กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดรวม 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมปศุสัตว์และกรมพัฒนาที่ดิน บูรณาการร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์โคเนื้อในเขตปฏิรูปที่ดิน ภายใต้ระบบการสร้าง ธนาคารปุ๋ยคอกเคลื่อนที่ ประจำปี 2551 ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ จัดการระบบโลจิสติกส์และการตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตรของรัฐบาล เบื้องต้นได้สนับสนุนให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ รวมกลุ่มจัดตั้งและจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้เลี้ยงโคเนื้อแล้วทั้งสิ้น 1,498 กลุ่ม สมาชิก 19,227 ราย
ในด้านของ ส.ป.ก.นั้นได้ปล่อย สินเชื่อกองทุนปฏิรูปที่ดิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ให้สมาชิกกู้ยืมไปลงทุนแล้ว วงเงินรวมกว่า 643.13 ล้านบาท โคเนื้อ 58,946 ตัว อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการจัดที่ดิน 379,829 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 834 กลุ่ม สมาชิก 11,542 ราย สินเชื่อกองทุนฯ จำนวน 373.09 ล้านบาท โคเนื้อ 27,102 ตัว กระจายอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน 212,410 ไร่ และปัจจุบันได้นำวิสาหกิจชุมชนภาคใต้มาพบปะกับเครือข่ายธุรกิจโคเนื้อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อให้เกิดการเจรจาซื้อขายโคเพื่อนำไปเลี้ยงในสวนปาล์มน้ำมัน ล่าสุดได้มีการนัดหมาย ส่งมอบและเคลื่อนย้ายโคเนื้อ เข้าสู่สวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ เป้าหมายไม่น้อยกว่า 1,000 ตัว คิดเป็นมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท
ขณะที่กรมปศุสัตว์ มีแผนสนับสนุนเกษตรกร ให้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิต การสุขาภิบาลสัตว์ รวมทั้งการจัดการฟาร์ม ตลอดจนให้บริการด้านพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ การควบคุมป้องกันโรคสัตว์ กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับระบบการตลาด การควบคุมโรค และการเคลื่อนย้ายสัตว์
ส่วนกรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ ส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการนำมูลโคมาผลิตเป็นปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินเท่านั้น ยังเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตให้กับพืชที่เกษตรกรปลูกด้วย โดยโคเนื้อ 1 ตัว จะให้มูลที่นำมาทำปุ๋ยหมักได้อย่างน้อย 4-5 ตันต่อปี สามารถใช้ในไร่นาเฉลี่ย 4-5 ไร่ ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงนี้ปุ๋ยราคาแพง
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักนอกจากจะเป็นการเติมอินทรียวัตถุให้กับ ดิน ช่วยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรดินแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการอุ้มน้ำให้กับดินอีกด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งถ้าดินสามารถเก็บอุ้มน้ำไว้ได้นานขึ้น ก็จะช่วยให้พืชมีน้ำหล่อเลี้ยง ผลผลิตจะได้ไม่เสียหาย เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับวิธีการทำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน แนะนำมาว่า เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อก็นำมูลโคที่ได้มาใช้ ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำมาผสมกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีในท้องถิ่น เช่น ใบอ้อย เศษมันสำปะหลัง มาหมักให้ได้ที่ สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่ถูกต้องได้จากเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินที่อยู่ประจำสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดและหมอดินอาสาใกล้บ้าน
ความร่วมมือกันในครั้งนี้ของ 3 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ด้วยการใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแต่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ยังก่อให้เกิดรายได้เพิ่มอีกด้วย.