เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะยงชิดทูลเกล้าปลอดสารพิษ สวนละอองฟ้า 2 ปีนี้ผลผลิตดก มีให้ชิมถึงเดือนเมษายน
   
ปัญหา :
 
 
อากาศหนาวเย็นยาวนาน มีผลต่อการออกดอกของไม้ผล จะเห็นได้ว่ามะม่วงในหลายพื้นที่มีดอกเต็มไปหมด ส่วนจะติดผลมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการดูแลของเจ้าของ มะม่วงเป็นไม้ผลที่ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย หากออกดอกมาแล้วติดผลทั้งหมด ผู้ขายคงขายได้กิโลกรัมละ 2-3 บาท อย่างแน่นอน แต่ที่เห็นดอกออกมานั้น ไม่ติดผลทั้งหมดหรอก เพราะสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งโรคแมลงทำลาย เป็นการลดปริมาณผลผลิตได้ส่วนหนึ่ง

พืชอื่นหากเกษตรกรเตรียมต้นได้สมบูรณ์ ก็ออกดอกได้มากเช่นกัน คุณเรืองวรรณ บัวนุช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา บอกว่า ปีที่แล้ว ลิ้นจี่ที่พะเยา มีผลผลิต 9,600 ตัน แต่เนื่องจากปีนี้ อากาศเหมาะสม คาดว่าผลผลิตลิ้นจี่ปี 2552 จะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 12,240 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 2,640 ตัน



มะยงชิด ผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในแวดวงมะยงชิด ไม่มีการรวบรวมตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่จากการสอบถามเกษตรกรแล้ว ผู้ปลูกในหลายพื้นที่บอกว่า ปีนี้ผลผลิตมีค่อนข้างมาก

ราคามะยงชิด เมื่อเปรียบเทียบกับไม้ผลหลายชนิด ค่อนข้างสูงอย่างคงที่ ไม่ฮวบฮาบเหมือนผลไม้ชนิดอื่น สาเหตุคงเป็นเพราะพื้นที่ปลูกไม่มาก เป็นไม้ผลที่ปลูกไม่ง่าย ราคาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กิโลกรัมละ 200-300 บาท เข้าสู่ยุคปัจจุบัน ราคายังคง 100-200 บาท หากเป็นไม้ผลชนิดอื่น เช่น ขนุน จากเดิมราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท (ชั่งทั้งผล) ปัจจุบัน 5-10 บาท ชมพู่ทับทิมจันท์ เมื่อก่อนกิโลกรัมละ 80 บาท เวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี ราคากิโลกรัมละ 20-30 บาท

คุณวชิระ โสวรรณะตระกูล เกษตรกรผู้ปลูกมะยงชิด อยู่ที่ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก บอกว่า ตนเองปลูกมะยงชิดในพื้นที่ 15 ไร่ มีทั้งหมด 300 ต้น ต้นอายุมากสุด 30 ปี มีอยู่ 7-8 ต้น นอกจากนี้ ต้นอายุ 10-12 ปี มีอยู่ 100 ต้น ส่วนต้นอายุ 8-10 ปี มีอยู่ราว 200 ต้น ปัจจุบันต้นที่อายุ 10 ปี จะให้ผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี

เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ปีหนึ่งคุณวชิระมีมะยงชิดจำหน่ายปีละ 6-7 ตัน แต่เนื่องจากเกษตรกรรายนี้เตรียมต้นได้สมบูรณ์ ปีนี้ผลผลิตจึงมีไม่ต่ำกว่า 10 ตัน เจ้าของบอกว่า ราคาที่จำหน่าย กิโลกรัมละ 100 บาท ผลผลิตจะมีตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนเมษายน

"ทางนี้ผลผลิตออกช้ากว่าทางอื่น ในจังหวัดนครนายกราว 20 วัน จริงๆ ก็มีพอเก็บได้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะไปมีมากๆ ช่วงเดือนมีนาคม หากคุณนำเรื่องผมไปลงวันที่ 1 มีนาคม คนอ่านมาซื้อทัน ผลผลิตจะมีไปถึงเดือนเมษายนโน่น ออกหลายชุดปีนี้" คุณวชิระ บอก



ผลิตแบบปลอดสารพิษ

มะยงชิดที่คุณวชิระปลูกอยู่คือ พันธุ์ทูลเกล้า จัดเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย มีการปลูกอย่างกว้างขวาง ผลมีขนาดใหญ่ ออกดอกติดผลดี

คุณวชิระบอกว่า ทุกวันนี้ ตนเองผลิตมะยงชิดแบบปลอดสารพิษ ปี 2551-2552 เขาไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมีแม้แต่เม็ดเดียว

แล้วเขาปลูกอย่างไร จึงมีผลผลิตมากถึง 10 ตัน ในพื้นที่ 15 ไร่

เจ้าของสวนละอองฟ้า 2 นั้น เขาทำเกษตรแบบอิงแอบธรรมชาตินานมาแล้ว เมื่อครั้งที่มะยงชิดต้นเล็กๆ อยู่ เขาปลูกถั่วพร้ารอบทรงพุ่ม เป็นการปรับปรุงบำรุงดินได้อย่างดี สำหรับการบำรุงต้น เจ้าของสวนเน้นปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งใช้สารสกัดจากพืช ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช

คุณวชิระบอกว่า หลังเก็บผลผลิตเมื่อปี 2551 เขาตัดแต่งกิ่งมะยงชิด โดยตัดกิ่งที่แห้ง กิ่งแมลงทำลาย รวมทั้งปลายกิ่งที่ผ่านการเก็บผลผลิตไปแล้ว จากนั้นจึงใส่ปุ๋ยจากโรงงานน้ำตาล คือฟิลเตอร์เค้ก จำนวน 3 ตัน ใส่เมื่อฝนลงแล้ว

ต่อมาใส่ขี้วัวให้อีก จำนวน 3 ตัน โดยเฉลี่ยใส่ให้ทั่วถึงกับต้นมะยงชิด 300 ต้น หากต้นใหญ่อาจจะใส่ให้มากหน่อย

ใกล้ออกดอกเจ้าของใส่ขี้ค้างคาวให้จำนวน 1 ตัน

เมื่อผลผลิตเท่าหัวแม่มือ คุณวชิระไปซื้อขี้แดดนาเกลือ หรือหนังหมา จากสมุทรสาครมาใส่ให้ต้นละ 2-3 กิโลกรัม ขี้แดดนาเกลือ ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพดี โดยเฉพาะรสชาติ เดิมที่คุณวชิระรู้ข้อมูลว่าขี้แดดนาเกลือดี เขาขายกิโลกรัมละ 1.50 บาท แต่เวลาผ่านไปเขาไปซื้อกิโลกรัมละ 2.50 บาท แต่เมื่อใส่แล้วก็ถือว่าคุ้ม

ส่วนเรื่องโรคแมลง มะยงชิดมีโรคแมลงรบกวนน้อย เจ้าของใช้วิธีป้องกัน สิ่งที่ใช้อยู่เป็นประจำคือ สารสกัดจากสะเดา การระบาดของโรคและแมลง หากมีน้อย เจ้าของจะนำไปทำลายทิ้ง หรือปล่อยไว้ก็ไม่เสียหาย



มีงานสาธิตปุ๋ยชีวภาพ

คุณวชิระ เป็นคนเกษตรที่มีผลงานเยี่ยมยอดมานานแล้ว เดิมเขาเป็นคนแถบสะพานพระราม 7 จากนั้นไปปลูกทุเรียนอยู่ที่ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ปัจจุบันสวนทุเรียนยังอยู่ จัดเป็นสวนรวมพันธุ์ทุเรียนที่มีพันธุ์มากกว่า 40 สายพันธุ์ ปัจจุบันมีน้องๆ เป็นคนดูแล คุณวชิระมาบุกเบิกสวนมะยงชิดที่ตำบลสาริกา

ก่อนหน้านี้ มะยงชิด อาจจะเป็นที่รู้จักกันน้อย ส่วนใหญ่รู้จักมะปรางหวานมากกว่า ด้วยสายตาที่ยาวไกล คุณวชิระได้บุกเบิกการปลูกมะยงชิด จนมีความก้าวหน้า

คุณวชิระบอกว่า ปัจจุบันปัจจัยการผลิตมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย สารเคมี รวมทั้งปัจจัยเกี่ยวเนื่องอย่างน้ำมัน ดังนั้น ตนจึงหาทางลดต้นทุนการผลิต ทางหนึ่งที่ทำได้คือ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ

เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูล และวิธีปฏิบัติ ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2552 นี้ คุณวชิระได้เชิญเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินมาสาธิตการผลิตปุ๋ยชีวภาพให้กับผู้สนใจ ใครที่อยากทราบรายละเอียดสามารถเข้ารับความรู้ฟรี

"ใครที่มีความรู้เรื่องปุ๋ยชีวภาพอยู่แล้ว อยากจะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารก็ยินดี ส่วนผู้ที่อยากทราบว่าทำอย่างไรก็เชิญเข้ารับความรู้ได้ งานนี้ฟรี อยากให้มาดูว่ามะยงชิดปลอดสารพิษเป็นอย่างไร ใครไม่เชื่อว่าไม่ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ขุดดินไปพิสูจน์ก็ได้" คุณวชิระ บอก

ผู้สนใจเข้าร่วมงานสาธิตการผลิตปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งซื้อผลผลิตมะยงชิด สามารถแวะเวียนไปได้ สวนคุณวชิระตั้งอยู่ที่สามแยกสาริกา ไปจากตัวเมืองนครนายก จะมีสามแยก เรียกสามแยกตรงนั้นว่า "สามแยกสาริกา"

ถึงสามแยกเลี้ยวขวา ไปน้ำตกนางรองและวังตะไคร้ หากตรงไปคือน้ำตกสาริกา

สวนคุณวชิระนั้น เมื่อถึงสามแยกให้ตรงไปทางน้ำตกสาริกา สวนเขาอยู่ขวามือตรงสามแยก

ไปไม่ถูกถามได้ที่ โทร. (081) 481-4287



ขี้แดดนาเกลือ

เกิดจากสาหร่าย ตะไคร้น้ำและจุลินทรีย์เล็กๆ ในน้ำฝนและน้ำกร่อยที่อยู่ในนาเกลือ เมื่อน้ำในนาเกลือแห้งลงประมาณช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปีจะเกิดเป็นสีน้ำตาลดำแตกระแหงเต็มในนาเกลือ และถ้าเอาไปแช่น้ำจะมีกลิ่นเหมือนสุนัขตาย ชาวบ้านเรียก "ดินหนังหมา" สำหรับนาเกลือแล้ว ขี้แดดนาเกลือถือเป็นปัญหาของชาวนาเกลือเพราะนอกจากต้องเสียแรงงานในการขุดขี้แดดนาเกลือแล้วยังต้องหาพื้นที่กองขี้แดดซึ่งมีมากขึ้นทุกปีประมาณ 600-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี

คุณสมบัติของขี้แดดนาเกลือ

1. ทางกายภาพ รูปร่างภายนอกจะเป็นแผ่นบางๆ หนาประมาณ 2-5 มิลลิเมตร กว้าง-ยาว 2-3 นิ้ว มีสีดำอมน้ำตาล เมื่อแห้งสนิท ถ้าใช้มือบีบจะกรอบและหักง่าย เมื่อนำไปแช่น้ำจะอุ้มน้ำได้ดี

2. ทางชีวภาพ ขี้แดดนาเกลือ เกิดจากสาหร่าย ตะไคร่น้ำและจุลินทรีย์เล็กๆ ในน้ำจืดและน้ำกร่อย ในนาเกลือ เมื่อถูกแดดจะแห้งเป็นแผ่นบางๆ ถ้านำไปแช่น้ำจะมีกลิ่นเหม็นคล้ายสุนัขตายเพราะเกิดการเน่า ขี้แดดนาเกลือใหม่ๆ จะมีรสเค็มเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นขี้แดดค้างมีรสเค็มจะน้อยลงหรือหายไป

3. คุณสมบัติทางเคมี จากการวิเคราะห์ของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินการวิเคราะห์ โดย ผศ.ดร.ณรงค์ ฉิมพาลี พบว่า ขี้แดดนาเกลือมีธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P2O5) 0.13% และโพแทสเซียม (K2O) 2%

การใช้ประโยชน์จากขี้แดดนาเกลือในทางการเกษตร

เนื่องจากมีธาตุ P2O5 และ K2O และช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย จึงมีประโยชน์ดังนี้

1. ใช้กับไม้ผล

จากการทดสอบกับชมพู่เพชร ส้มโอขาวใหญ่ มะนาว ละมุด พุทรา ฝรั่ง มะละกอ ทับทิม แตงโม แตงไทย ฯลฯ ปรากฏว่ามีการเจริญเติบโตดี เนื้อแน่น สีสด รสชาติหวานขึ้น

2. ใช้กับพืชผัก

จากการทดสอบกับบวบ กวางตุ้ง ผักกาดขาว กะเพรา โหระพา ฯลฯ เจริญเติบโตดี ถ้าเป็นพืชหัว หัวจะแน่น ถ้ามีดอกจะดก

3. ใช้เลี้ยงสัตว์

ใช้ในการเลี้ยงนกและไก่ จะเจริญเติบโตดี ไก่จะไม่จิกกันเอง ขนไม่หลุดง่าย และสามารถใช้เลี้ยงปลาหมอเทศ และปลากระบอกได้

ราคาขี้แดดนาเกลือ

- จากนาเกลือ กิโลกรัมละ 1 บาท

- หลังจากบดแล้วจะขาย กิโลกรัมละ 2-3 บาท

ข้อเสนอแนะในการใช้ขี้แดดนาเกลือ

1. ขี้แดดนาเกลือใหม่ๆ ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้กับต้นไม้ หรือถ้าจะใช้ก็ต้องใช้แต่น้อยและรดน้ำตาม แต่ถ้าเป็นขี้แดดเก่าค้างปี รสเค็มจะน้อยลงหรือหายไป

2. ควรใช้ร่วมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก

3. หลังใช้ สังเกตการเจริญเติบโต ถ้าพืชมีอาการใบไหม้ หรือแคระแกร็น ให้หยุดใช้ และรดน้ำจืดตามมากๆ จะช่วยได้
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครนายก
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 450
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM