เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ข้าวโพดฝักสด ตลาดดีถ้าไม่ขยายพื้นที่ปลูกแข่งกัน ธนธร (ยักษ์) สมุทรชูประเสริฐ เกษตรกรคนเก่ง แนะปลูกแบบได้ผล
   
ปัญหา :
 
 
ข้าวโพดฝักสด พืชไร่เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ สถานการณ์ข้าวโพดฝักสดที่ผ่านมาค่อนข้างดี แต่มาถึงช่วงต้นปี 2552 ราคาซื้อขายข้าวโพดฝักสดลดลง ทั้งๆ ที่ตลาดผู้บริโภคยังคงต้องการต่อเนื่องมาตลอด สาเหตุที่ราคาข้าวโพดฝักสดตกลงมาก็เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ปริมาณข้าวโพดฝักสดประดังกันเข้าสู่ตลาดในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวต้นปีที่ผ่านมา

คุณธนธร หรือ ยักษ์ สมุทรชูประเสริฐ เกษตรกรคนเก่งแห่งบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลด่านมะขามเตี้ย อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ช่วงนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดฝักสดค่อนข้างลำบากสักหน่อย สาเหตุก็เพราะว่าราคาข้าวโพดฝักสดตกลงมากๆ ตกจนเกษตรกรแทบจะอยู่กันไม่ได้เลย

คุณธนธร กล่าวอีกว่า การที่ราคาข้าวโพดฝักสดตกก็เพราะพื้นที่ปลูกข้าวโพดฝักสดขยายมากเกินไป เกษตรกรทางภาคอีสาน ภาคเหนือก็หันมาปลูกข้าวโพดฝักสดมากขึ้น

"บ้านเราใครใคร่ค้า...ค้า ใครใคร่ปลูก‚ปลูก ครับ"

คุณยักษ์ กล่าวอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับบอกต่อไปอีกว่า เมื่อของล้นตลาด ราคาก็ถูก ตรงนี้เกษตรกรที่ทำอยู่ก่อนแล้วก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ดี แต่ถ้าราคาตกลงมากกว่านี้เกษตรกรเองก็อยู่ไม่ได้ต้องเลิกปลูก นี่คือชีวิตเกษตรกร

คุณธนธร หรือคุณยักษ์ กล่าวว่า ผมปลูกข้าวโพดฝักสดมา 3 ปี ที่ด่านมะขามเตี้ยแห่งนี้ ทางบ้านมีอาชีพทำไร่ข้าวโพด ตนไปทำงานในกรุงเทพฯ พักใหญ่ แล้วก็กลับมาทำไร่ข้าวโพดอีกครั้ง ที่ผ่านมาสถานการณ์ข้าวโพดพอไปได้ ต่างจากฤดูกาลหักข้าวโพดปีนี้

การปลูกข้าวโพดฝักสดนั้น คุณธนธร หรือคุณยักษ์ บอกว่า เป็นอาชีพที่น่าสนใจมาก เพราะใช้ระยะการปลูกไม่มากเท่าไหร่ เช่น ข้าวโพดหวานใช้ระยะเวลาการปลูก 70-75 วัน หักฝักขายได้แล้ว ข้าวโพดเหนียวใช้ระยะเวลา 60-65 วัน เก็บได้ ผลผลิตถ้าเกษตรกรทำข้าวโพดได้ 82 ตัน ต่อ 1 ไร่ มีกำไรแล้ว

"ที่บ้านผมปลูกข้าวโพดอยู่ 16 ไร่"

คุณธนธร หรือคุณยักษ์ กล่าวพร้อมอธิบายรายละเอียดการปลูกข้าวโพดฝักสดว่า ข้าวโพดฝักสดปลูกได้กับพื้นที่ไร่ทั่วๆ ไป แต่ต้องดูระบบการระบายน้ำให้ดี ต้นข้าวโพดขณะที่ยังเล็กๆ อยู่ ความต้องการน้ำยังไม่มากเท่าไหร่ ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่ม ฝนตกมากน้ำท่วมขัง ต้นข้าวโพดจะเสียหาย ฉะนั้นระบบการระบายน้ำต้องดีพอสมควร ข้าวโพดเล็กๆ ไม่ชอบน้ำ แต่พอโตขึ้น อายุราว 40-45 วัน ต้นจะต้องการน้ำมาก

ข้าวโพดชอบดินร่วนปนทราย หรือดินค่อนข้างเหนียว ระบบน้ำจะใช้ระบบรางยกร่องหรือระบบสปริงเกลอร์ก็ได้ แต่ถ้าเป็นระบบสปริงเกลอร์ ค่าใช้จ่ายติดสปริงเกลอร์ตกไร่ละ 4,000 บาท

การปลูกข้าวโพดฝักสดหากเป็นพื้นที่เปิดใหม่ให้ไถดะ 1 รอบ แล้วก็ไถแปร 1 รอบ ด้วยรถไถขนาดใหญ่ ใช้ผาล 3 ไถ จากนั้นก็ตากดินประมาณ 1 สัปดาห์ จึงทำร่องปลูก การทำร่องปลูกขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แล้วแต่ความเหมาะสม ช่วงตีดินกับทำร่องปลูกยังไม่ต้องใส่ปุ๋ย

พอทำร่องปลูกเรียบร้อย ปล่อยให้ดินยุบตัวพอประมาณจึงหยอดเมล็ดปลูก ตีหลุมหยอดเมล็ดละ 1 หลุม ระยะห่างต่อหลุม 30 เซนติเมตร ต่อร่อง 1.75 เซนติเมตร หลังหยอดเมล็ด 3-5 วัน เมล็ดก็จะงอก การให้น้ำอยู่ที่ความเหมาะสม ถ้าดินแห้งให้น้ำ 3 วัน ต่อครั้ง ดินเหนียว 5 วันครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพของดินว่าจะแห้งน้อยแห้งมากเพียงไร

ข้าวโพดฝักสดนิยมปลูกปลายฝนต้นหนาวราวเดือนพฤศจิกายน ต้นข้าวโพดชอบอากาศเย็นจะทำให้ติดผลดี หลังต้นกล้างอกราว 3-5 วัน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตราส่วน 2.5 กิโลกรัม ต่อไร่ จากนั้นก็ไปใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ถ้าเป็นข้าวโพดหวานให้ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อต้นข้าวโพดอายุ 30-35 วัน แต่ถ้าเป็นข้าวโพดเหนียวให้ใส่ปุ๋ยเมื่อต้นข้าวโพดอายุ 25 วัน เพราะเป็นช่วงที่ต้นข้าวโพดดึงข้อเริ่มถึงต้น ระยะนี้ถ้าต้นข้าวโพดขาดน้ำขาดปุ๋ย ต้นก็จะไม่ดึงข้อ ส่งผลทำให้ฝักเล็กไม่สมบูรณ์ ปุ๋ยที่ใส่ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 (ยูเรีย)

พอข้าวโพดอายุ 40-45 วัน ต้นจะออกไหม หรือที่เรียกว่า ออกดอก ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 15-5-25, 15-5-20 แล้วแต่เกษตรกรถนัด อัตราส่วนใส่ปุ๋ย 50 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ เพื่อเร่งฝักสร้างแป้งและน้ำตาล

คุณธนธร หรือคุณยักษ์ บอกว่า เรื่องของฮอร์โมนนั้นให้ฉีดบ้าง ควบคู่ไปกับฉีดยาป้องกันโรคใบลาย ใบกรอบ หลังปลูก 15 วัน ให้เริ่มฉีดยา ป้องกันโรคใบลาย ใบกรอบ ผสมกับฮอร์โมน และปุ๋ยเกล็ดไปพร้อมๆ กัน ฉีดพ่นให้ทั่วคลุมทั้งต้น จากนั้นอีก 7 วัน ฉีดยากับฮอร์โมนอีก 1 ครั้ง ฉีดแล้วให้สังเกตถ้าไม่มีอาการโรคเกิดขึ้นก็ไม่ต้องฉีดยาได้เลย ช่วงต้นข้าวโพดอายุ 25 วัน เป็นช่วงที่อันตรายที่สุด ถ้าผ่านระยะนี้ไปได้โดยไม่เป็นโรคใบลาย ใบกรอบ ก็หมายถึงว่าต้นปลอดภัยแล้ว เกษตรกรบางรายไม่วางใจจะฉีดยาอีกเที่ยวหนึ่ง หลังจากฉีดครั้งที่ 2 ไปอีก 7 วัน ก็ได้

สำหรับแมลงหรือหนอนเจาะดอก เจาะฝักนั้น คุณธนธร บอกว่า ให้เกษตรกรสังเกตบริเวณรอบข้างพื้นที่ปลูกข้าวโพดของเรา ว่ารอบๆ พื้นที่นั้นมีไร่ผักหรือไม่ ถ้ามีไร่ผัก สวนผัก ต้องผสมยาไล่เพลี้ยไฟไรแดงด้วย และช่วงต้นออกฝักข้าง ตามภาษาที่เขาเรียกว่า "ฝักข้างเริ่มเหน็บ" ให้เกษตรกรฉีดยาป้องกันเพลี้ยฉีดไปที่ฝักข้าง เพลี้ยไฟจะเข้าเจาะโคนฝักทำให้ฝักแห้ง ยาที่ฉีดป้องกันเพลี้ยต้องเป็นยาเย็น อย่าใช้ยาร้อนฉีดเพราะเป็นช่วงที่ดอกผสมเกสร เวลาซื้อยาเกษตรกรต้องบอกกับคนขายด้วยว่ายาป้องกันเพลี้ยไฟ ต้องเป็นยาเย็นเท่านั้น

ข้าวโพดดอกสวยฝักก็จะสวย ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ให้ดินชุ่มชื้นระยะติดฝัก ต้นข้าวโพดต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ เพื่อนำไปสร้างฝักสร้างเมล็ด อย่าให้ขาดน้ำหรือม้านน้ำ จะทำให้ฝักไม่สมบูรณ์

หลังจากติดฝักดีแล้ว เกษตรกรเบาใจได้ เมื่อเริ่มต้นดี ตอนท้ายก็สบาย ไม่ยุ่งยาก ดูเรื่องน้ำอย่าให้ขาดอย่างเดียว ไปจนถึงเก็บเกี่ยวฝัก

"เกษตรกรจะปวดหัวอีกทีก็ตอนราคาข้าวโพดไม่ดี"

คุณธนธร หรือคุณยักษ์ กล่าวและว่า สำหรับตลาดนั้นจะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงไร่ นำไปส่งตลาดกรุงเทพฯ นครปฐม และตลาดราชบุรี

หลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดหมด หากจะปลูกรุ่นต่อไปก็ให้ไถแปร 1 รอบ ไถดะ 1 รอบ ไถทั้งต้นข้าวโพดแห้งๆ นั่นแหละดี หรือจะตัดต้นข้าวโพดหลังจากหักฝัก แล้วขายให้กับผู้เลี้ยงวัวก็เป็นเงินรายได้อีกทางหนึ่ง

ต้นข้าวโพดที่ไถไปพร้อมกับตีร่องใหม่ เป็นปุ๋ยพืชสดอย่างดี ไถเสร็จพักดินไว้ 7-15 วัน จึงหยอดเมล็ดปลูกในรุ่นต่อไป

สำหรับเกษตรกรมือใหม่นั้น คุณธนธร หรือคุณยักษ์ บอกว่า ก่อนปลูกข้าวโพดต้องศึกษาเรื่องโรคและศัตรูของข้าวโพดให้ดีเสียก่อน ถ้ารู้ไม่จริง โอกาสเสียหายมีมาก อีกประการหนึ่งที่สำคัญจะมองข้ามไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ

"เพลื้ยกระสอบ ละแวกพื้นที่ที่คุณปลูกข้าวโพดนั้น มีเพลี้ยกระสอบหรือบรรดาที่แอบมาหักข้าวโพดใส่กระสอบกลางดึกเอาไปขาย พูดง่ายๆ ก็คือหัวขโมยชุกชุมหรือไม่ ถ้ามีชุกชุมก็ปวดหัวหน่อย เพลี้ยกระสอบร้ายแรงมาก รองลงมาก็คือ วัว ส่วนโรคและแมลงต่างๆ นั้น ซื้อยาฉีดก็หาย ป้องกันได้แล้ว" คุณธนธร กล่าวเตือน

สนใจจะพูดคุยกับเกษตรกรคนเก่งก็โทร.ไปคุยกันได้ที่ (083) 614-3530 เจ้าตัวบอกยินดีต้อนรับทุกท่านด้วยความเต็มใจ...สวัสดี

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กาญจนบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 456
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM