เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มหัศจรรย์แห่งข้าว "พลายงามปราจีนบุรี" ต้นข้าวสูงมาก 4.10 เมตร
   
ปัญหา :
 
 
"ต้นข้าวสูงมาก"

คำบอกเล่าที่มิใช่ข้อความ SMS ซึ่งปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์ แต่เป็นหนึ่งในคำกล่าวสั้นๆ จากผู้ที่ได้ร่วมเห็นภาพความหัศจรรย์ของต้นข้าวที่มีอยู่บนผืนนาในผืนแผ่นดินไทย

ด้วยทั้งชีวิต เท่าที่เคยเดินผ่านท้องทุ่งที่ต้นข้าวอวดใบชูรวงล้อกับสายลมและแสงแดด ความสูงอย่างมากก็ไม่เคยเกิน 1 เมตร

คำว่าสูงมากข้างต้นนั้น มีตัวเลขยืนยันที่ผ่านการตรวจวัดตามหลักวิชาการของนักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า สูงถึง 4.10 เมตร

แล้วต้นข้าวพันธุ์อะไรจะสูงได้ป่านนั้น...แล้วจะเก็บเกี่ยวกันแบบใด...

ด้วยการอนุเคราะห์ในด้านข้อมูลเป็นอย่างดีจาก คุณวิฑูรย์ ไทยถาวร หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมการข้าว จึงทำให้ทราบว่า ต้นข้าวที่สูงได้ถึง 4.10 เมตร เป็นข้าวสายพันธุ์ที่ชื่อว่า "พลายงามปราจีนบุรี"

พร้อมกับข้อมูลบรรยายใต้ภาพว่า "ข้าวขึ้นน้ำ พันธุ์พลายงามปราจีนบุรี สถานที่เก็บ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ปีที่เก็บ ธันวาคม 2549 ความยาว 4.10 เมตร ระดับน้ำสูงสุด 3.00 เมตร"

จากข้อมูลของกรมการข้าวอีกเช่นกัน ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวของข้าวพลายงามปราจีนบุรีว่า

ประวัติ : เมื่อปี พ.ศ. 2523 นายเพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์ นักวิชาการเกษตร จากศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีในสมัยนั้น ได้เก็บรวบรวมเมล็ดข้าวขึ้นน้ำพันธุ์พื้นเมือง ประมาณ 2 กิโลกรัม จากตำบลประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี นำมาปลูกคัดเลือกพันธุ์แบบหมู่ พร้อมทั้งทดสอบความต้านทานต่อโรคไหม้ ทดสอบความต้านทานต่อโรค และแมลงในสภาพธรรมชาติ และทดสอบความสามารถในการขึ้นน้ำ เมื่อ พ.ศ. 2524-2526 นอกจากนั้น ยังได้นำไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตกับพันธุ์เล็บมือนาง 111 ในนาเกษตรกร ตลอดจนทดสอบความทนทานต่อสภาพดินเปรี้ยว ความทนแล้ง และนำเข้าแปลงทดลองเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี เมื่อ พ.ศ. 2525-2526 หลังจากนั้น นำไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตทั้งภายในสถานีและระหว่างสถานี เมื่อ พ.ศ. 2527-2529 แล้วจึงนำไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร และคัดพันธุ์บริสุทธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2530-2532 เสร็จแล้วจึงได้ปลูกเป็นพันธุ์ดักและพันธุ์คัด เมื่อ พ.ศ. 2532-2536 ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ให้เป็นพันธุ์แนะนำ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2537 และให้ชื่อว่า พลายงามปราจีนบุรี

ลักษณะประจำพันธุ์ : ข้าวเจ้าพลายงามปราจีนบุรี เป็นข้าวขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง ความสูงเฉลี่ย 240 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับระดับน้ำ) ใบสีเขียว ใบธงค่อนข้างตั้งตรง คอรวงยาว รวงยาวและแน่น ระแง้ถี่ การชูรวงดี เมล็ดข้าวเปลือกยาวเรียวสีฟาง ขนาดยาว 10.6 มิลลิเมตร กว้าง 2.8 มิลลิเมตร และหนา 2.1 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว ขนาดยาว 7.5 มิลลิเมตร กว้าง 2.4 มิลลิเมตร และหนา 1.8 มิลลิเมตร มีท้องไข่ปานกลาง การร่วงของเมล็ดปานกลาง มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณวันที่ 25 ธันวาคม และให้ผลผลิตประมาณ 380 กิโลกรัม ต่อไร่ ระยะพักตัวของเมล็ด 7 สัปดาห์

ลักษณะเด่น :

1. ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง

2. ขึ้นน้ำได้ดี สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีระดับน้ำลึก ตั้งแต่ 1-5 เมตร และท่วมขังนานกว่า 1 เดือน

3. ทนแล้งได้ดี

4. ต้านทานโรคไหม้ในระยะกล้าดี

5. ไม่พบการทำลายของโรคและแมลงในสภาพธรรมชาติ

6. ทำเส้นก๋วยเตี๋ยวได้ง่าย คุณภาพดี มีความนุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม

คำแนะนำ : ในการปลูก แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีระดับน้ำลึกมากกว่า 1 เมตร ท่วมขังเป็นเวลานานตั้งแต่ 1 เดือน ขึ้นไป และน้ำแห้งนาปลายเดือนธันวาคม

จากข้อมูลข้างต้นจึงทำให้ทราบถึงที่มาที่ไปของการมีสายพันธุ์ข้าวที่นับว่าสูงมาก หรืออาจจะบอกได้ว่าสูงที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว

แต่ทำไมสายพันธุ์ข้าวดังกล่าวจึงมีความสูงมากมายเช่นนั้น คำตอบที่ได้มา เพราะข้าวพลายงามปราจีนบุรี เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มของข้าวขึ้นน้ำ

แล้วข้าวขึ้นน้ำคือ อะไร

จากเอกสารข้อมูลของศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีได้ให้คำอธิบายว่า "ข้าวขึ้นน้ำ หรือ floating rice หมายถึง พันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีและยังคงให้ผลผลิต เมื่อปลูกในสภาพน้ำลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร ข้าวชนิดนี้มีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือ มีความสามารถในการยืดปล้อง (elongation ability) ได้ดีมาก เช่น พันธุ์ข้าวเล็บมือนาง 111 พลายงามปราจีนบุรี ปิ่นแก้ว 56 และมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรยังคงปลูก เช่น ขาวบ้านนา เขียวใหญ่ เหลืองใหญ่ และขาวหลง"

ทั้งนี้ ประโยชน์ และคณะ (2537) ได้สำรวจข้อมูลการปลูกข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกในประเทศไทย ปีการผลิต 2535/2536 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก ทั้งหมด 3,151,056 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระดับน้ำท่วมลึก ระหว่าง 50-100 เซนติเมตร คิดเป็นร้อยละ 52.14 ส่วนที่เหลือ (47.86%) เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมลึกมากกว่า 100 เซนติเมตร ในปัจจุบันพื้นที่ที่ปลูกข้าวทั้ง 2 ชนิดมีแนวโน้มลดลง เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (infrastructure) แต่ยังไม่มีการสำรวจ ข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกเป็นข้าวไวแสง ปลูกได้ปีละครั้ง

และจากข้างต้น จะเห็นว่านอกจากมีคำว่า ข้าวขึ้นน้ำแล้ว ยังมีอีกคำที่ปรากฏคือ ข้าวน้ำลึก ซึ่งศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ได้ให้คำอธิบายไว้เช่นกันว่า ข้าวน้ำลึก หรือ Deepwater หมายถึงพันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีและยังคงให้ผลผลิต เมื่อปลูกในสภาพน้ำลึก ตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตร มีลักษณะพิเศษที่สำคัญ คือมีความสามารถทนน้ำท่วม (submergence tolerance) ประมาณ 7-10 วัน เช่น พันธุ์ข้าว ปราจีนบุรี 1 และปราจีนบุรี 2 อยุธยา 1 และมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรยังคงปลูก เช่น ชมทุ่ง ปิ่นแก้วหนัก ช่อไสว และพวงทอง

ฉะนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกในประเทศไทย จากรายละเอียดที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีได้ดำเนินการรวบรวมไว้ถึงการปลูกข้าวในกลุ่มดังกล่าว ไว้ว่า เนื่องจากไม่สามารถคาดคะเนว่าน้ำ หรือฝนจะเริ่มตั้งแต่เมื่อไร และมีปริมาณมากน้อยเท่าไร ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก จึงปลูกข้าวตั้งแต่ต้นฤดู ดังนั้น ฤดูกาลปลูกข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกจึงมีระยะเวลาตั้งแต่ 8-10 เดือน การปฏิบัติของเกษตรกรโดยทั่วไปมีลำดับ ดังนี้

1. มีการเผาฟางหลังเก็บเกี่ยว (ช่วงปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์)

2. ไถดะ เมื่อดินมีความชื้นพอที่จะไถได้ (ประมาณเดือนมีนาคม เป็นต้นไป)

3. ไถแปร หลังจากไถดะทิ้งไว้เมื่อดินแห้ง เกษตรกรจะไถแปร

4. การหว่าน เมื่อไถแปรเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรจะหว่านข้าวตั้งแต่เดือนเมษายน อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่ (อัตราเมล็ดพันธุ์แนะนำ 15-20 กิโลกรัม ต่อไร่) โดยวิธีหว่านข้าวแห้ง นาในขณะนี้จะมีสภาพเหมือนการปลูกพืชไร่

การเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยว : สภาพแวดล้อมของข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก เมื่อเกษตรกรหว่านข้าวแล้วข้าวงอก จะอยู่ในสภาพที่แห้ง โดยปกติน้ำจะเริ่มขังในนาข้าวตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จากนั้นระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น และสูงสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม และลดลงจนกระทั่งแห้งในระยะเก็บเกี่ยว ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน

ผลผลิต : ผลผลิตของข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกค่อนข้างต่ำ ผลผลิตเฉลี่ย 350 กิโลกรัม ต่อไร่ การที่ผลผลิตค่อนข้างต่ำเนื่องมาจากข้าวประสบสภาพที่เครียด (stress) เช่น ความแห้งแล้งในระยะก่อนน้ำมา โรคและแมลง เช่น เพลี้ยไฟ น้ำท่วม เมื่อน้ำท่วมข้าวจะใช้อาหารที่สังเคราะห์เพื่อความอยู่รอด การยืดตัว เมื่อข้าวออกดอกและผสมเกสรในนายังมีน้ำอยู่ ดังนั้น อาหารที่ข้าวสังเคราะห์ต้องใช้ทั้งในส่วนของลำต้นและเพื่อการสะสมในเมล็ด

คุณภาพเมล็ด การหุงต้มและรับประทาน

ข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกส่วนใหญ่เป็นข้าวที่มีท้องไข่สูง ทำให้แตกหักง่ายเมื่อนำไปสีเป็นข้าวสาร ข้าวทั้ง 2 ชนิดนี้ถูกจัดเป็นข้าวสาร 25% นอกจากนี้ เป็นข้าวที่มีปริมาณอะมิโลสสูง (มากกว่า 25%) เมื่อหุงจะได้ข้าวแข็ง ร่วน จึงไม่เหมาะที่จะนำมารับประทาน แต่เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นขนมจีนและผลิตภัณฑ์เส้น

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก : การปรับปรุงพันธุ์มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพเมล็ดดี (เหมาะกับการหุงต้มรับประทาน ท้องไข่น้อย) ต้านทานต่อโรคและแมลง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันศูนย์ได้ออกพันธุ์ข้าวแนะนำให้เกษตรกรปลูกในสภาพน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร มาแล้ว เช่น ปราจีนบุรี 1 ปราจีนบุรี 2 และอยุธยา 1 ซึ่งมีผลผลิตสูง แต่คุณภาพยังไม่เหมาะกับการบริโภคโดยตรง เนื่องจากมีอะมิโลสสูง แต่ขณะนี้ศูนย์มีข้าวน้ำลึกสายพันธุ์ดี PCR89151-27-9-155 ซึ่งให้ผลผลิตค่อนข้างสูง (เฉลี่ย 520-600 กิโลกรัม ต่อไร่) คุณภาพเมล็ดดีมีกลิ่นหอมและปริมาณอะมิโลสต่ำ ประมาณ 16% ซึ่งจัดว่าเป็นข้าวนุ่มกลุ่มเดียวกับข้าวขาวมะลิ 105 สามารถทำเป็นข้าว 100% ได้ เหมาะในการปลูกเพื่อบริโภคโดยตรง

อนาคตของข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก : ถึงแม้ว่าพื้นที่ปลูกมีแนวโน้มลดลง เพราะเกษตรกรเปลี่ยนแปลงระบบการปลูกข้าว จากข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกมาเป็นการปลูกข้าวไม่ไวแสง (นาปรัง) โดยปลูกช่วงก่อนน้ำมาและหลังน้ำลด แต่การปลูกระบบนี้เกษตรกรต้องมีแหล่งน้ำ ดังนั้น ข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึกยังคงมีความจำเป็นสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ หรือในสภาพพื้นที่ลุ่มระดับน้ำสูงมากกว่า 100 เซนติเมตร ขึ้นไป

สุดท้ายคือ ข้อควรพิจารณาในการทำข้าวขึ้นน้ำและข้าวน้ำลึก แก้ไขปัญหาน้ำท่วม (แก้มลิง)

- ควรเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่รองรับน้ำได้จำนวนมาก

- การขังของน้ำควรเป็นไปตามธรรมชาติของข้าวขึ้นน้ำ

- ระดับน้ำเพิ่ม ไม่เกินวันละ 10 เซนติเมตร

- ถ้าน้ำท่วมข้าว ไม่ควรท่วมนานเกิน 7-10 วัน (ขึ้นกับคุณภาพน้ำ)

- ระดับน้ำควรลดลงและแห้งก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 15 วัน

และในงานมหัศจรรย์วันเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่จะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 18-22 กุมภาพันธ์ 2552 ณ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค กรมการข้าว ได้ให้ความอนุเคราะห์นำข้าวพลายงามปราจีน ที่มีความสูงถึง 4.10 เมตร นี้ มาร่วมจัดแสดงให้ผู้มาเที่ยวชมงานเห็นและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เพื่อจารึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้เคยสัมผัสมาแล้วกับต้นข้าวสูงมาก...

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ปราจีนบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 443
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM