เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ปาล์มน้ำมัน พืชความหวังครูวัยเกษียณ บนที่ราบสูง
   
ปัญหา :
 
 
ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจมีถิ่นกำเนิดจากทวีปแอฟริกา และเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยของพื้นที่ปลูกสูงกว่าพืชน้ำมันทุกชนิด คิดเป็น 640-800 กิโลกรัมน้ำมัน ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จึงเป็นพืชน้ำมันที่มีการผลิตมากเป็นอันดับสองของโลกราว 25% รองจากน้ำมันถั่วเหลือง จากสถิติ ปี 2544 ทั่วโลกมีการผลิตปาล์มน้ำมันสูงถึง 23.355 ล้านตัน โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ราว 47% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย

ส่วนประเทศไทยมีการผลิตเป็นอันดับที่ 4 ของโลก มีพื้นที่ปลูกในปี 2547 ราว 2.19 ล้านไร่ สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 775,000 ตัน โดยทั้งหมดใช้ในการอุปโภค สำหรับราคารับซื้อผลปาล์มในปี 2551 ตกเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4-6 บาท ตามสภาวะการตลาดแต่ละช่วงของปี

สำหรับประโยชน์ของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และผลพลอยได้คือ "กรดไขมัน" สามารถนำไปใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างมากมาย เช่น ทำเป็นน้ำมันปรุงอาหาร น้ำมันทอด เป็นส่วนผสมใช้ผลิตนมข้น ไอศครีม เนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม รวมทั้งเป็นไขมันใช้ทำขนมปัง เป็นส่วนผสมของใช้ประจำวัน เช่น สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน และยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมโอลิโอเคมิคัล รวมทั้งเป็นวัตถุในการผลิตเมทิลเอสเตอร์ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซล หรือรู้จักกันในชื่อ "ไบโอดีเซล" นั่นเอง

การทำสวนปาล์มที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินที่ราบสูง มีความแห้งแล้ง อุณหภูมิผิวดินสูง ทำให้มีระดับน้ำใต้ดินน้อยกว่าภาคใต้ที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มที่สำคัญของประเทศไทย แต่อุปสรรคที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อด้อยที่ไม่เกินกำลัง หากมนุษย์รู้จักเรียนรู้แล้วเอาประสบการณ์มาใช้แก้ไข การปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ราบสูงก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ต่อไปแล้ว

คณะของเราที่นำโดย คุณพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ได้พากันไปแวะเยี่ยมชมกระบวนการปลูกและผลิตปาล์มน้ำมันของ คุณสุพล หอมหวน อดีตข้าราชครูเกษียณอายุ วัย 63 ปี ที่ผันชีวิตมาเป็นเกษตรกรปลูกต้นปาล์มน้ำมันในหมู่บ้านคำอุดม ตำบลโพนงาม อำเภอบุณฑริก และเป็นเกษตรกรรายแรกของอำเภอที่ตัดสินใจทำไร่ปาล์มน้ำมันเมื่อ 2 ปีก่อน จนปัจจุบันประสบความสำเร็จในการปลูก มีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในภาคตะวันออก และพ่อค้าปาล์มน้ำมันมาติดต่อขอซื้อผลผลิตล่วงหน้าไว้แล้ว

อาจารย์สุพล เล่าถึงแรงบันดาลใจการทำสวนปาล์มในอีสานที่มีความเสี่ยงสูงกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นว่า "ได้ฟังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงได้กล่าวถึงทิศทางของปาล์มน้ำมัน จะเป็นพืชพลังงานทดแทนน้ำมันที่สำคัญสำหรับชาติ"

หลังจากนั้น ก็เริ่มคิดเปลี่ยนทำสวนเกษตรไร่มะขามหวาน ไร่มะม่วง มาปลูกปาล์มน้ำมัน ต่อมาเมื่อกว่า 2 ปีก่อน องค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน พร้อมพาเกษตรกรที่สนใจศึกษาดูงานเกี่ยวกับการปลูกปาล์มในภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ปลูกลักษณะใกล้เคียงกับพื้นที่ของตนที่มีความชุ่มชื้นพอควร

หลังศึกษาดูงานแล้ว จึงตัดสินใจซื้อพันธุ์ปาล์ม พันธุ์เทเนอร่า จำนวน 600 ต้น มาปลูกในพื้นที่ 30 ไร่ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีเป็นอาหารของปาล์ม ส่วนน้ำที่ใช้รดได้เจาะบ่อน้ำบาดาล และใช้ท่อแป๊บให้น้ำแก่ต้นปาล์มแต่ละต้นอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการปลูกในปีแรกให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมดายหญ้าระหว่างลำต้น ส่วนการปลูกใช้สูตรการปลูกแบบทั่วไปคือ มีความห่างระหว่างต้น ประมาณ 9x9 เมตร ต่อต้น เพราะเมื่อปาล์มโตใบของแต่ละต้นก็จะจรดกันพอดี ทำให้วัชพืชไม่สามารถขึ้นได้ ยกเว้นช่วงแรกที่ต้องดายหญ้ารอบโคนต้น ขณะใบปาล์มยังปกคลุมดินไม่ทั่วถึง ทำให้วัชพืชรบกวนลำต้นได้

อาจารย์สุพล เล่าถึงแนวโน้มการให้ผลผลิตของต้นปาล์มที่ปลูกว่า ช่วงการปลูก 2 ปีแรก ปาล์มจะเริ่มติดผล และให้ช่อผลขนาดใหญ่ มีน้ำหนักราว 10-20 กิโลกรัม ต่อทะลาย แต่อาจารย์สุพลต้องการให้ต้นปาล์มมีความสมบูรณ์สูงสุด จึงตัดทะลายปาล์มที่ติดผลระยะแรกทิ้งไปก่อน เพื่อรอเก็บเกี่ยวเมื่อผลปาล์มน้ำมันมีอายุ 3 ปีขึ้นไป ระหว่างรอการเจริญเติบโตของต้นปาล์ม ผู้ปลูกปาล์มจะต้องให้ปุ๋ยและน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อต้นปาล์มจะให้ผลผลิตดีต่อเนื่องไปจนต้นปาล์มมีอายุถึง 25 ปี สำหรับเนื้อของปาล์มที่ปลูกก็ให้เนื้อดี ไม่ต่างจากที่ไปศึกษาดูงานในภาคตะวันออก หรือภาคใต้

ส่วนปัญหาการปลูกปาล์มน้ำมันในระยะแรกที่พบคือ โรคยอดเน่า และมีด้วง รวมทั้งหนูนามากัดแทะยอดปาล์ม แต่คิดเป็นอัตราความเสียหายไม่ถึง 1% ของผลผลิต จึงถือว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ปลูกง่าย หากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มในภาคอีสานเอาจริงเอาจังกับการปลูกพืชชนิดนี้ สำหรับเงินที่ใช้ลงทุนในเนื้อที่การปลูกกว่า 30 ไร่ ใช้เงินลงทุนบริหารการจัดการ ประมาณ 300,000 บาท

"ส่วนผลตอบแทนคงน่าพอใจ เพราะขณะนี้มีนายหน้าเข้ามารับซื้อผลปาล์มน้ำมันแบบเหมาสวนไว้แล้ว และยังมีผู้ติดต่อขอเช่าทำสวนปาล์มต่อ โดยให้ค่าตอบแทนปีละ 200,000 บาท ซึ่งยังไม่ตัดสินใจ เพราะต้องการรอดูการให้ผลผลิตของปาล์มในปีแรกก่อน" อาจารย์สุพล กล่าวกับเราอย่างมีความหวังต่อพืชเศรษฐกิจชนิดนี้

ด้าน คุณกันยา คงพลปาน เกษตรอำเภอบุณฑริก เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ว่า แรกเริ่มมีความลังเลใจจะสามารถปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่นี้ได้หรือเปล่า เพราะปาล์มเป็นพืชชอบน้ำอยู่ในพื้นที่ที่อุณหภูมิเฉลี่ยไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ขณะที่ภาคอีสานมีปริมาณน้ำน้อยและอุณหภูมิสูงแตกต่างจากภาคใต้ ซึ่งความชุ่มชื้นมีน้ำเกือบตลอดทั้งปี การเริ่มต้นจึงส่งเสริมเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันอย่างระมัดระวังราว 125 ราย กระทั่งเริ่มประสบความสำเร็จในการปลูก ปัจจุบัน มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันแล้วกว่า 600 ราย

สำหรับกล้าพันธุ์ปาล์มที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนให้ปลูกคือ "พันธุ์เทเนอร่า" เพราะเป็นพันธุ์ที่เหมาะต่อการปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเกษตรกรให้การดูแลรักษาดี จะให้ผลผลิตสูง แม้พื้นที่ใช้ปลูกจะต่างจากพื้นที่ปลูกในภาคใต้ก็ตาม ส่วนพื้นที่ให้ส่งเสริมการปลูกปาล์มปัจจุบันคือ อำเภอบุณฑริก นาจะหลวย และน้ำยืน เพราะจากการสำรวจมีสภาพแวดล้อมของน้ำใต้ดินสามารถสูบขึ้นมาหล่อเลี้ยงต้นปาล์มได้ดี เพียงแต่เกษตรกรต้องมีความจริงจังใส่ใจในการเพาะปลูกเท่านั้น

ด้าน คุณพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะหวังให้จังหวัดเป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศ เพื่อสร้างทางเลือกและรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัด โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมกับโครงการปลูกปาล์ม ประมาณ 10,000 ไร่ เมื่อผลผลิตของเกษตรกรเริ่มออกสู่ตลาด ก็จะมีโรงงานบีบน้ำมันปาล์มตามมา เพราะขณะนี้มีภาคเอกชนสนใจ พร้อมเข้ามาลงทุนทำอุตสาหกรรมด้านปาล์มน้ำมันแล้ว สำหรับอนาคตหวังว่า เกษตรกรจะมีรายได้มั่นคง สามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ นอกเหนือจากการทำการเกษตรอย่างอื่นด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็อยากฝากถึงเกษตรกรทุกคน การทำเกษตรปัจจุบันต้องยึดปรัชญาเกษตรผสมผสานแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อหวังความร่ำรวยเฉพาะหน้าอย่างเดียวด้วยนะครับ

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
อุบลราชธานี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 443
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM