เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วีระ ไพร่สุวรรณ กับอาชีพเลี้ยงปลาเก๋า-หอยนางรม สร้างรายได้ ที่พังงา
   
ปัญหา :
 
 
ใครที่เคยนั่งรถไปท่องเที่ยวจังหวัดพังงา จังหวัดภูเภ็ต หากเริ่มต้นจากฝั่งอ่าวไทย เมื่อผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็เข้าสู่จังหวัดกระบี่ ลัดเลาะถนนทับปุด-พังงา ระหว่างเส้นทางนี้จะผ่านสะพานข้ามลำคลองหลายสาย มองซ้ายมือเป็นป่าชายเลนเกิดขึ้นมากมาย ขวามือส่วนใหญ่เป็นภูเขาน้อยใหญ่สลับกันไป

ป่าบนภูเขาผลิตน้ำลงสู่ลำคลอง และไหลสู่ทะเลที่ปากอ่าว ณ บริเวณนี้จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น หอย ปู ปลา กุ้ง มีให้พบเห็นกันค่อนข้างเยอะ ด้วยว่าบริเวณปากอ่าวมักมีพวกแพลงตอนพืชและสัตว์เกิดขึ้นมาก ทำให้มีสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับการขยายเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิดนั่นเอง

ก่อนถึงคลองบางเตย ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา มีการจำหน่ายอาหารทะเลริมเส้นทาง พวกปลา ปู หอย กุ้ง นับสิบๆ ร้านเลยทีเดียว ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มาจากป่าชายเลน และบริเวณปากอ่าวแถวนั้น มีทั้งจับจากธรรมชาติ และฟาร์มเพาะเลี้ยงของชาวบ้านด้วย

ลำคลองอื่นๆ นั้น ไม่ค่อยมีชาวบ้านนิยมสร้างแพเพื่อเลี้ยงปลาในกระชังและหอยนางรม ยกเว้นคลองบางเตย เนื่องจากมีระดับน้ำลึกเกือบ 6 เมตร ทำให้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงปลาในกระชังและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ

บริเวณคอสะพานข้ามคลองบางเตยทั้งด้านซ้ายและขวา มีชุมชนชาวประมงอาศัยอยู่ประมาณ 40-50 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ยึดอาชีพออกเรือหาปลา และสร้างแพเพื่อเลี้ยงปลาในกระชังและหอยนางรม นอกจากนี้ ยังมีบางครัวเรือนยึดอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้าจำหน่ายอาหารทะเลริมเส้นทาง เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคทั่วๆ ไป

ชุมชนแห่งนี้ แม้ว่าสภาพบ้านเรือนหรือที่พักอาศัยไม่ค่อยดีนัก แต่ทว่าสถานะทางการเงินค่อนข้างดี ด้วยว่าสามารถหารายได้ได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นจากทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างงานและอาชีพขึ้นมาเอง

ครอบครัวของ คุณวีระและคุณขนิษฐา ไพร่สุวรรณ สองสามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 100/4 หมู่ที่ 3 ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา มีลูกๆ ชาย-หญิง 2 คน สร้างบ้านอยู่บริเวณคอสะพานคลองบางเตย ด้านหน้าติดกับถนน ด้านหลังบ้านเป็นป่าชายเลนและมีสะพานไม้ทอดยาวสามารถเดินทะลุออกคลองบางเตย ซึ่งที่คลองแห่งนี้ทั้งคุณวีระและคุณขนิษฐาได้สร้างแพ ทั้งนี้เพื่อไว้ต่อเติมทำกระชังเลี้ยงปลาเก๋า และหอยนางรม

"ตอนนี้ผมมีอาชีพ 3 อย่าง คือ หนึ่ง สร้างฟาร์มเลี้ยงปลาและหอยหลังบ้าน สอง เปิดร้านขายของชำในบ้าน และสาม รับซื้อปลา ปู หอย กุ้ง จากชาวประมงเพื่อนบ้าน เพื่อไว้ขายตรงหน้าบ้านและริมทางที่รถวิ่งผ่านไปมา ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานในครอบครัวทั้งสิ้น ทั้งภรรยาและลูกๆ ช่วยกันทำมาหากิน ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีคือ มีรายรับเพียงพอกับรายจ่าย และมีเงินเก็บสะสมไว้บ้างนิดหน่อย เพื่อใช้ในยามจำเป็น เจ็บป่วยหรือยามชรา" คุณวีระ กล่าว



ปลาเก๋า เลี้ยงง่าย โตดี

บนแพหลังบ้าน คุณวีระจะสร้างกระชังขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร และลึก 3 เมตร ไว้ประมาณ 13 กระชัง ปล่อยปลาลงเลี้ยงในกระชัง กระชังละ 100 ตัว

"ปลาที่ผมเลี้ยงเป็นปลาเก๋า ซึ่งพันธุ์ปลาชนิดนี้มีอยู่มากตามชายฝั่งหรือป่าชายเลน ผมและชาวบ้านหรือเพื่อนบ้านออกไปจับ โดยการวางลอบหรือไซ เมื่อได้ผลผลิตหรือลูกปลามาแล้ว ผมจะรับซื้อในราคาตัวละ 20-50 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาด หากเป็นขนาด 4-5 นิ้ว ราคาอยู่ที่ 20 บาท ขนาด 6-7 นิ้ว 30 บาท และขนาด 8-9 นิ้ว ราคา 50 บาท ซึ่งการรับซื้อลูกปลาในลักษณะนี้มีข้อเสียอยู่ว่า ปริมาณหรือจำนวน และขนาด เราไม่สามารถกำหนดได้ เพราะว่าเป็นปลาที่จับจากธรรมชาติ บางวันก็ได้ปริมาณน้อย บางครั้งก็ได้มาก เราต้องใจเย็นๆ เมื่อได้ปลามาแล้ว ก็ต้องแยกเลี้ยง ตัวเล็กก็อยู่ในกระชังที่มีขนาดเท่าๆ กัน ตัวใหญ่ก็อยู่อีกกระชังหนึ่ง ไม่เช่นนั้นแล้ว เวลาให้อาหารปลาตัวเล็กจะแย่งไม่ทัน ทำให้ไม่ค่อยเจริญเติบโตเท่าที่ควร" คุณวีระ กล่าว

คุณวีระ บอกต่อไปว่า "จริงๆ แล้ว เรื่องพันธุ์ปลานี้ มีการเพาะขยายพันธุ์ประสบความสำเร็จแล้ว และมีออกจำหน่ายเหมือนกัน แต่ผมไม่นิยม เนื่องจากพันธุ์ที่มาจากที่อื่นๆ โดยเฉพาะจากโรงเพาะฟัก เมื่อนำมาปล่อยเลี้ยงในกระชังที่นี่มักจะปรับตัวเองหรือสภาพแวดล้อมไม่ค่อยได้ ทำให้เกิดความเสียหายหรือตายเยอะ สู้จับลูกปลาจากธรรมชาติที่นี่ แล้วมาปล่อยเลี้ยงในกระชัง สภาพน้ำก็เหมือนเดิม เพียงแต่จำกัดพื้นที่เลี้ยงเท่านั้น ไม่กี่วันปลาก็ปรับสภาพได้ และความเสียหายที่เกิดขึ้นมีการพบเห็นน้อยมากเลย"

สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาเก๋านั้น เขาจะซื้อปลาข้างเหลืองหรือปลาเป็ด ในราคากิโลกรัมละ 12-13 บาท มาสับให้เป็นชิ้นๆ โยนให้ปลาเก๋ากิน 2 วัน ต่อครั้ง โดยแต่ละครั้งให้กินจนอิ่ม

"สมมติว่า ในกระชังมีปลาอยู่จำนวน 100 ตัว และน้ำหนักแต่ละตัวอยู่ที่ 3-4 ขีด เราจะซื้ออาหารมาให้กินโดยประมาณ 3 กิโลกรัม ต่อ 2 วัน หรือครั้งเท่านั้น ปลาก็อิ่มเต็มที่แล้ว แต่ถ้าปลาตัวโตขึ้น ก็จำเป็นให้อาหารเพิ่ม ไม่เช่นนั้นก็ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ซึ่งจากที่ผมทดลองเก็บตัวเลขค่าอาหาร พบว่า ลูกปลา 1 ตัว ที่มีขนาดแรกเลี้ยง 4-5 นิ้ว เมื่อเลี้ยงครบ 1 ปี ได้น้ำหนักตัวอยู่ที่ 1 กิโลกรัมเศษ จะมีต้นทุนค่าอาหารอยู่ที่ 150 บาท ในขณะที่ตลาดรับซื้อผลผลิตประมาณ 280-320 บาท ดังนั้น เราจะมีกำไรอย่างต่ำ 100 บาท ต่อตัว แล้ว ซึ่งเพียงพอแล้ว เพราะว่าเราเลี้ยงจำนวนเยอะนั่นเอง" คุณวีระ กล่าว

คุณวีระ บอกว่า ปลาเก๋า เป็นปลาที่เจริญเติบโตค่อนข้างดี โดยเฉพาะลูกปลาที่มีขนาด 8-9 นิ้ว หรือ 2-3 ขีด ขึ้นไป จะโตเร็วมาก ใช้ระยะเวลาเลี้ยงเพียง 7 เดือน เท่านั้น ก็ได้น้ำหนักถึง 1.1 กิโลกรัม แล้ว ซึ่งเป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ

"ตลาดปลาเก๋านี้ จะมีพ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดภูเก็ตเข้ามารับซื้อที่ปากบ่อหรือกระชังโดยตรง โดยการช้อนจับขึ้นมาใส่ถังพลาสติคที่มีออกซิเจนพร้อม เพราะส่วนใหญ่ต้องการส่งห้องอาหารในลักษณะปลาเป็นๆ ซึ่งผู้บริโภคทั้งคนไทยหรือต่างชาติชอบกินกันมาก"

ปลาเก๋า ไม่สามารถวางขายริมทางได้เหมือนกับสินค้าหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วยเหตุผลผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบของเป็นๆ นั่นเอง

"เราจำเป็นต้องขายทั้งกระชัง โดยหมุนเวียนกันจับขายกันเกือบทุกเดือน เนื่องจากปลาแต่ละกระชังเจริญเติบโตไม่พร้อมกัน มีทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ แต่ถ้าเห็นว่ากระชังไหนตัวโต ขนาด 1 กิโลกรัมเศษ ก็โทรศัพท์ไปบอกพ่อค้าแม่ค้าให้เข้ามารับซื้อได้ทันที" คุณวีระ กล่าว



หอยนางรม เสริมรายได้

บนแพและกระชังเลี้ยงปลาเก๋ามีพื้นที่ว่างส่วนหนึ่ง ทำให้คุณวีระคิดหารายได้เพิ่ม และได้ข้อสรุปว่า ควรเลี้ยงหอยนางรม ด้วยเหตุผล 4 ประการหลัก คือ หนึ่ง ลูกพันธุ์หาง่าย สอง ขั้นตอนการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก สาม ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ และสี่ ตลาดรับซื้อเปิดกว้าง ซึ่งสามารถนำผลผลิตมาขายริมทางได้

เมื่อได้ข้อสรุป คุณวีระ ก็หาไม้โกงกางและไม้เนื้อแข็งอื่นๆ มาวางบนพื้นที่ว่างเป็นแถวๆ โดยให้ระยะห่างกันประมาณ 12 นิ้ว

ส่วนขั้นตอนการเลี้ยงนั้น เริ่มต้นต้องไปหาลูกพันธุ์หรือสายพันธุ์ก่อน โดยเน้นพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากตามโขดหินและป่าชายเลน คุณวีระจะใช้ล้อยางรถมอเตอร์ไซค์ที่หมดอายุแล้ว มาผ่าเป็นอุปกรณ์ล่อให้ลูกหอยเข้ามาอยู่อาศัย โดยการนำล้อยางไปแขวนเป็นแถวๆ ตามริมป่าชายเลน ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือน ลูกหอยเกาะอยู่ตามล้อยางจำนวนค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่มีขนาด 30 ตัว ต่อกิโลกรัม

จากนั้นนำลูกหอยดังกล่าวมาร้อยเชือก โดยใช้ปูนซีเมนต์ทำหน้าที่เป็นกาวทาบริเวณเปลือกหอยด้านหนึ่ง แล้วนำมาวางบนเชือกไนล่อนและเปลือกหอยอีกตัวหนึ่ง

เชือกไนล่อนมีความยาวเฉลี่ย 1 เมตร และสามารถนำลูกหอยมาประกบเป็นคู่ได้ 7 คู่ ซึ่งแต่ละคู่จะมีระยะห่างกันประมาณ 8 นิ้ว

เมื่อปูนซีเมนต์แห้งสนิทแล้ว คุณวีระก็นำพวงหอยลงเลี้ยงในคลอง โดยให้หอยคู่บนสุดต่ำกว่าระดับ 10 นิ้ว จากนั้นก็ผูกปลายเชือกให้ติดกับราวไม้ที่เตรียมไว้ตั้งแต่ขั้นตอนแรก

ลูกหอยนางรมจะเปิดปากคอยดูดกินแพลงตอนที่อยู่ในน้ำเกือบตลอดเวลา โดยไม่หลุดหนีไปไหน เพราะว่ามีปูนซีเมนต์กับเชือกเชื่อมติดกันอย่างแข็งแรง

"ตอนนี้เราเลี้ยงหอยแต่ละรุ่นประมาณ 10,000 ตัว โดยใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 5 เดือน ก็ได้ผลผลิต 10 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้บริโภคยังไม่นิยม แต่เราจะขายให้กับเพื่อนบ้านหรือชาวประมงทั่วไป นำไปเลี้ยงอีกสัก 4-5 เดือน ก็ได้ผลผลิตหอย 4-5 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ผู้บริโภคทั่วๆ ไปนิยมกันมาก"

คุณวีระ จำหน่ายหอย ขนาด 10 ตัว ต่อกิโลกรัม ให้กับเพื่อนบ้านตัวละ 5 บาท แต่ถ้าเป็นไซซ์ขนาดใหญ่ หรือ 4-5 ตัว ต่อกิโลกรัม จะตั้งขายริมทางที่มีรถยนต์วิ่งผ่านไปมา มีทั้งลูกค้าขาประจำและขาจร ในราคาตัวละ 10 บาท

"ผมเลี้ยงหอยนางรมค่อนข้างมาก หากเราเก็บหรือเลี้ยงจนขนาดใหญ่ในปริมาณมากเกินไป ก็กลัวระบายตลาดไม่ทัน ดังนั้น ในช่วง 5 เดือนแรก เราก็เริ่มจับผลผลิตมาแบ่งขายส่วนหนึ่งแล้ว เมื่อได้เงินก็มาใช้จ่ายในครอบครัว ที่เหลือก็นำมาลงทุนเลี้ยงหอยเลี้ยงปลาใหม่ หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอด" คุณวีระ กล่าวทิ้งท้าย
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พังงา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 445
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM