เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สวนสมหมาย สวนมะยงชิดใหญ่ที่สุดในประเทศ
   
ปัญหา :
 
 
หลายคนคงไม่ทราบว่า จังหวัดพิจิตรเป็นแหล่งผลิตมะยงชิดพันธุ์ดีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เฉพาะเขตพื้นที่ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก มีพื้นที่ปลูกมะยงชิดพันธุ์ดีประมาณ 2,000 ไร่ ผลผลิตมะยงชิดของจังหวัดพิจิตร เป็นที่ต้องการของตลาดมาก เพราะผลใหญ่เนื้อแข็ง และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลผลิตส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าเป็นจำนวนมากมารับซื้อเพื่อขายตลาดในประเทศและมีบางส่วนส่งไปขายยังต่างประเทศ "สวนสมหมาย" คุณนคร บัวผัน เป็นเจ้าของสวน บ้านเลขที่ 56/1 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร 66160 จัดเป็นสวนมะยงชิดรายใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ปลูกมะยงชิดพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 200 ไร่ อายุต้นตั้งแต่ 12-20 ปี



ทำไมถึงต้องเป็นมะยงชิดพันธุ์ไข่ไก่


คุณนครเล่าให้ฟังว่า การปลูกมะยงชิดพันธุ์ดี สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเลือกพันธุ์จะต้องเป็นพันธุ์ที่ติดผลง่าย ผลมีขนาดใหญ่ เมล็ดเล็ก เนื้อแน่น รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเนื้อแน่นจะได้เปรียบมะยงชิดจากแหล่งอื่น เพราะถ้าเนื้อแน่นจะสามารถวางขายผลผลิตในตลาดได้ยาวนานกว่าพันธุ์ที่มีเนื้อนิ่ม พ่อค้า แม่ค้าจะชอบมาก ผู้บริโภคก็ติดใจ

"พื้นที่ปลูกมีความสำคัญมากเพราะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของผลผลิตให้ออกมาต่างกัน เช่น มะยงชิดที่ปลูกในพื้นที่นา หรือพื้นที่ลุ่ม ผลจะใหญ่ผิวสีเหลือง แต่เนื้อจะนิ่มออกเละ รสชาติไม่เข้มข้น เพราะดินนาเป็นดินเหนียว ดินเก็บความชื้นไว้นานทำให้ผลผลิตไม่เข้มข้น ส่วนดินลูกรังนั้นจะได้เปรียบเรื่องรสชาติ จะเข้มข้น ผิวเหลืองออกส้มเข้มกว่า"



เทคนิคการผลิตมะยงชิดคุณภาพดี

จากสวนสมหมาย


จะต้องเริ่มจากกำหนดระยะปลูกให้เหมาะสม ที่แนะนำคือ 8x8 เมตร โดยในช่วงแรกอาจปลูกพืชอื่นแซมไปก่อน เพราะกว่าต้นมะยงชิดจะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 7-8 ปี และผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของต้น ซึ่งโดยปกติแล้วชาวสวนจะมีเคล็ดลับและวิธีการดูแลต้นมะยงชิดให้ออกดอกติดผลต่างกัน ที่ "สวนสมหมาย" จะมีการแต่งกิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ตัดแต่งกิ่งที่แห้งตาย กิ่งที่เบียดชิดกัน และกิ่งที่อยู่ในร่มเงา ตัดแต่งเสร็จใส่ขี้วัวเก่าต้นละ 2-3 กระสอบปุ๋ย ส่วนปุ๋ยเคมีจะใช้สูตร 8-24-24 อัตราต้นละ 1-2 กิโลกรัม โดยใส่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับต้นก่อนการออกดอก

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และมีอากาศหนาวเย็นติดต่อกัน 7-10 วัน ยอดของมะยงชิดจะพัฒนาเป็นตาดอกและจากระยะดอกจนถึงเก็บผลผลิตจะใช้ระยะเวลาเพียง 85-90 วัน ในแต่ละปีมะยงชิดของ "สวนสมหมาย" จะออกดอก 2-3 รุ่น รุ่นแรก จะออกดอกเดือนพฤศจิกายน และเก็บผลผลิตประมาณปลายเดือนมกราคม รุ่นที่สอง จะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม เก็บผลผลิตช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ถ้าปีไหนอากาศเย็นนานจะมีรุ่นที่สามคือ ดอกจะออกต้นเดือนมกราคม และไปเก็บผลผลิตเดือนมีนาคม



หลังจากเริ่มแทงช่อดอกจะต้องดูแลเป็นพิเศษ

คุณนครบอกว่า เมื่อต้นมะยงชิดเริ่มออกดอกจะต้องเริ่มให้น้ำ 5-7 วัน ต่อครั้ง (ขึ้นอยู่กับความชื้นในสวน มะยงชิดหากให้น้ำมากไปเนื้อจะเละ) จนกว่าผลอ่อนมะปรางมีขนาดเท่าหัวแม่มือก็จะเริ่มงดน้ำ ในเรื่องสารเคมีจะต้องพ่นสารเคมีในกลุ่มของกำจัดโรคและแมลงตั้งแต่ระยะเริ่มแทงช่อดอก ศัตรูที่พบมากที่สุดคือ เพลี้ยไฟ และโรคที่สำคัญคือ โรคแอนแทรกโนส ที่สวนสมหมายจะให้ความสำคัญในการพ่นสารเคมีในช่วงนี้มากเพราะต้องการควบคุมคุณภาพของผลผลิตให้ได้และต้องเลือกใช้สารเคมีที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP (เกษตรดีที่เหมาะสม) สารเคมีที่แนะนำให้ฉีดป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟคือ สารอะบาเม็คติน (เช่น แจคเก็ต) จะฉีดพ่นสารแจคเก็ตจำนวน 2 ครั้ง คือ ระยะก่อนดอกบาน และหลังดอกโรย ในช่วงดอกบานจะไม่ฉีดพ่นสารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น โรคแอนแทรกโนสจะใช้สารในกลุ่มโพรคลอราซ (เช่น อ็อกเทฟ) ฉีดในช่วงก่อนดอกบาน ส่วนหลังจากดอกโรยจะใช้สารแมนโคเซบ (เช่น เพนโคเซบ) และสารอ็อกเทฟสลับกัน ฉีดพ่นจนกว่าผลมีขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือถึงระยะสลัดผลก็หยุดฉีด เป็นที่น่าสังเกตว่า คุณนคร บัวผัน จะไม่นิยมใช้ปุ๋ยหรือฮอร์โมนเร่งขนาดของผลเลย เพราะการใช้ปุ๋ยเร่งมากๆ จะทำให้เนื้อของมะยงชิดเละไม่แน่น



หัวใจของการผลิตมะยงชิดพันธุ์ดี คือเรื่องคุณภาพ

ที่ "สวนสมหมาย" จะเน้นทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเก็บผลผลิต จะใช้กรรไกรตัดผล หรือใช้มือเก็บเกี่ยวเท่านั้น ผู้ที่เก็บจะต้องมีความชำนาญและประณีต จะต้องดูลักษณะผลเป็นว่าผลแก่-ผลอ่อนแค่ไหน ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้าเก็บแรงผลจะช้ำ กว่าจะถึงผู้บริโภคผลจะเละ เรื่องการเก็บผลผลิต หลายสวนใช้ตะกร้อสำหรับสอยมะม่วงมาเก็บผลมะยงชิดจะทำให้ผลช้ำ สีผิวไม่สวย เวลาขายไม่ค่อยได้ราคา เพราะผลมีตำหนิ



อนาคตการตลาดมะยงชิดพันธุ์ดี

เมื่อสอบถามถึงเรื่องการตลาดในอนาคต คุณนครตอบด้วยความมั่นใจว่า แม้จะมีผู้ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นแต่ตลาดก็ยังดี เพราะมะยงชิดยังจัดเป็นไม้ผลที่บังคับให้ออกดอกนอกฤดูไม่ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วมะยงชิดจะเริ่มออกสู่ตลาดจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พอหมดก็จะเลื่อนมาที่ปราจีนบุรี นครนายก เข้าสู่เขตภาคกลาง ต่อจากภาคกลางก็จะถึงเขตภาคเหนือตอนล่างคือ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร และสุดท้ายที่เชียงใหม่ ผลผลิตจะถูกควบคุมโดยธรรมชาติมีความต่อเนื่องไม่ตรงกัน

ราคามะยงชิดพันธุ์ดีที่สวนสมหมายจะตั้งราคาไว้มาตรฐานเหมือนกันทุกปี จะไม่ต่างกันมากนัก โดยคัดเป็นเบอร์

- เบอร์ 1 ขนาดผล 13-15 ผล ต่อกิโลกรัม ขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 80-100 บาท

- เบอร์ 2 ขนาดผล 16-17 ผล ต่อกิโลกรัม ขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 60-70 บาท

- เบอร์ 3 ขนาดผล 18 ผล ต่อกิโลกรัม ขายส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 30-40 บาท

- ผลเล็กหรือตกเกรด ขายรวมกิโลกรัมละ 20 บาท

ด้านตลาดต่างประเทศจะใช้มะยงชิดเกรด 3 แต่จะต้องคัดผลที่ผิวสวยจริงๆ ขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท แต่การเก็บส่งออกต้องมีความประณีตมาก นอกจากนั้น ยังมีตลาดบนคือส่งขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำในกรุงเทพมหานคร จะบรรจุกล่องจากสวนส่งขายในลักษณะสั่งซื้อพิเศษ ซึ่งสวนสมหมายจะคัดผลบรรจุกล่องสวยงามขายเป็นของฝากให้ผู้สนใจในราคากล่องละ 150 บาท (น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม)



เคล็ดลับการปลูกมะยงชิดให้รอดตาย

สูตรของ "สวนสมหมาย"

1. ดินและการเตรียมดิน
มะยงชิดเป็นพืชที่ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงและต้องมีการระบายน้ำดี หากเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังหรือการระบายน้ำไม่ดีต้นจะตายง่าย ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นดินร่วนทรายหรือดินลูกรังจะต้องผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักก่อนปลูก การเตรียมดินจะต้องขุดหลุมค่อนข้างใหญ่ กว้าง ยาว ลึก อย่างน้อย 50 เซนติเมตร นำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่าผสมกับดินที่ขุดขึ้นมาหลุมละ 1-2 ปี๊บ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำไปใส่ในหลุมเหมือนเดิม ในลักษณะมูลคล้ายภูเขา เพื่อป้องกันน้ำขังในหลุม ทิ้งดินที่ผสมไว้ประมาณ 15-30 วัน จึงปลูกต้นมะยงชิด (สาเหตุที่ต้องทิ้งไว้ก่อนเพื่อให้ปุ๋ยคอกช่วยปรับปรุงดินให้ร่วนซุย)

2. กิ่งพันธุ์ที่ใช้ระบบรากต้องดี มะยงชิดเป็นพืชที่มีรากน้อยมาก โดยเฉพาะต้นที่มีอายุน้อยจะมีรากเพียง 3-4 เส้นเท่านั้น ดังนั้น ถ้ากิ่งพันธุ์มีระบบรากไม่ดีพอ มักพบปัญหาปลูกแล้วยืนต้นตายหลังแตกใบอ่อนได้เพียงชุดเดียว หรือบางครั้งต้นแคระแกร็นไม่ยอมแตกใบอ่อน แม้จะดูแลดีก็ตาม

วิธีเลือกกิ่งพันธุ์ที่ดีจะต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ถ้าเป็นกิ่งพันธุ์ที่มีรากแก้ว การเจริญเติบโตจะดีมาก กิ่งประเภทนี้จะเป็นกิ่งเสียบยอดหรือกิ่งทาบที่ยกต้นทาบและไม่ตัดรากแก้ว ส่วนกิ่งทาบทั่วไปที่เกษตรกรบางรายผลิตขายนั้นจะไม่มีรากแก้ว เพราะจะตัดรากแก้วออกเหมือนกับการทาบกิ่งมะม่วง ปริมาณรากจะน้อยโอกาสตายจะมีมาก ถ้าจะเลือกกิ่งประเภทนี้จะต้องดูกิ่งค้างปีหรือเป็นกิ่งที่ตัดชำลงในถุงนาน 7-8 เดือน ระบบรากจึงจะแข็งแรงและมีอัตราการรอดตายสูง กิ่งพันธุ์ประเภทเสริมรากเป็นกิ่งพันธุ์อีกแบบที่มีระบบรากดีเพราะมีราก 2-3 ราก ในต้นเดียว ทำให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดีมาก แต่กิ่งพันธุ์แบบนี้จะหายากและมีราคาค่อนข้างแพง ดังนั้น อาจใช้วิธีปลูกกิ่งทาบธรรมดา แล้วซื้อต้นตอมะปรางพื้นเมืองไปปลูกเสริมรากทีหลังได้

3. ปลูกมะยงชิดพันธุ์ดีจะต้องมีร่มเงา โดยธรรมชาติแล้วมะยงชิดเป็นพืชที่ต้องการร่มเงาในระยะ 1-2 ปีแรกของการปลูก ถ้าปลูกใต้ร่มเงาที่มีแสงรำไร การเจริญเติบโตจะดีกว่าการปลูกในที่โล่งแจ้ง การทำร่มเงาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น หลังจากปลูกมะยงชิดแล้วใช้ตาข่ายพรางแสงทำเป็นร่มเงา หรือบางคนอาจปลูกไม้ร่มเงา เช่น กล้วย ไว้ข้างๆ ต้นมะยงชิด เมื่อกล้วยโตจะเป็นร่มเงาให้แก่มะยงชิดอย่างดี อีกประการหนึ่งคือเราจะได้เก็บผลผลิตของกล้วยไปขายก่อนในระยะ 1-2 ปีแรกที่มะยงชิดยังไม่ให้ผลผลิต จนเมื่อมะยงชิดมีอายุ 2 ปี หรือดูว่าแข็งแรงดีจึงค่อยตัดกล้วยทิ้ง

4. ระวังอย่าให้ขาดน้ำ มะยงชิดเป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้น การปลูกมะยงชิดในระยะแรกจึงห้ามขาดน้ำโดยเด็ดขาด เพราะหากขาดน้ำจนใบเริ่มเหี่ยว โอกาสที่จะฟื้นยากมาก ดังนั้น ให้จำไว้เสมอว่า มะยงชิดห้ามขาดน้ำ ถ้าขาดน้ำจะเหี่ยวตายทันที

5. ห้ามใส่ปุ๋ยเคมีในปีแรกโดยเด็ดขาด เกษตรกรมือใหม่หลายรายประสบความล้มเหลวในการปลูกมะยงชิดเพราะต้นตาย เนื่องจากการใส่ปุ๋ยเคมีข้อนี้เป็นเรื่องจริง จากที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นคือ มะยงชิดเป็นพืชที่มีรากน้อย ถ้าเรานำปุ๋ยเคมีไปใส่ให้ โอกาสที่ต้นจะตายมีสูงมาก โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) เกษตรกรส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าถ้าจะให้ต้นไม้เจริญเติบโตต้องใส่ปุ๋ยเคมีมากๆ แต่สำหรับมะยงชิดแล้วเป็นเรื่องที่กลับกัน เพราะจากประสบการณ์ชาวสวนพบว่า การใส่ปุ๋ยเคมีจะทำให้ต้นแห้งตายและมีอัตราการตายสูงจนน่าตกใจ ชาวสวนผู้หนึ่งเคยเล่าประสบการณ์ของตนเองให้ฟังว่า เขาปลูกมะยงชิดจำนวน 1,200 ต้น อายุประมาณ 7 เดือน เห็นว่าต้นมะยงชิดไม่ค่อยแตกใบอ่อนจึงนำปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ใส่ต้นละ 1 กำมือ ปรากฏว่าหลังใส่แล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ต้นมะยงชิดเหี่ยวตายเกือบ 400 ต้น ดังนั้น หากต้องการให้ต้นมะยงชิดเจริญเติบโตดีในปีแรกให้ใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักแทนจะปลอดภัยที่สุด หรือหากจะใส่ปุ๋ยเคมีต้องใส่น้อยๆ แล้วใส่ด้วยความระมัดระวัง

6. เมื่อมะยงชิดแตกใบอ่อนระวังเพลี้ยไฟ ปัญหาหนึ่งที่พบกันบ่อยมากที่สุดคือ หลังมะยงชิดแตกใบอ่อนจะมีศัตรูเข้าทำลาย ทำให้ต้นได้รับความเสียหาย แคระแกร็น ต้นจะทรุดโทรมและย่อยตายในที่สุด ซึ่งศัตรูที่พบและเป็นปัญหามากที่สุดก็คือ เพลี้ยไฟและโรคแอนแทรกโนส เพลี้ยไฟจะเข้าทำลายดูดกินน้ำเลี้ยงของใบอ่อนที่แตกมาใหญ่ทำให้สังเกตเห็นอาการปลายใบและขอบใบไหม้ ใบจะไหม้เป็นสีน้ำตาลดำและม้วนงอขึ้น ต้นจะชะงักการเจริญเติบโต ถ้าเพลี้ยไฟเข้าทำลายทุกครั้งที่ต้นมะยงชิดแตกใบอ่อน ต้นจะไม่โตและย่อยตายในที่สุด

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พิจิตร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 450
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM