เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ผู้ใหญ่สุภีร์ ดาหาร ทำฟาร์มเห็ดโคนญี่ปุ่น ขายกิโลกรัมละ 200 บาท
   
ปัญหา :
 
 
คุณสุภีร์ ดาหาร อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองโข่ย อยู่บ้านเลขที่ 175 หมู่ที่ 19 ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (เกษตรกรรม) จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาวิทยาเขตเกษตรลำปาง ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตลำปาง

หลังจากจบการศึกษาแล้ว ก็ไปสมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งงานที่ได้ทำส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นงานวิจัยส่งเสริมและพัฒนา หลังจากนั้นได้ไปเป็นครูอัตราจ้างอยู่ 1 ปีการศึกษา ก็หมดสัญญาจ้าง ปี 2529 ก็ไปสมัครเข้าทำงานซึ่งเป็นโครงการร่วมกับต่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นก็เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นงานโครงการของกรมวิชาการเกษตรมาตลอด จนถึงปี 2547 จึงลาออกจากงานมาทำกิจการของตัวเองอย่างจริงจัง

คุณสุภีร์ ดาหาร แต่งงานมีครอบครัวแล้วเมื่อปี 2530 กับ คุณทิพยาภา ดาหาร พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นชายทั้งหมด ซึ่งในช่วงที่ทำงานเป็นลูกจ้างของกรมวิชาการเกษตรนั้น ได้มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติงานฝึกอบรม ศึกษาดูงานทั่วทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสานไปทุกจังหวัด จากแนวคิดตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ซึ่งคิดไว้อยากมีฟาร์มเป็นของตนเอง ประกอบกับชอบงานที่เป็นอิสระ เพราะในช่วงที่ทำงานอยู่นั้นก็ได้ศึกษาอาชีพที่ได้ไปเห็นมา หาข้อดี ข้อเสียมาเปรียบเทียบกับสภาพพื้นที่ของตนเองว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งมีที่ดินประมาณ 5 ไร่ ได้ปลูกมะม่วงไว้ 2 ไร่ ส่วนที่เหลือก็ปลูกมันสำปะหลังสลับกับข้าวโพดมาตลอด

ต่อมาปี 2540 ได้นำฝรั่งมาปลูกจำนวน 100 ต้น มะขามเทศ 50 ต้น และซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอก จำนวน 2,000 ก้อน ฝรั่งที่ปลูกไว้ก็ให้ผลผลิตดี คุณภาพก็ดีในช่วงแรก แต่ก็มีปัญหาเรื่องแรงงานและต้องพ่นสารเคมีด้วย ซึ่งตนเองก็ไม่ชอบอยู่แล้ว และมะขามเทศก็มีปัญหาเช่นเดียวกับฝรั่ง

ส่วนเห็ดนั้นช่วงแรกจะเป็นเห็ดนางฟ้า โดยซื้อมาก้อนละ 4 บาท ปรากฏว่าได้ผลดีมากและก็ขายได้ราคาดี และสิ่งที่ชอบก็คือ ไม่ฉีดพ่นสารเคมี และก็ขายเห็ดได้ประมาณ 20,000 บาท หลังจากนั้นก็ได้ไปศึกษาดูงานการทำฟาร์มเห็ดจากหลายๆ แห่ง เพราะช่วงนั้นยังทำงานอยู่จึงมีโอกาสไปหลายแห่ง ซึ่งก็ได้นำข้อดี ข้อเสียของแต่ละฟาร์มมาปรับใช้กับฟาร์มของตนเอง จากนั้นก็ได้เริ่มซื้ออุปกรณ์มาเก็บไว้ พร้อมกับการศึกษาดูงานการเพาะเห็ดอยู่เรื่อยๆ และศึกษาจากหนังสือต่างๆ เริ่มหัดทำอาหารวุ้น PDA และทำหัวเชื้อและเมล็ดข้าวฟ่าง ทำช่วงแรกไม่ได้ผล แล้วก็ลองทำใหม่จนได้ผล หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์การเพาะเห็ด ประกอบกับคิดว่ามีความชำนาญจากการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาทำฟาร์มเห็ดอย่างเต็มตัว โดยในปีแรกก็เริ่มทำก้อนเชื้อเอง แต่เชื้อเห็ดได้สั่งซื้อจากที่อื่น โดยเพาะเห็ดขอนขาว จำนวน 6,000 ก้อน จำนวน 1 โรงเรือน ซึ่งให้ผลผลิตดีมาก คือเก็บผลผลิตได้ 4 เดือน คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม ซึ่งในช่วงที่เปิดดอกเห็ดขอนขาวโรงแรกนี้ ก็ได้ฝึกทำเชื้อและทำอาหารวุ้นควบคู่กันไปด้วย เมื่อเริ่มทำได้แล้วก็เริ่มซื้ออุปกรณ์ในการทำหัวเชื้อ เช่น หม้อนึ่งความดัน ถังผสม และเครื่องอัดก้อนเชื้อ ซึ่งก็ได้ทุนมาจากผลผลิตของเห็ดขอนขาวโรงแรก

เมื่อผลิตหัวเชื้อได้แล้ว ก็ได้เพิ่มการผลิตก้อนเชื้อเห็ดชนิดอื่นขึ้นอีก เช่น เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดบด เห็ดนางนวล เห็ดหัวลิง เห็ดเป๋าฮื้อ และสุดท้ายก็ได้ทดลองเพาะเห็ดยานางิ (เห็ดโคนญี่ปุ่น) ซึ่งในตอนนี้ก็สามารถผลิตหัวเชื้อเห็ดที่กล่าวมาข้างต้นได้ทุกชนิดพร้อมจำหน่าย ซึ่งการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นในช่วงแรก เมื่อได้ผลผลิตในตอนแรกแม้แต่ตนเองก็ยังไม่กล้ารับประทานสักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้เพาะแล้วก็ต้องลองดู ปรากฏว่าอร่อยดี จากนั้นก็ให้เพื่อนบ้านลองชิมดูก็มีทั้งคนกล้าและไม่กล้า แต่เมื่อได้ลองกินดูแล้วต้องขอเพิ่มอีก จากนั้นชาวบ้านก็เริ่มจะมีความคุ้นเคยกับเห็ดชนิดนี้ ลองซื้อไปทำกินที่บ้าน หลังจากนั้นจะกลับมาซื้อใหม่อีก ซึ่งในช่วงนั้นเห็ดโคนญี่ปุ่นก็เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นทั้งทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์มากขึ้น คนก็เริ่มรู้จักดียิ่งขึ้น ซึ่งผู้บริโภคในช่วงแรกก็จะเป็นผู้ที่ทำงานในสำนักงานหรือส่วนราชการต่างๆ แต่ช่วงหลังมาระดับชาวบ้านก็ซื้อไปประกอบอาหารมากขึ้น โดยมีความเชื่อว่าเห็ดชนิดนี้เป็นได้ทั้งอาหารและยา ซึ่งเห็ดโคนญี่ปุ่นนี้จะมีข้อดีก็คือ การดูแลรักษาเหมือนเห็ดนางฟ้าแต่ราคาเท่าเห็ดหอม และก็สามารถผลิตได้ทุกฤดู อายุการให้ผลผลิตแต่ละรุ่นนาน 12 เดือน รสชาติอร่อย อ่อนนุ่ม กรอบ เมื่อเทียบกับเห็ดหอมมีความกรอบมากกว่า เป็นทั้งอาหารและมีสรรพคุณทางยาด้วย แต่จะมีข้อเสียก็คือ เมื่อให้ผลผลิตแล้วจะมีระยะพักตัวนานกว่าเห็ดชนิดอื่นคือ 20-30 วัน



วิธีการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น

สูตรส่วนผสมการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น


1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม

2. รำอ่อน 100 กิโลกรัม

3. ปูนขาว 2 กิโลกรัม

4. ดีเกลือ 3 ขีด

5. พูไมท์ 2 กิโลกรัม

6. แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม

7. น้ำ 60-70%

วิธีคลุกส่วนผสมและการนึ่งฆ่าเชื้อ

นำวัสดุส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ในขั้นสุดท้ายนำน้ำมาผสมลงไปให้พอเหมาะ อย่าให้แฉะเกินไป บรรจุลงถุงอัดให้แน่น ใส่คอขวดพลาสติค รัดด้วยยางรัด แล้วนำไปนึ่ง ในอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง การจับเวลาในการนึ่งควรจับหลังจากที่มีไอน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นเส้นตรง หลังจากนึ่งเสร็จแล้วปล่อยให้เย็น แล้วนำออกจากหม้อนึ่ง นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อ



วิธีการเขี่ยเชื้อลงถุงพลาสติค

วัสดุในการเขี่ยเชื้อ

1. ขวดหัวเชื้อเห็ด

2. ตะเกียงแอลกอฮอล์

3. สำลี

4. ไม้ขีดไฟ

5. กระดาษหนังสือพิมพ์ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาด 2.5x4 นิ้ว

6. ยางรัด



ขั้นตอนการเขี่ยเชื้อ

1. จุดตะเกียงแอลกอฮอล์

2. นำขวดเชื้อมาลนไฟที่ตะเกียง

3. เช็ดมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 70%

4. นำขวดเชื้อที่ลนไฟแล้วมาแคะหรือย่อยให้หัวเชื้อละเอียด

5. หลังจากเขี่ยเชื้อลงถุงเรียบร้อยแล้ว ปิดกระดาษ แล้วรัดด้วยยางรัดทันที

6. นำก้อนที่เขี่ยแล้วขึ้นตั้งเรียงไว้เพื่อบ่มเชื้อในโรงเรือนบ่ม ใช้ระยะเวลาในการบ่มประมาณ 45-50 วัน สามารถนำไปเปิดเอาดอกในโรงเรือนได้

7. เชื้อ 1 ขวด ควรเขี่ยลงถุงได้ 32-35 ถุง



ลักษณะโรงเรือนเห็ดโคนญี่ปุ่น

ลักษณะโรงเรือนเหมือนกับการเพาะเห็ดนางฟ้านางรมทั่วๆ ไปคือขนาด 4.5x10 เมตร ด้านข้างสูงประมาณ 1.4 เมตร บรรจุก้อนเชื้อได้ 6,000 ก้อน หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบจาก ด้านข้างกั้นด้วยซาแรน 60% โครงสร้างภายในทำเป็นแผง เอียงทำมุม 75 องศาเซลเซียส การสร้างโรงเรือนควรสร้างในแนวทิศตะวันออก-ตก เพื่อการถ่ายเทอากาศได้ดี



การดูแลรักษา

หลังจากบ่มเชื้อครบ 45-50 วัน แล้วนำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเปิดดอก โดยแกะกระดาษ เขี่ยข้าวฟ่างและสำลีออกให้หมด ทำความสะอาดพื้นโรงเรือน รดน้ำให้ชุ่ม วันละ 3 เวลา คือเช้า เที่ยง เย็น เห็ดจะออกดอกได้ดี



วิธีการเก็บดอกเห็ด

ใช้มือกดปากถุงเห็ดไว้ อีกมือหนึ่งค่อยๆ ดึงดอกเห็ดออกจากถุงอย่าให้หน้าก้อนเห็ดแตก และอย่าพยายามให้มีเศษขาของดอกเห็ดปิดรูถุง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา ปิดปากถุงเห็ดกันเห็ดรุ่นต่อไปไม่ให้ออกดอกมาได้

"สำหรับราคาจำหน่ายเห็ดภายในฟาร์มมีดังนี้ ราคาดอกเห็ด เห็ดโคนญี่ปุ่น กิโลกรัมละ 150-200 บาท เห็ดบด 100 บาท เห็ดขอนขาว 60 บาท เห็ดนางฟ้า-นางรม 50 บาท เห็ดเป๋าฮื้อ 60 บาท ส่วนราคาก้อนเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่นก้อนละ 10 บาท ขอนขาว 6 บาท นางฟ้า นางรม 5 บาท เป๋าฮื้อ 7 บาท"

ในปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่ากิจกรรมหลักในสวนจะเป็นการเพาะเห็ด แต่ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำผสมผสานกันไป ซึ่งได้แก่ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากก้อนเชื้อเห็ดเก่าจำหน่าย การเลี้ยงกบ จำนวน 4 บ่อ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ จำนวน 2 บ่อ เตาเผาถ่านคุณภาพสูง จำนวน 1 เตา เพื่อผลิตน้ำส้มควันไม้ เลี้ยงหมูป่า และหมูลูกผสม พ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 4 ตัว ปลูกน้อยหน่า 50 ต้น ฝรั่ง 50 ต้น และปลูกไผ่บงหวาน จำนวน 100 กอ โดยกิจกรรมเสริมทั้งหมดนี้ได้ทำควบคู่ไปกับการเพาะเห็ด และก็ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วทุกกิจกรรม ทำให้มีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ปัจจุบันคุณสุภีร์ ดาหาร ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในหมู่บ้าน ให้เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองโข่ย หมู่ที่ 19 ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และยังให้ความร่วมมือกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองขอนแก่น ใช้ฟาร์มเห็ดของตนเองเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจโดยทั่วไป ท่านใดสนใจอยากจะเยี่ยมชมผลงานหรือสอบถามความรู้และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (081) 975-2612, (043) 261-835
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ขอนแก่น
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 453
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM