แม้ว่ามิใช่ฤดูทำนา แต่ที่นำเสนอข้อมูลในวันนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่จะทำนาในฤดูกาลหน้าได้พินิจพิเคราะห์และพิจารณาการทำนารูปแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมข้าววัชพืชและพืชทั่วไป โดยจากการศึกษาและปฏิบัติในการปลูกข้าวอินทรีย์ที่ศูนย์บริการวิชาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ของมูลนิธิชัยพัฒนา) อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ปี 2545-2548 และเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิต พบว่า ต้นทุนการทำนาแบบโยนกล้าเพื่อควบคุมข้าววัชพืชและวัชพืชทั่วไป มีต้นทุนต่ำที่สุดและยังให้ผลผลิตสูงกว่าการทำนาด้วยวิธีอื่น ๆ จากการศึกษาพบว่า อายุต้นกล้า 12-16 วัน และจำนวนต้นกล้า 50-60 ถาด มีความเหมาะสมมากที่สุด สามารถป้องกันและควบคุมข้าววัชพืชได้ดีมาก ใช้แรงงานเตรียมดินเพาะกล้า 150-200 ถาด/คน/วัน ใช้แรงงานโยนกล้า 3-5 ไร่/คน/วัน ที่สำคัญคือ ใช้เมล็ดเพียง 3-4 กิโลกรัม/ไร่ ประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้ 80-85% สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานได้ สำหรับการทำนาแบบโยนกล้ามีอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้... 1.ขั้นตอนการเตรียมเพาะกล้าพันธุ์ ซึ่งเตรียมได้ 2 แบบคือ วิธีเตรียมถาดเพาะกล้าแบบแห้ง และวิธีเตรียมถาดเพาะกล้าแบบเปียก วิธีการเตรียมถาดเพาะกล้าแบบแห้ง โดยย่อยดินแห้งให้ละเอียด เม็ดดินโตไม่เกิน 0.5 ซม. ดินนั้นต้องไม่มีเมล็ดข้าววัชพืช นำถาดพลาสติกมาวางกับพื้นที่ ที่เตรียมไว้ พื้นที่ต้องเสมอกัน โดยวางเป็นแถวตอน 2-4 แผ่น (แล้วแต่ความสะดวกในการปฏิบัติงาน) หว่านดินไปก่อนประมาณ 50-70% จากนั้นหว่านเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ (แช่ 1 คืน หุ้ม 1 คืน หรือข้าวแห้ง) อัตราประมาณ 3-4 กก.ต่อ 50-60 ถาด (ต่อไร่) แล้วหว่านดินตามลงไปให้เต็มเสมอปากหลุมพอดี อย่าให้ดินล้นปากหลุมเพาะ เพราะจะทำให้รากข้าวพันกันเวลาโยนต้นกล้า มันจะไม่กระจายตัว การใช้แรงงานย่อยดินแห้งและเพาะข้าว 1 คน ต่อ 150-200 ถาดต่อ 1 วัน (หว่านได้ 2-3 ไร่) การให้น้ำระยะแรก ๆ ต้องให้ฝอยละเอียด ระวังอย่าให้เมล็ดข้าว กระเด็น หรือให้น้ำแบบท่วมพื้นแปลง เพราะน้ำจะซึมเข้าก้นถาดหลุมเอง ให้รักษาความชื้นจนกว่าข้าวงอก หากมีฝนตกให้หาวัสดุหรือกระสอบป่านเก่ามาคลุมจนกว่ารากจะงอก วิธีนี้สามารถเพาะเมล็ดในร่มและย้ายถาดไปที่ที่เตรียมไว้ พอข้าวกล้าอายุ 12-16 วัน สามารถนำไปโยนได้ทันที ความยาวต้นกล้าประมาณ 3-5 นิ้ว ซึ่งก็แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของวัสดุเพาะ ใช้พื้นที่เพาะกล้าประมาณ 12-15 ตารางเมตรต่อ 50-60 ถาด หว่านได้ 1 ไร่ วิธีเพาะกล้าแบบแห้งนี้ ได้คิดค้นวิธีหยอดเมล็ดพันธุ์ที่แม่นยำ สามารถควบคุมดินและเมล็ดพันธุ์ตามต้องการได้ เป็นอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดได้ วิธีเตรียมถาดเพาะกล้าแบบเปียก โดยเลือกแปลงนาที่ไม่มีข้าววัชพืชและวัชพืชทั่วไประบาด มีการเตรียมแปลงคล้ายกับเพาะกล้านาดำ ลูบเทือกให้ดินสม่ำเสมอ นำถาดเพาะกล้าวางเป็นแถวคู่เอาหัวชนกัน วางเป็นแถวตอนความยาวแล้วแต่แปลงกล้า แต่ละคู่แถวห่างกันประมาณ 50 ซม.เพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติงาน โดยนำดิน เลนระหว่างร่องทางเดินใส่บานถาดให้เต็ม ปรับให้เสมอปากหลุมถาด แต่อย่าให้ดินล้นปากหลุมเพาะ เพราะจะทำให้รากข้าวพันกันเวลาหว่านต้นกล้า จากนั้นหว่านเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ (โดยแช่ 1 คืน หุ้ม 1 คืน หรือข้าวแห้ง) ด้วยอัตราประมาณ 3-4 กก./50-60 ถาด (ต่อไร่) ใช้แผ่นไม้คล้ายไม้บรรทัดกดหรือลูบเมล็ดพันธุ์ให้จมเลน โดยรักษาความชื้นตลอดไป หากมีฝนตกต้องหาวัสดุมาคลุมเพื่อกันเมล็ดข้าวกระเด็นออกจากถาดเพาะ พอกล้าอายุ 12-16 วัน นำไปโยนได้ทันที หรือความยาวต้นกล้าประมาณ 3-5 นิ้ว ใช้พื้นที่เพาะกล้าประมาณ 12-15 ตารางเมตร 50-60 ถาด โดยได้ 1 ไร่ ก่อนนำไปโยนควรหยุดให้น้ำต้นกล้า 1 วัน…(ยังมีต่อ โปรดติดตามอ่านในวันพุธหน้า).
อนุพงศ์ มาลี
ย้อนกลับ
Download Acrobat Reader Best view with IE 5.0 or later version at 800x600 All comments please mail to Webmaster