เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ผักพื้นบ้าน...มากกว่าอาหารบนจานคุณ (ตอนที่ 4) ข่าแดง
   
ปัญหา :
 
 
เอื้อย (พี่) หวาน หรือ คุณรัศมี ตะนัน เป็นเกษตรกรอีกหนึ่งท่านที่พวกเราตั้งใจไปพูดคุยเกี่ยวกับภูมิปัญญาการปลูกผักพื้นบ้าน เพราะเอื้อยหวานทำการเกษตรด้วยแรงงานตัวเองเพียงลำพัง เลี้ยงลูกสาวที่กำลังอยู่ในวัยเรียน แต่กลับมีผลผลิตอันเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคมาขายในตลาดเขียวอยู่สม่ำเสมอ เราจึงเดินทางไปยังบ้านหนองคู ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นที่ตั้งแปลงนาและที่อยู่อาศัยของเอื้อยหวาน

เอื้อยหวานมีการปลูกผักทั้งในบริเวณแปลงนาและบริเวณบ้านที่อยู่ภายในชุมชน ส่วนที่เป็นแปลงนามีพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ บริเวณส่วนหน้าแปลงปล่อยให้เป็นป่าไม้ธรรมชาติเพื่อเก็บไม้ไว้ใช้สอย ถัดมาเป็นสระน้ำ แปลงผักข้างเถียงนา แล้วจึงเป็นแปลงนา สภาพเป็นที่ดอนดินทราย สระน้ำที่มีก็นำมาใช้ปลูกผักที่บริโภคเป็นหลัก ซึ่งก็ปลูกไม่มากนัก ยิ่งถ้าช่วงฝนแล้งก็ปลูกเฉพาะที่กิน ส่วนพื้นที่บริเวณบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนมีสภาพเป็นดินทราย จะเป็นพื้นที่สำหรับปลูกข่าแดงเป็นหลัก เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก ซึ่งปัจจุบันนับจำนวนกอข่าแดงที่ปลูกได้ประมาณ 50 หลุม

เอื้อยหวานเล่าถึงวิถีการผลิตของตัวเองว่า เลือกแล้วที่จะไม่ขอยุ่งกับสารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด เพราะมองว่ามีแต่ผลร้ายทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค อย่างตัวเอื้อยหวานเองเป็นคนที่ซื้อผักตามท้องตลาดกินไม่ได้เลย โดยเฉพาะถั่วฝักยาว ถ้ากินเข้าไปจะออกอาการทันที จึงต้องหันมากินผักที่ปลูกเอง ถ้าไปซื้อเขากินจะคิดมาก ยิ่งผักชนิดไหนที่รู้ว่าต้องใช้สารเคมีจำนวนมากก็จะยิ่งไม่กินเลย เช่น ผักบร็อกโคลี่ แม้แต่ข้าวที่ปลูกก็ไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงเลย เมื่อถามว่าไม่กลัวโรคแมลงลงหรือ เอื้อยหวานก็ตอบว่า "ลงก็ช่าง...ไม่เป็นไร"

จากการที่เอื้อยหวานเป็นผู้ที่เลือกกินผักที่ปลอดสารเคมีทำให้การผลิตในแปลงเน้นเพื่อการบริโภคเป็นหลัก และในบรรดาผักหลากหลายชนิดที่ปลูก เอื้อยหวานมองว่า "ข่าแดง" เป็นผักที่ปลูกง่าย กินแซ่บ (อร่อย) และขายดีกว่าผักชนิดอื่นๆ ปลูกครั้งเดียวแต่ขุดขายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งปลูกมา 6-7 ปีแล้ว ยังขุดขายได้ เริ่มแรกก็ปลูกไม่มากไว้สำหรับกินเอง แต่พอมีแม่ค้ามารับเอาไปขายแล้วบอกว่าขายได้ดี ก็ขยายมาเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันในแปลงมีข่า 3 พันธุ์ คือ ข่าใหญ่ ข่าแดง และข่าชมพู แต่ในบรรดาข่าทั้ง 3 พันธุ์ เอื้อยหวานชอบข่าแดงมากที่สุด เพราะปัญหาโรคแมลงน้อย แค่ให้น้ำก็ได้ผลผลิต ปลูกไม่ถึงปีก็ให้ผลผลิตแล้ว ยิ่งถ้าดินดีๆ ปลูกนาน 5-6 เดือน ก็ให้ผลผลิต ผิดกับข่าใหญ่ที่ต้องปลูกเป็นปีจึงจะได้ผล

...ข่าแดงจะออกหน่อตลอดทั้งปี ไม่เหมือนข่าชนิดอื่นๆ ที่ออกเฉพาะหน้าฝน หรือข่าชมพูก็พอออกหน่อได้แต่ไม่อวบ ยกเว้นจะมีน้ำอย่างพอเพียง ข่าแดงไม่รดน้ำก็ไม่ตาย เพียงแต่ไม่ออกหน่อเท่านั้น...

...ข่าแดงไม่เรื่องมาก ไม่เหมือนข่าใหญ่ที่เอาใจยาก บทจะตายก็ตาย แต่ข่าน้อยฉันไม่สน มีแต่ออกผลผลิตน้อยเท่านั้น...

โดยทั่วไปนิสัยของข่าแดงไม่ชอบดินแข็ง ชอบดินร่วนๆ ถ้าสามารถปลูกกลางแจ้งได้จะยิ่งดี แต่อย่าให้ดินที่ปลูกแฉะเกินไปเพราะจะไม่ออกหน่อ (แต่ก็ไม่ตาย) ควรปลูกร่วมกับแปลงผักเพราะเวลารดน้ำผักก็จะทำให้ข่าได้น้ำไปด้วย แต่จะปลูกมากเกินไปไม่ได้เพราะข่าจะไปแย่งผักชนิดอื่นๆ เติบโต อย่างไรก็ตาม การปลูกข่าแดงตามคันนาหรือที่ที่เป็นควนจะไม่ค่อยดี ต้นจะขึ้นโคนเร็วไม่ค่อยให้หน่อ รวมทั้งการปลูกในพื้นที่ที่เป็นหลุมก็ไม่ค่อยดีเช่นกัน ดังนั้น ควรปลูกข่าแดงในพื้นที่ราบจะดีที่สุด ถ้าจะให้ดีควรปลูกแยกออกมาต่างหากหรือจะปลูกผสมกับตะไคร้ก็ได้

ผลผลิตของข่าแดงจะขึ้นกับช่วงเวลา ข่าแดงที่ปลูกปีแรกหน่อจะยังเล็กอยู่ ช่วงปีที่สองถึงปีที่สี่จึงจะได้ผลผลิตดี (ถ้าบำรุงดี) แต่ในแปลงของเอื้อยหวานนี้ปลูกมา 7 ปีแล้ว ยังไม่ได้ปลูกใหม่ก็เริ่มให้ผลผลิตน้อยลงบ้าง สำหรับการขายก็จะขายเป็นกำ กำละ 5 บาท โดยทั่วไปถ้าเป็นหน้าแล้งประมาณ 5-7 หัว จึงได้สัก 1 กำ แต่ถ้าหน้าฝนต้นจะโตกว่าประมาณ 4-5 หัว ก็ได้ 1 กำ แล้วขุดขาย 1 กอ ก็จะได้ประมาณ 2-3 กำ หรือประมาณ 15 บาท ทั้งนี้ช่วงฝนลงใหม่ๆ ข่าแดงจะขายดีเพราะลวกกินแล้วจะหวาน ไม่เป็นเส้น มีน้ำชุ่ม แต่ถ้าช่วงหน้าแล้งข่าแดงจะนำมาลวกกินไม่อร่อย รสจะเผ็ดมากขึ้น สรุปได้ว่าการขายไม่มีปัญหาเอาไปขายทีไรก็ขายหมด ขายไม่หมดก็แถม เอาไปมากก็ขายได้หมด เอาไปน้อยก็ขายหมด คนมักจะชื้อไปกินเป็นผักลวกต้ม กินดิบกับลาบก็ได้

การปลูกขยายข่าแดงส่วนใหญ่จะใช้หน่อที่แยกออกจากกอเดิม ตัดลำต้นให้เหลือยาวประมาณ 1 เมตร (เหลือใบติดกับลำต้นประมาณ 2 ใบ) ซึ่งต้นที่จะนำมาปลูกได้ดีควรมี 2 หน่อ อยู่ในต้น จะทำให้โตเร็ว วิธีการปลูก ถ้าจะให้ดีเริ่มจากการขุดหลุมลึกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง ยาว ขนาดประมาณ 25 เซนติเมตร เอาปุ๋ยหมัก (ขี้วัว ขี้ควาย ขี้หมู) ที่หมักจากแกลบเผาใส่ประมาณ 2-3 กำ เป็นการรองพื้น

จากนั้นเอาต้นที่เตรียมไว้ใส่ลงในดินให้หน่ออยู่ต่ำกว่าผิวดินประมาณ 1 คืบ รดน้ำให้ชุ่มและคอยรดน้ำตลอดแต่ไม่จำเป็นจะต้องรดทุกวัน สัก 2-3 วัน รดสักครั้งก็ได้ ซึ่งการปลูกในช่วงต้นฤดูหนาวจะดีที่สุดเพราะดินไม่แฉะเกินไป รากจะติดดี (แต่โดยปกติข่าแดงปลูกง่ายมาก โอกาสจะตายเวลาปลูกน้อย) ระยะห่างของกอที่ปลูกประมาณ 80 เซนติเมตร

หากปลูกข่าแดงช่วงเดือนพฤศจิกายน ต้นจะไม่ค่อยออกใบและจะเริ่มให้หน่อประมาณเดือนเมษายน หรือประมาณ 6 เดือน หลังจากปลูก จึงจะสับหน่อขายได้ (ในขณะที่ถ้าเป็นข่าใหญ่ต้องรอเป็นปี) หรือให้สังเกตว่ามีต้นขึ้นจากหน่อแล้วประมาณ 5 ต้น ก็พร้อมที่จะสับหน่อขายได้ ในช่วงแรกต้นจะไม่ค่อยงามแต่หน่อจะงาม นอกจากนี้ ยังมีวิธีการปลูกเพื่อขายหน่ออีกวิธี คือ การปลูกทิ้งไว้โดยไม่ขุดหน่อเลยประมาณ 1 ปี แล้วขุดทั้งกอออกมาขายก็ได้ (แต่วิธีนี้จะให้หน่อได้ไม่มากเท่ากับการหมั่นตัดหน่อไปขาย)

การดูแลรักษาข่าแดงก็ไม่ยุ่งยากเพราะข่าแดงมีปัญหาโรคแมลงน้อย แค่มีน้ำก็ให้ผลผลิต การรดน้ำก็ไม่จำเป็นต้องรดทุกวัน ช่วงหน้าฝนแทบไม่ต้องรดน้ำเลย แต่ถ้าจะให้ดีควรใส่ปุ๋ยหมักรอบๆ ต้น วิธีการใส่คือ ใส่อ้อมกอแล้วเอากากน้ำตาลผสมน้ำธรรมดารดตามลงไปอีกรอบ ถ้าไม่มีปุ๋ยหมักจะใส่ปุ๋ยคอกเลยก็ได้แต่ต้องหมั่นรดน้ำ ซึ่งการใส่ปุ๋ยหมักจะดีกว่าเพราะต้นจะสมบูรณ์ ยอดดำและต้นกรอบ เวลามาลวกจิ้มจะอร่อย ช่วงเวลาที่ให้ปุ๋ยหมักก็คือช่วงหลังจากที่สับหน่อออกไปขายแล้ว ใส่ประมาณ 1 กำมือ ถ้าไม่มีปุ๋ยหมักก็ให้เอาน้ำหมักรดเอา วิธีการสังเกตว่าต้องใส่ปุ๋ยหมักเมื่อไรให้ดูจากหน่อ ถ้าปุ๋ยพอหน่ออ่อนจะกรอบ อวบ นุ่ม (ถ้าดึงต้น จะขาดจากหน่อได้เลย) แต่ถ้าปุ๋ยไม่พอ ต้นจะเหนียว (ดึงต้นขึ้นมาพร้อมหน่อได้เลย) ส่วนปุ๋ยเคมีถ้าใส่ต้นอาจจะให้หน่อเยอะจริงแต่รสชาติจะไม่หวาน กรอบ สีซีด ต้นจะแก่เร็ว

สำหรับเรื่องหญ้าไม่ค่อยมีปัญหา เท่าที่ปลูกมาก็ไม่เคยต้องยุ่งกับการถอนหญ้า การแต่งใบแต่งกิ่งก็ไม่ต้องทำเลย อีกทั้งบริเวณที่ปลูกข่าแดงจะไม่ใช้สารเคมี แม้ว่าข่าแดงอาจจะมีปัญหาเรื่องโรคบ้าง (ขอบใบแห้ง) แต่ไม่ทำให้ต้นเสียหายมากนัก จะมีผลก็เพียงทำให้หน่อลดลง จึงไม่ได้จัดการอะไร สักพักมันก็หายไปเอง

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการปลูกข่าแดงคือ "การสับหน่อข่าแดงออกมาจากต้น" แม้ว่าการปลูกเพียงครั้งเดียวก็สามารถขุดหน่อขายได้ตลอดทั้งปี แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การต้องคอยขุดหน่อออกในช่วงเวลาที่เหมาะสม ถ้าไม่ขุดหน่อมาขายหรือขุดได้ไม่ทัน หน่อข่าแดงจะแก่ (กลายเป็นข่าแก่สำหรับทำต้มยำ ไม่ใช่ข่าจิ้มน้ำพริก) ถ้าต้นแก่แล้วจะต้องรอให้ข่าแดงโตจนกว่าจะออกหน่ออีกครั้ง

"เทคนิคที่ทำให้หน่อใหญ่ สมบูรณ์ สีสด และรสชาติดี คือการใส่ปุ๋ยหมัก รดน้ำหมักให้มากๆ และหมั่นตัดหน่อเพื่อควบคุมไม่ให้แต่ละกอมีจำนวนต้นมากเกินไป"

ทุกวันนี้ เอื้อยหวานเน้นว่า ควรปลูกผักที่กินเป็นหลักก่อนที่จะคิดขาย และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมชนบทส่วนใหญ่ถ้ามีของเหลือก็จะแจกกันไม่ค่อยซื้อกิน ผักที่ปลูกจึงเป็นทั้งอาหารและแหล่งรายได้สำหรับการใช้จ่ายประจำสัปดาห์ ส่วนการปลูกข้าวเป็นเงินก้อนไว้ใช้สำหรับลงทุนการผลิตต่อไป โดยหัวใจของการผลิตคือ การแบ่งปัน "บ้านเฮาถ้าขอไปปลูกก็ให้กัน"





ข้อมูลเกี่ยวกับข่าแดง

ชื่อทั่วไป / ข่า


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ / Alpinia nigra (Gaertn.) B.L., Burtt

ชื่ออื่นๆ /ข่าหยวก ข่าหลวง (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

1. ต้น /เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี มีลำต้นสีขาวอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า เหง้ามีข้อและปล้องเห็นชัดเจน ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นก้านและใบ สูงประมาณ 1-2 เมตร

2. ใบ /ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบเป็นแบบใบเดี่ยวออกสลับข้างกัน มีกาบใบหุ้มลำต้น ใบรูปรีขอบขนาน กว้าง 5-11 เซนติเมตร ยาว 20-40 เซนติเมตร เนื้อใบ 2 ข้าง มักไม่เท่ากัน ปลายแหลม

3. ดอก /ดอกออกที่ยอดเป็นช่อ ก้านดอกยาว แต่ละดอกมีขนาดเล็กสีชมพู

4. ผล /ผลมีรูปร่างรี เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 เซนติเมตร

การใช้ประโยชน์

1. ทางอาหาร /ยอดอ่อน ต้นอ่อน หน่ออ่อน ต้มกินกับน้ำพริก

(จากการสัมภาษณ์-หน่อใช้กินดิบ กินกับลาบ หรือต้มลวกจิ้มกินเป็นผัก ลำต้นเอาไปตำเมี่ยง หรือต้มกินได้ ดอกอ่อนก็กินได้)

2. ทางยา /เหง้าข่า รสเผ็ดปร่า ขับลม แก้บวม ฟกช้ำ เหง้าแก่นำมาตำละเอียด ใช้ทาบริเวณที่เป็นโรคกลากเกลื้อน หรือผสมเหล้าโรง ใช้ทาบริเวณที่เป็นลมพิษ

3. อื่นๆ /(จากการสัมภาษณ์-ข่าใช้ตำเมี่ยงประกอบพิธีกรรมทางพราหมณ์ ทำคล้ายส้มตำ แต่ใช้ข่าที่หั่นละเอียดตำจนเป็นผง นำมาเป็นเครื่องสังเวย เรียกว่า "แต่งกระทง")

ที่มา : http://www.dtam.moph.go.th/indigenous/ratchapol14/antiringworm.htm ค้นวันที่ 12 ธันวาคม 2551
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
มหาสารคาม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 450
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM