เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
แนะใช้มูลสุกรเพิ่มผลผลิต ข้าว-มันสำปะหลัง
   
ปัญหา :
 
 
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 8 ระหว่าง วันที่ 16-18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจนท์ บีช ชะอำ โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศร่วมงานประมาณ 950 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิจัยทั้งรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และนักวิจัยอาวุโส ได้มีโอกาสเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อพัฒนางานวิจัยของตนให้มีคุณภาพและศักยภาพยิ่งขึ้นต่อไป

ในส่วนของการวิจัยเพื่อพัฒนาเกษตรยั่งยืน ฝ่ายวิชาการ สกว. ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพืชเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่เป็นพืชอาหารและพืชพลังงาน เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชพลังงานชนิดใหม่ จึงได้จัดให้มีการอภิปราย "การสร้างเครือข่ายแบบมุ่งเป้าด้านการพัฒนาเกษตรยั่งยืน" โดยมี ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาพืชไร่ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา เพื่อให้นักวิจัยหันมาทบทวนดูว่า จะมีโอกาสร่วมกันขอทุนวิจัยแบบมุ่งเป้าในรูปแบบใดได้บ้าง โดยเฉพาะทุนวิจัยใหม่ในชุดโครงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Basic Research Program : TRF-STAR) เนื่องจากปัจจุบัน โจทย์วิจัยที่เป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศมักมีหลายมิติ และมีความซับซ้อน จึงต้องการการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญหลายสาขา และมีเป้าหมายวิจัยร่วมที่ตั้งโจทย์วิจัยแบบอิงปัญหา เพื่อให้นักวิจัยสามารถทำงานวิจัยร่วมกันให้มีหลายมิติ โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการผลิตทางการเกษตรภายใต้กับภาวะโลกร้อนและปุ๋ยแพง ดังที่เกษตรกรกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

ในการประชุมดังกล่าว รศ.อุทัย คันโธ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสุวรรณวาจกกสิกิจ เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้เกียรติบรรยายนำ เรื่อง "แนวทางการวิจัยเพื่อใช้ของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ในการผลิตพืชอย่างยั่งยืน" เนื่องจากประเทศไทยมีการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นทุกปี จึงมีของเสีย โดยเฉพาะมูลสัตว์ ที่สามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชได้เป็นอย่างดี เพราะมีธาตุอาหารพืชที่จำเป็นครบทั้ง 13 ชนิด (ได้แก่ N, P, K, Ca, Mg, S, Fe, Mn, Cu, Zn, B, Mo, และ Cl) ที่พืชต้องการ จึงสามารถใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ให้ธาตุอาหารต่างๆ อย่างสมบูรณ์ที่สุดแก่พืช นอกจากนี้ ธาตุอาหารเหล่านี้ยังอยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที มีฮอร์โมนพืช รวมทั้งสารเร่งการเจริญเติบโตของต้นพืชอยู่ด้วย ทั้งยังมีจุลินทรีย์ธรรมชาติที่ช่วยย่อยสลายเศษซากพืชและช่วยปรับปรุงบำรุงดิน

รศ.อุทัย ได้ยกตัวอย่างการทดลองของสถาบันที่นำของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ไปใช้กับเกษตรกรเครือข่ายธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในพื้นที่นาปรังที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ใน 6 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏว่าได้ผลผลิตสูงกว่าเดิมอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่า ถ้าข้าวได้รับธาตุอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ก็จะเจริญเติบโตดี ลำต้นแข็งแรง และให้ผลผลิตไม่แตกต่างจากข้าวที่ปลูกในจังหวัดภาคกลาง เช่น นครปฐม และสุพรรณบุรี

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การนำน้ำจากบ่อมูลสุกรสูบขึ้นมาใส่ในนาข้าวอายุ 1-2 เดือน ประมาณ 100 ลิตร ต่อไร่ ผลที่ได้คือ ข้าวมีใบสีเขียวจัด คาดว่ามีคลอโรฟิลล์มาก ต้นข้าวแข็งแรงมาก ไม่ล้มง่าย ใบหนา ไม่มีแมลงรบกวน ทั้งที่ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง รวงใหญ่และเหนียว เมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์สูง น้ำหนักดี มีเปอร์เซ็นต์ข้าวหักน้อยมากเมื่อนำไปสีเป็นข้าวเจ้า นับว่าเป็นข้าวอินทรีย์ที่สมบูรณ์มาก ส่วนในแปลงที่ดินมีความไม่สม่ำเสมอ พื้นที่ใดที่ข้าวโตไม่ทันกันก็ฉีดพ่นน้ำมูลสุกรเพิ่ม จะทำให้ข้าวเจริญเติบโตและแก่สม่ำเสมอกันทั้งแปลง นอกจากนี้ ยังพบว่า น้ำในนาข้าวมีสาหร่ายและแพลงตอนชนิดต่างๆ ในปริมาณมาก ซึ่งยังไม่มีผู้ใดทราบว่ามีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของข้าวอย่างไร จึงน่าจะเป็นโจทย์วิจัยด้านการพัฒนาเกษตรยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

การใช้มูลสุกรแห้งกับนาข้าวยังทำให้ข้าวสามารถออกรวงได้เร็วขึ้น 5-7 วัน โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเร่งรวงข้าว ซึ่งสถาบันได้ทดลองได้ผลดีกับเกษตรกรที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ ปริมาณมูลสุกรแห้งที่ใช้ในนา 1 ไร่ คือ 200 กิโลกรัม โดยใส่ตอนหมักตอซัง แต่ถ้าไม่มีมูลสุกรก็ใช้น้ำล้างคอกแทนได้ และเมื่อใช้น้ำสกัดมูลสุกร จำนวน 220 ลิตร เพื่อแช่เมล็ดข้าว ฉีดพ่นทางใบ และใส่ในดิน รวมแล้วใช้มูลสุกรเต็มระบบ 225 กิโลกรัม ต่อไร่ ทำติดต่อกันมาได้ 4-5 ปีแล้ว พบว่า เกษตรกรที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม สามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตสูงอย่างต่อเนื่องรวมแล้ว 12 ครั้ง (เกษตรกรอำเภอบางเลน สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 3 ครั้ง) นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดนครปฐมอีกหลายรายที่ใช้วิธีการนี้ และทุกรายที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถาบันอย่างเคร่งครัด ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

รศ.อุทัย กล่าวสรุปว่า การปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์มูลสุกรจะให้ผลผลิตสูงกว่าใช้ปุ๋ยเคมี โดยได้ผลผลิตเฉลี่ย 1-1.3 ตัน ต่อไร่ เมล็ดมีน้ำหนักดีกว่าเดิม ในขณะที่ต้นทุนการปลูกข้าวจะลดลง อยู่ที่ประมาณ 2,000-2,800 บาท ต่อไร่ มีกำไรไร่ละนับหมื่นบาท นับว่าช่วยเหลือเกษตรกรได้มาก เพราะแต่ก่อนเกษตรกรเป็นหนี้สินกันมากจึงไม่อยากปลูกข้าว แต่ปัจจุบันเมื่อข้าวราคาดี และมีวิธีลดต้นทุนการผลิตอย่างได้ผล ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจปลูกข้าวมากขึ้น

อีกพืชหนึ่งที่ใช้ทดลองคือ มันสำปะหลัง ซึ่งในช่วงแรกๆ ของการทดลองปรากฏว่าไม่ได้ผล คณะนักวิจัยประเมินได้ว่า พืชได้ปัจจัย 4 คือ แสงแดด คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และธาตุอาหารไม่ครบ โดยพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมักขาดน้ำ การเพิ่มผลผลิตข้าวจะทำได้ง่ายกว่า เพราะปลูกอยู่ในน้ำ ทำให้น้ำปุ๋ยมูลสุกรกระจายได้อย่างทั่วถึง แต่การที่ราคามันสำปะหลังสูงขึ้นในปัจจุบัน จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรบางรายใช้ระบบน้ำหยด รวมทั้งการใช้น้ำมูลสุกรซึ่งมีธาตุอาหารครบ อัตรารวม 500 กิโลกรัม ต่อไร่ เริ่มจากการแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังในน้ำสกัดมูลสุกรก่อนปลูก 1 คืน เพื่อให้ท่อนพันธุ์ดูดธาตุอาหารเข้าไป เมื่อมันสำปะหลังงอกและตั้งตัวได้แล้ว ก็ใช้น้ำสกัดจากมูลสุกรหรือน้ำจากบ่อพักหรือบ่อไบโอก๊าซ รดดินหรือผสมในระบบน้ำหยด รวมทั้งฉีดพ่นน้ำสกัดมูลสุกรทางใบทุก 15 วัน ต้นอ่อนมันสำปะหลังที่งอกออกมาโตเร็ว โดยผลการทดลองในพื้นที่จังหวัดนครปฐม กาญจนบุรี และราชบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ผลผลิตสูงมาก ทั้งนี้ การใช้ระบบน้ำหยดในช่วงแรกทำให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดสูง ต้นกล้าโตเร็วแม้ว่าจะปลูกระยะห่าง โดยใบจะประสานกันภายใน 2-3 เดือน ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องวัชพืช

ข้อสำคัญที่ควรปฏิบัติในการปลูกมันสำปะหลังโดยใช้ระบบน้ำหมักมูลสุกร คือ การแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำปุ๋ยหมักร่วมกับการให้น้ำหลังปลูก จะทำให้มันสำปะหลังออกรากมากกว่า 20 ราก ซึ่งต่อมารากส่วนหนึ่งจะพัฒนาเป็นหัว ถ้ามีรากขนาดใหญ่มากๆ ก็จะมีโอกาสเพิ่มผลผลิตหัวมันได้มาก โดยช่วงเดือนที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากคือ กุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงแล้ง และรากจะเริ่มสะสมอาหารในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำสมบูรณ์ขึ้น การฉีดปุ๋ยหมักทางใบช่วยทุก 15 วัน จะทำให้มีเปอร์เซ็นต์แป้งดีมาก คาดว่าปุ๋ยหมักมูลสุกรที่มีธาตุอาหารครบถ้วนและมีฮอร์โมนพืช จะช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์แสงและการสร้างแป้ง ทั้งนี้ต้องปลูกในระยะห่างๆ หัวมันสำปะหลังจะโตและมีผลผลิตสูงขึ้นมาก ผลเฉลี่ยต่อไร่ ประมาณ 16 ตัน ความสูงของต้นที่สมบูรณ์ ประมาณ 4-5 เมตร ทั้งนี้ รศ.อุทัย แนะนำว่า ควรปลูกมันสำปะหลังในดินทรายจะได้ผลผลิตดีที่สุด

นอกจากนี้ ทางสถาบันยังได้ทดลองปุ๋ยหมักมูลสุกรกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น อ้อย ผักชีฝรั่ง ถั่วเหลืองฝักสด พริก มะระขี้นก ไม้ดอก ไม้ผล และมะนาว และขณะนี้กำลังทำข้อตกลงร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในการพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ให้มีคุณภาพ และมีองค์ความรู้ใหม่ๆ มากขึ้น

อีกการวิจัยหนึ่งที่ รศ.อุทัย และคณะ ค้นพบคือ มันปะหลังช่วยส่งเสริมสุขภาพสัตว์ เช่น สุกร โดยช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของสัตว์ดีขึ้น ป่วยเป็นโรคต่างๆ น้อยลง เพราะมันสำปะหลังมีแอนตี้ออกซิแดนท์มาก คาดว่าเป็นผลจากที่มีไซยาไนด์เหลือในหัวมันในระดับอ่อนๆ

รศ.อุทัย กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้มูลสุกรทั้งในนาข้าวและไร่มันสำปะหลังให้ผลผลิตสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา จึงสันนิษฐานว่าเป็นเพราะมีแพลงตอน สาหร่าย และจุลินทรีย์เกิดขึ้นหลังการใช้มูลสุกรทำให้ดินยังดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งนักวิจัยจะต้องหาคำตอบเป็นองค์ความรู้พื้นฐานให้ได้ว่า เป็นเพราะอะไร เพื่อพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 445
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM