เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิธีดูผลสุก แก่พร้อมเก็บเกี่ยวของขนุน ทุเรียน และส้มโอ การป้องกันหนอนเจาะผลฝรั่ง
   
ปัญหา :
 
 
    ผมทำสวนเกษตรอยู่ในพื้นที่ 5 ไร่ ที่จังหวัดภูเก็ต มีปัญหาขอเรียนถามคุณหมอเกษตร ดังนี้ครับ วิธีดูผลสุก แก่พร้อมเก็บเกี่ยวของขนุน ทุเรียน และส้มโอ 
  1.  วิธีการดูผลสุกแก่ของขนุน ทุเรียน และส้มโอ พร้อมเก็บเกี่ยวผล ว่าจะดูอย่างไร หรือเมื่อไร การป้องกันหนอนเจาะผลฝรั่ง 
  2.  ปลูกฝรั่งไว้ประมาณ 3 ต้น มีหนอนทำลายมากจะป้องกันได้อย่างไร ส้มโชกุน อายุ 4 ปี ติดผลดีแต่ผลแตกมาก 
  3.  ปลูกส้มโชกุนไว้ 15 ต้น อายุ 4 ปี ผลส้มโตเกือบเท่าลูกเทนนิส ผลจะแตกปริตรงกลางผลมาก จะแก้ไขอย่างไร 
  4.  การตัดแต่งกิ่งชมพู่ ควรปฏิบัติอย่างไร ปลูกมะม่วงไว้หลายพันธุ์ แต่ไม่เคยออกดอก 
  5.  ปลูกมะม่วงไว้ มีอายุ 7 ปีแล้ว เช่นพันธุ์เขียวเสวย ฟ้าลั่น แก้วลืมรัง และสามฤดู แต่ไม่เคยออกดอกเลยจะแก้ไขได้อย่างไรครับ
วิธีแก้ไข :
 
  1. วิธีดูผลสุกแก่พร้อมเก็บเกี่ยว ของ ขนุน สังเกตได้จากตาหนามของผลจะขยายและห่างออกจากกัน และผิวของผลมีสีเหลืองมากขึ้นกว่าในผลอ่อน หรือหากต้องการให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นอาจใช้มีดที่คม กรีดลงที่ขั้วผล หากผลแก่เต็มที่จะมียางเหนียวสีขาวไหลออกจากรอยแผลน้อยกว่าผลอ่อน วิธีดูผลสุกแก่ของ ทุเรียน สังเกตได้ดังนี้ สีเปลือกที่เคยเขียวสดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือเขียวแกมเทา ก้านผลมีสีเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำ ปลิงคือส่วนของรอยต่อระหว่างก้านผลตอนบนกับก้านผลตอนล่างจะบวมใหญ่ขึ้น เห็นรอยต่อชัดเจน ส่วนปลายหนามจะแห้งกว่าผลอ่อนแห้ง ร่องหนามห่างออกจากกันมากกว่าผลดิบ และการเคาะเปลือก หรือการใช้มีดกรีดหนาม ผลทุเรียน ที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวม ๆ วิธีนับจำนวนวันหลังดอกบานยังใช้ได้ พันธุ์กระดุม ผลจะสุกแก่เมื่ออายุ 90-100 วัน พันธุ์ชะนี 110-120 วัน พันธุ์ก้านยาว 120-135 วัน และหมอนทอง ใช้เวลา 140-150 วัน แต่ทั้งนี้อาจคลาดเคลื่อนได้บ้าง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ส่วนส้มโอ จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นับจากเริ่มออกดอกไปเป็นเวลา 8 เดือน คือจะอยู่ในระหว่างเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน และพันธุ์ขาวทองดี จะเก็บผลผลิตได้ในเดือนกันยายน-ตุลาคม มีเกษตรกรที่ปลูกส้มโอเป็นอาชีพแนะนำเพิ่มเติมว่า ผลที่แก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ให้สังเกตที่ต่อมน้ำมันที่ผิวเปลือกจะห่างกันมากกว่าผลอ่อน
  2. วิธีป้องกันหนอนเจาะผลฝรั่ง ที่ดีที่สุดคือการห่อผล หลังดอกบานแล้ว 30 วัน จะมีผลขนาดเท่ากับผลมะนาวให้ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อรา ชนิดละ 1 ครั้ง แล้วห่อผลด้วย ถุงพลาสติกทนร้อน เจาะรูที่ก้นถุงไม่ให้น้ำขังในถุง และห่อหุ้มด้านนอกด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษสมุดโทรศัพท์ที่ไม่ใช้แล้ว ป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องเข้าถึง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผิวของผลฝรั่งขาวนวลน่ารับประทาน ขายก็ได้ราคา เมื่ออายุ 100-130 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ 
  3.  ส้มโชกุน ผลแตกมาก การเกิดผลแตกของส้มเกิดได้จากสองสาเหตุ สาเหตุแรกอาจเกิดจากผลส้มอวบน้ำเต็มที่ เนื่องจากได้รับน้ำมากเกินไปและในเวลาต่อมาได้รับแสงแดดจัด ทำให้ผลส้มได้รับความร้อนสูงด้านใด้ด้านหนึ่ง มีผลต่อการขยายตัวไม่เท่ากันทั้ง 2 ด้าน ในที่สุดผลจะแตก วิธีแก้ไข ควรทำร่องระบายน้ำป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกส้ม แปลงปลูกให้ตั้งในแนวเดียวกับทิศทางลมให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งตามระยะเวลาอย่างเหมาะสม อาการผลแตกจะลดน้อยลง ส่วนสาเหตุที่ 2 อาจเกิดจากดินบริเวณดังกล่าวขาดธาตุ โบรอน ซึ่งโบรอนเป็นธาตุที่มีผลต่อการนำธาตุแคลเซียมจากดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ธาตุแคลเซียมจะมีบทบาทสำคัญทำให้ผนังเซลล์ของผิวส้มแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้น เมื่อดินขาดธาตุโบรอนต้นส้มก็จะนำแคลเซียมขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้น้อยลง ผิวของส้มจึงเปราะและแตกง่ายกว่าปกติ วิธีแก้ไข ให้ฉีดพ่นทางใบด้วย ธาตุแคลเซียม-โบรอน ที่มีจำหน่ายตามร้านค้าสารเคมีขนาดใหญ่ในจังหวัด แต่ขอเรียนว่า ธาตุอาหารสำเร็จรูปมีราคาค่อนข้างแพง ลิตรละประมาณ 1,000 บาท หากจะซื้อใช้ต้องพิจารณาว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ แต่คุณยังมีทางเลือกได้อีกทางหนึ่ง โดย ใช้บอแรกซ์ มีจำหน่ายตามร้านค้าสารเคมี (อาจไม่มีทุกแห่ง) อัตรา 20 ซีซี ผสมน้ำสะอาด 1 ปี๊บ ราดบริเวณโคนต้น แม้ว่าจะได้ผลน้อยกว่าใช้แคลเซียม-โบรอน ทางใบก็ตาม ผลที่ได้ย่อมจะดีกว่าไม่แก้ไขปัญหาเสียเลย 
  4.  การตัดแต่งกิ่งชมพู่ ทำได้ 2 ระยะ คือ ระยะแรก ตัดแต่งเพื่อบังคับทรงพุ่ม ให้เกิดความสมดุล สวยงาม สะดวกในการจัดการ และไม่หักล้มง่าย เริ่มตัดแต่งกิ่งเมื่อมีความสูงจากพื้นดิน 50-70 เซนติเมตร ให้ต้นชมพู่แตกแขนงใหม่ และรักษาไว้เพียง 2 กิ่ง หรือ 2 แขนง เมื่อต้นมีขนาดใหญ่ขึ้น ตัดกิ่งทั้งสองให้มีความยาว 6-12 นิ้ว ปฏิบัติเช่นเดียวกันอีกจนได้ครบ 8 กิ่ง ก็จะได้ต้นชมพู่ที่มีทรงพุ่มสวยงามตามต้องการ การแต่งกิ่งในระยะที่ 2 เพื่อเร่งการออกดอก และติดผลพร้อมให้มีคุณภาพสูง การตัดแต่งกิ่งระยะนี้ควรปฏิบัติปีละ 2 ครั้ง ด้วยการตัดกิ่งที่ให้ผลแล้ว กิ่งกระโดงที่เกิดในทรงพุ่ม กิ่งเป็นโรค หรือกิ่งที่แห้ง และส่วนยอดที่สูงเกิน 2 เมตร จากพื้นดินออก นำไปเผาทำลาย การตัดแต่งกิ่งทั้ง 2 ระยะดังกล่าว จะทำให้ชมพู่ติดดอกออกผลได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลชมพู่มักถูกทำลายโดยหนอนแมลงวันทอง ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้โดยวิธีห่อผลเช่นเดียวกับห่อผลฝรั่ง แต่ไม่จำเป็นต้องห่อด้วยกระดาษอีกชั้น เนื่องจากผลชมพู่มักเกิดภายในทรงพุ่ม แสงแดดที่จะทำให้ผิวเสีย จึงมีปัญหาน้อยกว่าผลฝรั่ง 
  5.  ปลูกมะม่วงแต่ไม่ยอมออกดอก สาเหตุของการไม่ยอมออกดอกของต้นไม้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ต้นไม้ได้รับน้ำและธาตุอาหารสมบูรณ์จนเกินไป อาจเกิดจากการดูแลของเจ้าของสวนหรือเกิดโดยธรรมชาติ เช่น มีปริมาณน้ำฝนมากเกินไปในช่วงที่มะม่วงต้องการน้ำน้อย หรือไม่มีช่วงอากาศหนาวเย็นที่จะกระตุ้นให้ต้นมะม่วงสร้างช่อดอกได้ ซึ่งสภาพที่เกิดขึ้นคือสภาพของภาคใต้ วิธีแก้ไขควรปรับพื้นที่ ทำร่องระบายน้ำออกจากแแลงปลูก ป้องกันน้ำเจิ่งนองหลังฝนตกหนัก ในปัจจุบันนิยมบังคับด้วยสารพาโคลบิวทราโซล ทั้งนี้ การใช้ต้องปฏิบัติอย่างเหมาะสม หากใช้ในอัตราสูงหรือใช้กับต้นมะม่วงต้นเดิมติดต่อกันหลายปี จะทำให้ต้นมะม่วงโทรมได้
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
เมือง
จังหวัด :
ภูเก็ต
รหัสไปรษณีย์ :
83000
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ปีที่ 15 ฉบับที่ 298
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM