เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เพาะเห็ดฟางในโรงเรือน สร้างเงินสร้างงานอย่างพอเพียง ที่ดอนแก้ว เมืองเกินร้อย
   
ปัญหา :
 
 
คุณหนูปิ่น อุดมโภชน์ อายุ 43 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอนแก้ว หมู่ที่ 10 ตำบลบึงงาม อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด นำสื่อมวลชนเดินทางไปที่โรงเรือนเพาะเห็ดฟางที่อยู่หลังบ้าน จำนวน 3 โรงเรือน พร้อมเล่าว่า อาชีพหลักจริงๆ คือการทำนา 19 ไร่ ส่วนใหญ่น้ำท่วม 100% พอได้บ้างคือข้าวนาปรัง

การดิ้นรนการต่อสู้ของชีวิตภายในครอบครัว ภาคการเกษตร สามีคือ คุณไพบูลย์ อุดมโภชน์ อายุ 44 ปี ลูกสาว 1 คน ด.ญ.วนิดา อุดมโภชน์ กำลังเรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม รายได้ทางเดียวคือ ภาคการเกษตร มีการศึกษาเกี่ยวกับช่องทางอาชีพ พร้อมการศึกษาดูงานภาคการเกษตร โดยมี คุณนิวัติ ศรีเทียมเงิน เกษตรอำเภอทุ่งเขาหลวง ส่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร คือ คุณวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เป็นผู้ประสานงาน

คุณหนูปิ่น กล่าวว่า ครอบครัวตนเองเป็นครอบครัวขนาดเล็ก สร้างโรงเรือนการเพาะเห็ดฟางจากเริ่มต้นเพียง 1 โรงเรือน จากนั้นเพิ่มเป็น 3 โรงเรือน สามารถสร้างรายได้อย่างพอเพียง เป็นงานที่ทำแบบไม่เต็มเวลา แต่รายได้งดงาม คือดูแลให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาเท่านั้น และเป็นแรงงานภายในครอบครัว

คุณหนูปิ่น เล่าว่า หลังการศึกษาการเพาะเห็ดฟางภายในโรงเรือนจนเข้าใจแล้ว ตนเองมีเงินทุนไม่มาก ก่อสร้างโรงเรือน 1 โรงเรือน ขนาดความกว้าง 6 เมตร ความยาว 10 เมตร เสาสูง 2 เมตร หลังคาหน้าจั่ว ทำชั้นวางวัสดุ เชื้อเห็ด ขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร ความยาว 9 เมตร ทำเป็นชั้น 4 ชั้น จำนวน 3 แถว รวม 12 ชั้น ภายในโรงเรือนบุด้วยพลาสติคใสด้านในทั้งหมด ส่วนรอบนอกปิดทับด้วยพลาสติคสีดำ ค่าก่อสร้างประมาณ 10,000 บาท ด้านนอกมีถังอบไอน้ำที่ซื้อสำเร็จมา ราคา 20,000 บาท เป็นถังขนาด 150 ลิตร ใช้ฟืนไม้ตามหัวไร่ปลายนาเป็นเชื้อเพลิง ประหยัดแต่ต้องให้ความปลอดภัยด้วย เพราะอยู่ในชุมชน และมีวัสดุติดไฟได้ง่าย

เมื่อโรงเรือนพร้อม จึงเตรียมวัสดุเพาะเห็ดฟาง

วัสดุอย่างแรก ประกอบด้วย

1. กากมันสำปะหลัง 2.5 ตัน

2. โบกาชิฟาง 100 กิโลกรัม

3. โบกาชิมูลสัตว์ 20 กิโลกรัม

4. ปูนขาว 5 กิโลกรัม

5. แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม

6. รำละเอียด 1 ปี๊บ

7. EM+กากน้ำตาล+น้ำ ( 0.5 ลิตร+0.5 ลิตร+100 ลิตร) แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม

วิธีทำ คือนำกากมันสำปะหลังมากองในลานที่เตรียมไว้ แล้วโรยด้วยโบกาชิฟาง รำละเอียด ปูนขาว โบกาชิมูลสัตว์ คลุกเคล้าให้เข้ากัน รดด้วยน้ำที่เตรียมไว้ กองเป็นรูปสามเหลี่ยม หมักไว้ 3 วัน

นำฟางข้าวที่แช่น้ำผสม EM+น้ำ+กากน้ำตาล อัตราส่วน 1:1:1 ที่หมักไว้ 1 คืน ปูรองแต่ละชั้นให้เรียบร้อย ไม่ต้องกดทับให้แน่น หนาประมาณ 4-5 นิ้ว นำแป้งข้าวเหนียวผสมกับอาหารที่หมักไว้ วางทับบนฟางที่ปูบนชั้นหนาประมาณ 3-4 นิ้ว โรยให้ทั่วอย่าให้หนามาก เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราที่ไม่ต้องการและเป็นอันตรายต่อดอกเห็ด หากโรยบางเกินไป ดอกเห็ดจะเล็ก เพราะอาหารไม่เพียงพอ จากนั้นปิดผ้าพลาสติคลงให้มิดชิด อบไอน้ำด้วยอุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียส นาน 3 ชั่วโมง แล้วดับไฟที่เตาอบ พักไว้ 1 คืน อุณหภูมิเข้าสู่ภาวะปกติ คือประมาณ 35 องศาเซลเซียส โรยเชื้อเห็ดฟาง จำนวน 150 ก้อน โดยให้แบ่งเป็นส่วนๆ เท่าๆ กัน จำนวน 12 ส่วน 12 ชั้น โรยเชื้อเห็ดฟางให้ทั่วในแต่ละชั้น ปิดโรงเรือนให้มิดชิด จำนวน 4 วัน

วันที่ 5 จะเป็นการตัดเส้นใยเห็ดฟาง มองเห็นเส้นใยเต็มในแต่ละชั้น เปิดพลาสติครอบโรงเรือนออกให้ลมผ่านได้ อุณหภูมิลดลง 25-30 องศาเซลเซียส ฉีดน้ำให้เป็นฝอยผ่านแต่ละชั้น งานนี้เรียกว่าการตัดเส้นใยเชื้อเห็ดฟาง เปิดโรงเรือนไว้ 5-6 วัน และจากนั้นปิดผ้าพลาสติคลง จะเริ่มมองเห็นตุ่มขาวๆ เป็นกระจุกเป็นกลุ่ม นั่นคือ ดอกเห็ดที่เริ่มออกมาให้เห็น 4-5 วัน เก็บขายได้ การเก็บดอกเห็ดแบ่งเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกได้ประมาณ 250-300 กิโลกรัม ขายส่งราคา 40 บาท ต่อกิโลกรัม ปิดโรงเรือนทิ้งไว้อีก 7 วัน สามารถเก็บดอกเห็ดฟางได้อีกประมาณ 100 กิโลกรัม ภายใน 20 วัน มีเงินประมาณ 10,000-12,000 บาท หักค่าใช้จ่ายคงเหลือประมาณ 50% ทำหมุนเวียน 3 โรงเรือน มีเงินตลอดทั้งเดือน 15,000-20,000 บาท ครอบครัวขนาดเล็กอยู่อย่างมีความสุข

ทางด้าน คุณไพบูลย์ ผู้เป็นแรงงานหลัก กล่าวว่า เป็นงานที่ไม่หนัก ทำไปเรื่อยๆ ภายในครอบครัว แต่ต้องให้เป็นไปตามกำหนด เช่น การอบไอน้ำ หากผิดพลาดเกิดเชื้อราดำ ราแดง จะเข้าไปกินเชื้อเห็ดฟางเสียหายทั้งโรงเรือน หรือการทำวัสดุไม่ถูกสูตรก็เป็นปัญหาต่อการเพาะเห็ดฟาง นั่นหมายถึงการขาดทุน จำเป็นต้องเอาใจใส่และศึกษาข้อผิดพลาดทุกรุ่นอย่างละเอียด ประการสำคัญ

เจ้าของบอกว่า วัสดุที่ดีที่สุดคือ กากปาล์มน้ำมัน แต่หายากต้องสั่งมาจากจังหวัดระยอง 10 ตัน 8,000 บาท ส่วนผสมใกล้เคียงกับกากมันสำปะหลัง วัสดุบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะกากปาล์มน้ำมันมีสารอาหารค่อนข้างสมบูรณ์

ข้อดี ของกากปาล์มน้ำมันคือ สามารถกลับชั้นหลังจาก 20 วัน ที่เก็บดอกเห็ดแล้ว อบไอน้ำด้วยอุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียส ทำเช่นเดียวกับการเพราะครั้งแรก ทิ้งไว้ 1 คืน โรยเชื้อเห็ดฟางอีก 150 ก้อน ปฏิบัติตามขั้นตอนเดิม ได้เห็ดฟางออกมาจำหน่ายอีกรอบ ปริมาณน้อยกว่า คือประมาณ 200-250 กิโลกรัม แต่ประหยัดเวลา ประหยัดวัสดุ วันนี้หากต้องการศึกษาดูงานหรือต้องการเห็ดฟางไปจำหน่าย โทร. (081) 390-9611 หรือ (083) 599-1455

ครอบครัวอุดมโภชน์ บอกยินดีต้อนรับ

คุณนิวัติ ศรีเทียมเงิน เกษตรอำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า กิจกรรมต่อเนื่องภาคการเกษตร ที่มีความสำเร็จเพราะเกษตรกรมีความขยันอย่างฉลาด ปราศจาคอบายมุข นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสู่ครอบครัว โดย คุณศศินทร์ ตันกิจจานนท์ นายอำเภอทุ่งเขาหลวง จัดให้เป็นครอบครัว "พอเพียง" สาธิต และเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล โดยมีคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลเป็นผู้ประสานงาน

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ร้อยเอ็ด
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 20 ฉบับที่ 438
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM