เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เกษตรบางพระ...มีวิธีการเพาะฟักไข่ปลาดุกด้วยกรวย และถาดประหยัดน้ำ เพาะได้ลูกปลาเปอร์เซ็นต์รอดสูง
   
ปัญหา :
 
 
ปัจจุบัน งานผลิตสินค้าเกษตรมักประสบกับภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น ทางออกที่ได้รับคำแนะนำอยู่เสมอคือ ให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมกับลดต้นทุนการผลิต ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า โดยเฉพาะของหาง่ายในท้องถิ่น

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นทางออกสำหรับเกษตรกรอยู่ไม่น้อย และนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะเป็นประจำ

เรื่องราวของอุปกรณ์เพาะฟักไข่ปลาดุกแบบประหยัดน้ำ เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานพ กาญจนบุรางกูร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา (นักวิจัย) กล่าวว่า แนวทางของการวิจัยเพื่อการเพาะพันธุ์ปลาที่มีไข่จมและติดวัสดุ เพิ่มผลผลิตลูกปลาจากพื้นที่เพาะฟักซึ่งมีจำกัด กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่พัฒนาอุปกรณ์ตามวัตถุประสงค์ใช้งาน ใช้กรรมวิธีที่เหมาะสม ทำให้ไข่จมติดวัสดุแยกออกจากกัน หลังการผสมเทียม (ในที่นี้ ใช้ด่างทับทิม ความเข้มข้น 3-5 มิลลิกรัม ต่อลิตร) เมื่อไข่แยกออกจากกันก็จะนำไปเพาะฟักในถาดฟักหรือกรวยฟักที่พัฒนาขึ้น แต่หากเพาะฟักในขณะที่ไข่ยังเกาะยึดกันอยู่ โอกาสที่จะเน่าเสียมีมาก

เพราะว่าไข่ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

"จริงๆ แล้ว วัตถุประสงค์แรกต้องการให้เป็นเครื่องมือสาธิตการสอนและใช้ในการวิจัยองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาปริญญาโท จากนั้นจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการไหลเวียนของน้ำ อัตราความหนาแน่นของไข่ และอัตราการเปลี่ยนถ่ายน้ำที่เหมาะสมไปใช้พัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการขยายผลเชิงการค้า เชื่อว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี จะพัฒนาจนได้อุปกรณ์เพาะฟักที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นเป็นผลการทดลองที่ได้เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะกรวยฟัก 1 ชุด สามารถเพาะฟักได้ลูกปลากว่า 100,000 ตัว ที่อัตราการผสมติด 90%" ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานพ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานพ กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์ฟักของไข่มีตัวแปรสำคัญอยู่ที่อัตราการผสมติดของไข่ หากไข่ที่รีดได้จากแม่ปลามีคุณภาพดี น้ำเชื้อสมบูรณ์ อัตราการผสมติดประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเพาะฟักได้ลูกปลาไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และถ้าพูดถึงประสิทธิภาพของระบบกรวยฟักกับถาดฟักไข่ปลาที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ พบว่าใกล้เคียงกัน แต่การพัฒนาอุปกรณ์ตัวใดขึ้นใช้งานขึ้นอยู่กับวัสดุและอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น ถาดฟักไข่อาจใช้ถาดอาหารพลาสติค ส่วนกรวยฟักเลือกใช้ขวดน้ำอัดลม ขนาด 1 ลิตร ซึ่งเกษตรกรหาได้อยู่แล้ว

รวมทั้งระบบเรียกว่า ชุดสาธิตการฟักไข่ปลาดุกด้วยระบบถาดฟักและแบบกรวย



แนวคิดงานวิจัยและลักษณะการทำงาน

ผู้วิจัย ได้นำแนวคิดการเพาะฟักไข่ปลาด้วยกรวยฟักแบบแม็คโดแนล มาประยุกต์ใช้กับไข่ปลาดุก (จมติดวัสดุ) แทนการเพาะฟักบนตะแกรงฟัก (ใช้อวนมุ้ง เบอร์ 16) ที่จัดให้มีน้ำไหลผ่านตลอด

ลดเมือกของไข่ปลาดุกที่ผ่านการผสมเทียมด้วยการล้างทำความสะอาดแล้ว แช่ด้วยด่างทับทิมเพื่อป้องกันการเกาะติดกันก่อนนำไปเพาะฟัก มีการจัดระบบหมุนเวียนน้ำให้ไหลผ่านไข่ที่กำลังพัฒนาจากก้นกรวย

เพื่อให้ไข่ปลาได้รับออกซิเจนอย่างทั่วถึง ใช้ระบบกรองและบำบัดน้ำเสีย เพื่อประหยัดน้ำและป้องกันการติดเชื้อระหว่างการเพาะฟัก ส่วนการเก็บรวบรวมลูกปลาแรกฟัก สะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม

สำหรับคุณลักษณะเฉพาะและการทำงานของเครื่องมีดังนี้

หนึ่ง...เป็นชุดกรวยฟักไข่ แบบ 16 กรวย ขนาดกรวยจุ 1 ลิตร

สอง...ใช้ระบบไหลเวียนน้ำผ่านไข่จากก้นกรวยขึ้นสู่ด้านบน สู่ระบบกรองแบบไหลย้อน และระบบบำบัดแล้วจึงไหลกลับสู่กรวยฟัก

สาม...สามารถเพาะฟักไข่ปลาดุกได้ 90,000-180,000 ฟอง (ขึ้นอยู่กับอัตราการผสมติด วัสดุกรอง และอัตราการเปลี่ยนถ่ายน้ำ)

สี่...ประกอบขึ้นด้วยวัสดุที่หาง่ายและวัสดุเหลือใช้

ห้า...สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยล้อเลื่อน เพื่อใช้ในการสาธิตและฝึกอบรมนอกสถานที่

หก..ราคาทั้งชุด ประมาณ 30,000 บาท



เพาะพันธุ์ปลาดุกอุย

ใช้เป็นแม่พันธุ์


คุณเรวุฒ ศรีปรางค์ นักวิชาการประมงและนักศึกษาปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการประมง ที่ร่วมในงานวิจัย เล่าว่า ไข่ปลาที่ฟักอยู่ เป็นไข่ปลาดุกอุย ที่มีลักษณะไข่จมและติดวัสดุ

เหตุที่ต้องเพาะฟักไข่ปลาดุกอุย เนื่องจากช่วงหนาว มีความต้องการนำปลาดุกอุยตัวเมียไปเป็นแม่พันธุ์ โดยใช้ผสมกับพ่อบิ๊กอุย ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม แม่ปลาดุกอุยมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 350 บาท

สาขาเทคโนโลยีการประมง ไม่ได้เพาะแม่ปลาดุกอุยไว้จำหน่าย แต่หากมีไว้ จะสะดวกต่อสื่อการเรียนการสอนและการวิจัย

นักวิชาการประมง อธิบายว่า การเพาะปลาดุกจะเริ่มต้นเมื่อ แม่พันธุ์มีความพร้อมที่จะวางไข่ แล้วฉีดฮอร์โมนกระตุ้น รีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อ จากนั้น ล้างทำความสะอาดไข่และแช่ด่างทับทิม 3-5 มิลลิกรัม ต่อลิตร ประมาณ 1 นาที ล้างไข่อีกครั้งแล้วจึงนำไปใส่ในกรวยเพาะฟัก

"แบบเดิม เพาะในตะแกรงฟ้า ใส่น้ำเต็มบ่อพอผสมไข่เสร็จให้ฟักในตะแกรงให้ออกซิเจน มีระบบน้ำไหลวนและน้ำล้นนิดหนึ่ง เปอร์เซ็นต์ฟักอยู่ที่ความสมบูรณ์ของไข่และสภาพแวดล้อมด้วยไข่ปลาดุกจมติด น้ำไหลผ่านไม่แรงไม่ไปไหนไข่ก็จะเกาะติดอยู่ หลักการให้ไข่เมือกหลุดออกจากกันน้ำวน ออกซิเจนผ่านตลอดเปอร์เซ็นต์การฟักก็จะดี ประหยัดพื้นที่ประหยัดน้ำ"

คุณเรวุฒ บอกและอธิบายอีกว่า

"แบบใหม่เมื่อผสมระหว่างไข่กับน้ำเชื้อแล้ว จึงแช่ด้วยด่างทับทิมเพื่อให้เมือกหลุดออกจากไข่ แล้วล้างน้ำสะอาด เอาไข่ใส่กรวยฟัก ปรับระดับน้ำให้หมุนวน ราว 24 ชั่วโมง ลูกปลาจะฟักเป็นตัว (สังเกตเห็นปลาตุ้มว่ายน้ำ) เปิดฝาขวดนำไปอนุบาล อุปกรณ์มีขวดน้ำอัดลม ปั๊มน้ำที่ใช้ปั๊มน้ำขึ้นไปถังพัก เพื่อจ่ายให้แก่กรวยฟัก (ขวดพลาสติค) ให้น้ำหมุนวน ป้องกันไม่ไห้ไข่เกาะตัวกัน อัตราฟักจะอยู่ที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จากการทดลองเพาะฟัก 3-4 ครั้ง พบว่า การเปลี่ยนถ่ายน้ำ 100% ออกจากระบบทุก 6 ชั่วโมง จะช่วยลดการเน่าเสียของไข่ได้ดี นอกจากนี้ การควบคุมอัตราการไหลเวียนของน้ำให้พอเหมาะจะช่วยป้องกันไม่ให้ไข่จะล้นออกมาจากระดับท่อน้ำล้น มีระบบกรองดักเมือกและบำบัดของเสียไม่ให้ไหลกลับเข้าสู่ระบบเพาะฟักอีก ระบบนี้ควรใช้น้ำฆ่าเชื้อและเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นระยะ ปริมาณน้ำและความถี่ในการเปลี่ยนถ่ายขึ้นอยู่กับปริมาณและอัตราการผสมติดของไข่"

ความยากง่ายของการเพาะแบบนี้ คุณเรวุฒ บอกว่า ต้องปรับระดับความแรงของน้ำด้วยวาล์วปรับอยู่ให้ไหลมากหรือน้อย หลักการคือให้ไข่วนจะรับออกซิเจนได้มาก

ผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานพ กาญจนบุรางกูร คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เลขที่ 43 หมู่ที่ 6 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110 โทร. (038) 358-201-27 ต่อ 1004 E-mail manop@rmutto.ac.th และ manopkk@gmail.com



เกษตรบางพระ จัดงานเกษตรแฟร์ภาคตะวันออก ครั้งที่ 5 ระหว่าง วันที่ 5 -14 ธันวาคม 2551

มีเทคโนโลยีทันสมัยโชว์ ของซื้อของขายเพียบ


ข่าวจากคณะเกษตรศาสตร์บางพระ แจ้งว่า ระหว่าง วันที่ 5-14 ธันวาคม 2551 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จะจัดงาน "เกษตรแฟร์ภาคตะวันออก ครั้งที่ 5" ขึ้น ที่คณะเกษตรศาสตร์บางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในงานมีกิจกรรมถนนการศึกษาราชมงคลตะวันออก 52, มหกรรมเปิดบ้านราชมงคลตะวันออก เยี่ยมชมผลผลิต นวัตกรรมและเทคโนโลยีของ 40 สาขาวิชา ใน 8 คณะ, สุดยอดกับเทคโนโลยีฟาร์มเลี้ยงสัตว์จาก CPF, คลีนิคเทคโนโลยีราชมงคล

ข่าวแจ้งอีกว่า นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีงานแสดงทางวิชาการ ตลาดนัดเกษตรบางพระ จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เกษตรแปรรรูป ไม้ดอกไม้ประดับ กิ่งพันธุ์ สัตว์เลี้ยง สินค้าโอท็อป (OTOP) และอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีทุ่งทานตะวันสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ชมและถ่ายภาพอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.เกษม สร้อยทอง นายกสมาคมศิษย์เก่าบางพระ แจ้งข่าวว่า ในวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2551 มีกิจกรรมที่ห้องประชุมพวงพยอม อาคารวิทยบริการ เวลา 11.00-12.00 น. มีทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อการศึกษา เวลา 13.00-14.00 น. สัมมนา เรื่อง "บทบาทของอาจารย์และศิษย์เก่าที่มีต่อ มทร.ตะวันออก" เวลา 14.00-15.30 น. สัมมนา เรื่อง "ความภูมิใจเมื่อจบจากบางพระและสาระการพัฒนามหาวิทยาลัย" สำหรับงานคืนสู่เหย้าชาวบางพระ เริ่มเวลา 18.00 น.

ผู้สนใจถามได้ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก โทร. (038) 358-137 หรือ www.rmutto.ac.th
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ชลบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออก
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 21 ฉบับที่ 444
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM