เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"ชวนชม สร้างเงิน ปลูกง่ายตายยาก" สุชาติ ศรีเลอจันทร์ เกษตรกรมืออาชีพยืนยัน
   
ปัญหา :
 
 
ในบรรดานักขยายพันธุ์ไม้ของบ้านเรายุคนี้ ถือว่า คุณสุชาติ ศรีเลอจันทร์ เป็นมืออาชีพคนหนึ่ง หากให้จัดอันดับก็น่าจะติด 1 ใน 10

เดิมเกษตรกรรายนี้ ทำเกษตรอยู่ที่รังสิต ปทุมธานี ต่อมาได้เข้าสู่วงการขยายพันธุ์ไม้สวน ในยุคเริ่มต้นมีเพียงทางด้านไม้ผล ต่อมามีไม้ดอกไม้ประดับเข้ามาเพิ่ม ซึ่งก็สร้างทั้งชื่อเสียงและเงินทองให้คุณสุชาติ ปัจจุบันคุณสุชาติอยู่บ้านเลขที่ 86/30 หมู่ที่ 5 ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 73000 โทร. (081) 803-1652, (085) 811-4443

ทางด้านไม้ผล คุณสุชาติ มีไม้ดีๆ เช่น ขนุน มะม่วง พุทรา ทับทิม มะขามเปรี้ยว และอื่นๆ

ไม้ดอกที่ชัดเจนมากคือ โป๊ยเซียน ลีลาวดี รวมทั้งชวนชม

คุณสุชาติ เป็นผู้ปลูกเลี้ยงโป๊ยเซียนมาก่อน เขาผลิตทุกรูปแบบ ก่อนหน้านี้ คือก่อนปี 2540 โป๊ยเซียน ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่หลังจากนั้น วงการโป๊ยเซียนถดถอยไปพร้อมกับเศรษฐกิจ คุณสุชาติ หยุดเลี้ยงโป๊ยเซียน แต่มาให้ความสนใจชวนชม

งานปลูกเลี้ยงชวนชมยุคเริ่มต้นของคุณสุชาติ ทำแบบสะสมมากกว่า เพราะหาพันธุ์ดีได้ไม่ง่ายนัก แต่ต่อมาทำจริงจัง จนทุกวันนี้ ถือว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และทำได้คุณภาพดีคนหนึ่ง



สะสม แล้วทำเป็นการค้า

"ชวนชม ปลูกหลังจากโป๊ยเซียนตกลงมา ช่วงปี 2541 ทำแล้วขายได้น้อย จึงหันมาทำชวนชม ทำอยู่ปีสองปี ตอนนั้นทุนไม่มี บางช่วงต้องทำไม้ขายได้เร็วหลังฟองสบู่แตก ช่วงนั้นทำไม้ผลหลายปี มีขนุนศรีบรรจง มะม่วงมหาชนก กิ่งไม้ผลสร้างเงินให้มากคือ พุทราจัมโบ้ สำหรับชวนชม เมื่อก่อนเราได้พันธุ์ดีน้อย ปัจจุบันผสมเกสรได้พันธุ์ดีมาก ทุกวันนี้หลายสวนได้ดอกซ้อน 3 ชั้น ที่บ้านผมเด็กๆ ผสมไว้ได้ดอกซ้อนหลายต้น ทำได้สีแปลกๆ เช่น แดงขอบน้ำเงิน แดงขอบกรมท่า"

คุณสุชาติ อธิบายและบอกอีกว่า

"ตอนนี้มี ชวนชมฮอลแลนด์ ค่อนข้างมากหลายหมื่นต้น ผมปลูก 3 ไร่กว่า มีลูกไม้ใหม่ๆ มียักษ์ซาอุ เพชรบ้านนา หลายสายพันธุ์ที่ผมได้รับความอนุะเคราะห์จากสวน คุณลุงหยู แปดริ้ว เป็นเพื่อนกัน ต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย พันธุ์ใหม่ๆ ของลูกเขยผม ผสมเป็น 100 สายพันธุ์ ตัวใหม่ๆ ที่เพาะใหม่ๆ ก็มี ลูกไม้ใหม่ เช่น ชมพูสยาม, อาเสี่ย (ลูกเจ้าสัว) สีแดงมีขอบ ผมว่าชวนชมเป็นไม้เลี้ยงง่ายเกือบที่สุด ไปธุระไกลๆ นานๆ กลับมาไม่ตาย ลงทุนน้อย ใช้เมล็ดเพาะเอง ไม่เกิน 1 บาท ต่อเมล็ด บางสายพันธุ์เร็ว 4-5 เดือน ออกดอกแล้ว สายพันธุ์ที่ออกดอกช้า ส่วนหนึ่งทำต้นตอเสียบ ได้ลุ้นลูกไม้ใหม่ด้วย มีทุนน้อยซื้อมาตัดยอดขยาย บางทีลูกค้าต้องการ มาตัดยอดขายให้กับลูกค้าเลย แต่ไม่ใช่ตัวใหม่เอี่ยม ชวนชมบ้านเราทำมานาน บางคนปลูก 20-30 ปี ยังขายได้อยู่ มีลูกเล่นเยอะ ต้นหนึ่งเสียบหลายสีได้"



คนซื้อไปปลูก แนะนำอย่างไร

ผู้นิยมซื้อต้นไม้ไม่น้อย มักมีคำถามอยู่เสมอ...เช่น...

"ตอนที่อยู่กับเขามันงาม...มาอยู่กับเราไม่นานก็แย่..."

"ไม่อยากซื้อหรอก สวยมากตอนอยู่กับเขา ซื้อมาแล้วจะดูแลอย่างไร..."

คุณสุชาติ อธิบายว่า

"เมื่อก่อน...ทางสวนบางทีไม่เข้าใจเร่งปุ๋ยมาก เดี๋ยวนี้ราคาไม่สูงเกิน ส่วนมากผสมดินกับมูลสัตว์ใส่ปุ๋ยละลายช้า ไม่เติมปุ๋ยก็อยู่ได้นาน มีอยู่อย่างหนึ่งที่จะแนะนำ เรื่องการตัดแต่งกิ่ง...ถ้าแต่งกิ่งจะสวยพุ่มใหญ่ขึ้น บางคนไม่กล้าตัด ตัดไม่เป็น กิ่งยาวเลยไปห้อยย้อยลง ลำต้นเลี้ยงไม่ไหว ถ้าเราตัดชวนชมมันเหมือนผู้ชายตัดผม ถ้าเราไม่รู้ถามคนขาย ตัวอย่าง เพชรบ้านนา ไม่ค่อยตัด เล็มบางๆ ตัดกิ่งที่แน่นออกเท่านั้น ไม้ใหญ่ตอนที่ซื้อมามีเค้าโครงความสวยงาม เลี้ยงระยะหนึ่งยาวเป็นคืบ ตัดแบบเขาตัด หรือถามเขาแล้วหัดตัด สวนที่ผลิตชวนชมอยากบริการ เพราะว่าเขาอยากขาย หนังสือชวนชมมีรูปประกอบค่อนข้างมาก ปุ๋ยจะใส่ครั้งหนึ่งไม่มาก 2-3 เดือนครั้ง ดินสวนอยู่ได้นาน การเปลี่ยนดิน 6 เดือนครั้ง ดินก้ามปูหมดสภาพแล้ว เป็นสีเขียวๆ ตะไคร่ ชวนชมไม่โตเท่าที่ควร การเปลี่ยนดินควรเปลี่ยนกระถางด้วย เพราะว่าต้นโตขึ้น ตำแหน่งที่วางตั้งดีที่สุดแดดทั้งวัน ครึ่งวันดอกไม่ดี อีกเรื่องหนึ่งเหมือนผักทั่วไป ควรวางตั้งแถวตามแนวขวางตะวัน จะสวยทั่วไป หากตั้งแถวตามแนวตะวัน อีกซีกหนึ่งสวย อีกซีกหนึ่งไม่สวย ตรงนี้เป็นข้อสำคัญเลย"



วิธีการขยายพันธุ์ชวนชม

คุณสุชาติ และทีมงาน ได้แนะนำวิธีการขยายพันธุ์ชวนชม และการดูแลรักษา ดังนี้

เทคนิคการรักษาเม็ดชวนชม

ถ้ายังไม่ได้เพาะ ควรเก็บเมล็ดชวนชมใส่ถุงพลาสติค รีดอากาศในถุงออกให้หมด ใส่ไว้ในตู้เย็น

เพาะเมล็ดให้ได้ผล

คัดเมล็ดที่ไม่สมบรูณ์ออก นำตะกร้าพลาสติคทรงเตี้ยๆ หรือกระจาดพลาสติคโดยใช้ดินใบก้ามปูที่หมักเอาไว้แล้วผสมกาบมะพร้าวสับเล็กๆ และขุยมะพร้าวโรยเมล็ดชวนชมให้ทั่วๆ กระจาด ใช้ดินที่ปลูกคลุมด้านบนบางๆ หรือใช้ทรายหยาบผสมขี้เถ้าดำ อย่างละ 1 ต่อ 1 ก็ได้ โดยรดน้ำวันละครั้ง วางภาชนะไว้ในที่มีแสง 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 4-7 วัน เมล็ดจะงอกขึ้นมา เมื่อต้นกล้ามีใบ ประมาณ 4-5 ใบ จึงเริ่มใส่ปุ๋ย โดยใช้ปุ๋ย สตูร 25-7-7 ละลายน้ำ ในอตัรา 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร รดต้นกล้า แล้วรดน้ำตามอีก 1 ครั้ง เพื่อมิให้น้ำที่ผสมปุ๋ยติดค้างอยู่บนใบของต้นกล้า หรือใช้ปุ๋ยเกล็ดฉีดพ่นก็ได้

ชำกิ่งทำได้

การชำกิ่ง เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย โดยตัดเอากิ่งที่ไม่อ่อนหรือไม่แก่เกินไป ความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ไม่ต้องตัดใบออก แล้วจุ่มน้ำยาเร่งรากผสมยากันรา ทิ้งไว้ให้แห้ง จึงนำไปปลูก โดยใช้ดินที่ผสมไว้ปลูกชวนชมก็ได้ แต่ส่วนผสมของดินปลูก (ชำ) ไม่ต้องผสมมูลสัตว์ ปักให้ลึก ประมาณ 3-5 เซนติเมตร กดรอบโคนต้นพอให้แน่น รดน้ำพอให้ชุ่ม 2-3 วัน ต่อครั้ง วางไว้ในที่มีแสง 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 20 วัน จะออกราก

วิธีตอนกิ่ง

กิ่งที่จะนำมาตอนคล้ายกับการปักชำ คือไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ความยาว 20-30 เซนติเมตร ใช้มีดปาดให้เป็นปากฉลาม โดยปาดจากด้านล่างขึ้นด้านบน แผลจะยาว 2-3 เซนติเมตร ใช้หลอดกาแฟ หรือไม่ชิ้มฟันก็ได้ครับ สอดเข้าไปที่รอยแผล เพื่อป้องกันมิให้กิ่งติดกันดังเดิม ทิ้งไว้ 5-7 วัน แผลจะแห้ง พร้อมแล้วก็หุ้มด้วยขุยมะพร้าว ที่ใส่ถุงขนาดเท่าถุงน้ำจิ้มที่เตรียมไว้ มัดด้วยเชือกพลาสติคหัวท้ายให้แน่น ระวังอย่าให้ขุยมะพร้าวในถุงเปียกมากเกินไป เพราะอาจทำให้แผลเน่าได้ ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จะมีรากออกมา พอรากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจึงตัดไปปลูกได้

เสียบยอดนิยมกัน

เตรียมต้นตอชวนชมที่ได้จากการเพาะเมล็ด ต้นตอชวนชมที่นำมาเสียบจะมีอายุตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไปจน 1 ปี ถ้าขนาดของต้นตอ ใหญ่กว่ายอดที่จะนำมาเสียบ ควรเสียบยอดไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือเสียบ 2 ยอด เลยก็ได้ กรณีที่เสียบ 2 ยอด บางสวนจะเสียบ 2 ยอด ต่างสีกัน แต่ควรจะศึกษานิสัยการโตของชวนชมทั้ง 2 สายพันธุ์ ที่นำมาเสียบ ควรจะคล้ายคลึงกัน นำต้นตอชวนชมที่จะใช้เป็นตอเสียบ ตัดยอดออกโดยไม่ต้องงดการรดน้ำ แต่ต้นตอควรจะงดการใส่ปุ๋ยเคมี ไม่ต่ำกว่า 20 วัน ถ้าเป็นปุ๋ยละลายช้าไม่เป็นอะไร ผ่าต้นตอเป็นปากฉลามให้ลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยอดที่ใช้เสียบจะเป็นยอดหรือเป็นท่อนกลางก็ได้ ปาดเป็นรูปลิ่มเสียบ แล้วเอาผ้าเทปพลาสติคพันแผลให้แน่น คลุมด้วยถุงพลาสติค วางไว้ในที่มีแสง 50 เปอร์เซ็นต์ จะดีกว่า ประมาณ 10 วัน จึงแกะถุงพลาสติคออก ถ้าจะแก้เชือกออกอย่างเดียว แต่ถุงยังคลุมอยู่ ทิ้งไว้อีก 2 วัน ก็จะดีกว่า เพราะยอดชวนชมที่เสียบใหม่อยู่ในถุงพลาสติคหลายวัน จะได้ชินกับอากาศภายออก ก่อนจะเปิดถุงพลาสติค

ส่วนผสมของดินปลูกชวนชม

ใช้ดินใบก้ามปูที่หมักย่อยสลายดีแล้ว ผสมกาบมะพร้าวสับ ซึ่งมีหลายขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ เลือกให้เหมาะกับแต่ละขนาดของต้นและกระถาง มะพร้าวชิ้นใหญ่ยังเหมาะสำหรับรองก้นกระถาง ปุ๋ยคอกที่จะนำมาผสมกับดินปลูกนั้น ควรเป็นปุ๋ยคอกที่เก่าหรือผ่านการหมักมาแล้ว ใช้ใบก้ามปู 2 ส่วน ผสมกาบมะพร้าวสับ 2 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน เวลาปลูกใส่ดินลงไปครึ่งกระถางแล้วใส่ปุ๋ยละลายช้าลงไปนิดหน่อย (จะช่วยให้ต้นไม้มีปุ๋ยกินตลอด) นำต้นไม้มาปลูกแล้วกลบดินให้แน่นพอประมาณ รดน้ำให้ชุ่ม

เปลี่ยนดินชวนชม

ถือเป็นเรื่องสำคัญ การเปลี่ยนแต่ละครั้ง ควรเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้น ชวนชมเมื่อได้รับดินใหม่จะทำให้ต้นสมบูรณ์และออกดอกสวยงาม การไม่เปลี่ยนดินเกิน 6 เดือน ดินจะหมดสภาพ รากจะไม่เดิน และจะทำให้ต้นเน่าตายได้

โรคและแมลง

แมลงอันดับหนึ่งของชวนชมปัจจุบันนี้คือ "ไอ้ฮวบ" เข้าทำลายดอกอ่อน ถ้าไอ้ฮวบเข้าทำลายจะทำให้ช่อดอกแห้งทั้งช่อ และจะลุกลามเร็วมาก เพียง 2-3 วัน ดอกจะหมดเสียทั้งสวน

สารเคมีที่ใช้กำจัด ชื่อว่า "โปรวาโด" + ไซเปอร์เมทริน 35% ไม่ควรใช้ยาจับใบมากเกินไป จะทำให้ดอกเสียหายได้ ควรฉีดพ่นตอนเย็นๆ

ส่วนโรคราของชวนชม ใช้ยากันรา ชื่อ "คาร์เบนดาซิม" สลับกับชนิดอื่นบ้างก็ได้ เพื่อป้องกันโรคดื้อยา

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครปฐม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 444
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM