เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
จี๊ด ฝรั่งแป้นสีทอง ยืนหยัดมา 30 ปี ราคายังดี รสชาติคงที่ เพราะให้ความสำคัญเรื่องปุ๋ย
   
ปัญหา :
 
 
กว่า 10 ปีมาแล้ว ที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นำเรื่องราวฝรั่งแป้นสีทอง ของ คุณสุริยนต์ (จี๊ด) บุญนำ มานำเสนอ

เว้นช่วงไปสักพัก เมื่อแวะเวียนไปเยี่ยมเยือน เห็นคุณจี๊ดปลูกพืชอื่นเพิ่มเติม เป็นต้นว่า องุ่น ลำไย ชมพู่ พุทรา แต่ฝรั่งก็ยังมีอยู่ ส่วนราคาก็ยังขายได้ดีเหมือนเดิม

แปลงปลูกฝรั่งของคุณจี๊ด อยู่ที่นครชัยศรี หากมาจากนครปฐม ตามถนนเพชรเกษม เมื่อเลี้ยวเข้าถนนปิ่นเกล้าได้สักพัก ทางซ้ายมือ มีต้นตาลขึ้นอยู่ มีป้ายบอกว่า "จี๊ดฝรั่งแป้นสีทอง"

คุณจี๊ด เล่าว่า ตนเองทำสวนมาตั้งแต่เป็นหนุ่มน้อย เริ่มจากปลูกผักล้มลุก ต่อมาปลูกชมพู่ แล้วเปลี่ยนเป็นฝรั่งกลมสาลี่ จากนั้นจึงเป็นพันธุ์แป้นสีทอง รวมระยะเวลาที่ปลูกฝรั่งไม่น้อยกว่า 30 ปี ทุกวันนี้พื้นที่การผลิตมี 65 ไร่ แบ่งเป็นฝรั่งแป้นสีทอง 30 ไร่ ฝรั่งเจินจูป่า หรือ กิมจู 5 ไร่ และพุทราพันธุ์จัมโบ้อีก 30 ไร่

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยนำเสนองานเกษตรหลายรูปแบบ เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะสัก 5-10 ปี ผู้ผลิตมักเปลี่ยนแปลงการผลิต จากที่เคยปลูกองุ่น ไปเลี้ยงวัวแทน หรือปลูกมะม่วงก็เปลี่ยนมาปลูกข้าว สำหรับคุณจี๊ด เขายืนหยัดปลูกฝรั่งแป้นสีทอง โดยผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ จึงยืนหยัดอยู่ได้



ของมีคุณภาพ ขายได้ราคา

คุณจี๊ด แนะนำการปลูกฝรั่งว่า เมื่อปลูกไประยะหนึ่ง หากต้นแก่ควรโละทิ้งแล้วปลูกใหม่ แต่ที่สำคัญอย่างมากนั้นเป็นเรื่องของการดูแลรักษา ตั้งแต่การให้น้ำ ให้ปุ๋ย การห่อผล รวมทั้งการคัดเกรด

เรื่องน้ำ ไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อน เพราะระบบปลูกเป็นแบบร่องจีน ใช้เรือรด

ปุ๋ยนี่สิสำคัญ เจ้าของบอกว่า ใส่ปุ๋ยคอก เป็นขี้เป็ดให้ 1 กระสอบปุ๋ย ต่อ 5 ต้น

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใช้สูตร 13-13-21 ผสมกับสูตร 15-15-15 ให้จำนวน 2 กำมือ ต่อต้น โดยให้เดือนละครั้ง

แต่ที่มีความสำคัญมาก คือขี้ค้างคาว ทางสวนใส่ให้ปีละ 3 ครั้ง ต้นละ 3 กำมือ ต่อครั้ง ผลฝรั่งที่ได้รับปุ๋ยขี้ค้างคาว ผิวจะเหลืองสวย หากมองลึกและละเอียดที่ผิวผล จะมีต่อมเล็กๆ เรียงตัวกัน หากลองชิมรสชาติจะหวาน แอปเปิ้ลที่ว่าอร่อยๆ สู้ไม่ได้ก็แล้วกัน

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือเรื่องของการห่อผล ฝรั่งก็เหมือนกับผลไม้ทั่วไป หากปล่อยให้ผลผลิตเป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อผลพัฒนาไปได้ระยะหนึ่ง แมลงวันทองจะทำลาย โดยไข่ไว้ที่ผล เมื่อไข่ฟักเป็นตัว จะหาอาหารในผล ในรูปของตัวหนอน ดังนั้นเมื่อผลฝรั่งเท่ามะนาว เจ้าของจะพ่นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช จากนั้นห่อด้วยถุงพลาสติค แล้วห่ออีกรอบหนึ่งด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ประโยชน์ของการห่อนั้น ช่วยป้องกันแมลงทำลาย ผิวผลสวย ผลฝรั่งโตกว่าปกติ รสชาติดี ส่วนใครที่เกรงว่าจะมีสารเคมีนั้น หลังจากห่อนาน จึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ฤทธิ์ของสารที่พ่นให้จึงหมดไปนานแล้ว เรื่องแรงงานการห่อของเกษตรกรรายนี้ ใช้ค่อนข้างมาก

ผลผลิตฝรั่งของคุณจี๊ด เขาคัดอย่างดี ในจำนวนที่เก็บมา 1 ตัน เขาคัด เกรด เอ ขายได้ 500 กิโลกรัม ขายโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 25 บาท กว่า 10 ปี มาแล้ว

ที่เหลือ ตีเป็น เกรด บี ขายกิโลกรัมละ 17 บาท ผลที่ผิวไม่สวยมีน้อย ราคาอาจจะเหลือ 4-5 บาท หรือทิ้งเลย แต่มีไม่มาก

จำนวนผลที่ห่อบนต้นนั้น เจ้าของบอกว่า ปีหนึ่งห่อราว 50 กิโลกรัม ต่อต้น

สำหรับพุทราจัมโบ้ที่ปลูกไว้ จำนวนต้น 1,500 ต้น ห่อไว้ถึง 1.3 ล้านถุง โดยทั่วไปแล้ว พุทรามีขนาด 7-8 ผล ต่อกิโลกรัม จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 18-20 บาท

"ใส่ขี้ค้างคาวแล้วกรอบ ผิวสวย ใส่เคมีอย่างเดียวจะหนืดๆ ฝรั่งแป้นอยู่ในลังได้นานถึง 5 วัน พันธุ์อื่นไม่ถึง เคยประกวดผลเดียว 2 กิโลกรัมเศษ ใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาวแล้วใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลง ธรรมดาฝรั่ง 2,500 ต้น เคยใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 10 ลูก ก็เหลือเพียง 5 ลูก ดินก็ดี" คุณจี๊ดพูดถึงการใส่ปุ๋ยขี้ค้างคาว



ขี้ค้างคาว มีดีหลายอย่าง

อาจารย์ประทีป กุณาศล นักวิชาการเกษตรอิสระ ให้ข้อมูลว่า ขี้ค้างคาวมีฟูลวิคแอซิด ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้พืชดูดธาตุอาหารได้ดีขึ้น ปกติพบในฟางข้าวที่เน่าเปื่อยผุพัง แต่พบในขี้ค้างคาวมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ในขี้ค้างคาวยังพบไคโตซาน ทั้งนี้เพราะค้างคาวกินแมลง ตัวแมลงมีไคโตซาน

อาจารย์ประทีป บอกว่า เมื่อเกษตรกรใส่ขี้ค้างคาว ทำให้พืชดูดธาตุอาหารได้ดี อย่างฝรั่งเมื่อดูดซิลิก้อนได้ดีก็จะทำให้เนื้อฝรั่งกรอบ รสชาติหวาน ต้นมีความแข็งแรงต้านทานโรคได้ดี ที่สหรัฐอเมริกา เป็นเมืองหนาวไม่มีขี้ค้างคาว เขาต้องนำเข้าจากเม็กซิโก อินโดนีเซีย ราคาจึงแพงเพราะค่าขนส่ง ลาวเป็นประเทศหนึ่งที่มีขี้ค้างคาวมาก ต่างประเทศซื้อจากลาว โดยมีไทยเป็นทางผ่าน

คุณสรรพ์ บุญเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า มีวัดแห่งหนึ่งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง ใกล้ๆ วัดมีถ้ำค้างคาว ทางเจ้าอาวาสวัดไม่มีช่องทางการเผยแพร่ขี้ค้างคาว ทางบริษัทเห็นความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่ จึงได้นำขี้ค้างคาวช่วยออกเผยแพร่ เพื่อนำปัจจัยไปพัฒนาวัด ราคาเมื่อถึงผู้ใช้ กิโลกรัมหนึ่งไม่ถึง 20 บาท

เรื่องราวของขี้ค้างคาว น่าสนใจไม่น้อย

ประเทศที่เจริญแล้ว มีการพัฒนาเรื่องการเกษตรรุดหน้าไปมาก ยังนิยมใช้ขี้ค้างคาว ในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับขี้ค้างคาวกันมาก เมื่อเขารู้จึงเสาะหานำไปใส่ให้กับต้นพืช ต่างกับไทยเรา ที่งานวิจัยเรื่องนี้มีไม่มากนัก

ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ในการนำทรัพยากรมาใช้ เกษตรกรในบ้านเราสามารถซื้อหาขี้ค้างคาวมาใช้ในราคาที่ไม่แพงนัก แหล่งซื้อหา ส่วนใหญ่ก็ในประเทศไทย มีบ้างเหมือนกันที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน



ผู้ซื้อฝรั่งของคุณจี๊ด

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้เข้าไปนำเรื่องราวของคุณจี๊ดมาเสนอเป็นระยะๆ รวมทั้งการจัดเสวนาเกษตรสัญจรไปเยี่ยมสวน ทุกครั้งที่ไป เห็นเขาคัดฝรั่งส่งให้ผู้ไปซื้อไม่ขาด เจ้าของเขารักษามาตรฐานอย่างเคร่งครัด เกรด เอ นั้นผิวต้องสวย ไม่มีริ้วรอยการทำลายของแมลง หากมีรอยเพียงเล็กน้อยหรือมีจุดที่สงสัยว่าน่าจะเกิดจากการรบกวนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาจะปัดไปเป็นเกรดอื่นหรือคัดออกไปเลย ด้วยเหตุนี้เอง ผลผลิตฝรั่งของคุณจี๊ดจึงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ผลผลิตฝรั่งของคุณจี๊ดมีเจ้าประจำ หรือใครที่ไปตลาดน้ำดอนหวาย ก็มีวางขายอยู่ สามารถแวะอุดหนุนกันได้

คุณจ๊ะเอ๋ เป็นผู้ค้าผลไม้อยู่ที่ตลาดสุขาภิบาล 3 ข้างโรงพยาบาลเกษมราษฏร์ บอกว่า รับฝรั่งสวนคุณจี๊ดไปขายนานมาแล้ว

"เมื่อก่อนขายอยู่การบินไทย หากมีของก็มารับทุกวัน ตอนนี้ขาย 2 วัน พันกิโลกรัม ของคุณจี๊ดเน้นคุณภาพ ขายง่าย ลูกค้าตอบรับเยอะ ฝรั่งที่นี่นำไปขายแล้วอยู่ได้นาน 3-4 วัน ไม่เป็นไร หากเป็นที่อื่นผิวเสียแล้ว ที่นี่หลายวันยังกรอบอยู่" คุณจ๊ะเอ๋ บอก

ผลผลิตทางการเกษตรของไทยที่มีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องผลไม้ ถือว่าเป็นไม้ผลเมืองร้อน ซึ่งก็คุ้นหน้าคุ้นตากันดี อาทิ มะม่วง ส้มโอ กล้วย น้อยหน่า ฝรั่งเป็นไม้ผลเมืองร้อน ที่ถือว่าเมืองไทยผลิตได้คุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ถือว่ายืนหยัดอย่างมาก สำหรับคุณจี๊ด เกษตรกรรายนี้มีแนวทางที่แน่นอนและชัดเจน พื้นที่เมืองร้อนอย่างไทยจะหันไปปลูกแอปเปิ้ล ปลูกสาลี่ คงไม่ได้ ดีที่สุดคือ ปลูกไม้ประจำถิ่นแล้วยืนหยัดพัฒนาอย่างคุณจี๊ดทำ

ผู้สนใจซื้อหาฝรั่งรสชาติดี ถามได้ที่ คุณสุริยนต์ บุญนำ โทร. (089) 890-4629
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครปฐม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 450
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM