เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ พัฒนาและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันแบบไร้ของเสีย
   
ปัญหา :
 
 
รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน เพื่อนำทรัพยากรการเกษตรในประเทศมาผลิตเป็นพลังงาน โดยการนำน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil : CPO) มาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel) ทดแทนน้ำมันดีเซล

ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด มีนโยบายสนับสนุนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และรองรับผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต การป้องกันราคาผลผลิตตกต่ำ สร้างช่องทางออกให้กับผลผลิตของเกษตรกรสมาชิก ประกอบกับชุมนุมสหกรณ์ฯ มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเป็นของเกษตรกรเอง มีกำลังการผลิต 60-90 ตันทะลายปาล์มสด ต่อชั่วโมง รับซื้อผลปาล์มสดจากสมาชิกในจังหวัดกระบี่ ปีละประมาณ 250,000 ตัน และผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ปีละ 36,000 ตัน ดังนั้น ชุมนุมสหกรณ์ฯ จึงดำเนินการก่อสร้างโรงงานไบโอดีเซล ขนาดกำลังการผลิต 10,000 ลิตร ต่อวัน เพื่อแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบเป็นไบโอดีเซล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรป้องกันราคาผลผลิตตกต่ำ อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซลไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด จดทะเบียนสหกรณ์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2540 ทุนจดทะเบียน 60,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ โครงการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ วงเงิน 270 ล้านบาท ตามแผนโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2543 และคณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 โดยได้รับอนุมัติเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร จำนวน 270 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2545 เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ขนาดกำลังการผลิต 45 ตันทะลาย ต่อชั่วโมง สิ้นสุดโครงการก่อสร้าง วันที่ 11 มีนาคม 2547 และได้เปิดดำเนินการรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมัน จากสหกรณ์สมาชิกเมื่อเดือนมีนาคม 2547 เป็นต้นมา

วิธีดำเนินการผลิตโรงงานไบโอดีเซล

โรงงานไบโอดีเซล ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดกระบี่ (งบประมาณผู้ว่าฯ CEO) จำนวน 18.5 ล้านบาท โดยลงนามในบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โรงงานไบโอดีเซล ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบ วันละ 10.6 ตัน เพื่อผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล โดยมีแผนการผลิตเดือนละ 25 วัน (300 วัน ต่อปี) สามารถผลิตไบโอดีเซลได้เดือนละ 250,000 ลิตร (3,000,000 ลิตร ต่อปี) สามารถผลิตกลีเซอรอลบริสุทธิ์ได้เดือนละ 15,000 กิโลกรัม (180,000 กิโลกรัม ต่อปี)

กระบวนการผลิตไบโอดีเซล

ไบโอดีเซล คือน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นเอสเตอร์ ที่ประกอบด้วย Mono Alkyl Ester ของ Long Chain Fatty Acid หรือเรียกว่า Fatty Acid Methyl Ester (FAME) ไบโอดีเซลที่ได้เรียกว่า B 100 แล้วนำไปผสมกับน้ำมันไบโอดีเซล 10% ในน้ำมันดีเซล

ไบโอดีเซล เป็นพลังงานทดแทนชนิดหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งใช้มากในการขนส่ง อันมีผลกระทบโดยตรงต่อปัจจัยการดำเนินธุรกิจ กระบวนการผลิตไบโอดีเซล เป็นกระบวนการเปลี่ยนน้ำมันพืชหรือสัตว์ ซึ่งเป็นสารประกอบไตรกลีเซอไรด์ โดยผ่านกระบวนการทรานเอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) ในแอลกอฮอล์ (Alcohol) เช่น เมทานอล (Methanol) หรือเอทานอล (Ethanol) โดยมีด่าง (Sodium hydroxide หรือ Potassium hydroxide) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalysts) ที่ทำให้โมเลกุลมีขนาดเล็กลง อยู่ในรูปของเอสเตอร์ (Ethyl esters หรือ Methyl esters) ที่เรียกว่า "ไบโอดีเซล" (Biodiesel) และมีกลีเซอรอล (Glycerol) เป็นผลพลอยได้ (by-product)

เหตุผลที่ควรใช้น้ำมันไบโอดีเซล

1. ไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์

2. ช่วยเพิ่มอัตราการหล่อลื่น

3. ไม่เกิดไอเสียและลดมลพิษ

4. สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร

5. ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

ไบโอดีเซล ที่ได้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลมาก สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้โดยตรงหรือเติมเป็นส่วนผสมในดีเซลใช้ในเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์และให้พลังงานเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลปกติ ไบโอดีเซล ได้รับการจดทะเบียนเป็นเชื้อเพลิงบริสุทธิ์หรือสารเติมเชื้อเพลิง โดยองค์กร Environment Protection Agency (EPA) และจัดอยู่ในเชื้อเพลิงที่ถูกต้องตามกฎหมายการค้า

สำหรับสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้และสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต โดยประมาณคือ น้ำมันพืช 100 ลิตร ต้องใช้เมทานอลในการทำปฏิกิริยา 20 กิโลกรัม สารเร่งปฏิกิริยา 1 กิโลกรัม จะทำให้ได้ผลผลิตเป็น ไบโอดีเซล 95 ลิตร และมีผลพลอยได้เป็นกลีเซอรอล 10 กิโลกรัม ไบโอดีเซล ที่ได้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานสากล และมีการจัดการเพื่อป้องกันปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ผลพลอยได้เป็นกลีเซอรอล สามารถกลั่นเป็นกลีเซอรอลบริสุทธิ์และใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง จุดสำคัญของการผลิตไบโอดีเซล เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามมาตรฐานสากลต้องเป็นการผลิตที่มีปฏิกิริยา ทรานเอสเทอริฟิเคชั่นเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ หลังจากปฏิกิริยาสิ้นสุดแล้ว ต้องมีการกำจัดสารเร่งปฏิกิริยา กำจัดกลีเซอรอล กำจัดแอลกอฮอล์และกรดไขมันอิสระออก จึงจะได้ไบโอดีเซลที่ไม่เกิดผลเสียต่อเครื่องยนต์ จึงมีการกำหนดเป็นมาตรฐานสากลสำหรับน้ำมันไบโอดีเซล อีกทั้งเป็นการสร้างตลาดรองรับผลผลิตปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกร และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงจากการประกอบอาชีพปลูกปาล์มน้ำมันและพยุงราคาปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้น ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานในระบบสหกรณ์ให้มีความมั่นคงอย่างถาวรและเป็นที่พึ่งของเกษตรกร เพื่อสนับสนุนโครงการต่อเนื่องดำเนินการก่อสร้างโรงงานไบโอก๊าซ เพื่อใช้น้ำเสียจากโรงงานผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า สนับสนุนพลังงานทดแทน โครงการไบโอดีเซล โครงการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โครงการผลิตไฟเบอร์ ฯลฯ

พื้นที่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม จำนวน 104 ไร่ จัดซื้อเพิ่มเติมบริเวณใกล้เคียง ประมาณ 75 ไร่ รวม 179 ไร่ ในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก โดยรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรรายย่อยและสหกรณ์ สมาชิกชุมนุมสหกรณ์ฯ ในเขตจังหวัดกระบี่และบริเวณใกล้เคียง เป็นผลปาล์มสดปีละ 250,800 ตัน และผลิตน้ำมันปาล์มดิบ CPO ได้ปีละ 42,636 ตัน และมีกลยุทธ์ทางการตลาดโดยการกำหนดราคารับซื้อผลปาล์มทะลายสดตามมาตรฐานตลาด ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมนุมสหกรณ์ฯ และชำระเงินค่าสินค้าภายใน 7 วัน หลังจากได้รับผลผลิตแล้ว จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบแก่โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม วันละประมาณ 140 ตัน นอกจากนี้ มีการสนับสนุนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันเพื่อส่งเสริมโครงการต่อเนื่องโรงงานไบโอดีเซล และใช้น้ำเสียจากโรงงานเพื่อผลิตเป็นโครงการไบโอก๊าซ

ปาล์มน้ำมัน จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สามารถนำมาใช้เพื่อการบริโภคและเพื่อเป็นพลังงานทดแทน โดยที่กระบวนการดำเนินอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในขั้นต้นจะประกอบด้วยส่วนการดำเนินการหลักสองส่วน ได้แก่ ส่วนของการปลูกต้นปาล์มน้ำมัน ได้ผลผลิตหลักคือ ผลปาล์มสดและส่วนที่เหลือจากการผลิตหลักและของเสีย ได้แก่ ทางใบปาล์มและลำต้นปาล์ม อีกส่วนหนึ่งคือส่วนการสกัดน้ำมันปาล์ม ได้ผลผลิตหลักคือ น้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil, CPO) และน้ำมันจากเมล็ดในปาล์ม (Palm Kernel Oil, PKO) และส่วนที่เหลือจากการผลิตหลักและของเสีย ได้แก่ ทะลายเปล่า กะลาปาล์ม เส้นใย กากตะกอน และน้ำเสีย

ในความเป็นจริง ประมาณ 80% ของน้ำมันปาล์มและน้ำมันเมล็ดในปาล์ม ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท เช่น น้ำมันทอด น้ำมันปรุงอาหาร มาการีน ครีมเทียม นมเทียม เนยขาว ฯลฯ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เช่น วิตามินอี วิตามินเอ ส่วน 20% ที่เหลือสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนในรูปของไบโอดีเซลหรือนำไปผ่านกระบวนการทางเคมี เพื่อนำไปผลิตเป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่ออุปโภคประเภทอื่น เช่น สารหล่อลื่น เครื่องสำอาง สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น

สำหรับส่วนที่เหลือจากผลการผลิตหลัก ถ้าไม่มีการจัดการที่เหมาะสมก็จะกลายเป็นของเสียซึ่งเพิ่มต้นทุนในการกำจัดและสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม จึงได้นำมาใช้ประโยชน์จากของที่เหลือดังกล่าว เพื่อลดปริมาณของเสียและทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม รายละเอียดของการพัฒนาเพื่อการประยุกต์ใช้ที่เหลือและของเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ยังนำส่วนที่เหลือจากการผลิตหลักและของเสียมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำทางใบปาล์มมาบดย่อยเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะและโค ลำต้นปาล์มที่เหลือนำมาบดย่อยทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Bio Mass) เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่วนทะลายเปล่านำไปทำเป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ดฟาง นำไปหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ทำวัสดุเพื่อทดแทนไม้ (particle board) ทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Bio Mass) เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าและนำไปคลุมโคนต้นปาล์มเพื่อเพิ่มความชื้นและปรับปรุงสภาพดิน กะลาปาล์มทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Bio Mass) เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำเป็นถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) เพื่อใช้เป็นไส้กรองน้ำและสารกรองในการบำบัดน้ำเสีย ส่วนเส้นใยนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Bio Mass) เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำเป็นถ่านกัมมันต์เพื่อใช้เป็นไส้กรองน้ำและสารกรองในการบำบัดน้ำเสีย นำเส้นใยไปทำเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (Bio Mass) ด้วยการเผาโดยตรงหรือทำเป็นไม้อัดแท่ง (wood pellet) และทำเป็นวัสดุเพื่อทดแทนไม้ (wood substitute) ส่วนกากตะกอนใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์และใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ น้ำเสียจากกระบวนการผลิตนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้เอง และส่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

จะเห็นได้ว่า ถ้าดำเนินธุรกิจแบบมีความรู้และความเข้าใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องและจัดให้มีกระบวนการจัดการที่เหมาะสม ก็จะสามารถสร้างประโยชน์จากของเคยถูกทิ้งให้เป็นของเสีย ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็นภาระ (เพิ่มต้นทุน) ให้กลายเป็นพลัง (เพิ่มรายได้) ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนด้วย

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร. (02) 354-4466 ต่อ 118, 120 โทรสาร (02) 354-3763 http : www.most.go.th

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กระบี่
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 443
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM