เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ดินดาน ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม...
   
ปัญหา :
 
 

ในการปลูกพืช โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรหรือแม้แต่นักวิชาการเกษตรก็ตาม มักจะมองข้ามคุณสมบัติทางกายภาพของดิน ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจแต่คุณสมบัติทางเคมี คือ เน้นในเรื่องของการให้ปุ๋ยกับพืช  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตของพืชและการให้ผลผลิต
 
ดร.ประพันธ์ ประเสริฐศักดิ์ นักวิชาการเกษตร 7ว สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ดินที่มีปัญหาในการปลูกพืชซึ่งเกษตรกรไม่ได้คำนึงถึง ก็คือ ดินดาน ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคของการปลูกพืชหลายชนิดโดยเฉพาะพืชไร่ ซึ่งได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น
 
ดินดาน คือ ดินที่ถูกบดอัดแน่นโดยการไถพรวนด้วยผาล 3 หรือเครื่องจักรกลเกษตรหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทำให้เกิดการบดทับอัดแน่นทำให้เกิดชั้นดาน โดยเฉพาะดินที่อนุภาคทรายแป้งเป็นส่วนประกอบอยู่มาก เช่น ดินชุดกำแพงแสน เมื่อมีการไถพรวนไม่ถูกวิธี อนุภาคทรายแป้งจะตกอยู่ในชั้นดินลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร และถูกบดอัดทำให้เกิดชั้นดาน ชั้นดานนี้จะหนาหรือบางแล้วแต่ชั้นดินนั้นจะมีอนุภาคทรายแป้งมากหรือน้อยเพียงใด หรือเคยมีการไถระเบิดดานมาก่อนหรือไม่
 
พื้นที่ปลูกพืช ถ้ามีดินดานจะเป็นปัญหากับการปลูกพืช คือ ในฤดูฝนเมื่อมีฝนตกลงมา น้ำจะซึมลงไปในดินชั้นล่างไม่ได้ เนื่องจากมีดินดานมากั้นไม่ให้น้ำไหลซึมลงไปเก็บกักในชั้นดินล่างได้ ขณะเดียวกันในหน้าแล้งดินดานจะกั้นมิให้ความชื้นที่อยู่ข้างล่างขึ้นมาถึงรากพืช ทำให้พืชขาดน้ำและตายได้
 
เนื่องจากดินดานอยู่ชั้นล่างลึก 40-50 เซนติเมตร จะรู้ได้อย่างไรว่ามีดินดานอยู่ ดร.ประพันธ์ บอกว่า ในทางวิชาการเรามีวิธีตรวจค่าความหนาแน่นรวมของดิน โดยตรวจที่ระดับความลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร ถ้ามีความหนาแน่นเกินกว่า 1.6 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร แสดงว่ามีชั้นดาน สำหรับเกษตรกรสามารถตรวจสอบได้จากการสังเกต เวลาฝนตกลงมาถ้าเป็นพื้นที่ราบน้ำจะแช่ท่วมขังอยู่นาน เนื่องจากน้ำไม่สามารถซึมลงไปในดินชั้นล่างได้ ถ้าเป็นพื้นที่ลาดเอียงฝนตกลงมาน้ำจะไม่ซึมลงไปดินชั้นล่าง แต่จะไหลบ่าบนผิวดิน ซึ่งจะทำให้เกิดการชะล้างพังทลายบนผิวดิน
 
“ส่วนมากเกษตรกรไม่ได้คำนึงถึงเรื่องลักษณะทางกายภาพของดิน โดยเฉพาะดินดานเพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เกษตรกรจะนึกถึงแต่เรื่องการให้ปุ๋ยเป็นสำคัญ ในสภาวะที่ปุ๋ยมีราคาแพงเวลานี้ อยากจะให้เกษตรกรหันมาสนใจในเรื่องของดินให้มาก เพราะลักษณะทางกายภาพของดินจะเป็นตัวเสริมให้ลักษณะทางเคมีและชีวะดีไปด้วย ถ้าดินโปร่ง ร่วนซุย จุลินทรีย์ทุกชนิดที่มีอยู่ในดินจะเจริญเติบโตดี ที่เห็นได้ชัดคือ ปริมาณไส้เดือนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การทำงานของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดินก็ดีไปด้วย จุลินทรีย์ในดินหลายชนิดต้องการออกซิเจนในการเจริญเติบโต และที่สำคัญดินก็จะเก็บน้ำไว้ได้มาก และน้ำจะถูกนำมาใช้ในยามแล้ง พืชจะเจริญเติบโตมีชีวิตข้ามแล้งไปได้ เกษตรกรส่วนใหญ่มักมองข้ามความสำคัญของการแก้ปัญหาดินดาน” ดร.ประพันธ์ กล่าว
 
การป้องกันมิให้เกิดดินดาน จำเป็นต้องมีการไถระเบิดดินดานตามความจำเป็น เพื่อมิให้เกิดชั้นดานโดยการไถระเบิดดานด้วยไถสิ่ว เช่น พื้นดินที่ปลูกมันสำปะหลังอาจจะไถระเบิดดานปีเว้นปี ส่วนไร่อ้อยควรไถระเบิดดานช่วงรื้อตออ้อยทุกครั้ง คือ ประมาณ 3-4 ปีต่อครั้ง ทั้งนี้ เพราะไร่อ้อยจะใช้เครื่องจักรกลหนักเข้าไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นรถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย ซึ่งทำงานต่อเนื่องทุกปี ทำให้ดินเกิดการบดทับทุกปี โอกาสเกิดชั้นดินดานจึงมีสูง
 
นายสมศักดิ์ ทองศรี นักวิชาการเผยแพร่ 8ว สถาบันวิจัยพืชไร่ ได้แนะนำเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ดินดานไว้ ดังนี้
 
1. ไถเบิกดินดาน โดยการไถ 2 แนว ตัดกันเป็นตารางหมากรุก เนื่องจากการไถระเบิดดานเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นมาอีก จึงไม่จำเป็นต้องไถระเบิดทุกปี อาจไถ 3-5 ปีต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของดินและวิธีเขตกรรม
 
2. จากนั้นไถด้วยผาล 3 เพื่อพลิกดินให้กลบวัชพืช ทิ้งไว้ 5-7 วัน
 
3. ไถพรวนด้วยผาล 7 หรือผาลพวง เพื่อย่อยดินและกลบรอยเบิกดินดาน ป้องกันการสูญเสียความชื้นจากใต้ดิน หากปลูกยกร่องก็ให้ยกร่องหลังจากพรวนดิน
 
ข้อควรระวังในการไถเบิกดินดาน จะต้องเป็นพื้นที่ที่สำรวจแล้วว่าเป็นดินดานที่แท้จริง เพราะถ้าพื้นที่ที่ไถเบิกไม่เป็นดินดาน จะทำให้น้ำซึมลงใต้ดินเร็วกว่าปกติ ดินชั้นบนจะแห้งเร็ว พืชจะขาดน้ำเร็วขึ้น ในดินที่มีชั้นเกลือใต้ดิน ไม่ควรไถเบิกดินดาน เพราะจะทำให้เกลือขึ้นมาพร้อมกับน้ำใต้ดิน จะเป็นปัญหากับพืชได้
 
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการทดลองไถเบิกดินดานในไร่ของเกษตรกรโดยกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ให้ผลผลิตมันสำปะหลังสูงขึ้น 30-50% และจากการทดลองของกรมวิชาการเกษตร พบว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพสูงขึ้น คือ มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 1-2 เปอร์เซ็นต์ นายสมศักดิ์ กล่าวฝากไปยังเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังว่า ถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตมันสูง ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือนขึ้นไปและต้นพันธุ์ก็ยังนำไปใช้ได้อีก การเก็บเกี่ยวมันที่อายุน้อย นอกจากจะได้ผลผลิตต่ำแล้ว ยังต้องลงทุนซื้อท่อนพันธุ์ปลูกในฤดูต่อไปอีกด้วย
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-3930-3.

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันพุธ ที่ 21 มกราคม 2552
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM