เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มุมชีวิต ?กิ้งกือ? ขุมทรัพย์ชีวภาพหลากสายพันธุ์
   
ปัญหา :
 
 
ไทยเจ๋ง พบ กิ้งกือ 12 ชนิดใหม่ ครั้งแรกของโลก!!?

หัวข้อข่าวที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับให้ความสนใจกับผลงานของทีมนักวิจัยไทย ที่ค้นพบกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ของโลก จำนวน 12 ชนิด ซึ่งผ่านการเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลกิ้งกือต้นแบบในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และได้รับการยอมรับจนลงบันทึกใน ZOOTAXA วารสารที่มีชื่อเสียงทางสัตววิทยาของโลก และได้มีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยแล้ว ได้แก่ กิ้งกือเหลืองเท้าส้ม กิ้งกือน้ำตาลหลังส้ม กิ้งกือเทาหลังแดง กิ้งกือเหลืองเท้าชมพู กิ้งกือน้ำตาลเท้าส้ม กิ้งกือปลอกน้ำตาลแดง กิ้งกือดำเท้าชมพู กิ้งกือปลอกเหลืองน้ำตาล กิ้งกือเหลืองดำ กิ้งกือน้ำตาลหลังเหลือง กิ้งกือฮอฟแมน และกิ้งกือดีมาง นอกจากนี้ ยังมีกิ้งกือที่คาดว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 30 ชนิด ซึ่งหมายความว่าน่าจะมีกิ้งกือกระบอกในไทยรวมกันมากถึง 50 ชนิด

งานนี้ไม่เพียงเป็นผลงานที่นำความภาคภูมิใจแก่นักวิจัยไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ พร้อมเปิดมุมมองชีวิตของสัตว์ร้อยขาอย่าง ?กิ้งกือ? ที่หลายคนขยะแขยง ให้ได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า เจ้าสัตว์น่ารังเกียจชนิดนี้จะมีนักวิจัยจากทั่วโลกให้ความสำคัญ ขณะที่คนไทยมักจะเหยียบย่ำ หรือทำลายชีวิตมันเมื่อพบเห็น...

เช่น ที่อำเภอหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงจะตักเจ้ากิ้งกือเป็นร้อยพันชีวิต ทิ้งลงในแม่น้ำเพื่อทำลาย ทั้งที่พวกมันกำลังหนีตายจากสภาพน้ำในดินสูง และกำลังอยู่ในช่วงฤดูกาลหาคู่ผสมพันธุ์บนผิวดิน ปรากฏการณ์นี้ชาวบ้านมองว่าเป็นสภาวะ ?กิ้งกือระบาด!!? และหวั่นกลัวว่าจะทำลายพืชผลในสวนเสียหาย จึงต้องกำจัดให้สิ้นซาก

แต่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัยกิ้งกือไทย

บอกว่า ?เอากิ้งกือไปทิ้งน้ำ เท่ากับเอาเงินไปเททิ้งเลยนะนั่น...!!?

ที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะ กิ้งกือ คือผู้ย่อยสลายขยะให้เป็นดินชั้นเลิศ มันจะกัดกินเศษซากพืชที่ร่วงหล่นพื้นและย่อยสลายออกมาเป็นมูลก้อนกลม ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุเช่นเดียวกับปุ๋ย ซึ่งได้ผ่านการวิเคระห์เบื้องต้นแล้วว่า มูลกิ้งกือมีธาตุอาหารครบทั้ง NPK และมีการดำรงชีวิตที่เอื้อประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยแท้ จึงไม่ผิดนักหากเปรียบเทียบเจ้ากิ้งกือว่าเป็น ?ขุมทรัพย์ชีวภาพในดิน? ที่หลายคนมองข้ามไป

?กิ้งกือ เป็นสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งที่พบมากในประเทศไทย และมีหลายแบบด้วยกัน เช่น กิ้งกือกระบอก เป็นกิ้งกือที่คนทั่วไปคุ้นเคย และพบบ่อยที่สุด กิ้งกือยักษ์ กิ้งกือมังกร กิ้งกือตะเข็บ กิ้งกือกระสุน กิ้งกือเหล็ก กิ้งกือขน ซึ่งกิ้งกือแต่ละชนิดล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ทั้งสิ้น เนื่องจากกิ้งกือจะกินซากพืช และลูกไม้ ผลไม้ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร นั่นคือ ทำหน้าที่เป็นเทศบาลกำจัดขยะ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศ ช่วยให้กล้าไม้รวมถึงต้นไม้ในป่าเจริญเติบโตจนสามารถสร้างผลผลิตให้กับคนไทยมาช้านาน? ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ทีมวิจัยทำการสำรวจกิ้งกือและพบเจอกับชาวบ้านบริเวณดังกล่าว ศ.ดร.สมศักดิ์ ได้อธิบายให้ชาวบ้านได้เข้าใจและเห็นถึงคุณประโยชน์ของกิ้งกือ ซึ่งได้รับความเห็นด้วยจากชาวบ้านส่วนหนึ่ง พวกเขานำมูลกิ้งกือไปหยอดลงถุงกล้าต้นไม้ที่เพาะไว้ ผลปรากฏว่าได้ผลดี จึงยอมรับ แต่ ศ.ด.ร.สมศักดิ์ ก็บอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่สนใจ ด้วยมองว่าเป็นวิธีการที่ล่าช้า สู้การใช้ปุ๋ยเคมีที่คุ้นเคยไม่ได้

ส่วนเหตุผลที่ชาวบ้านบอกว่า กลัวกิ้งกือมันกัด ยิ่งเป็นเหตุผลที่อาจต้องคิดใหม่?

?การที่ชาวบ้านโกยกิ้งกือใส่บุ้งกี๋แล้วเททิ้งลงแม่น้ำโขงเลย เท่ากับให้มันตายไปโดยไร้ค่า น่าเสียดาย มันอาจจะเข้าบ้าน แต่พอไปถามชาวบ้านเข้าจริงๆ ก็ไม่เห็นมีใครบอกว่าเคยโดยกัดเลย แค่มันไปแตะตัวก็โวยวายกันแล้ว ก็เลยบอกไปว่าอย่าไปฆ่ามันเลย เอาง่ายๆ แค่ทำคอกกั้นไว้ไม่ต้องไปสัมผัสมันมาก พอมะม่วง ขนุน ตกลงมาก็ให้มันกินของมันไป แล้วก็ค่อยกวาดเอาไอ้เม็ดกลมๆ หรือมูลของมันไปใช้เป็นปุ๋ย ยังไงกิ้งกือก็เป็นประโยชน์ผมกล้าฟันธง?

นอกจากเหตุผลแง่พฤติกรรมแล้ว ศ.ดร.สมศักดิ์ ยังบอกเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องยากที่กิ้งกือจะกัดคนว่า กิ้งกือ เป็นสัตว์ประเภทกินซาก มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่อาศัยอยู่บนต้นไม้เพื่อกินเปลือกไม้ มันจึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาอวัยวะสำหรับการล่า เหมือนกับตะขาบ หรืองู ดังนั้น กิ้งกือ จึงไม่มีพิษ และไม่มีเขี้ยวสำหรับกัด แต่จะมีแผ่นฟันลักษณะคล้ายช้อนตักไอศครีม ซึ่งกัดแทะได้เฉพาะซากพืชเท่านั้น

และกลไกการป้องกันตัวของกิ้งกือ คือการปล่อยสารเคมีออกจากร่างกาย เรียกว่าสารเบนโซควิโนน และบางชนิดจะปล่อยสารไซยาไนด์ แต่กลไกการป้องกันตัวเบื้องต้นของกิ้งกือที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือ การขดตัวเป็งวง โดยให้ส่วนหัวอยู่ด้านใน ให้เปลือกแข็งของลำตัวทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกัน เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากิ้งกือไม่มีกลไกที่จะทำร้ายคนได้เลย และข่าวลือเรื่องการกัดผิวหนังมนุษย์จนสามารถวางไข่นั้น ไม่มีความเป็นไปได้แต่อย่างใด เนื่องจากมนุษย์มีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าธรรมชาติไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนกิ้งกือเลยสักนิด

ความเข้าใจพฤติกรรมทางธรรมชาติของกิ้งกือที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ อาจทำให้คนทั่วไปมองสัตว์ชนิดนี้ไปทางที่ดีขึ้นไม่มากนัก เพราะลักษณะรูปร่างตัวเป็นปล้อง มีขามากมายไต่กันยั้วเยี้ยะของกิ้งกือยังคงสร้างความขนลุกให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย แต่จากการได้เข้าชมนิทรรศการ ?ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต? ที่โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ โครงการ BRT ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ TK Park นำผลงานของทีมวิจัยกิ้งกือไทยจัดแสดงตลอดเดือนมิถุนายน ทำให้พบว่ากิ้งกือมีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากกว่าที่คิด บางชนิดมีลักษณะเด่นอยู่ในตัว แต่บางชนิดกลับมีรูปร่างที่ต่างออกไป แถมยังมีสีสันสวยงาม โดยเฉพาะ ?กิ้งกือกระสุน? ที่มีสีสันสดใส เมื่อขดตัวมันตัวกลมดิ๊กคล้ายเปลือกหอย บางคนบอกว่าคล้ายลูกปัดดีๆ นี่เอง

?หากเทียบกับในต่างประเทศถือว่าบ้านเรามีกิ้งกือหลากหลายมาก อย่างที่เดนมาร์กมีกิ้งกือทุกชนิดรวมกันแค่ 27 ชนิด แต่ถ้าเรารวมกิ้งกือทุกชนิดทุกสายพันธุ์ของประเทศ จะพบว่าเรามีอยู่มากถึง 105 ชนิด 500 สายพันธุ์ ซึ่ง 12 ชนิด ที่ค้นพบใหม่นี้จัดอยู่ในประเภทของกิ้งกือกระบอกหางแหลมเท่านั้นเอง เรายังมีกิ้งกือตะเข็บ กิ้งกือกระสุน กิ้งกืออื่นๆ อยู่ในประเทศอีกเป็นมหาศาล ซึ่งมีลักษณะรูปร่างต่างกันออกไป อย่างกิ้งกือกระสุนเป็นชนิดที่มีความสวยงามมาก มีคนสนใจอยากเลี้ยงเยอะ แล้วก็กิ้งกือยักษ์ มีชาวบ้านสนใจ ขอไปให้ลูกเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ผมก็มองว่าดีกว่าไปเอาสัตว์จากต่างประเทศมาเลี้ยงเสียอีก?

หัวหน้าทีมวิจัยบอกมาเช่นนี้ ก็เข้าทางผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก เพราะความสวยงามของกิ้งกือกระสุนดูน่ามองกว่าแมลงสาบยักษ์ หรือสัตว์ต่างแดนบางชนิดที่เคยได้เป็นที่ฮือฮา...แต่หลายคนก็คงสงสัยว่า ?แล้วจะเลี้ยงกิ้งกือเป็นสัตว์เลี้ยงได้อย่างไรกันนี่???

ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกว่า ไม่ยากเลย สามารถเลี้ยงกิ้งกือในตู้อะคลีลิกใสเช่นเดียวกับที่มีการจัดแสดง หรือใส่ภาชนะที่มีการระบายอากาศแล้วตกแต่งจำลองให้ใกล้เคียงธรรมชาติ ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ?ดิน? แต่ควรเป็นดินชนิดเดียวกับดินปลูกต้นไม้ ไม่ควรเลี้ยงบนกระดาษหนังสือพิมพ์ เพราะกิ้งกือต้องอาศัยความชื้นและมันจะกินแร่ธาตุในดินด้วย ส่วนบรรดากิ้งกือในความดูแลของ ศ.ดร. สมศักดิ์ พวกมันได้ใช้ชีวิตอยู่กับดินสูตรพิเศษของเขาเอง โดยมีส่วนผสมของมูลวัว 1 ส่วน ดินร่วน 10 ส่วน ผสมกับดินดำและผงหินปูน หรือผงแคลเซียมคาร์บอเนตที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด เพื่อเป็นอาหารให้กิ้งกือนำไปใช้สร้างเปลือกแข็ง ส่วนการให้อาหารก็เพียงวางผลไม้สุกไว้เท่านั้น ใน 1 กล่อง สามารถเลี้ยงหลายตัวได้ แต่ควรเลือกเลี้ยงเฉพาะกิ้งกือชนิดเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยของกิ้งกือที่มีขนาดเล็กกว่า

?หากวันใดไม่พบกิ้งกือ นั่นหมายความว่า ความอุดมสมบูรณ์ในดินก็กำลังจะหมดไปเช่นเดียวกัน เพราะจากที่ผมได้เปรียบเทียบในพื้นที่ที่มีการทำลายหรือใช้สารเคมีมากๆ บริเวณนั้น จะไม่ค้นพบกิ้งกือเลย เพราะมันไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เราต้องเข้าใจว่ากิ้งกือแทบทุกชนิด รักชีวิตเหมือนพวกเรา มันจึงต้องหลั่งสารออกมาป้องกันตัว ไม่ให้ศัตรูหรือเชื้อโรคเข้ามากร้ำกรายแต่ไม่ฤทธิ์เป็นอันตรายกับคน ผู้ล่าหรือเชื้อโรคที่เข้ามาถึงตัวกิ้งกือก็จะถูกป้องกันจากสารนี้ก่อน เพราะมันมีขามากก็จริง แต่มันเกาหรือป้องกันตัวด้วยขาไม่เป็น กิ้งกือเปรียบเสมือนโรงงานที่เข้าไปแปรสภาพให้ของไร้ประโยชน์มีมูลค่า เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดทำร้ายมันเลย? นักวิจัยกิ้งกือไทยกล่าว

อาจไม่ต้องเอ็นดูถึงขนาดนำมาเลี้ยงในตู้อย่างรักใคร่...แค่พบเห็นแล้วไม่ไปทำร้ายกิ้งกือไทยก็เพียงพอ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 458
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM