ากันเพื่อผสมเกสรในคืนที่มีพายุแรง โดยแรงลมพัดให้ต้นไม้ทั้งคู่เข้าหากัน ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง งวงมะพร้าวของต้นตัวผู้ยาวได้ถึง 5 ฟุต มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2 นิ้ว งวงมะพร้าวของต้นตัวผู้ปล่อยน้ำหวานหยดแหมะๆ ลงมา ระยะนี้เองที่จะมีเจ้าตุ๊กแกเขียวคอยกินฝูงแมลงที่มาตอม แมลงบินเข้าไปคลุกเคล้าน้ำหวาน แล้วก็จะข้ามต้นไปคลุกเคล้า หรือทำความสะอาดตัวเองกับดอกมะพร้าวสีน้ำตาล การผสมพันธุ์ข้ามต้น ถือเป็นเสร็จสิ้นกระบวนการ เกสรตัวผู้สามารถดึงดูดให้สัตว์และแมลงต่างๆ มาเข้าใกล้ อย่างเช่น หอยทากยักษ์สีขาวได้อาศัยหากินอยู่ที่งวงนี้ ตุ๊กแกใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ที่นี้ ขนที่เท้าของมันเป็นที่สะสมละอองเกสรได้อย่างดี จึงสามารถพาละอองเกสรตัวผู้ไปยังต้นตัวเมียได้ ยังไม่มีใครทราบแน่ว่ามะพร้าวทะเลผสมเกสรกันได้อย่างไร จะเป็นพวกสัตว์ และแมลงต่างๆ หรือลมที่ช่วยผสมเกสร



การงอกของเมล็ด

ประมาณ 6 เดือน หลังจากส่วนที่เป็นผลได้เน่าสลายแล้ว จะปรากฏยอดเล็กงอกออกมาตรงกลาง การงอกของเมล็ดเริ่มจากมีส่วนรากคล้ายราก (Sinker) งอกออกมาแทงลงในดินลึกจนถึงระดับที่พอกับการหาน้ำหาอาหารได้ ประมาณ 2 ฟุต ต้นอ่อนเริ่มเจริญ ระบบรากแผ่ออก แล้วจึงแยกออกเป็นหน่อแทงย้อนขึ้นมาโผล่บนผิวดิน 1-2 ฟุต ประมาณ 1 ปี กาบที่หุ้มหน่อนี้ไว้จึงแยกออกปรากฏเป็นใบแรกคลี่ออกรับอากาศและแสงแดด อีก 2 ปี หรือนานกว่านี้ ส่วนของต้นจึงสลัดหลุดจากเมล็ดที่กลวง ส่วนของลำต้นอยู่ใต้ดิน ลำต้นยึดอยู่ในดินได้มาก เพื่อทำหน้าที่ค้ำจุนที่มั่นคงต้านทานกระแสลมแรงได้ ส่วนรากคล้ายราก (Sinker) นี้เปราะมาก หากถูกขยับเขยื้อนจะหักและหยุดการเจริญเติบโต เป็นต้น การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างเชื่องช้า ใบจะแตกออกมาทุกๆ ปีหรือออกปีละใบ

เล่ากันว่า เนื้อมะพร้าวทะเล เป็นเครื่องดื่มชูกำลังเสริมสมรรถภาพทางเพศได้ดี โดยเชื่อกันว่าเป็นมะพร้าวมี 2 ผล ติดกัน เมื่อบริโภคเนื้อในของมันแล้วจะสามารถทำกิจกรรมได้ 2 ครั้ง ต่อคืน ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเซเชลส์ต้องประกาศห้ามนำผลมะพร้าวทะเลสดๆ ออกนอกประเทศ ในวันนี้ราคาของมะพร้าวทะเลก็ยังแพงอยู่ จากการตรวจราคาการประมูลในอีเมล์พบว่า ตกใบละ 300-450 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินไทยลูกละ 20,000 บาท เกษตรกรไทยคิดจะสั่งซื้อมาปลูกขายเป็นปาล์มประดับ ต้องใคร่ครวญให้ถี่ถ้วน เพราะมันเป็นการลงทุนที่สูง แต่ถ้าอยากลองเสี่ยงก็ไม่ขัด

ชาวมัลดีฟส์นิยมนำเนื้อมะพร้าวมาทำเป็นอาหารและเครื่องดื่ม เชื่อกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะ รักษาสารพัดโรค แก้พิษร้าย ที่สำคัญคือ คุณสมบัติคล้ายยาไวอะก้า และยังสกัดเป็นโลชั่นบำรุงผิวได้อีก เขาว่าใครได้กินเนื้อของมะพร้าวทะเลแล้วจะเพิ่มพลังทางเพศได้ไม่แพ้ยาไวอะก้า จึงปรึกษาคนที่นอนด้วยกันว่า น่าจะหามากินกันบ้างนะ

แต่คนมีส่วนร่วมด้วยบอกว่า มันไม่มีหรอก มะพร้าวทะเล มีแต่ มะผัวผีทะเล ที่นอนเย็นชาอยู่ด้วยกันทุกวันนี้ไง

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 438
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM