เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ชูชัย นาคเขียว เปิดตำรายาสมุนไพรกลางบ้าน ประยุกต์สู่สารสกัดสมุนไพรไล่แมลง
   
ปัญหา :
 
 
ปัจจุบัน สิ่งที่เกษตรกรชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา จะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือ เรื่องของการใช้สารเคมีในการทำเกษตร สารเคมีนอกจากจะมีปัญหาเรื่องของการทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ในเรื่องของสนนราคาที่แพงลิบลิ่วก็ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง

เศรษฐกิจบ้านเมืองทุกวันนี้อยู่ในช่วงถดถอยเกิดภาวะเงินฝืด ข้าวยากหมากแพง ประชาชนทุกคนรู้ซึ้งและกำลังประสบอยู่ในปัจจุบันนี้ วิกฤติเศรษฐกิจรอบสองละม้ายคล้ายวิกฤติเศรษฐกิจรอบแรก ยุค "ต้มยำกุ้ง" กำลังมาเยือน ฉะนั้น ในเรื่องของการใช้จ่ายเงินทอง และการซื้อขายผลผลิตจึงมีอัตราการซื้อลดลง เกษตรกรที่อยู่ในภาคการผลิตมีปัญหาการซื้อขายชะลอตัว เพราะกำลังการซื้อของผู้บริโภคลดลง ทุกสิ่งกำลังจะกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ตรงจุดนี้หากเกษตรกรไม่เร่งปรับตัวลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัญหาเรื่องของกำไรขาดทุนจะตามมาทันที

เกษตรกรเป็นจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการใช้สารสกัดสมุนไพรทดแทนสารเคมี แม้แต่ฮอร์โมนหรือปุ๋ยที่บำรุงต้นพืชก็หันมาใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ที่ทำจากธรรมชาติมาทดแทนปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ การทำเกษตรแบบธรรมชาติที่ยั่งยืน กำลังได้รับการพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่และสิ่งแวดล้อมในแปลงเกษตรกรรม

คุณชูชัย นาคเขียว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลแพงพวย และประธานกลุ่มเกษตรกรปลอดสารพิษตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นอีกผู้หนึ่งที่คิดค้นสารสกัดสมุนไพรชัยไล่แมลงในแปลงเกษตรกรหลากหลายสูตรได้ผลจนเกษตรกรในท้องถิ่นยอมรับหันมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ขานรับนโยบายลดต้นทุนการผลิตในการทำเกษตรอย่างจริงจัง

คุณชูชัย ปัจจุบันอยู่ที่ หมู่ที่ 6 บ้านมดตะนอย ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ทำสวนเกษตรปลูกไผ่ ปลูกไม้ผล ในเนื้อที่ 12 ไร่ เป็นการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ เพราะเจ้าตัวผลิตสารสกัดสมุนไพรมาใช้เอง

คุณชูชัย เล่าถึงความเป็นมาแต่หนหลังว่า ตนเองเป็นชาวบ้านมดตะนอยแห่งนี้ เป็นลูกชาวสวนเกษตรโดยแท้ คุณพ่อคุณแม่ทำสวนปลูกผัก ปลูกไม้ผล ปลูกพริก หอม กระเทียม สำหรับตนนั้นช่วยทางบ้านทำสวนเกษตร ปลูกผักมาตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นมีครอบครัวก็แยกเรือนออกมาทำสวนเกษตรเอง

คุณชูชัย กล่าวต่อไปว่า การทำสวนเกษตรสมัยก่อนนั้นใช้สารเคมีจำกัดแมลงศัตรูพืชเป็นหลัก เรียกว่าใช้จนสุขภาพตนเองย่ำแย่ มีอยู่ปีหนึ่งเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์บวชอยู่ที่วัดโคกบำรุงราษฎร์ สมัยนั้นหลวงพ่ออุ่น ท่านเป็นสมภารปกครองวัด หลวงพ่ออุ่นท่านเก่งเรื่องตำรายาแพทย์แผนโบราณ รักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยสมุนไพร ชาวบ้านใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปหาหลวงพ่ออุ่น ท่านจะปรุงยาสมุนไพรรักษาไข้ให้

คุณชูชัยบวชเป็นพระอยู่กับหลวงพ่ออุ่นก็ศึกษาเล่าเรียนวิชายาสมุนไพรโบราณ โดยมีหลวงพ่ออุ่นเป็นครูประสิทธิ์ประสาทวิชาให้อย่างใกล้ชิด การศึกษาวิชาสมุนไพรยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งแตกฉาน คุณชูชัยอยู่ที่วัดโคกบำรุงราษฎร์ได้พรรษาหนึ่งก็ลาพระอาจารย์ไปศึกษาวิชาตำรายาสมุนไพรจากหลวงพ่อทรง ที่บางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

หลวงพ่อทรง เป็นพระอาจารย์ที่เก่งทางตำรายาสมุนไพรอีกรูปหนึ่ง มีชาวบ้านไปให้ท่านรักษาโรคภัยไข้เจ็บเป็นจำนวนมาก คุณชูชัยหรือพระชูชัยศึกษาตำราสมุนไพรรักษาโรคกับหลวงพ่อทรงพอเอาตัวรอดได้ รักษาไข้ได้ จนกระทั่งลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตเป็นฆราวาสกลับมาอยู่ที่ดำเนินสะดวกบ้านเกิด หันหน้าเข้าสู่การทำสวนเกษตรตามเดิม

ในช่วงนั้นเองมีการประชาสัมพันธ์จากทางราชการให้เกษตรกรหันมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง และให้ทำสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจกันมาก คุณชูชัยเป็นหนึ่งในจำนวนผู้สนใจนั้นด้วย

การหันหน้าเข้าสู่การเรียนรู้เรื่องของสมุนไพร คุณชูชัยเล่าว่า เกิดจากความรู้เรื่องสมุนไพรที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็มานั่งคิดว่าสมุนไพรแต่ละชนิดนั้นมีสารออกฤทธิ์ต่างกัน เราเอาสมุนไพรมารักษาโรคได้ก็น่าจะเอามาจำกัดหนอนแมลงศัตรูพืชในสวนได้ ประกอบกับทางราชการก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำสารสกัดสมุนไพรอยู่แล้ว จึงไปเข้ารับการอบรมกับหน่วยงานเกษตรและงานพัฒนาที่ดิน เขาส่งเสริมให้ทำปุ๋ยหมักชีวภาพและสารสมุนไพรไล่แมลงใช้เอง

หลังจากรับความรู้มาพอสมควร ก็กลับมาทดลองทำปุ๋ยทำสารสกัดสมุนไพรเอง ซึ่งผลสัมฤทธิ์ก็ยังไม่ดีนัก จึงเอาตำรายาสมุนไพรจากพระอาจารย์ที่ให้ไว้มาศึกษารายละเอียดอีกครั้ง จากนั้นก็ประยุกต์เอาสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรชนิดต่างๆ มาแยกประเภทให้เข้ากับจุดมุ่งหมายของการใช้ สมุนไพรนั้นมีหลากหลายชนิด มีทั้งกลิ่นฉุน มีทั้งสารเบื่อเมาที่สามารถยับยั้งการลอกคราบของแมลงได้ แรกๆ แยกชนิดสมุนไพรแล้วนำมาหมักกับแอลกอฮอล์นำไปทดลองใช้ดู ปรากฏว่าได้ผล แต่ต้นทุนสูงมาก สู้ไม่ไหว

คุณชูชัย เล่าต่ออีกว่า ตนได้ไปดูงานการทำสารสกัดสมุนไพรจากที่ต่างๆ เก็บเกี่ยวเอาความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ทำสมุนไพรไล่แมลงใช้เอง พอทำเสร็จก็ทดลองใช้ในสวนแล้วก็แจกจ่ายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงลองไปใช้ดู บางอย่างก็ได้ผลดี ที่ยังไม่ค่อยได้ผลก็เอามาปรับปรุงใหม่ อาศัยตำรายาสมุนไพรของพระอาจารย์เป็นเกณฑ์

ฝึกทำสมุนไพรไล่แมลงนานพอสมควรจึงประสบความสำเร็จ เอาไปให้เพื่อนบ้านใช้ได้ผลดี จึงมีการรวมกลุ่มกันขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ตอนแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน" ใช้สารสกัดไล่แมลงในแปลงเกษตร วัตถุประสงค์ไม่ต้องการใช้สารเคมีมากเกินไปนั่นเอง แรกๆ กลุ่มมีสมาชิกเพื่อนบ้านมาช่วยกัน 6 คน พอใช้สารสกัดสมุนไพรจนเห็นผล ก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 18 คน ปีต่อๆ มามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีสมาชิกถึง 134 คน เป็นการพัฒนาที่ก้าวหน้าต่อเนื่องมาตามลำดับ ทุกวันนี้เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งอีกกลุ่มหนึ่งของอำเภอและของจังหวัดราชบุรี

"กลุ่มของเราช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์"

คุณชูชัย กล่าวว่า เรื่องของสารสกัดสมุนไพรไล่แมลงที่ทำออกมาจำหน่ายให้กับสมาชิกกลุ่มและผู้ที่สนใจนั้น มีหลักๆ อยู่ 5 ชนิด คือ

สูตร 1 เป็นสารควบคุมหนอน กำจัดหนอนและแมลง เรียกว่า "สูตรดั้งเดิม" ใช้วิธีหมักด้วยเมทิลแอลกอฮอล์ 95% เอาสมุนไพรที่มีกลิ่นแรง กลิ่นฉุน เช่น กะเพราผี เสือหมอบ ตะไคร้หอม มะกรูดสุกจัด ฯลฯ มาหมัก ได้หัวเชื้อนำมาผสมน้ำฉีดกำจัดหนอน ระงับการลอกคราบของหนอนและแมลง

คุณชูชัย บอกว่า สูตรนี้ต่อมาภายหลังได้เครื่องสกัดสมุนไพรมา จึงใช้วิธีการสกัดซึ่งก็ได้ผลดีมาก

สูตร 2 กำจัดโรคราพืช ใช้สมุนไพรรักษาโรคกลากเกลื้อนเรื้อรัง สมานแผล นำมาสกัดสามารถป้องกันเชื้อรา โรคพืช โรคไวรัสในพืชได้

สูตร 3 เป็นฮอร์โมนพืชชนิดเข้มข้น สกัดจากปลาน้ำจืดและสมุนไพร ใช้ปลา 10 กิโลกรัม น้ำ 10 ลิตร โมลาส 10 ลิตร นำมาหมัก 10-20 วัน แล้วเอามาผสมกับหัวไชเท้า เป็นตัวยืดผลผสมกวาวเครือขยายผลด้านข้าง สูตรนี้จะสกัดไม่ให้มีความหวานหลงเหลืออยู่ ใช้วิธีการควบแน่นเอาน้ำหวานออก เวลาใช้จะไม่เกิดเชื้อราเด็ดขาด สามารถใช้กับกล้วยไม้ก็ได้ ช่วยให้ดอกบานใหญ่ มีสีสดสวย เกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องเชื้อราจะเข้าทำลาย

สูตร 4 กำจัดหนอนแมลงชนิดเข้มข้น (ยาน็อค) นำเอาสมุนไพร 5 กลุ่ม จากสูตร 1 ที่หมักแล้ว เอามาหมักกับโล่ติ๊น น้ำส้มสายชู และแอลกอฮอล์ โล่ติ๊นนั้นใช้เครื่องย่อยให้ละเอียดเพื่อให้สารออกฤทธิ์ได้เต็มที่ เป็นสูตรเข้มข้น ใช้หัวเชื้อ 20 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดกำจัดหนอนใยผักหรือหนอนหนังเหนียวได้ผลนักแล เรียกว่า หนอนโดนสารเข้าไปรีบเขียนจดหมายลาตายไว้ได้เลย ญาติๆ หนอนเหล่านั้นเตรียมจัดบังสุกุลสวดกุศลาธัมมา อกุศลาธัมมา ส่งวิญญาณให้หายห่วง ถ้าเป็นหนอนตัวเล็กๆ ลูกหนอนหรือหนอนหนุ่มสาวพอโดนสารจะตายทันที ส่วนหนอนใหญ่ประเภทหนังเหนียวเขี้ยวลากดิน ถูกสารไปประมาณ 2 วัน พอมีโอกาสไปร่ำลาเมียน้อยเมียหลวงรับรองตายแน่ๆ เรียกว่าสูตรยาน็อค สูตรนี้ใช้กับการทำพืชผักส่งออกต่างประเทศดีนักแล

สูตร 5 กำจัดหนอนแมลงเช่นกัน ได้จากการหมักสมุนไพร โดยเอาสมุนไพรที่มีสารเบื่อเมา เช่น เมล็ดมันแกว เมล็ดมะกล่ำตาหนู ฯลฯ มาป่นแล้วนำมาหมักกับแอลกอฮอล์ น้ำส้มสายชู ใช้กำจัดแมลงตัวเล็กๆ ปริมาณการระบาดปานกลางไม่มากนัก

สารสกัดไล่แมลงทั้ง 5 สูตรนี้ คุณชูชัยบอกว่า ราคาต่างกันถูกแพงอยู่ที่ชนิดของสารและการกำจัด แต่ทั้งหมดราคาไม่ได้แพงอย่างที่คิด เพราะทำใช้ในกลุ่มด้วยกันเอง หากเป็นเกษตรกรที่ไม่ใช่สมาชิกราคาเพิ่มนิดหน่อย เพราะว่าสมุนไพรบางอย่างราคาค่อนข้างสูง แต่ทั้งหมดรับรองใช้ได้ผล เหมาะกับผู้ที่สนใจจะทำพืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ ถือว่าช่วยกลุ่มช่วยสนับสนุนผลงานที่เกิดจากภูมิปัญญาก็แล้วกัน ไม่ใช่มุ่งหวังเป็นธุรกิจแต่ประการใด สนใจโทร. คุยกันที่ (032) 361-026, (081) 880-4520 คุณชูชัยบอกว่า ยินดีต้อนรับและให้คำแนะนำ เพราะเศรษฐกิจอย่างนี้ช่วยเหลือกันได้ก็ต้องช่วยเหลือกัน...เชิญครับท่าน

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 445
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM