เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ข้าวโพดหวานๆ ที่ปากช่อง วันนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง
   
ปัญหา :
 
 
นั่งรถผ่านไปผ่านมาบริเวณนั้น ต้องหันมองทุกครั้ง เพราะบริเวณนั้นมีเสน่ห์ พื้นที่กว้างใหญ่ เห็นต้นพืชขึ้นอยู่อย่างเป็นระเบียบ บางคราวเห็นสปริงเกลอร์ขนาดใหญ่พ่นน้ำขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วตกลงมาผิวดินให้พืชได้ดูดไปใช้

พื้นที่กว้างใหญ่ การจัดการอย่างเป็นระบบ ดูไปคล้ายๆ แปลงเกษตรของต่างประเทศ ที่เคยเห็นในภาพยนตร์และสารคดี

ปัจจุบัน คนที่จะเข้ากรุงเทพฯ มักจอดแวะซื้อข้าวโพดหวาน น้ำข้าวโพด หากเป็นเสาร์และอาทิตย์ บ่ายแก่ๆ คนที่แวะอาจผิดหวัง เพราะของเขาหมดแล้ว

สถานที่...ที่พูดถึงคือ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่เลขที่ 298 หมู่ที่ 1 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30320 ปัจจุบันผู้อำนวยการศูนย์คือ คุณธำรงศิลป โพธิสูง

คนทั่วไป รู้จักศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ในนาม "ไร่สุวรรณ" ที่ผ่านมา พืชพรรณที่ออกจากศูนย์แห่งนี้ ลือลั่นมากๆ คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุวรรณต่างๆ ระยะต่อมาคือ ข้าวโพดหวานอินทรี 2 ปัจจุบันงานวิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่าง ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง

คุณจุไร เกิดควน หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แจ้งข่าวว่า ระหว่าง วันที่ 8-10 เมษายน 2552 มีงานประชุมวิชาการข้าวโพด ข้าวฟ่าง ครั้งที่ 34 ทางศูนย์วิจัยฯ ได้ปลูกข้าวโพดทดสอบราว 150 สายพันธุ์ จากนั้นนำเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในและต่างประเทศเข้าชมงานกัน

คุณจุไร ได้เชิญชวนไปดูแปลงข้าวโพด ที่ศูนย์วิจัยฯ ถึงแม้เคยไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยินดีร่วมเดินทางไปดูงาน เพราะทราบว่า มีอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติม



ข้าวโพดอินทรี 2

ทำเงินเข้ามหาวิทยาลัยปีละกว่า 26 ล้านบาท


รถตู้พาคณะสื่อมวลชนไปจอดใต้ต้นจามจุรี ที่แผ่กิ่งก้านสาขากินอาณาบริเวณไม่น้อยกว่าครึ่งไร่ จากนั้นเป็นเวลาน้ำชา กาแฟ รวมทั้งน้ำข้าวโพด ที่บ้านรับรอง ซึ่งเป็นอดีตบ้านพักของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เจ้าของผืนดินเดิม

คุณธำรงศิลป โพธิสูง บอกว่า ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่สังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหน้าที่วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่าง นอกจากนี้ ยังมีพืชอื่น เช่น ฝ้าย ต้นดอกคำฝอย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี สองพืชหลังนี่ปลูกเป็นบางฤดูกาล ที่ผ่านมาศูนย์ได้ร่วมวิจัยกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งเอกชน นอกจากนี้ ศูนย์ยังเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เองและมหาวิทยาลัยอื่น

ส่วนการให้ความรู้แก่เกษตรกร ก็มีการฝึกอบรมให้เกษตรกรเป็นหมู่คณะ เป็นประจำทุกปี

ระหว่างที่พูดคุยกันอยู่นั้น มีการนำน้ำข้าวโพดที่ผลิตจากข้าวโพดอินทรี 2 มาให้ชิม ทางคณะสื่อมวลชนจึงอดไม่ได้ที่จะถามถึงเรื่องข้าวโพดหวาน ซึ่งเป็นพืชพรรณที่สร้างชื่อเสียงให้กับสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก

คุณธำรงศิลป และ คุณสุรพล เช้าฉ้อง นักวิชาการเกษตร ร่วมกันให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานผลิตข้าวโพดอินทรี 2 ว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งเสริมให้เกษตรกร 57 ราย ปลูกข้าวโพด 4 ไร่ ต่อวัน (เกษตรกร 2 ราย) เพื่อให้มีผลผลิตมาจำหน่ายทุกวัน โดยมีขอบเขตการปลูก อยู่ห่างจากศูนย์ไม่เกิน 40 กิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการไปตรวจสอบแปลง เพื่อควบคุมคุณภาพ ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทางศูนย์ก็จะให้หยุดผลิต โดยรับเกษตรกรรายอื่นมาผลิตแทน

คุณสุรพล พูดถึงการจำหน่ายข้าวโพดว่า

วันธรรมดา ข้าวโพดต้มขายได้ 2 ตัน วันเสาร์และอาทิตย์ ยอดจำหน่าย 6 ตัน เป็นข้าวโพด ขนาด 3-5 ฝัก ต่อกิโลกรัม หากเฉลี่ย 4 ฝัก ต่อ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 1 ตัน มีข้าวโพด 4,000 ฝัก ดังนั้น วันธรรมดา มีคนซื้อข้าวโพดของศูนย์ 8,000 ฝัก วันเสาร์และอาทิตย์ 24,000 ฝัก ต่อวัน

หากเป็นน้ำข้าวโพด วันธรรมดาจำหน่ายได้ 5,000 ขวด วันเสาร์และอาทิตย์ วันละ 20,000 ขวด ข้าวโพดอินทรี 2 จำนวน 4-5 ฝัก ทำน้ำข้าวโพดได้ 5 ขวด

คุณธำรงศิลป บอกว่า อีกไม่นานจะมีการสร้างโรงงานแปรรูปน้ำข้าวโพดเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา มีเอกชนมาขอรับผลิตภัณฑ์น้ำข้าวโพดไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ แต่ผลิตให้ไม่พอ เพราะต้องเน้นที่คุณภาพ สำหรับรายได้จากข้าวโพดต้มและน้ำข้าวโพดปีหนึ่ง ทางศูนย์จำหน่ายแล้วนำเงินเข้ามหาวิทยาลัยปีละราว 26 ล้านบาท ยังมีรายได้จากเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่จำหน่ายในโครงการส่งเสริมเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป โดยจำหน่ายกิโลกรัมละ 500 บาท

ในโครงการส่งเสริมเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ราว 2 ตันเศษ บุคคลภายนอกสนใจซื้อปีละกว่า 10 ตัน



ลงแปลง

ดูข้าวโพดพันธุ์ดี


ก่อนอาหารเที่ยง ดร.สรรเสริญ จำปาทอง นักวิชาการ (ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด) ได้พาชมแปลงปลูกข้าวโพด ที่มีการปลูกทดสอบราว 150 สายพันธุ์ ทั้งข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดร.สรรเสริญ บอกว่า ปัจจุบันไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด อาจจะพูดได้ว่าเป็นหนึ่งในเอเชีย โดยเฉพาะข้าวโพดเขตร้อน แต่ข้าวโพดเขตอบอุ่นและเขตหนาว สู้ประเทศอื่นไม่ได้

ปัจจุบัน ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ เมื่อใดที่มีการย้ายฐานการผลิต หรือโยกกลับประเทศแม่ อาจจะทำให้ไทยหยุดชะงักได้

แนวทางหนึ่งที่ ดร.สรรเสริญ เสนอคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่บริษัทขนาดเล็ก ที่เป็นของคนไทย ทั้งนี้ ภาครัฐ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีพันธุ์แท้อยู่แล้ว เอกชนขนาดเล็กสามารถมารับพันธุ์แท้ไป เพื่อผลิตเป็นลูกผสม จะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนและมั่นคง ปัจจุบันเริ่มมีผลิตกันบ้างแล้ว

ถามว่า สายพันธุ์ข้าวโพดแห่งอนาคตจะเป็นอย่างไร

ดร.สรรเสริญ บอกว่า ต่อไปน่าจะมีการใช้พันธุ์เฉพาะฤดูกาลมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น พันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกต้นฝน พันธุ์ที่ปลูกปลายฝน หรือไม่ก็พันธุ์เฉพาะท้องที่ เช่น ปลูกภาคอีสานใช้พันธุ์นั้น ปลูกที่ภาคกลางใช้พันธุ์นี้

"ผมไปยูโกสลาเวียมา ก่อนที่จะแตก เขาผสมคัดเลือกโดยใช้ข้าวโพดคั่วผสมเข้าไป ต้นหนึ่งมี 2-3 ฝัก ผมอยากจะทำให้ข้าวโพดต้นหนึ่งมี 2 ฝัก เป็นฝักที่มีขนาดใหญ่ อาจจะปลูกห่างออกมานิดหนึ่งและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว อีกไม่นานอาจจะพอได้เห็น ตอนนี้ทำอยู่ ผลผลิตข้าวโพดบ้านเราสู้เขตหนาวไม่ได้ เขตหนาวช่วงแสงต่อวัน 14 ชั่วโมง ผลผลิตเขาไร่ละ 1,400 กิโลกรัม ของเราเมืองร้อน กลางวันสั้นกว่า พืชทำกิจกรรมน้อยกว่า ต้นเตี้ยกว่า ผลผลิตจึงน้อยกว่าเขา จริงๆ แล้ว หากเปรียบเทียบต่อปี ผลผลิตต่อไร่ไทยสู้เขาได้หากเราปลูกหลายครั้ง บ้านเขาปลูกเพียงครั้งเดียว" ดร.สรรเสริญ บอก

เรื่องของการนำเทคโนโลยีไปผลิต โดยเฉพาะการนำพันธุ์แท้ไปปลูกเป็นลูกผสมเริ่มมีบ้างแล้ว ทางศูนย์มีพันธุ์พ่อแม่ ที่เป็นพันธุ์ดีในปัจจุบันไม่น้อยกว่า 50 สายพันธุ์

เกษตรกรรายย่อยสามารถนำไปผลิตได้

ยกตัวอย่างกลุ่มเกษตรกรบ้านเขาอีด่าง อยากผลิตเมล็ดพันธุ์ดีจำหน่าย ก็รวมตัวกันไปประท้วง...ไม่ใช่สิ รวมตัวกันไปให้ทางศูนย์อบรมความรู้ให้ เมื่อได้ความรู้ ก็ติดต่อขอซื้อพันธุ์แท้มาผลิตให้ได้พันธุ์ดี เมื่อผ่านการตรวจสอบและความเห็นชอบของนักวิชาการเกษตร อาจจะตั้งชื่อเป็นข้าวโพดพันธุ์ "เขาอีด่าง 1" หรือ "เขาอีด่าง 2" ก็ได้

ที่แปลงปลูกข้าวโพด มีสายพันธุ์ที่ปลูกทดสอบอยู่จำนวนมาก ล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น



เยี่ยมชมโรงงานน้ำข้าวโพด

หลังอาหารเที่ยงเล็กน้อย คุณสุรพล ได้พาเยี่ยมชมโรงงานน้ำข้าวโพด

คุณสุรพล บอกว่า น้ำข้าวโพดที่ทำอยู่ เน้นเรื่องความสด สะอาด หากข้าวโพดค้างคืน เมื่อตรวจสอบความหวานไม่ได้ จะไม่นำมาผลิต

จุดเด่นของน้ำข้าวโพดของศูนย์ อยู่ที่สายพันธุ์ เนื่องจากใช้สายพันธุ์อินทรี 2

หลังจากฟังคำอธิบาย คุณสุรพล ได้พาเข้าชมโรงงาน สังเกตเห็นพนักงานแต่งตัวสะอาดเรียบร้อย วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็ดูดี ขณะที่เดินชมอยู่นั้น กลิ่นน้ำข้าวโพดหอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ คุณสุรพลให้ชิมน้ำข้าวโพดล้วนๆ ที่ยังไม่ได้ปรุงแต่ง หลายคนบอกว่า รสชาติดี มีเอกลักษณ์

แต่เมื่อผ่านขั้นตอนบางอย่าง ได้มีการปรุงแต่งน้ำตาลบ้างเล็กน้อย ปกติข้าวโพดมีความหวานราว 6-7 องศาบริกซ์ งานผลิตน้ำข้าวโพด ต้องการความหวานที่ 8 องศาบริกซ์

ทุกสิ่งทุกอย่างในกระบวนการผลิตไม่มีทิ้ง

เปลือกข้าวโพด มีคนมาประมูลไปให้โคนมกิน ตกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ แกนกลางข้าวโพดก็จำหน่ายได้ราคา

กากเหลือจากการปั่น ก็ราคาดีเช่นกัน

ราคาน้ำข้าวโพด ที่จำหน่ายในปัจจุบัน ที่หน้าศูนย์วิจัยฯ ราคาขวดละ 14 บาท

ผู้ที่สนใจกิจกรรมของศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ เช่น อบรมความรู้เรื่องการปลูกข้าวโพด การแปรรูปน้ำข้าวโพด รวมทั้งซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์ ถามได้ตามที่อยู่ หรือ โทร. (044) 361-770-5



ภาพรวมเกี่ยวกับข้าวโพดและข้าวฟ่าง

ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ




ข้าวโพด ในเขตเอเชียเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา เพิ่มรายได้ของภูมิภาคนี้ ถึงแม้ว่ามีประชากรที่ยากจนในเขตเอเชีย จำนวน 75 ล้านคน ที่บริโภคข้าวโพดโดยตรง แต่มีการนำข้าวโพดมาใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงหมูและเป็นอาหารสัตว์ปีก ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ผลิตข้าวโพดคิดเป็น 98% ของเอเชีย และ 26% ของโลก ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 4 ใน 5 ส่วน อยู่ในเขตอบอุ่น และเป็นผู้ส่งออกรายเดียวที่มีความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดิน การขาดแคลนน้ำ ต้นทุนปุ๋ยและน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากโลกร้อน ทำให้ต้องใช้พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงเข้าแทนที่พันธุ์เดิมอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในข้าวและข้าวสาลี และในปี ค.ศ. 2025 คาดว่าเอเชียเป็นผู้นำเข้าข้าวโพด 60 ล้านตัน

ระบบการผลิตข้าวโพดในเอเชียมีทั้งเพื่อการปศุสัตว์ในเชิงการค้าและสำหรับครัวเรือนที่ยากจน หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และงานวิจัยประยุกต์โดยมุ่งเป้าไปที่สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ช่วยรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลการตลาด จัดทำและบังคับใช้มาตรฐานอุตสาหกรรม ภาครัฐลดบทบาทการผลิตเมล็ดพันธุ์ในเชิงการค้า เนื่องจากอุตสาหกรรมภาคเอกชนมีความแข็งแรงขึ้น

พันธุ์ข้าวโพดที่ปรับปรุงและระบบการจัดการฟาร์มได้เปลี่ยนการผลิตข้าวโพดในเขตก้าวหน้า ส่วนในเขตปลูกข้าวโพดดั้งเดิมที่ใช้ข้าวโพดเป็นอาหารและมีข้อจำกัดในการให้ผลผลิต รวมทั้งความยากจนนั้นมีความท้าทายเป็นอย่างมากในการช่วยลดความยากจนดังกล่าว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความต้องการพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ทนแล้ง ต้านทานโรค และเทคโนโลยีการเขตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและนโยบายที่ช่วยในการกระจายและการยอมรับเทคโนโลยี รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ปรับปรุง

ศูนย์ปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (CIMMYT) ได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดโปรตีนสูงเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ การปลูกพืชแบบไม่ไถพรวนเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรซึ่งใช้กันแพร่หลายในเอเชียใต้ และร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (เครื่องหมาย ดีเอ็นเอ และการตัดต่อยีน) เพื่อพัฒนาข้าวโพดทนแล้งสำหรับ sub-Saharan Africa



ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยว พันธุ์อินทรี 2

ชื่อเจ้าของพันธุ์พืช : ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ1,

อาจารย์ชไมพร เอกทัศนาวรรณ2, อาจารย์นพพงศ์ จุลจอหอ1,

และ ฉัตรพงศ์ บาลลา1

หน่วยงาน : 1ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ

และ 2 โครงการจัดตั้งวิทยาเขตลพบุรี

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ประวัติการพัฒนาพันธุ์

ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยว พันธุ์อินทรี 2 ได้จากการผสมระหว่างสายพันธุ์แท้ SSWI 114 กับ KSei 14004 หรือ [(sh2 Syn 29xKS 1) x Suwan 3 (S)C4]-F4-S8-24-2-4-2-2

ลักษณะประจำพันธุ์


จากผลการทดสอบพันธุ์ จำนวน 7 ฤดู เป็นเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2537-2542) ที่ไร่สุวรรณ พบว่า พันธุ์อินทรี 2 ให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก (2,430 กิโลกรัม 9 ต่อไร่) และน้ำหนักฝักสดปอกเปลือกที่ดี (1,371 กิโลกรัม ต่อไร่) สูงกว่าพันธุ์อินทรี 1 5.7 และ 9.0% ตามลำดับ ให้เปอร์เซ็นต์เมล็ดที่ตัด 34.17% และความหวาน 15.0% องศาบริกซ์ สูงกว่า มีความนุ่มและรสชาติใกล้เคียงกัน แต่มีขนาดฝักใหญ่กว่า และมีลักษณะทางการเกษตรบางอย่างดีกว่า จากผลการทดสอบพันธุ์ในสถานีทดลองต่างๆ รวม 4 แห่ง ในฤดูแล้ง ปี พ.ศ. 2542 พบว่า พันธุ์อินทรี 2 ให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก 2,330 กิโลกรัม ต่อไร่ และน้ำหนักฝักสดปอกเปลือกที่ดี 1,540 กิโลกรัม ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์อินทรี 1 3.6 และ 3.4% ตามลำดับ ผลการปลูกทดสอบพันธุ์อินทรี 2 สำหรับโรงงานแปรรูป ในต้นฤดูฝน ปี พ.ศ. 2541 พบว่า พันธุ์อินทรี 2 ให้น้ำหนักฝักสดทั้งเปลือก 2,097 กิโลกรัม ต่อไร่ น้ำหนักฝักสดปอกเปลือกที่ดี 1,422 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตบรรจุกระป๋อง 766 กิโลกรัม ต่อไร่ ความหวาน 15% องศาบริกซ์ เนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม เมล็ดไม่ยุบตัว อยู่ได้ 2-3 วัน ฝักสีเหลือง ทรงกระบอก แถวเมล็ดเรียงตัวสม่ำเสมอ ไหมมีสีอ่อน ฝักยาว 17 เซนติเมตร กว้าง 4.5 เซนติเมตร มี 14-16 แถว มีอายุวันออกไหม 50% 48 วัน และมีความสูงต้นและฝักปานกลาง (198 และ 106 เซนติเมตร ตามลำดับ)

การถ่ายทอดสู่เกษตรกรและผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมเดี่ยว พันธุ์อินทรี 2 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 ปีละ 20 ตัน เผยแพร่ให้เกษตรกรและโรงงานแปรรูปนำไปปลูกในพื้นที่ 20,000 ไร่ คิดเป็นรายได้จากมูลค่าฝักสด ปีละ 160 ล้านบาท ถ้านำไปผลิตฝักต้มขายหรือทำน้ำนมข้าวโพด จะมีรายได้มากกว่าปีละ 500 ล้านบาท





ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมเดี่ยว พันธุ์สุวรรณ 4452

ชื่อเจ้าของพันธุ์พืช : ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ1,

อาจารย์ชไมพร เอกทัศนาวรรณ2,

อาจารย์นพพงศ์ จุลจอหอ1 และ

อาจารย์ฉัตรพงศ์ บาลลา1

หน่วยงาน : 1ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ และ

2โครงการจัดตั้ง วิทยาเขตลพบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ประวัติการพัฒนาพันธุ์

พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวมีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่และผลผลิตรวมของประเทศไทย เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอในการใช้ภายในประเทศและการส่งออก การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวให้มีผลผลิตสูงกว่าลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ สุวรรณ 3851 อย่างน้อย 10% และมีเสถียรภาพสูงในการให้ผลผลิตในสภาพแวดล้อมต่างๆ ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ สุวรรณ 4452 ได้จากการนำสายพันธุ์แท้เกษตรศาสตร์ 47 (Ki 47 หรือ KS 6 (S) C3-S8-554-2-1-2-1) ผสมกับสายพันธุ์แท้ Kei 0102 (3013-S8-57-1)

ลักษณะประจำพันธุ์

จากผลการทดสอบพันธุ์ในแหล่งปลูกข้าวโพดต่างๆ ในช่วง 4 ปี (พ.ศ. 2543-2546) พบว่า พันธุ์สุวรรณ 4452 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,151-1,430 กิโลกรัม ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุวรรณ 3851 (21.7%), ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ CP-DK 888 (27.4%), ลูกผสมเดี่ยวพันธุ์นครสวรรค์ 72 (23.8%) และพันธุ์สุวรรณ 1 (รอบคัดเลือกที่ 11, 12 และ 13), (38.4%) จากจำนวน 118 (4 ปี) 76 (4 ปี) 49 (3 ปี) และ 29 (3 ปี) การทดลอง ตามลำดับ ผลการตรวจสอบค่าสัมประสิทธิ์รีเกรซชัน (b) ของลักษณะผลผลิตในช่วง 2 ปี (พ.ศ. 2544-2545) พบว่า พันธุ์สุวรรณ 4452 ให้ค่า b อยู่ในช่วง 0.83-1.12 แสดงให้เห็นว่า พันธุ์นี้มีแนวโน้มสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เลวถึงดี พันธุ์สุวรรณ 4452 มีลักษณะทางเกษตรส่วนใหญ่ดีกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ มีอายุวันสลัดละอองเกสร 50% 54 วัน วันออกไหม 50% 54 วัน ความสูงต้น 217 เซนติเมตร ความสูงฝัก 130 เซนติเมตร ต้านทานโรคราน้ำค้าง และโรคราสนิม มีเปอร์เซ็นต์กะเทาะเมล็ด 81.9% พันธุ์สุวรรณ 4452 มีเมล็ดสีส้มเหลืองหัวแข็ง นอกจากนี้ พันธุ์สุวรรณ 4452 ยังให้ผลผลิตสูงสุดในการทดสอบพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมร่วมกันในเอเชียเขตร้อน (TAMNET) ในปี พ.ศ. 2547

การถ่ายทอดสู่เกษตรกรและผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 4452 และเผยแพร่สู่เกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครราชสีมา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 453
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM