เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช รอง ผกก.สภ.หนองเสือ ปทุมธานี ปลูก "มะลิ" และ "มะเม่า" สร้างรายได้รายวัน และรายปี
   
ปัญหา :
 
 
เรื่องราวของ "มะเม่า" หรือ "หมากเม่า" ไม้ผลยืนต้นพืชท้องถิ่นอีสาน ที่สวนของ พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช รองผู้กำกับการตำรวจหมู่ที่ 9 ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานีนั้น "นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน" ได้นำเสนอการนำเอาต้นมะเม่าพืชถิ่นอีสานมาปลูกในเขตอำเภอหนองเสือ เก็บผลมาแปรรูปเป็นไวน์มะเม่า และน้ำผลไม้มะเม่าเพื่อสุขภาพไปแล้วนั้น ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจไปพูดคุยกับท่านรองฯ วิญญู เป็นจำนวนมาก

สวนมะเม่า หรือหมากเม่า ในเนื้อที่ 50 ไร่ เป็นสวนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในโลกก็ว่าได้ เจริญเติบโตติดผลดกดีทุกปี ผลมะเม่าในแต่ละรุ่นถูกนำไปบ่มเป็นไวน์มะเม่าชั้นดี และน้ำผลไม้มะเม่าเพื่อสุขภาพเรื่อยมา ผลิตแทบไม่ทันต่อความต้องการของตลาดเลยทีเดียว

ล่าสุด "นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน" ได้ไปเยี่ยมเยือนสวนมะเม่าของรองฯ วิญญูอีกครั้ง เพราะทราบว่า รองฯ วิญญูปลูกมะลิร้อยมาลัยเพิ่มขึ้นอีกแปลงในพื้นที่ที่ว่างเปล่าด้านหลังถัดจากแปลงมะเม่า

เมื่อไปถึง รองฯ วิญญูออกมาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมพาชมแปลงมะลิที่ปลูกอยู่ด้านหลังระหว่างผ่านสวนมะเม่า ซึ่งขณะนั้นกำลังติดผลดกเต็มต้น ผลใกล้แก่จัด เตรียมเก็บได้แล้ว เป็นผลิตผลที่น่าภูมิใจของเจ้าของสวนเป็นอย่างมาก รองฯ วิญญู บอกว่า

"มะเม่ายิ่งปลูกยิ่งดก ปีนี้ติดผลดีมากๆ มีบริษัทเข้ามาขอรับซื้อผลเอาไปทำไวน์ ส่วนน้ำผลไม้มะเม่าก็จะเอาไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่มต่อไป ตอนนี้กำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นแล้ว ใครได้ชิมต่างก็ติดใจ ยอมรับในรสชาติของการเป็นน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ"

พอผ่านพ้นแปลงมะเม่าที่ปลูกในเนื้อที่ 50 ไร่ ก็เห็นแปลงมะลิที่ปลูกอยู่บนสันร่องสวนมีน้ำล้อมรอบ ร่องสวนนี้เคยใช้ปลูกส้มมาก่อน พอส้มไม่ได้ผล ก็เปลี่ยนมาปลูกผักและปลูกไม้ผลกับปลูกมะลิดังปัจจุบันนี้

มะลิในสวน รองฯ วิญญูปลูกในเนื้อที่ 15 ไร่ รอบๆ บริเวณพื้นที่ทั้งหมดที่มีประมาณ 70 ไร่ รองฯ วิญญูเอาพันธุ์ฝรั่งลงมาปลูกโดยรอบ ทำให้ในสวนนี้นอกจากมีมะเม่า มะลิแล้ว ยังมีฝรั่ง ไม้ผลอีกชนิดหนึ่งด้วย

การที่ต้องปลูกมะลิไม้ดอกอีกอย่างหนึ่งนั้น รองฯ วิญญู กล่าวว่า หลังจากที่ปลูกมะเม่าได้ผลดี ก็มาคิดว่าน่าจะหาพืชมาปลูกเพื่อมีรายได้เป็นรายวันเข้ามาอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ก็เนื่องจากมะเม่าติดผลปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น พอเก็บมะเม่าหมดก็ไม่มีพืชหลักที่ทำรายได้อีก จึงมองเห็นมะลิที่สามารถเก็บดอกได้ทุกวัน จึงสนใจไปศึกษาเรื่องราวของมะลิอย่างจริงจัง

"ไปขอวิชาความรู้การปลูกมะลิจากเกษตรกรชาวสวนแถวนครชัยศรี ศึกษาจนมั่นใจว่าทำได้ ก็ซื้อต้นพันธุ์มะลิที่เป็นกิ่งชำจากแหล่งไม้ดอกไม้ประดับคลองสิบห้า นครนายก"

รองฯ วิญญู กล่าวและว่า พอได้ต้นพันธุ์มะลิมา 7,000 ต้น ราคาต้นละ 1 บาทกว่า ก็สั่งให้คนงานปรับพื้นที่ร่องสวนแล้วเอาต้นพันธุ์มะลิลงปลูกทันที ไม่ต้องรีรอ ไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น คิดจะปลูกก็ลงมือปลูกเลย ปลูกทั้งๆ ที่ไม่เคยปลูกและไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ฟังแค่เขาอธิบายมาเท่านั้นก็ปลูกเลย

ให้คนงานลงกิ่งพันธุ์ระยะห่าง 50x50 เซนติเมตร จนเต็มพื้นที่ รองฯ วิญญู บอกว่า หลังปลูกเสร็จก็ให้หัวหน้าคนงานซึ่งพอจะมีความรู้เรื่องการทำสวนเกษตรบ้างคอยดูแล สั่งกำชับให้รดน้ำใส่ปุ๋ยสม่ำเสมอ ปุ๋ยที่ใส่ใช้ปุ๋ยมูลค้างคาวที่ตนนำออกมาจากถ้ำผลิตขาย เรียกว่าทำเองใช้เอง ใส่ปุ๋ยมูลค้างคาวทุก 15 วันครั้ง ใช้วิธีใส่น้อยๆ แต่บ่อยครั้ง การให้น้ำก็ใช้เรือรดทุกวัน

มะลิจะแตกพุ่มออกมาเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็สามารถเก็บดอกขายได้แล้ว พอเก็บดอกครั้งแรกก็สามารถเก็บครั้งต่อๆ ไปได้ทุกวัน มะลิจะทยอยติดดอกให้เก็บตลอด ส่งขายร้านรับซื้อขาประจำที่ตลาดไท เป็นรายได้รายวันที่ทำได้สมเจตนารมณ์

รองฯ วิญญู กล่าวว่า มะลิเป็นพืชปราบเซียนที่ว่าแน่ๆ ล่มมามากแล้ว สาเหตุเพราะสู้กับหนอนเจาะดอกไม่ไหว ที่สวนตนก็เจอเหมือนกัน ปลูกใหม่ๆ พอต้นติดดอก โดนหนอนเจาะดอกเล่นงาน ให้คนงานฉีดสารเคมีคลุมหนอนเจาะดอกอย่างหนัก ฉีดจนคนฉีดจะแย่ก่อนหนอน

พอดีมีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านสนใจในเรื่องการผลิตน้ำหมักชีวภาพไล่แมลง และสูตรต่างๆ พอท่านรู้เรื่องก็ให้น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพไล่หนอนมาให้ทดลองฉีดดู ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ฉีดใหม่ๆ หนอนจะเบาบางลง ไม่ถึงกับหมดทีเดียว จะค่อยๆ หายไป จนทุกวันนี้ต้นมะลิในสวนไม่มีหนอนเจาะดอกรบกวนอีกแล้ว ใช้เวลา 3 เดือน ล้างสารเคมีออกจากต้นมะลิเปลี่ยนมาใช้จุลินทรีย์ชีวภาพแทน

"ผมกล้าพูดได้เลยว่า มะลิในแปลงผมปลอดสารเคมีโดยสิ้นเชิง อาจารย์ท่านนั้นถึงกับเด็ดดอกมะลิมาเคี้ยวเล่นเลย"

สิ่งที่ใฝ่ฝันในการทำสวนเกษตรปลอดสารเคมีเป็นจริงขึ้นมา รองฯ วิญญู บอกว่า ดอกมะลิที่เก็บส่งตลาดทุกวันนี้ดอกใหญ่ ขาวสด กลิ่นหอม ผู้ซื้อไปร้อยมาลัยบูชาพระก็ไม่เกิดอันตราย ผู้ที่ชอบซื้อมาลัยประดับไว้หน้ารถยนต์ก็สบายใจ ไม่ต้องสูดเอาสารเคมีเจือปนเข้าไปด้วย

รองฯ วิญญู กล่าวอีกว่า ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้มะลิเจริญเติบโตให้ผลผลิตดอกใหญ่ นั่นก็คือ ที่สวนใช้ปุ๋ยมูลค้างคาว

"ปุ๋ยมูลค้างคาวนั้นผมไปเอามาจากในถ้ำค้างคาว มาผ่านกระบวนการตากและป่น ปั้นเม็ด และบรรจุถุงจำหน่ายเองเลย"

รองฯ วิญญู กล่าวและว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตนมีโอกาสไปเที่ยวถ้ำที่แถวปากช่อง พบว่าในถ้ำมีค้างคาวเยอะมาก พื้นที่ถ้ำอัดแน่นไปด้วยมูลค้างคาวผสมกับเศษหินปูน ซากค้างคาวที่ทับถมมานานจนเป็นหิน เขาเรียกว่า "ฟอสเฟต" จึงได้ติดต่อขออนุญาตนำเอามูลค้างคาวออกจากถ้ำมาบรรจุถุงจำหน่ายเกษตรกร ได้รับใบอนุญาตถูกต้องทุกประการ

เมื่อนำบรรจุถุงใช้เครื่องหมายการค้าตรา "ค้างคาวแดง" จำหน่ายเรื่อยมา แต่เนื่องจากตนรับราชการตำรวจ เวลาว่างที่จะไปติดต่อส่งปุ๋ยแทบไม่มี ไหนจะต้องดูแลสวนอีก ปุ๋ยมูลค้างคาวจึงจำหน่ายในวงแคบเฉพาะที่รู้จักเท่านั้น

พอได้ทำสวนเกษตรก็เอาปุ๋ยมูลค้างคาวที่ทำอยู่นี่แหละมาใส่ต้นไม้ ปรากฏว่าได้ผลดีมากๆ เพราะปุ๋ยมูลค้างคาวมีธาตุอาหารสูงอยู่แล้ว เกษตรกรชาวสวนรู้จักดี ใส่ไม้ผลทำให้ผลไม้มีรสชาติดีขึ้น ใส่ไม้ดอกก็ได้ดอกสวยและดกจากปุ๋ยมูลค้างคาวและจุลินทรีย์ชีวภาพสูตรไล่แมลงมารวมกัน จึงทำให้พืชผลในสวนให้ผลผลิตดี ติดผลดก ออกดอกใหญ่และสวย

รองฯวิญญู บอกว่า ทุกวันนี้มีกลุ่มเกษตรกรเดินทางมาดูสวนตลอดเวลา ก็ยินดีต้อนรับทุกท่าน เรื่องของปุ๋ยมูลค้างคาวนั้นจำหน่ายในนามของวิสาหกิจชุมชนหนองเสือ สนใจจะเที่ยวชมสวน อยากจะได้ข้อมูลหรือจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันก็เชิญโทร.มาคุยกันได้ที่ (081) 559-2929 ยินดีต้อนรับ

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ปทุมธานี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 458
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM