เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"โอชารส" กล้วยพื้นบ้านใบใหญ่ ชาวบางสะพานปลูกไว้ขายใบตอง
   
ปัญหา :
 
 
ในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมา "ใบตอง" ก็ยังคงเป็นวัตถุดิบสำคัญในการประดิษฐ์กระทงใบสวยของคนไทย ตกแต่งเป็นกลีบงามเข้ากับหยวกกล้วย บ้างพับเรียงเป็นบายศรีขนาดเหมาะ แม้ว่ากระทงที่ทำจากขนมปัง ใบลาน หรือเปลือกข้าวโพดจะเข้ามาเป็นตัวเลือกมากขึ้น เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่กระทงที่งดงามในใจของผู้เขียนก็ยังเป็นกระทงที่ทำจากใบตองไม่เสื่อมคลาย

อาจเพราะความคุ้นเคยแต่วัยเยาว์ของการใช้ใบตองในวิถีไทย จึงเห็นว่ากระทงใบตองมีเสน่ห์ ไม่แตกต่างจากการใช้ใบตองในการอื่นๆ เมื่ออดีต เช่น การใช้ใบตองห่อขนมต่างๆ ใช้ห่อข้าวต้มมัด ห่อแหนม หมูยอ ห่อปลาทู หรือทำห่อหมก สร้างเอกลักษณ์ของอาหารไทยได้อย่างดี กับเรื่องอาหารการกินนี้คนไทยยังให้ความสำคัญกับใบตองถึงปัจจุบันอย่างน่าชื่นใจ

ใบตองที่นิยมใช้กันมากคือ ใบตองตานี มีลักษณะใบที่สวยงาม ใบยาว สีเขียวเข้ม และทนทานไม่แตกง่าย ปลูกมากในจังหวัดสุโขทัย หรือหากลงใต้มาก็ปลูกกันมากที่ชุมพร แต่ที่ประจวบคีรีขันธ์ไม่ไกลกับชุมพรนั้น ก็มีใบตองที่ชาวบ้านนิยมเช่นเดียวกัน ...ไม่ใช่กล้วยตานี แต่เป็นใบตองกล้วยพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียกกันว่า กล้วย "โอชารส" มีลักษณะใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด และมีใบที่ใหญ่มาก

คุณสุชาติ เชื้อพราน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บอกถึงกล้วยโอชารสว่า เป็นกล้วยพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมปลูกเพื่อตัดใบขายเป็นหลักมานาน เนื่องจากมีใบใหญ่ หนา ต่างจากกล้วยใบตองทั่วไป น้ำหนักดี ทน เหนียว ไม่แตกง่าย ปลูกได้ดีในพื้นที่ แตกหน่อได้ง่าย ชาวบ้านนิยมปลูกแซมในสวนมะพร้าว ซึ่งผู้ใหญ่สุชาติเองก็ปลูกไว้เป็นรายได้เสริมในสวนผสมผสาน ที่มีทั้งมะพร้าวและไม้ผล บนพื้นที่ 10 ไร่ ของเขาเช่นเดียวกัน

"ผมก็ไม่รู้ว่าที่อื่นเขาเรียกว่ากล้วยอะไรนะ แต่ที่ปลูกกันมานานแล้ว จะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ขายเป็นใบตองได้กิโลกรัมละ 6 บาท แต่ไม่ค่อยมีหัวปลีนะ ส่วนผลมันจะเอามาทำเป็นขนมกล้วยโขลก บางคนก็เอาไปทำกล้วยปิ้งแต่ไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่ เพราะมีกล้วยอื่นที่รสชาติดีกว่า ส่วนใหญ่จะเอาผลไปใช้ทำอาหารหมู อาหารวัว" ผู้ใหญ่เล่า

แต่เมื่อผู้เขียนสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกล้วยพันธุ์โอชารสนี้ ก็ไม่พบและไม่น่าจะเป็นพันธุ์ใหม่ สอบถามกับ คุณพานิชย์ ยศปัญญา หัวหน้ากองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน ก็ยังงุนงง ด้วยชื่อไม่คุ้นเลยสักนิด กระทั่งดูภาพถ่ายของผลและลักษณะต้น คุณพานิชย์ก็บอกเลยว่าเป็นกล้วยพันธุ์เดียวกับกล้วย "เทพรส" หากแต่มีลักษณะใบใหญ่ หนา เป็นพิเศษ ซึ่งอาจมาจากคุณภาพดินที่อุดมสมบูรณ์

เมื่อเปรียบเทียบลักษณะของกล้วยเทพรส กับกล้วยโอชารส จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่สุชาติก็ใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ มีลำต้นสูง ใบใหญ่ กาบลำต้นสีเขียว ท้องใบมีนวล ผลขนาดใหญ่เป็นเหลี่ยมค่อนข้างยาว บางทีมีดอกเพศผู้หรือปลี บางทีไม่มี ถ้าหากไม่มีดอกเพศผู้ จะไม่เห็นปลี การมีปลีและไม่มีปลีนี้เกิดจากการกลายพันธุ์แบบกลับไปกลับมาได้ ในสมัยโบราณเรียกกล้วยเทพรสที่มีปลีว่า กล้วย "ทิพรส" จึงอาจกล่าวได้ว่า กล้วยโอชารส ก็คือชื่อพื้นบ้านอีกชื่อของกล้วยเทพรสนั่นเอง

กลับมาที่ชาวบางสะพานที่สร้างรายได้เสริมจากกล้วยใบใหญ่นี้กันต่อ ผู้ใหญ่สุชาติ บอกว่า หากนำหน่อกล้วยไปลงปลูกในพื้นที่ปลูกใหม่ แนะนำให้ปลูกห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร แต่ไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินทราย เมื่อลงปลูกแล้วก็ให้เทวดาเลี้ยงได้เลย เมื่อกล้วยอายุ 6 เดือน ก็สามารถตัดใบส่งจำหน่ายได้แล้ว แต่หากเป็นต้นใหม่จากกอเดิมต้องรอประมาณ 1 ปี จึงจะตัดได้ และสามารถตัดขายได้ตลอดทั้งปี หากหมดอายุหรือครบ 1 ปี ก็สามารถตัดลำต้นหรือหยวกกล้วยขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ได้อีก ทุกวันนี้เขาตัดใบขายมานานถึง 40 ปีแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องปรับพื้นที่ปลูกใหม่เลย เพราะกล้วยแตกหน่อใหม่ขึ้นมาทดแทนเองตลอด

ส่วนวิธีการตัดใบตองของชาวบ้านที่นี่ ไม่ยุ่งยาก ใช้มีดปลายแหลมเสียบกับลำไผ่ขนาดยาวให้แน่น และเลือกตัดเฉพาะ 3 ใบล่าง หากเป็นช่วงหน้าฝน กล้วยได้น้ำดีเว้นระยะเวลาไป 15 วัน ก็สามารถกลับมาตัดซ้ำต้นเดิมได้อีก แต่หากเป็นช่วงหน้าแล้งต้องเป็นเดือน จึงจะตัดใบซ้ำต้นเดิมได้

ผู้ใหญ่สุชาติ บอกต่อว่า เขาเองตัดใบกล้วยขายทุกวัน วันละประมาณ 200 กิโลกรัม โดยตัดในเวลา 8 โมงเช้า เป็นต้นไปเพื่อให้น้ำค้างแห้งเสียก่อน ใบที่ตัดแล้วนั้นจะต้องนำมากรีดเอาทางใบออกเหลือแต่ใบตอง พับเตรียมจำหน่ายให้แม่ค้าเป็นมัด มัดละ 18 กิโลกรัม หรือราวๆ 60 ทางใบกล้วย แล้วแม่ค้าจะเข้ามารับซื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

นอกจากนี้ ใบตองแห้งที่เหี่ยวคาต้นหรือร่วงหล่นลงพื้นนั้นก็ยังเก็บไปขายเพื่อนำไปเป็นจุกข้าวหลามได้อีก กิโลกรัมละ 5 บาท หรือจะขุดหน่อขายก็ได้หน่อละ 7 บาท สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ใหญ่สุชาติประมาณเดือนละ 6,000-7,000 บาท โดยไม่มีต้นทุนค่าแรงงาน หรือปุ๋ยแต่อย่างใด เพราะปลูกเอง ตัดเอง มัดเอง และแบกขายด้วยตนเอง

สอบถามด้านการตลาดของใบตองกล้วยโอชารสกับ คุณอุบล แสงงาม แม่ค้าชาวบางสะพาน ผู้รับซื้อใบตองรายใหญ่ของชาวบ้านมานานกว่า 6 ปี เธอบอกว่า ใบตองนี้เป็นที่ต้องการของตลาดทับสะแก อ่าวมะนาว แต่รวมแล้วตลาดหลักก็มีเพียงในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นี้เท่านั้น เพราะเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน นิยมนำไปใช้รองเข่งขนมจีน ใช้ทำห่อหมก ห่อขนม ห่ออาหารนึ่ง ย่าง เพราะให้กลิ่นหอมเพิ่มรสชาติ โดยมีปริมาณการรับซื้อเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1.2 ตัน ต่อเดือน แต่หากเป็นช่วงเทศกาลลอยกระทง ตรุษจีน หรือในช่วงหน้าแล้ง ใบตองจะเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ยอดส่งจำหน่ายสูงขึ้นเป็น 1.8 ตัน ต่อเดือน

การส่งจำหน่ายใบตองกล้วยโอชารสของแม่ค้ารายนี้แบ่งเป็นสองประเภท คือ ขายส่งแบบคละเกรด มัดละ 9 บาท ราคาเดียว แม้ช่วงไหนของจะขาด โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งที่ใบตองหายากแต่ขายดีก็ยังส่งราคานี้ ส่วนอีกประเภทคือ ใบตองคัดเกรด เลือกเฉพาะใบใหญ่ นิยมใช้ทำบายศรีและผ่านการฉีกตัดแล้ว จำหน่ายกิโลกรัมละ 15 บาท ราคาเดียวทั้งปีเช่นกัน

แต่สำหรับตลาดต่างถิ่น แม่ค้าอุบล บอกว่า ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ใบใหญ่ หนา สีเขียวเข้มขนาดนี้ ดูแข็งเกินไป จะทำให้อาหารที่ถูกห่อมีรสขม หรือกลายเป็นสีดำ แต่เธอก็ปฏิเสธว่าเป็นเช่นนั้น เพราะคนประจวบฯ เองจะรู้ว่าไม่มีผล มีแต่จะส่งกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์มากกว่า ทุกวันนี้ในฐานะที่เธอเป็นคนท้องถิ่นและประกอบอาชีพแม่ค้าขายใบตองกล้วยโอชารสร่วมกับการทำสวน ก็ยังหวังให้ใบตองท้องถิ่นเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยพยายามหาตลาดต่างถิ่นมากขึ้น รวมถึงส่งมาให้ลูกค้าลองใช้แบบฟรีๆ ก่อนถึงกรุงเทพฯ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนชาวบางสะพาน

สนใจรายละเอียดติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ใหญ่สุชาติ โทร. (08) 4316-5245ั้หรือ คุณอุบล โทร. (083) 313-8130



เกษตรกรบางสะพาน มีบำนาญในปลายชีวิต

คุณยุวพล วัตถุ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า จากการตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทาง ธ.ก.ส. สาขาบางสะพาน จึงมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านสานต่อโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ 1 ล้านครัวเรือน 9 ล้านต้น ที่ ธ.ก.ส. ดำเนินการมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 โดยสนับสนุนให้มีการก่อตั้งธนาคารต้นไม้ ให้ชาวบ้านช่วยกันเพาะพันธุ์กล้าไม้หลากชนิด เช่น ตะเคียนทอง ยางนา มะฮอกกานี มะยมหอม มะค่า พะยูง และพันธุ์ไม้ท้องถิ่น รวมถึงขอการสนับสุนนพันธุ์กล้าไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ต้นไม้ที่เกษตรกรนำไปปลูกนั้น ก็คือ การเก็บออมในรูปแบบหนึ่ง หรือถือเป็นบำนาญไว้ใช้ในอีก 20 ปีข้างหน้าก็ได้ เนื่องจากไม้ดังกล่าวจะเติบใหญ่จนสามารถตัดจำหน่ายได้ในยามที่เกษตรกรถึงวัยปลดเกษียณ ซึ่งคาดว่า ต้นไม้ที่ส่งเสริมให้ปลูกนั้นเมื่อมีอายุครบ 20 ปี จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 บาท

"นับเป็นอีกวิธีที่จะสร้างความสุขให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ในบั้นปลายชีวิต ส่วนกรณีที่เกษตรกรใดมีอายุมากแล้ว ก็สามารถปลูกต้นไม้โตเร็ว เช่น กระถินเทพา สะเดาช้าง เพราะสามารถตัดขายในระยะเวลา 5 -10 ปี เกษตรกรอยากมีเงินบำนาญเท่าไหร่ก็วางแผนได้ตามอายุของตนเอง แต่ต้องเริ่มปลูกตั้งแต่วันนี้ คุณยุวพล กล่าว

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ประจวบคีรีขันธ์
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 444
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM