เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
นิมิตร์ เทียมมงคล กับความก้าวหน้าในการเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์
   
ปัญหา :
 
 
ขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันนี้การเพาะถั่วงอกนับเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำเงินได้เร็ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน มีข้อมูลว่าคนไทยบริโภคถั่วงอกไม่น้อยกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ต่อวัน แต่รูปแบบการเพาะถั่วงอกตัดรากและผลิตในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์จนได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ มาตรฐานประเทศไทย จากกรมวิชาการเกษตร จะมีอยู่เพียงไม่กี่รายและที่มีชื่อเสียงระดับประเทศจะเป็นของ คุณนิมิตร์ เทียมมงคล บ้านเลขที่ 98 หมู่ที่ 3 ตำบลโคกลำพาน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 1500 โทร. (036) 613-031 และ (081) 251-8285 ที่เริ่มต้นจากการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษในตะกร้าพลาสติค ประยุกต์วัสดุเพาะมาเพาะในบ่อซีเมนต์ เนื่องจากความต้องการของตลาดมีมากขึ้น



ขั้นตอนการเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์


พื้นฐานในการเพาะถั่วงอกแบบอินทรีย์นั้น คุณนิมิตร์ แนะนำว่า คนที่สนใจควรที่จะทดลองเพาะถั่วงอกโดยใช้ตะกร้าพลาสติคให้เกิดความชำนาญก่อน แล้วจึงค่อยขยายขนาดภาชนะเพาะเป็นแบบวงบ่อปูน ซึ่งมีหลักการเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนขนาดอุปกรณ์เท่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ เริ่มจากตะกร้าพลาสติคทรงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 18 นิ้ว สูงประมาณ 11 นิ้ว มีรูตาข้างรอบตะกร้า และมีรูที่ก้นเพื่อใช้เป็นที่ระบายน้ำ เมล็ดถั่วเขียวที่มีวางขายในท้องตลาดจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ ถั่วทั้ง 2 ชนิด เมื่อนำมาเพาะเป็นถั่วงอกจะมีความแตกต่างกัน ถั่วเขียวผิวมันเพาะได้ถั่วงอกที่มีขนาดต้นโต สีขาวอมเหลือง แต่จะมีการเปลี่ยนสีค่อนข้างไวเมื่อโดนลมและแสง แต่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเอาถั่วงอกใส่ถุงพลาสติคมัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้โดนลม จะคงความขาวได้นาน แต่ถ้าจะเก็บไว้บริโภคหลายๆ วัน ควรจะเก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 7 วัน สำหรับถั่วเขียวผิวดำหรือหลายคนเรียกว่า "ถั่วแขก" จะมีขนาดของเมล็ดเล็กกว่า เมล็ดมีสีดำ เมื่อนำมาเพาะเป็นถั่วงอกจะได้ถั่วงอกที่มีสีขาว มีความกรอบและรสชาติที่ดีกว่าถั่วเขียวผิวมัน แต่มีข้อเสียตรงที่ได้ต้นถั่วงอกที่มีขนาดต้นเล็กกว่า มีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่า สีของต้นถั่วงอกที่เพาะจากถั่วเขียวผิวดำจะทนต่อการเปลี่ยนสีได้ดีกว่าถั่วเขียวผิวมัน ตลาดจะต้องการถั่วงอกจากถั่วเขียวผิวมันมากกว่า เนื่องจากมีสีขาวอมเหลืองน่ารับประทานมากกว่า และก่อนที่จะเพาะควรจะคัดเลือกเมล็ดให้ดีเสียก่อน คัดเมล็ดถั่วที่แตก เมล็ดลีบ และเศษสิ่งสกปรกต่างๆ ออก (ถ้าเมล็ดไม่สะอาดหรือทำความสะอาดไม่ดี จะเป็นสาเหตุของเชื้อโรคเข้ามาทำความเสียหายได้) เมล็ดถั่วเขียว อัตรา 1 กิโลกรัม เพาะถั่วงอกได้ 6-7 กิโลกรัม



ตะแกรงรองพื้นก้นตะกร้า

จะใช้ตะแกรงพลาสติคขนาดรูตาใหญ่ ตัดให้ใหญ่ตามขนาดตะกร้าพลาสติคที่ใช้เพาะ แต่จะต้องมีขนาดของรูตะแกรง กว้าง xยาว 1x1 เซนติเมตร นำสายยางมามัดกับตะแกรงเสริมให้สูงขึ้นตามรูป จุดประสงค์ที่ยกตะแกรงเพาะให้สูงจากพื้นเล็กน้อยเพื่อให้มีการระบายน้ำเป็นไปอย่างสะดวก ตะแกรงเกล็ดปลา เป็นตะแกรงพลาสติคที่มีรูละเอียด มีขนาดของรู กว้าง x ยาว เพียง 4-5 มิลลิเมตร เท่านั้น หรือดูให้มีรูตาเล็กกว่าเมล็ดถั่วเขียว ป้องกันการหลุดร่วง ตะแกรงชนิดนี้จะมีจำหน่ายตามร้านวัสดุก่อสร้าง เมื่อเมล็ดถั่วเขียวงอกออกมาส่วนของรากจะแทงทะลุตะแกรงออกมา ส่วนของต้นจะตั้งตรง สะดวกต่อการตัดต้นถั่วงอกออกจากราก ในการเพาะถั่วงอกตัดรากไร้สารพิษต่อ 1 ตะกร้า จะใช้ตะแกรงรองพื้น 1 แผ่น และตะแกรงเกล็ดปลา จำนวน 4 แผ่น ใช้กระสอบป่านเพื่อให้ความชุ่มชื้น ประโยชน์ของการใช้กระสอบป่าน (กระสอบข้าวสาร) เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่เมล็ดถั่วเขียวที่เพาะและสามารถซักทำความสะอาดได้หลายครั้งหลังจากเพาะถั่วงอกในแต่ละครั้ง จะต้องตัดกระสอบป่านให้มีขนาดเท่ากับตะแกรงเกล็ดปลา และจะใช้จำนวน 6 ผืน ต่อการเพาะถั่วงอก 1 ตะกร้า เนื่องจากตะกร้าที่ใช้เพาะเป็นภาชนะโปร่งแสง ไม่ทึบแสงเหมือนที่เพาะในวงบ่อปูนหรือถังพลาสติคดำ ใช้ถุงดำคลุมตะกร้าพลาสติคเพื่อไม่ให้โดนแสงนั่นเอง การคัดเลือกถุงดำควรจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าตะกร้าเพาะ จะต้องตัดมุมก้นถุงดำ 2 ข้างออก เพื่อให้ระบายน้ำออกได้เมื่อมีการรดน้ำให้ตะกร้าเพาะถั่วงอก น้ำที่จะใช้ในการเพาะถั่วงอกควรเป็นน้ำที่สะอาด เช่น น้ำประปา หรือน้ำบาดาล เป็นต้น



เทคนิคในการแช่เมล็ดถั่วเขียว

ในการแช่เมล็ดถั่วเขียวเป็นขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญมาก เมื่อคัดเมล็ดที่แตก เมล็ดลีบ หรือเมล็ดที่ถูกแมลงเจาะทำลายออกด้วยมือแล้ว นำมาล้างน้ำสะอาด 2-3 น้ำ ถ้าพบเมล็ดถั่วที่ลอยน้ำขึ้นมาให้รินทิ้งไปพร้อมกับน้ำได้เลย เพราะเป็นเมล็ดเสียที่ไม่งอก ต่อมาให้เตรียมน้ำอุ่นสำหรับแช่เมล็ดถั่วเขียว ในการเตรียมน้ำอุ่นให้ใช้น้ำต้มเดือด 1 ส่วน ผสมกับน้ำเย็นธรรมดา 3 ส่วน นำเมล็ดถั่วเขียวมาแช่ในถังพลาสติคให้น้ำอุ่นท่วมเมล็ดสูงขึ้นมาสัก 1-2 นิ้ว แช่เมล็ดถั่วเขียวนาน 8 ชั่วโมง ประโยชน์ของการแช่เมล็ดในน้ำอุ่นจะช่วยในการกระตุ้นการงอกของเมล็ดถั่วเขียวได้เร็วขึ้น เมื่อแช่ครบ 8 ชั่วโมงแล้ว จะสังเกตเห็นเมล็ดถั่วเขียวพองตัวใหญ่กว่าเดิมประมาณ 1 เท่า สังเกตเห็นเปลือกหุ้มเมล็ดปริแตกออก มีตุ่มรากงอกออกมาให้เห็น รินน้ำที่แช่เมล็ดถั่วเขียวออก ล้างเมล็ดถั่วเขียวด้วยน้ำสะอาดอีก 3 น้ำ เพื่อมั่นใจในความสะอาด และมีส่วนที่เป็นเปลือกหุ้มเมล็ดถั่วเขียวก็จะหลุดออกไปบางส่วน



การตัดรากถั่วงอก

เป็นเคล็ดลับการเพาะถั่วงอกของคุณนิมิตร์

เมื่อครบ 3 คืนแล้ว เช้าขึ้นมาเราจะเปิดปากถุงดำ นำตะกร้าเพาะถั่วงอกออกมาจากถุงดำ จะพบว่าถั่วเขียวที่เราเพาะไว้นั้นงอกออกมาจนเต็มตะกร้าครบทั้ง 4 ชั้น สังเกตเห็นรากถั่วเขียวแทงทะลุตะแกรงเกล็ดปลาออกมา จะมองเห็นส่วนของต้นและรากของถั่วงอกแยกกันอย่างชัดเจน นำน้ำสะอาดใส่กะละมัง นำแผงถั่วงอกออกมาจากตะกร้า ให้คว่ำส่วนหัวของถั่วงอกลงน้ำในกะละมัง จากนั้นเราจะกระแทกแผงถั่วงอกกับน้ำเบาๆ เพื่อให้เปลือกหุ้มเมล็ดถั่วเขียวหลุดออกจากส่วนหัว จะทำให้ถั่วงอกดูสวยและสะอาดยิ่งขึ้น ในการตัดต้นถั่วงอกออกจากรากนั้น แนะนำให้ใช้มีดคมๆ ตัด ควรจะตัดฝั่งที่เป็นตะแกรงเกล็ดปลาเพราะจะตัดง่ายกว่าฝั่งที่เป็นกระสอบป่าน ตัดต้นถั่วงอกลงในกะละมังที่มีน้ำสะอาด จากนั้นใช้ตะแกรงพลาสติคตาใหญ่มาร่อนเอาเปลือกหุ้มเมล็ดออกจากต้นถั่วงอกอีกครั้ง ส่วนของเปลือกหุ้มเมล็ดจะจมลงก้นกะละมัง ร่อนเอาต้นถั่วงอกมาสะเด็ดน้ำในตะกร้าสักพัก



เทคนิคการถ่วงน้ำเพื่อให้ต้นถั่วงอกอวบอ้วน

สำหรับคนที่ชอบรับประทานต้นถั่วงอกที่อวบอ้วนก็มีเคล็ดลับและเทคนิคการถ่วงน้ำให้ต้นถั่วงอกอวบอ้วน ในคืนที่ 2 ของการเพาะถั่วงอกจะเป็นช่วงที่ต้นถั่วงอกเจริญเติบโตดีที่สุด เป็นระยะของการยืดยาวของต้นมากที่สุด และเป็นช่วงที่ต้องการน้ำและความชื้นมาก นอกจากจะรดน้ำให้ตะกร้าพลาสติค 3 เวลาแล้ว ในคืนดังกล่าวควรจะรดน้ำบนถุงดำที่ปิดตะกร้า รดจนให้น้ำขังเป็นแอ่งบนปากตะกร้า โดยน้ำหนักของน้ำจะไปกดทับต้นถั่วงอก จะส่งผลให้ต้นถั่วงอกมีขนาดของต้นอ้วนขึ้นและน่ารับประทานยิ่งขึ้น นอกจากนั้น น้ำที่เราถ่วงยังช่วยเพิ่มความชื้นให้มีมากขึ้น ในการใช้น้ำถ่วงหลังจากผ่านคืนที่ 2 ไป เมื่อเปิดดูพบว่าต้นถั่วงอกยังไม่ค่อยอ้วน ให้ถ่วงน้ำอีกครั้งในคืนที่ 3



ขั้นตอนการบรรจุถุงและการเก็บรักษา

นับเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เมื่อต้นถั่วงอกสะเด็ดน้ำแล้ว ให้รีบเอาไปบรรจุลงถุงพลาสติคทันที มัดปากถุงให้แน่น เหตุผลที่ต้องรีบบรรจุถั่วงอกลงถุงพลาสติคให้เร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้ถั่วงอกสัมผัสอากาศนานๆ ต้นถั่วงอกจะเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีเหลืองแล้วจะคล้ำดำในที่สุด ตลาดไม่ต้องการ หรือนำไปประกอบอาหารไม่น่ารับประทาน ถั่วงอกไร้รากแบบอินทรีย์ของร้าน "ศูนย์งอกงาม" จะเก็บรักษาได้นานถึง 7-10 วัน โดยไม่เหลือง และยังคงความสดและกรอบเหมือนใหม่ๆ แต่จะต้องเก็บไว้ในตู้เย็น



การเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ในวงบ่อซีเมนต์

คุณนิมิตร์ แนะนำให้ใช้วงบ่อปูน ขนาดปากกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร เมื่อคิดเป็นต้นทุน ค่าวงบ่อปูน ประมาณ 80 บาท ต่อวง ซึ่งเป็นค่าลงทุนเพียงครั้งแรกและครั้งเดียว (เพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์เพียงครั้งเดียวจะได้ค่าวงบ่อปูนคืนแล้ว) หลักสำคัญ 3 ประการ ที่จะทำให้การเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ประสบความสำเร็จคือ หนึ่ง เมล็ดพันธุ์ถั่วดี คือมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง สายพันธุ์ถั่วเขียวที่คุณนิมิตร์แนะนำคือ สายพันธุ์ "กำแพงแสน 2" เนื่องจากเป็นถั่วเขียวผิวมัน เมล็ดใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง ทำให้ถั่วงอกที่เพาะออกมาต้นโต ยาว อวบอ้วน น่ารับประทาน สอง ภาชนะที่เพาะต้องทึบแสง มีการระบายน้ำดี เช่น การเพาะถั่วงอกในตะกร้า ก็เอาถุงดำมาคลุมแล้วเอาไว้ในห้องที่มืด หรือเพาะในวงบ่อซีเมนต์ที่ปิดปากบ่อให้มืด เป็นต้น สาม มีการให้น้ำอย่างเหมาะสมและเพียงพอที่จะทำให้ถั่วงอกที่เพาะไม่เกิดความร้อนที่สะสมมากเกินไป วิธีสังเกตง่ายๆ ว่ามีความร้อนสะสมหรือไม่ โดยให้ผู้เพาะใช้มือสัมผัสเมล็ดถั่วเขียวชั้นบนสุดว่า รู้สึกร้อนหรือไม่ และการให้น้ำแต่ละครั้งจะต้องไม่มีไอจากความร้อนขึ้นมา เพราะถ้าตะกร้าหรือวงบ่อปูนที่เพาะถั่วงอกมีความร้อนสะสมมากไป ก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของถั่วงอก จะทำให้ลำต้นเล็ก ไม่อวบอ้วน ทำให้ถั่วงอกมีรากฝอยมาก และไม่น่ารับประทาน

การผลิตถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ ใน 1 วงบ่อปูน จะใช้เมล็ดถั่วเขียว ประมาณ 1.8 กิโลกรัม ต่อวงบ่อปูน เมื่อเพาะแล้วจะได้ถั่วงอก 10-12 กิโลกรัม เอกลักษณ์ของถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์ ต้นยาวและขาว มีรสชาติหวาน กรอบ (หลายคนรับประทานเหมือนมันแกว ไม่เหม็นเขียว) เก็บไว้ได้นาน หากใส่ถุงมัดปากถุงในอุณหภูมิปกติจะเก็บไว้ได้ราว 3 วัน แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็น จะเก็บไว้ได้นานราว 7-10 วัน



หนังสือ "การเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ "การปลูกมะเดื่อฝรั่งในเชิงพาณิชย์" รวม 124 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดสแตมป์มูลค่ารวม 50 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ลพบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 458
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM