เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
กุ้งคอนโดฯ ความเป็นไปได้ในการเลี้ยงเชิงพาณิชย์
   
ปัญหา :
 
 
"กุ้งก้ามกราม" จัดเป็นกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ชาวบ้านมักจะเรียกว่า "กุ้งแม่น้ำ" จัดเป็นกุ้งที่มีรสชาติอร่อยมาก โดยเฉพาะกุ้งที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนัก 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม มีราคาขายถึงผู้บริโภคในขณะนี้เฉลี่ย 600-700 บาท ต่อกิโลกรัม ในอดีตกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ในธรรมชาติจะพบมากในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีปริมาณลดลงมาก เนื่องจากประชาชนจับขึ้นมาบริโภคมากเกินกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรกุ้ง ดังนั้น กุ้งก้ามกรามที่มีวางขายในท้องตลาดเกือบทั้งหมดจะเป็นกุ้งเลี้ยงและมีขนาดตัวเล็ก เฉลี่ยน้ำหนัก 20-30 ตัว ต่อกิโลกรัม (กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่จะมีเนื้อแน่นและอร่อยกว่ากุ้งตัวเล็ก ตลาดมีความต้องการกุ้งขนาดใหญ่มากกว่า)



แนวคิดในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในขวดพลาสติค


สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาท เป็นหน่วยงานแรกที่เริ่มทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในขวดพลาสติค เริ่มต้นในช่วงที่ คุณสนธิพันธ์ ผาสุขดี ยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานี โดยมีจุดเริ่มต้นของแนวคิดจากการสังเกตพฤติกรรมของกุ้งก้ามกรามที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติว่ามักจะอาศัยอยู่ตามซอกหินหรือโขดหินซึ่งจะใช้พื้นที่อาศัยไม่มากนัก และกุ้งแต่ละตัวจะมีอาณาเขตของตัวเอง นอกจากนั้น ยังได้ทำการศึกษาจากตำราและรายงานวิจัยต่างๆ พบว่า กุ้งก้ามกรามไม่ต้องการพื้นที่ในการดำรงชีวิตมากนัก ทำให้คิดว่าน่าจะนำเอากุ้งก้ามกรามมาทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติคได้ เพียงแต่ยึดหลักการในการเลี้ยงว่า "น้ำที่ใช้เลี้ยงจะต้องสะอาดและใช้อาหารที่มีคุณภาพเลี้ยง" จากสมมติฐานดังกล่าว ทางสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาทจึงได้เริ่มต้นทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยง โดยได้ทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติคขนาดต่างๆ โดยนำเอากุ้งก้ามกราม ขนาด 20-30 ตัว ต่อกิโลกรัม มาทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติค ขวดละ 1 ตัว ปรากฏผลว่าในขวดพลาสติคขนาดบรรจุน้ำ 5 ลิตร ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ



เลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบระบบปิด

วิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในขวดพลาสติค หลักการแรกที่สำคัญคือจะต้องเลี้ยงในระบบปิด น้ำที่ใช้เลี้ยงจะต้องหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ดังนั้น ระบบการกรองและการหมุนเวียนน้ำจะต้องดีและมีประสิทธิภาพมาก สำหรับขั้นตอนในการเลี้ยง นำขวดพลาสติค ขนาด 5 ลิตร (ใช้ขวดบรรจุน้ำโพลารีสที่ใช้แล้ว) ตัดขวดด้านข้างให้เป็นช่องเพื่อให้น้ำสามารถไหลลงมาในขวดได้ นำขวดพลาสติคไปทำความสะอาดแล้วนำไปวางในแนวนอน โดยเอาด้านที่ตัดไว้ด้านบนวางเรียงเป็นแถวเพื่อความสะดวกในการจัดการ นำกุ้งก้ามกราม ขนาด 20-30 ตัว ต่อกิโลกรัม ปล่อยเลี้ยงขวดละ 1 ตัว ในการคัดกุ้งมาเลี้ยงนั้นจะต้องคัดกุ้งที่มีความสมบูรณ์ ขาและก้ามจะต้องอยู่ครบ ไม่มีแผลตามลำตัว เลี้ยงด้วยอาหารกุ้งกุลาดำ ให้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น อัตราประมาณ 5% ของน้ำหนักตัวกุ้ง



ระบบการหมุนเวียนน้ำ

คือหัวใจที่สำคัญของการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม


น้ำที่จะใช้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามจะใช้น้ำประปาก็ได้ แต่จะต้องผ่านกระบวนการกำจัดคลอรีนออกแล้ว น้ำมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 7-8 (ค่า pH=7-8) ส่วนระบบการหมุนเวียนของน้ำนั้นจะใช้วิธีการสูบน้ำไปในท่อ พีวีซี แล้วเจาะรูให้น้ำหยดลงมาตรงช่องที่วางขวดไว้พอดี เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในขวดพลาสติค อัตราการปล่อยน้ำในเวลา 1 นาที ควรจะให้น้ำไหลเข้าขวดได้ประมาณ 600-800 ซีซี น้ำที่ล้นออกมาจากขวดจะไหลตกลงสู่บ่อพักด้านล่าง ซึ่งทำเป็นบ่อคอนกรีตที่มีกรวดและหินช่วยกรองเศษอาหารไว้ น้ำที่ผ่านกระบวนการนี้จะใสสะอาดพร้อมที่จะสูบขึ้นมาใช้ใหม่



ปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับ จะต้องมีกระแสไฟฟ้าสำรอง

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรที่คิดจะเลี้ยงกุ้งในขวดพลาสติคหรือการเลี้ยงแบบคอนโดฯ นั้น จะต้องระมัดระวังเรื่องไฟฟ้าดับ ถ้าไฟฟ้าดับเกิน 1 ชั่วโมง และเครื่องสูบน้ำไม่สามารถสูบน้ำขึ้นไปหมุนเวียนได้ กุ้งจะตายเพราะขาดออกซิเจน ดังนั้น ควรจะมีเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าไว้สำรองหรืออาจจะเตรียมถังน้ำสำรองไว้ด้านบน แล้วปล่อยน้ำลงมาก็ได้ สิ่งที่ผู้เลี้ยงอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือ อุณหภูมิของน้ำที่ใช้เลี้ยงควรจะมีอุณหภูมิประมาณ 28 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำลงไปกว่านี้พบว่า กุ้งจะกินอาหารน้อยลง มีผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้งและถ้าอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส อาจจะทำให้กุ้งถึงตายได้



ผลจากการเลี้ยงกุ้งในขวดพลาสติค 1 เดือน

มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัว


สิ่งที่สนับสนุนถึงความเป็นไปได้ในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในขวดพลาสติคก็คือ พบว่า กุ้งมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมาก หลังจากที่ได้ทดลองเลี้ยงไปนาน 1 เดือน กุ้งมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว กล่าวคือ ถ้านำกุ้งที่มีน้ำหนัก 15 กรัม มาเลี้ยง 1 เดือน จะได้กุ้งที่มีน้ำหนัก 30 กรัม นับเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่น่าพอใจ จากการศึกษายังพบว่า กุ้งที่เลี้ยงในขวดพลาสติคนั้นจะมีการลอกคราบเร็วกว่าที่เลี้ยงในบ่อดิน จากการศึกษาและทดลองที่ผ่านมาทำให้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า เมื่อนำกุ้งก้ามกราม ขนาด 20-30 ตัว มาเลี้ยงในขวดพลาสติคและใช้เวลาเลี้ยงนานประมาณ 5 เดือน จะได้กุ้งที่มีน้ำหนัก 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งจะจับขายได้ถึงกิโลกรัมละ 600-700 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากการทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติค เริ่มพบปัญหากุ้งตาย เมื่อกุ้งมีขนาดใหญ่ขึ้นเนื่องจากไม่สามารถลอกคราบได้ สาเหตุหลักน่าจะมาจากขวดพลาสติคที่ใช้เลี้ยงแคบเกินไป จึงได้มีการปรับเปลี่ยนภาชนะที่ใช้เลี้ยงและระบบการเลี้ยงใหม่



การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้าพลาสติค

จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า พบปัญหาในช่วงที่ทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติคคือ เมื่อเลี้ยงกุ้งจนได้น้ำหนักเฉลี่ย 70-100 กรัม กุ้งจะลอกคราบไม่ออกและตายในที่สุด สาเหตุน่าจะมาจากพื้นที่ขวดคับแคบเกินไปนั่นเอง จึงได้มีการเปลี่ยนภาชนะเลี้ยงใหม่ที่มีความเหมาะสมมากกว่า เช่น เลี้ยงในตู้กระจกที่บรรจุน้ำได้เฉลี่ย 16-17 ลิตร และใส่ไว้ในตะกร้าพลาสติคอีกชั้นหนึ่ง ระบบการเลี้ยงเหมือนกับที่เลี้ยงในขวดพลาสติคทุกประการ จากการทดลองพบว่า กุ้งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 30-60 กรัม คาดว่าตั้งแต่เริ่มเลี้ยงจะใช้เวลาเลี้ยงนานประมาณ 5-6 เดือน จะจับขายได้และเมื่อคำนวณค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นเงิน 45 บาท ต่อน้ำหนักกุ้ง 1 กิโลกรัม แต่วิธีการเลี้ยงแบบนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่เลี้ยงน้อย เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี แต่จะต้องประยุกต์ใช้ภาชนะที่มีต้นทุนต่ำกว่าตู้กระจก



เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้าพลาสติคเชิงพาณิชย์

ควรจะเลี้ยงในแม่น้ำและสร้างกระชังเลี้ยง


เหตุผลที่แนะนำสำหรับเกษตรกรที่คิดจะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้าพลาสิคเชิงพาณิชย์ ควรจะเลี้ยงในแม่น้ำและสร้างกระชัง เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าไฟฟ้าและการจัดการเรื่องระบบหมุนเวียนของน้ำ ในการสร้างกระชังจะสร้างอย่างง่ายๆ คือ สร้างเป็นแพลอยน้ำเฉยๆ ไม่ต้องมีตาข่ายไนล่อนเหมือนกระชังปลา แต่จะต้องสร้างคานสำหรับแขวนตะกร้าพลาสติคและมีทางเดินสำหรับให้อาหาร กระชังไม่ต้องสร้างให้รับน้ำหนักได้มาก เพราะตะกร้าจะลอยอยู่ในน้ำแทบจะไม่ได้รับน้ำหนักเลย ขนาดของกระชังที่แนะนำคือ ขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ตารางเมตร สามารถวางตะกร้าเลี้ยงได้ 120 ตะกร้า ตะกร้าพลาสติคที่ใช้เลี้ยงจะต้องมีฝาปิดเพื่อป้องกันกุ้งหลบหนี ด้านบนและด้านข้างโปร่ง ส่วนด้านล่างตะกร้าตัน ขนาดตะกร้ามีความกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 45 เซนติเมตร และสูง 30 เซนติเมตร ตะกร้าพลาสติคซื้อเพียงครั้งเดียวใช้ได้นานหลายรุ่น

วิธีการแขวนตะกร้าให้แขวนอยู่ใต้ระดับน้ำเล็กน้อยและแขวนเป็นแถวห่างกันพอประมาณ เพื่อความสะดวกในการให้อาหารและทำความสะอาดตะกร้า ในการแขวนมีเคล็ดลับอยู่ว่าจะต้องแขวนตะกร้าให้สามารถเคลื่อนไหวได้ อย่ามัดตะกร้าติดกับคานจนแน่น เนื่องจากเมื่อตะกร้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ตะกอนในน้ำจะตกค้างที่ก้นตะกร้ามาก และจะทำให้การถ่ายเทน้ำไม่ดี ผลตามมาจะทำให้กุ้งตายได้



อัตราการปล่อยกุ้งและการให้อาหาร

แนะนำให้ปล่อยกุ้งก้ามกราม ขนาด 10-15 ตัว ต่อกิโลกรัม ให้อาหารกุ้งกุลาดำชนิดโปรตีนประมาณ 35% ให้ 2 เวลา คือ เช้า-เย็น แบ่งให้มื้อเย็นมากหน่อย เพราะนิสัยกุ้งจะกินอาหารมากในเวลากลางคืน โดยปกติจะให้อาหารในอัตรา 5% ของน้ำหนักตัวกุ้ง และจะต้องเขย่าตะกร้าสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ตะกอนที่ตกอยู่บริเวณก้นตะกร้าหลุดออกไป ช่วยให้ระบบการถ่ายเทน้ำให้ดีขึ้น รวมถึงอัตราการเจริญเติบโตของกุ้งดีขึ้นตามไปด้วย ได้มีการคำนวณถึงต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงกุ้งแต่ละตัวจะไม่เกิน 20 บาท อย่างไรก็ตาม กุ้งก้ามกรามที่ซื้อมาเลี้ยงในตะกร้าและเลี้ยงในแม่น้ำนั้นจะต้องเป็นกุ้งที่คัดเป็นพิเศษ ไม่มีบาดแผล ก้ามไม่หัก ครีบไม่กร่อนและมีระยางค์ครบ โดยปกติกุ้งก้ามกรามขนาด 10-15 ตัว ต่อกิโลกรัม จะซื้อมาเลี้ยงในราคาประมาณกิโลกรัมละ 170-180 บาท



เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อดินควบคู่การเลี้ยงปลา

เป็นที่สังเกตว่ากุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงในตะกร้าพลาสติคและเลี้ยงในกระชังนั้น จะมีอัตราการลอกคราบเร็วกว่าที่เลี้ยงในขวดพลาสติคด้วยซ้ำไป ซึ่งพฤติกรรมในการลอกคราบจะสอดคล้องกับการเจริญเติบโต จากการทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้าพลาสติคและเลี้ยงในกระชังนั้นพบว่า น้ำหนักตัวกุ้งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-60 กรัม ต่อตัว ต่อเดือน นับว่าเร็วมาก ดังนั้น เมื่อเลี้ยงไปนานประมาณ 5-6 เดือน จะได้กุ้งก้ามกรามที่มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 300 กรัม (3 ขีด) ซึ่งจะได้กุ้งก้ามกรามที่ขนาดน้ำหนักได้ 3 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม จับขายได้กิโลกรัมละ 600-700 บาท

สำหรับเกษตรกรที่มีบ่อเลี้ยงปลาอยู่แล้วและมีความต้องการที่จะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามควบคู่ไปด้วยสามารถทำได้ แต่น้ำในบ่อจะต้องมีความสะอาดจริง และไม่แนะนำให้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามร่วมกับปลาดุกหรือปลาสวายอย่างเด็ดขาด เนื่องจากคุณภาพของน้ำไม่ดี จะทำให้กุ้งตายได้

กุ้งก้ามกราม จัดเป็นกุ้งแม่น้ำที่มีรสชาติอร่อยมาก สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ถ้าเป็นกุ้งตัวใหญ่น้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 300 กรัม นำไปทำกุ้งเผาขายในราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท หรือนำไปทำอาหารยอดฮิตของคนไทยและชาวต่างชาติคือ ต้มยำกุ้งแม่น้ำ นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยจะนิยมสั่งต้มยำกุ้งเป็นอันดับแรก นอกจากความอร่อยแล้วยังมีผลวิจัยว่าต้มยำจัดเป็นอาหารที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและโรคโลหิตจางได้



หนังสือ "การเลี้ยงกุ้งคอนโดฯ และรวมอาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม เล่ม 3" พิมพ์ 4 สี มีแจกฟรี พร้อมกับหนังสือ "การปลูกมะเดื่อฝรั่งในเชิงพาณิชย์" รวม 168 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 50 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ชัยนาท
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 445
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM