เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"ครั่ง" มะละกอไทย เพื่อทำส้มตำโดยเฉพาะ
   
ปัญหา :
 
 
แต่เดิมคนไทยมักจะคุ้นเคยกับมะละกอดิบพันธุ์แขกนวล หรือมะละกอพันธุ์แขกดำ ที่นำมาทำส้มตำซึ่งเป็นอาหารยอดฮิตของคนไทย แต่มะละกอไทยที่มีชื่อว่า พันธุ์ "ครั่ง" เป็นสายพันธุ์มะละกอที่ศูนย์และพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดมหาสารคาม (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดขอนแก่น กรมส่งเสริมการเกษตร ได้พัฒนาสายพันธุ์เพื่อการผลิตเป็นมะละกอดิบใช้ทำส้มตำโดยเฉพาะ ด้วยลักษณะเด่นตรงที่เป็นมะละกอที่ให้ผลผลิตสูง หลังจากย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลง ใช้เวลาปลูกเพียง 5-6 เดือน เริ่มเก็บเกี่ยวผลดิบจำหน่ายเป็นมะละกอส้มตำได้ เนื้อของมะละกอดิบพันธุ์ครั่งจะมีความกรอบและรสชาติหวานกว่ามะละกอดิบสายพันธุ์อื่นๆ เมื่อเก็บผลดิบลงมาจากต้นจะคงสภาพในอุณหภูมิปกติโดยไม่เหี่ยวและคุณภาพไม่เปลี่ยนแปลงนานถึง 1 สัปดาห์ ทำให้พ่อค้าที่มารับซื้อจะชะลอการจำหน่ายได้



ลักษณะประจำพันธุ์โดยรวมของมะละกอพันธุ์ครั่ง


จากการคัดเลือกพันธุ์ยังพบว่า เมล็ดมะละกอพันธุ์ครั่ง ยังมี 3 เพศ คือ ต้นกะเทย ต้นตัวเมีย และต้นตัวผู้ ดังนั้น เกษตรกรที่ได้เมล็ดไปปลูกจะต้องมีการคัดเลือกต้นในแปลงอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า มะละกอพันธุ์ครั่ง จะมีลักษณะเหมือนมีมะละกอ 2 สายพันธุ์ อยู่ภายในต้นเดียวกัน คือ ระยะต้นเล็กจะมีสีแดงอมม่วง บริเวณก้านใบและมีจุดตามลำต้นคล้ายกับมะละกอพันธุ์โกโก้ เมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่สีเหล่านั้นจะหายไป ในขณะที่พันธุ์โกโก้สีและจุดยังคงเดิม และเมื่อผลสุกเนื้อของมะละกอพันธุ์ครั่งจะมีสีเหลืองอมส้มคล้ายกับมะละกอพันธุ์สายน้ำผึ้ง มะละกอพันธุ์ครั่งที่คัดเลือกพันธุ์ขึ้นมาใหม่นี้จะเป็นมะละกอต้นเตี้ย มีลักษณะผลใหญ่และยาว (ต้นกะเทย) บริเวณผลจะมีร่องข้างผลยาวตลอดตั้งแต่หัวไปยังท้ายผล เมื่อผ่าดูลักษณะภายในจะมีความหนาของเนื้อประมาณ 2 เซนติเมตร สีของเนื้อมีสีขาวขุ่นและไม่แข็งกระด้าง รสชาติหวานกว่าพันธุ์แขกนวล จากการศึกษาในแปลงปลูกของทางราชการหรือในแปลงปลูกของเกษตรกรหรือแม้แต่ในแปลงปลูกของแผนกฟาร์มชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร พบว่า มะละกอพันธุ์ครั่ง มีความต้านทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดีระดับหนึ่ง



การปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งในเชิงพาณิชย์

เกษตรกรจะต้องเริ่มต้นด้วยการเพาะเมล็ดมะละกอพันธุ์ครั่งอย่างถูกวิธีเสียก่อน ด้วยการใช้วัสดุเพาะที่มีสัดส่วนของหน้าดิน 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 2 ส่วน แกลบดิน 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และขุยมะพร้าว 1 ส่วน ให้แช่เมล็ดมะละกอไว้นานประมาณ 12 ชั่วโมง จากนั้นนำมาแช่ในน้ำอุ่น (ใช้มือจุ่มลงไปในน้ำรู้สึกว่าไม่ร้อน) นานประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการงอกของเมล็ด

แปลงที่จะใช้ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งควรจะยกแปลงปลูกแบบลูกฟูกหรือร่องลอย ให้มีความกว้างของแปลง 6 เมตร ใน 1 แปลงปลูก จะปลูก 2 แถวคู่ ระยะปลูกระหว่างต้น 2.5 เมตร ระหว่างแถว 3 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกมะละกอครั่งได้ ประมาณ 192 ต้น มีเกษตรกรบางรายจะยกแปลงเป็นลูกฟูกและจะปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งเพียงแถวเดียว โดยใช้ระยะปลูก 3x3 เมตร หรือต้องการให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดีอาจจะปรับระยะปลูกเป็น 3.5x3.5 เมตร ก็ได้ แต่ละหลุมปลูกควรจะปลูก 2-3 ต้น เพื่อคัดต้นตัวผู้ทิ้ง (ซึ่งพบน้อยมาก) แต่ถ้าจะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ควรจะคัดต้นตัวเมียทิ้งด้วย แต่สำหรับเกษตรกรที่ปลูกเพื่อผลิตเป็นมะละกอดิบขาย ไม่จำเป็นต้องตัดต้นตัวเมียทิ้ง เนื่องจากทรงผลจะออกยาว ไม่กลมเหมือนกับมะละกอพันธุ์แขกนวล หรือพันธุ์แขกดำ

สภาพดินปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง ถ้าเป็นดินร่วนปนทราย เกษตรกรไม่ควรขุดหลุมปลูกให้มีความลึกเกิน 30 เซนติเมตร แต่ควรจะขุดหลุมให้กว้างๆ เพราะเมื่อมีการให้น้ำดินจะยุบตัวทำให้หลุมปลูกระบายน้ำไม่ได้ ผลที่ตามมาจะทำให้โคนและรากมะละกอเน่าได้ เกษตรกรที่ไม่ต้องการให้ต้นมะละกอพันธุ์ครั่งสูงควรจะโน้มต้นลงเพื่อป้องกันการหักล้มในช่วงที่มีการติดผลดก ในสภาพพื้นที่ปลูกที่อยู่ในพื้นที่สูงและมีสภาพลมแรงไม่มีไม้บังลม เกษตรกรจำเป็นจะต้องโน้มต้นลง เมื่อต้นมะละกอมีอายุได้ 1 เดือน เกษตรกรที่ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งควรจะคลุมโคนต้นด้วยฟางข้าวหรือเศษหญ้า หลังจากต้นมะละกอมีอายุได้ 1 เดือน เริ่มใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 หรือ 19-19-19 ใส่ให้ต้นละ 50-100 กรัม ทุกๆ 15 วัน ต้นมะละกอครั่งจะเริ่มออกดอกเมื่อต้นมีอายุได้ประมาณ 3 เดือน ในช่วงนี้ควรจะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเคมีจากสูตรเสมอมาใช้สูตร 13-13-21 โดยใส่เป็นประจำทุก 15 วันเช่นกันในอัตราต้นละ 50-100 กรัม ปัจจุบันราคาปุ๋ยเคมีมีราคาแพงมากขึ้น เกษตรกรอาจจะสลับมาใส่ปุ๋ยคอกสลับบ้าง เช่น ปุ๋ยขี้ไก่ โดยใส่ปุ๋ยเคมีเหลือเพียงเดือนละ 1 ครั้ง ก็พอ และใส่ให้ต้นละประมาณ 1 กำมือ

อย่างไรก็ตาม น้ำจัดเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง ตั้งแต่เริ่มลงหลุมปลูกจนเก็บเกี่ยวผลดิบขาย อย่าปล่อยให้ต้นมะละกอขาดน้ำ จะมีการติดตั้งระบบการให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ต้นละ 1 หัว ก็ได้หรืออาจจะให้น้ำแบบปล่อยตามร่องจะให้ 3-5 วัน ต่อครั้ง ก็ได้ หลังจากที่ลงหลุมปลูกแล้วถ้าเป็นไปได้ใต้ต้นมะละกอทุกต้นควรจะคลุมด้วยฟางข้าวเพื่อลดปริมาณวัชพืชและช่วยรักษาความชื้นในดิน ในทางปฏิบัติการใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมะละกอยังมีข้อจำกัดและเกษตรกรจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ แม้แต่สารในกลุ่มไกลโฟเสตก็ตามอาจจะมีผลข้างเคียงกับต้นมะละกอพันธุ์ครั่งได้



ความแตกต่างระหว่างการปลูกมะละกอพันธุ์ครั่ง

หลุมละ 1 ต้น และ 2 ต้น


จากที่ได้กล่าวในข้างต้นว่า ในการคัดเลือกต้นมะละกอพันธุ์ครั่งเมื่อเริ่มมีการออกดอกและติดผล ให้คัดต้นตัวผู้ทิ้งเท่านั้น ซึ่งมีน้อยมาก ต้นตัวเมียถึงแม้จะให้ลูกกลมแต่ก็กลมไม่มาก และมีความยาวของผลพอสมควร ขายเป็นมะละกอดิบเพื่อทำส้มตำได้ การปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งเพียงหลุมละ 1 ต้น จะได้ต้นมะละกอที่มีลำต้นที่อวบอ้วน ขนาดของผลจะใหญ่และสมบูรณ์มาก ในขณะที่ปลูกหลุมละ 2 ต้น ถึงแม้ต้นจะยังคงความสมบูรณ์ แต่ขนาดของลำต้นเล็กกว่า เนื่องจากแย่งอาหารกัน มีผลทำให้ผลมะละกอมีขนาดเล็กเรียวยาวและน้ำหนักผลน้อยกว่า แต่เป็นข้อดีตรงที่ผลมะละกอดิบไม่ใหญ่จนเกินไป เป็นชื่นชอบของกลุ่มผู้ซื้อไปทำส้มตำเอง บริโภคเองในครัวเรือน



เทคนิคการทำสาวมะละกอพันธุ์ครั่ง

มะละกอพันธุ์ครั่ง จะให้ผลผลิตและเก็บจำหน่ายผลดิบหลังจากที่ย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลง 5-6 เดือน จากการสังเกตลักษณะของการออกดอกและติดผลของมะละกอสายพันธุ์นี้คือ ในช่วงเดือนที่ 9 หลังจากปลูกลงดิน ผลผลิตจะหมดในรุ่นแรกหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหมดคอแรก ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเหมาะเป็นอย่างยิ่งในการตัดต้นมะละกอพันธุ์ครั่งแล้วเลี้ยงยอดใหม่ หรือเรียกว่าวิธีการทำสาว หลังจากตัดต้นทำสาวเพียง 3 เดือน เท่านั้น ยอดใหม่ของมะละกอพันธุ์ครั่งจะเริ่มออกดอกและเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ในเวลาต่อมา ข้อดีของการทำสาวมะละกอพันธุ์ครั่งจะทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตง่าย เพราะมะละกอจะมีต้นเตี้ยเหมือนกับต้นที่ปลูกใหม่และส่งผลต่อการดูแลรักษาที่ง่ายขึ้น การทำสาวมะละกอจะยังคงรักษาพันธุ์เดิมไม่มีการกลายพันธุ์ ถ้าปลูกบริโภคในครัวเรือนไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี

สำหรับเกษตรกรที่ปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งในเชิงพาณิชย์สามารถกำหนดการให้ผลผลิตได้โดยวิธีการทำสาว สามารถกำหนดให้มะละกอมีจำหน่ายได้ในช่วงหน้าแล้ง (ในช่วงฤดูแล้งราคามะละกอดิบจะมีราคาแพงที่สุด) คือตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาจนถึงเทศกาลสงกรานต์ ในช่วงเวลาดังกล่าวบางปีราคามะละกอดิบขายจากสวนมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 8-15 บาท โดยเกษตรกรนับถอยหลังกลับไปราว 4-5 เดือน และตัดต้นมะละกอทำสาวในช่วงเวลานั้น เช่น จะให้ต้นมะละกอพันธุ์ครั่งให้ผลผลิตขายได้ในเดือนมกราคม ให้ตัดต้นมะละกอเพื่อทำสาวในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นต้น



วิธีการทำสาวมะละกอพันธุ์ครั่ง

แนะนำให้เกษตรกรตัดต้นมะละกอพันธุ์ครั่งสูงจากพื้นดิน 50 เซนติเมตร เหตุผลที่จะต้องตัดที่ความสูงระดับนี้เผื่อเอาไว้ให้ลำต้นมะละกอจะต้องผุเปื่อยเน่าลงมาอีกประมาณ 1 คืบมือ หลังจากตัดต้นมะละกอแล้วไม่จำเป็นจะต้องทายาเชื้อราหรือปูนแดง เนื่องจากลำต้นมะละกอจะผุเปื่อยลงไปจนถึงจุดที่ยอดตาใหม่จะแตกออกมา เกษตรกรอาจจะสงสัยว่าเมื่อตัดต้นมะละกอแล้วจำเป็นจะต้องเอาถุงพลาสติคมาคลุมต้นมะละกอเพื่อป้องกันน้ำหรือฝนที่จะทำให้ต้นเน่าได้หรือไม่ ความจริงแล้วถ้าเกษตรกรใช้ถุงพลาสติคคลุมมาคลุมรอยแผลจะทำให้ต้นเน่าได้ง่ายขึ้น เนื่องจากน้ำที่ระเหยจากลำต้นจะไปเกาะติดที่พลาสติคจนน้ำขังภายในลำต้น ไม่มีการระบายน้ำออก จะส่งผลให้ลำต้นเน่าแต่ถ้าตัดต้นแล้วปล่อยไว้ตามธรรมชาติไม่ต้องทำอะไร เมื่อมีฝนตกลงมาและมีน้ำขังอยู่ที่บริเวณรอยแผล น้ำจะแห้งหรือระเหยไปเองเพราะจะโดนแดด โดนลม แต่เกษตรกรจะต้องเจาะรูเพื่อให้น้ำมีทางระบายออกจากลำต้นด้วย

หลังจากที่ตัดต้นทำสาวมะละกอพันธุ์ครั่งเสร็จ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 หรือสูตรที่ไนโตรเจนสูง เช่น สูตร 32-10-10 พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกเก่าบำรุงต้นไปพร้อมกัน และมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อเร่งให้ต้นมะละกอแตกยอดออกมาใหม่ เมื่อมีการแตกยอดออกมาจำนวนมากให้คัดเลือกยอดมะละกอพันธุ์ครั่งที่มีความสมบูรณ์ไว้เพียงยอดเดียวเท่านั้นและจะต้องหมั่นเด็ดยอดที่ไม่ต้องการออกให้หมด เพื่อไม่ให้เจริญเติบโตแข่งกัน หลังจากที่เลี้ยงยอดไปนานประมาณ 3 เดือน จะเริ่มออกดอกและติดผล

ปัจจุบัน "ส้มตำ" เป็นอาหารหลักของคนอีสาน และเป็นอาหารที่ได้เผยแพร่ไปทั่วทุกภาคของประเทศ นอกจากนั้น ยังแพร่หลายกลายเป็นอาหารที่คนต่างชาติรู้จักกันมากขึ้น คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักมะละกอพันธุ์ครั่ง วิธีสังเกตด้วยสายตาง่ายๆ คือจะมีร่องที่ผล เมื่อซื้อไปทำส้มตำแล้วล้วนแต่ประทับใจในความอร่อยและกรอบกว่ามะละกอสายพันธุ์อื่นๆ สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งในเชิงพาณิชย์มีตัวอย่างเกษตรกรที่ จังหวัดเพชรบูรณ์ คือ คุณยุพิน บั้งทอง เริ่มปลูกมะละกอพันธุ์ครั่งในพื้นที่เพียง 2 ไร่ หลังจากที่ปลูกต้นกล้าลงดินไปนานประมาณ 5 เดือน เท่านั้น เก็บมะละกอดิบขายได้มากถึง 5,000 กิโลกรัม



หนังสือ "ครั่ง" มะละกอไทยพันธุ์ใหม่เพื่อทำส้มตำ พิมพ์ 4 สี มีแจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "เทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์" รวม 120 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมาย สอดแสตมป์ 50 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ขอนแก่น
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 444
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM