เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
คอมแพค ไนจีเรีย สุดยอดปาล์มน้ำมันแห่งยุค
   
ปัญหา :
 
 
ปาล์มน้ำมัน มีปลูกในเมืองไทยนานมาแล้ว ระยะเริ่มต้นอาจจะทำไม่จริงจัง แต่ก็ต้องชมเชยบรรพบุรุษทางการเกษตร ที่เล็งการณ์ไกล เพราะลุถึงปัจจุบัน ปาล์มน้ำมันมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจชาติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

ที่ว่าบ้านเราปลูกปาล์มน้ำมันนานมาแล้วนั้น พบปาล์มน้ำมันพันธุ์ดูร่า อายุ 88 ปี ปลูกอยู่ที่สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร บ้านบางเบิด ตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอีกที่หนึ่งอยู่ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

คนที่อยู่ในเมืองหลวง อย่างกรุงเทพฯ คุ้นเคยกับปาล์มน้ำมันดี โดยเฉพาะเกาะกลางถนน ปาล์มที่เห็นอยู่ไม่ติดผล เนื่องจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม แต่หากเป็นภาคใต้ แถบจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ปาล์มน้ำมันเขามีผลผลิตเต็มต้น บางจังหวัดนั่งรถนานเป็นครึ่งชั่วโมง ข้างทางไม่มีอย่างอื่น มีแต่ปาล์มกับปาล์ม

จริงๆ แล้ว ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจของถิ่นใต้ จนคนแถบนั้นคุ้นชินกันแล้ว แต่เมื่อ 2-3 ปี มานี้ มีการพูดถึงปาล์มน้ำมันกันมาก เนื่องจากว่าราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนเริ่มหาพลังงานทดแทน โดยมองหาพืชหลายๆ พืช แต่ศักยภาพพืชหลายชนิดไม่เหมาะสม สุดท้าย ความหวังจึงมาตกอยู่ที่ปาล์มน้ำมัน แต่ปาล์มน้ำมันนั้นมีข้อจำกัด ไม่ได้ปลูกได้ผลดีทั่วไปอย่างยางพารา หลายสิ่งหลายอย่างยังต้องเรียนรู้กันพอสมควร นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว สายพันธุ์ก็สำคัญไม่น้อย



ดูแปลงปลูกปาล์มคอมแพค ไนจีเรีย

สุดยอดปาล์มน้ำมันแห่งยุค




เคยหารือกับ คุณเอกชัย รัตนมงคล ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย บริษัท อาร์ แอนด์ ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ว่าอยากไปดูแปลงปลูกปาล์มน้ำมันสายพันธุ์คอมแพค ไนจีเรีย ที่ให้ผลผลิตแล้ว ที่จังหวัดชุมพรหรือสุราษฎร์ธานีก็ได้ เวลาผ่านไปปีเศษๆ จึงมีโอกาส วันที่ไปเป็นช่วงกลางฤดูร้อน แต่ที่ชุมพรมีฝนลงมาบ้าง มองไปทางไหนจึงเขียวขจี

จากกรุงเทพฯ ไปถึงสี่แยกปฐมพร อำเภอเมืองชุมพร เลี้ยวขวาไปราว 500 เมตร พบร้านกาแฟสด จึงจอดรอคุณเอกชัยอยู่ที่นั่น สักพักคุณเอกชัยก็มาพร้อมกับทีมงาน เป็นทีมใหญ่ เหมือนกับจะไปหาเสียง เพราะมีรถตามมาตั้งสองสามคัน

"นี่คุณดำ...เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม" คุณเอกชัย แนะนำด้วยเสียงหล่อๆ พอๆ กับหน้าตา

จากนั้นคุณเอกชัยก็นำทางไปยังแปลงปลูกปาล์มน้ำมันของคุณดำ หรือ คุณศุภชัย สุระชิต

คุณดำ อยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 8 ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86190 แต่เข้าไปปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

ก่อนที่จะถึงแปลงปลูกปาล์มน้ำมันของคุณดำ ได้ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่คุณดำปลูก นามว่า "คอมแพค ไนจีเรีย" ดูชื่อแล้ว เป็นปาล์มที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็นของประเทศไนจีเรียแน่นอน ประเทศไนจีเรียปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอันดับ 3 ของโลก อันดับ 1 คือมาเลเซีย อันดับ 2 คืออินโดนีเซีย ส่วนไทยอยู่อันดับ 4

ปาล์มคอมแพค ไนจีเรีย มีคุณสมบัติโดดเด่นตรงที่ต้นเตี้ย ทางใบสั้น การดูแลรักษาหากทำอย่างปกติทั่วไป ได้ 5 ตัน ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้นเตี้ย ยืดต้นช้า โอกาสที่ต้นจะให้ผลผลิตจึงนาน น้ำหนักของทะลายปาล์ม 18-25 กิโลกรัม เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงมาก



มีผลผลิตแล้ว มั่นใจไปได้สวย

คุณดำ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ งานเกษตรของชายคนนี้ เขาปลูกยางพารา ปลูกทุเรียน หน้าวัว เปิดร้านจำหน่ายปัจจัยผลิตทางการเกษตร รวมทั้งปลูกปาล์มน้ำมัน

เดิมทีแปลงที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกลำไยมาก่อน ลำไยจำหน่ายได้ราคาดี กิโลกรัมละ 28-30 บาท แต่ที่ผ่านมาการจัดการยุ่งยาก เมื่อมีผลผลิตต้องห่อ หากไม่ห่อ ค้างคาวรบกวน จึงหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน โดยที่สายพันธุ์ คือพันธุ์คอมแพค ไนจีเรีย ของ บริษัท อาร์ แอนด์ ดี เกษตรพัฒนา จำกัด เจ้าหน้าที่ของบริษัทส่วนใหญ่แล้วคุ้นเคยกับคุณดำ เพราะเรียนจบมาจากสถาบันเดียวกัน คือมหาวิทยาลัยแม่โจ้

"เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 ที่ตรงนี้ 25 ไร่ ตอนนี้อายุ 3 ปีเศษ เมื่อปลูกใหม่ๆ ปลูกกล้วยไข่แซม กล้วยยังอยู่ ขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท เมื่อเอาลำไยออก ระบบน้ำยังอยู่ จึงใช้ได้กับปาล์ม ปาล์มน้ำมันอาจจะต่างจากลำไย เพราะไม่ได้ใช้สารเคมี เหตุที่ปลูกพันธุ์คอมแพค ไนจีเรีย เพราะต้นเตี้ย ก็ศึกษาค้นคว้าเพราะเรียนมาทางนี้ ผู้จัดการก็เป็นรุ่นพี่ พี่เอกชัย คุณสมชาติ สิงหพล ก็เป็นเพื่อนกัน ที่ชุมพรผมถือว่าเป็นผู้ปลูกรุ่นแรกๆ ตรงนี้ปลูกราว 600 ต้น จริงๆ แล้ว โดยทั่วไปคำแนะนำให้ปลูกระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 9 คูณ 9 เมตร แต่ผมปลูก 8 คูณ 8 เมตร เนื่องจากปาล์มพันธุ์นี้ทางสั้น ใบจึงไม่ชิดกัน พื้นที่ที่ผมปลูกลาดชันพอสมควร จึงรับแสงได้ดี ตอนที่ซื้อมาปลูก ต้นพันธุ์ 150 บาท ช่วงนี้น่าจะอยู่ที่ 250 บาท ต่อต้น"

คุณดำ บอก และอธิบายต่ออีกว่า

"ปลูกครั้งแรกไม่ได้ขุดหลุมลึก ปลูกพอให้ต้นตั้งตัวได้ ไม่ได้ใส่ปุ๋ย มาใส่ปุ๋ยทีหลัง ดินตรงนี้สมบูรณ์อยู่แล้ว เมื่อปลูกไปได้ 2 ปีครึ่งเริ่มเก็บผลผลิตขายได้ ทะลายยังเล็กอยู่ ขายกลางปี 2551 ตอนนั้นขายได้กิโลกรัมละ 7 บาท ไปตรวจเช็คดูแล้วเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงมาก ตั้งแต่นั้นเริ่มเก็บเรื่อยมา 15-20 วัน เก็บครั้งหนึ่ง แรกสุดที่ผลผลิตเริ่มออก ทะลายหนึ่งได้น้ำหนัก 5 กิโลกรัม ตอนนี้ 15 กิโลกรัม อายุ 3 ปีเศษ เมื่ออายุ 5-7 ปี ผมว่าผลผลิตต้องได้ทะลายละ 25 กิโลกรัม ตามที่เขาบอกไว้ ไร่ละ 5 ตัน ผมว่าได้ แต่ต้องดูที่ปาล์มอายุ 5-7 ปี ไปแล้ว ถามเพื่อนๆ ที่เขาไปไนจีเรียมา อากาศบ้านเขาคล้ายๆ เรา"



ดูแล ไม่ยุ่งยาก

ถึงแม้เรียนจบมาจากสถาบันทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อ แต่คุณดำไม่ได้เดินตามทฤษฎีทุกอย่าง เขาปฏิบัติต่อปาล์มน้ำมันต่างจากเอกสารพอสมควร

เขาเล่าว่า ที่ดินตรงที่ปลูกปาล์ม มีความอุดมสมบูรณ์ไม่น้อย ดังนั้น เรื่องปุ๋ย เขาใส่ให้กับต้นปาล์มปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 กิโลกรัม ต่อต้น ระยะเวลาที่ใส่ให้ต้นฝนกับปลายฝน ปุ๋ยที่ใส่ให้ เป็นสูตร 12-5-21

เรื่องน้ำ ที่ชุมพร ฝนหยุดตกราว 3 เดือน เจ้าของจึงจำเป็นต้องให้น้ำ เป็นเพราะสายพันธุ์ที่ยอดเยี่ยม บวกกับการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ คุณดำมีผลผลิตเก็บทั้งปี ส่วนสวนข้างๆ ไม่ค่อยมีผลผลิตส่ง บางช่วงขาดตอนนาน

"พอใจมากที่ปลูกพันธุ์นี้ พันธุ์อื่นโตเร็ว ใบชิดและสานกัน ทางยาว หน้าแล้งไม่มีผลผลิต ของผมดูแล้วต้นสูงช้า ข้อถี่ มีผลผลิตสม่ำเสมอ ตอนนี้เก็บผลผลิตได้ครั้งละ 3 ตัน การปลูกปาล์มน้ำมัน ต้องคำนึงถึงสายพันธุ์ การจะเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น จะไปเพิ่มพื้นที่ปลูกทำได้ยาก หากที่เท่าเดิม ปลูกสายพันธุ์ที่ต้นเตี้ย ทางใบสั้น จำนวนต้นต่อไร่มาก ผลผลิตต่อต้นมาก ผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้น ผลผลิตเคยขายได้ 7 บาท สูงสุด เมื่อวานขาย 3.20 บาท ต่อกิโลกรัม หากรัฐมีนโยบายพืชพลังงานที่ชัดเจน คงดีมาก"คุณดำ บอก



เสียงจากผู้คร่ำหวอด

ในแวดวงปาล์ม


คุณเอกชัย รัตนมงคล กล่าวว่า บริษัท อาร์ แอนด์ ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศึกษาเรื่องปาล์มน้ำมัน เป็นโครงการระหว่างรัฐและเอกชน งานผลิตของบริษัท มีอาจารย์และนักวิชาการเกษตร จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้คอยให้คำแนะนำ และตรวจสอบ

"การส่งเสริมของเรา เราให้ความรู้แก่เกษตรกร เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ เพาะกล้าให้ได้ระดับมาตรฐาน ส่วนเรื่องการปลูก แนะนำตั้งแต่เริ่มแรก การดูแลรักษา หากเกษตรกรรายใดมีปัญหา เช่น ศัตรูระบาด เรื่องด้วง หนู เราก็จะส่งนักวิชาการไปให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ถึงแม้ภาคใต้จะมีการปลูกปาล์มน้ำมันมานาน แต่เกษตรกรจำนวนหนึ่งยังขาดความรู้เรื่องปาล์ม โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเราจะเพิ่มความรู้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน"

คุณเอกชัย บอก และอธิบายอีกว่า

"ที่ภาคตะวันออก ทางบริษัทร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ทำแปลงทดลองและวิจัยปาล์มน้ำมันขึ้นมา ภาคใต้มีแหล่งข้อมูลอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร อำเภอละแม จังหวัดชุมพร อย่างไรก็ตาม เรื่องข้อมูลมีการประสานงานกันตลอด ที่อีสานเริ่มมีนำไปทดลองบ้างแล้ว ภาคตะวันตก ทางบริษัทร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต ปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 200 ไร่ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่คาดว่าจะปลูกปาล์มน้ำมันได้ ทางเรายินดีไปให้คำปรึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ"

คุณสมชาติ สิงหพล ผู้จัดการฝ่ายการผลิต บริษัท อาร์ แอนด์ ดี เกษตรพัฒนา จำกัด กล่าวว่า จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในพื้นที่นาร้าง ในปี 2551 ส่วนหนึ่งปลูกทดแทนปาล์มที่อายุมากแล้ว งานปลูกทดแทนปาล์มอายุมากส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดกระบี่ เกษตรกรที่ปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ที่ประสบปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ ประกอบกับต้นผลไม้โทรมก็หันมาปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้ที่ลังเลว่าจะปลูกยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน ปรากฏว่าราคายางผันผวนมาก จึงหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน

"ปาล์มน้ำมันพันธุ์คอมแพค ไนจีเรีย เกษตรกรปลูกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ ตอนนี้ต้นที่อายุมากสุด อยู่ที่ 3.6 ปี เมื่ออายุ 7 ปี จะให้ผลผลิต 5 ตัน ต่อไร่ ต่อปี ผมเคยไปดูงานที่ประเทศเขา อากาศคล้ายบ้านเรา ช่วงแล้งปาล์มสายพันธุอื่นมีดอกตัวผู้เยอะ แต่คอมแพค ไนจีเรีย มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่แล้ว จะบอกต่อกัน เกษตรกรคนนี้เห็นคนนั้นปลูก มีผลผลิตดีก็บอกปากต่อปาก คนที่สนใจปลูกต้องดูพื้นที่ของตัวเอง เลือกพันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ สำหรับในที่นา ไม่ยกร่องไม่แนะนำให้ปลูกคอมแพค ไนจีเรีย เรื่องปัจจัยการผลิตก็ต้องดูว่ามีความพร้อมไหม สุดท้าย ดูเงินในกระเป๋าด้วย" คุณสมชาติ บอก

กระแสการตื่นตัวเรื่องปาล์มน้ำมัน มีไปหลายพื้นที่ นอกจากภาคใต้และภาคตะวันออก ที่เหมาะสมต่อการปลูกแล้ว ภาคกลางบางแห่งที่มีน้ำก็ขยายพื้นที่ปลูก เช่น ที่รังสิต ปทุมธานี ทางอีสานก็มีงานทดลองในหลายจังหวัด

ยามน้ำมันราคาไม่แพงนัก ปาล์มน้ำมันใช้เป็นอาหาร ครั้นยามน้ำมันแพง ก็นำไปเติมรถ ซึ่งปัจจุบันก็มีใช้อยู่ วันละ 1.5 ล้านลิตร (ไบโอดีเซล) โอกาสต่อไปจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ผู้สันทัดกรณี บอกว่า ปาล์มปลูกได้เป็นบางจังหวัด ต่างจากยางพารา ดังนั้น เกษตรกรที่สนใจ ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ ก่อนจะลงมือ แหล่งรับซื้อก็มีความสำคัญ

สนใจบางแง่มุม เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน ถามได้ที่ คุณศุภชัย สุระชาติ ตามที่อยู่ หรือ โทร. (081) 787-7240 คุณเอกชัย รัตนมงคล โทร. (085) 762-6897 หรือที่ บริษัท อาร์ แอนด์ ดี เกษตรพัฒนา จำกัด โทร. (081) 271-0671, (081) 968-5183

ระหว่าง วันที่ 24-26 กรกฎาคม 2552 นี้ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และนิตยสารเส้นทางเศรษฐี (เครือมติชน) จัดเสวนาเกษตรสัญจรดูงานที่จังหวัดชุมพร กำหนดการหนึ่งที่แวะกัน คือดูงานผลิตกล้าปาล์มน้ำมัน ของ บริษัท อาร์ แอนด์ ดี เกษตรพัฒนา จำกัด รวมทั้งจุดดูงานอื่นๆ ก็น่าสนใจ

ดูรายละเอียดได้ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเล่มนี้ หน้า 72
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ชุมพร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 456
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM