เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา กับแนวทางการเลี้ยงมดแดงอย่างมืออาชีพ
   
ปัญหา :
 
 
"มด ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความสุดยอดในเรื่องของความสามัคคี ความรับผิดชอบ ความรัก มีน้ำใจ ความขยัน ความอดทน และทรงพลัง ด้วยเหตุนี้ ทำให้มดสามารถปกป้องครอบครัวและสร้างอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่ สามารถครอบครองพื้นที่ได้มากมายมหาศาล ทำให้ศัตรูธรรมชาติไม่กล้าเข้ามาทำร้าย เรื่องราวเหล่านี้ของมดมีมายาวนานหลายล้านปี หรืออาจกล่าวได้ว่ามีมาก่อนมนุษย์เสียอีก แม้จะอยู่บนโลกมายาวนานเท่าใดก็ตาม ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่กับมดอย่างเหนียวแน่น ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย การดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนมดมีสมองคล้ายมนุษย์ มีความคิด ฉลาด แต่แท้จริงแล้ว สิ่งต่างๆ ที่เกิดกับมดเป็นเพียงการเรียนรู้ที่มีการสะสมและเกิดขึ้นมาหลายล้านปี รวมถึงสัญชาตญาณของมดอีกด้วย จนทำให้บางครั้งดูเหมือนว่ามดนั้นคิดเป็นและฉลาดกว่ามนุษย์เสียอีก เพราะสามารถรักษาสิ่งดีๆ เหล่านี้เอาไว้ตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย" นี่คือ เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความ เรื่อง "กองทัพมดช่วยกู้วิกฤติเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร" ที่เขียนโดย รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา จากภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. (02) 579-0176, (089) 694-8650

รศ.ดร.เดชา บอกว่า หลายคนแสดงอาการแปลกใจว่า มดตัวน้อยๆ จะมาเกี่ยวข้องอะไรกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยในครั้งนี้ได้อย่างไร? เนื่องจากคนไทยรู้แต่เพียงว่า มด เป็นสัตว์ที่ก่อความน่ารำคาญอยู่ตลอดเวลา และสร้างแต่ปัญหามากกว่า แต่ในความจริงแล้วถ้าเรามองให้ดีจะเห็นว่ามดเองก็มีด้านดีๆ เช่นกัน และอาจจะมากกว่าที่คิดด้วยซ้ำไป ตลอดจนยังสามารถจะนำมาเป็นต้นแบบ หรือข้อคิดได้อีกด้วยในการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้อย่างคาดไม่ถึง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่เป็นการช่วยทำให้ชาวบ้านสามารถจะยืนหยัดด้วยตัวเองได้ทางอ้อมนั่นเอง แท้จริงแล้วต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ทุกสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั้น ถ้ามีความรู้และเข้าใจที่แท้จริง หรือมีความรู้อย่างสมบูรณ์ในศาสตร์นั้นๆ แล้ว จะทำให้สามารถนำสิ่งนั้นมาใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนได้ ซึ่งคิดว่าจะสามารถช่วยเหลือได้อีกหนทางหนึ่ง นอกเหนือจากจะรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งบางครั้งการช่วยเหลืออาจไม่ยั่งยืน ดังนั้น หนทางดีที่สุดควรพึ่งตนเองเป็นลำดับแรกจะดีที่สุด

ปัจจุบัน "มดแดง" จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เนื่องจากตลาดมีความต้องการไข่มดแดงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีราคาค่อนข้างแพง รศ.ดร.เดชา ได้ศึกษาวิธีการเลี้ยงมดแดงอย่างมืออาชีพ ดูเหมือนไม่ยุ่งยากเพียงแต่คอยให้อาหารและน้ำก็พอแล้ว แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว ยังมีขั้นตอนต่างๆ อีกหลายประการที่ผู้เลี้ยงมดแดงจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตมดแดง ถึงจะทำให้การเลี้ยงประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าไข่มดแดงจะไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ก็ตาม แต่ก็สามารถสร้างรายได้อย่างงามในช่วงนั้น ถ้ามีการจัดการอย่างดี เพราะราคาค่อนข้างสูง ตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-250 บาท นอกจากนี้ คุณค่าทางอาหารยังสูงอีกด้วย โดยเฉพาะโปรตีนและไขมัน ถ้าชาวบ้านมีรายได้จากการขายไข่มดแดงอย่างถูกวิธีด้วยแล้ว รายได้อาจเพิ่มมากกว่านี้ ส่วนมากผลผลิตไข่มดแดงส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่นำมาจำหน่ายในปัจจุบันนี้ จะเก็บได้มาจากธรรมชาติทั้งหมด จากความเป็นจริงพบว่า มดแดงในสภาพธรรมชาตินั้นมีอยู่จำนวนมากมาย แต่ผลผลิตที่ได้ต่อรังต่อต้นนั้นต่ำมาก เช่น รังหนึ่งจะได้ไข่มดแดง โดยประมาณ 10-200 กรัม อย่างไรก็ตาม แต่ละวันชาวบ้านสามารถหาไข่มดแดงได้ไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม ขึ้นไป และถ้ามีการปลูกผักหวานป่าควบคู่กันไปด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้ได้รายได้มากยิ่งขึ้น เพราะยอดผักหวานป่าจะแตกยอดในช่วงเดียวกับมดแดงผลิตไข่ราชินี ราคาก็แพงพอๆ กัน ถือได้ว่าได้ทั้งสองทาง

มดแดง หรือ มดแดงส้ม เป็นมดที่รู้จักกันดี แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของมดแดงด้านต่างๆ ได้แก่ ชีววิทยา นิเวศวิทยา พฤติกรรมของมดแดงนั้นมีการศึกษาหรือมีความรู้น้อยมาก ส่วนใหญ่จะใช้ประสบการณ์เป็นหลัก ทั้งที่เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญมากในการจะนำมาซึ่งการเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตไข่มดแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนั้น การจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตไข่มดแดงได้นั้น จะต้องมีความรู้และความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับมดแดงอย่างดีพอเสียก่อน



มดแดงในระยะตัวอ่อน

เป็นระยะที่ชาวบ้านนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร


รศ.ดร.เดชา บอกว่า คนไทยทั่วไปจะเรียกกันตามความเข้าใจว่า "ไข่มดแดง" สาเหตุที่เรียกเพราะว่ารูปร่างของตัวหนอนมีลักษณะคล้ายไข่ ทั้งที่ไข่มดแดงจริงๆ แล้ว มีขนาดเล็กมาก ไข่มดแดงที่เรียกตามภาษาอีสาน มี 2 ลักษณะ คือ

1. ไข่มาก หรือไข่ขอ หมายถึง ตัวอ่อนของวรรณะสืบพันธุ์เพศเมียที่มีขนาดใหญ่ จะอวบอ้วน และนิยมนำมาบริโภค

2. ไข่ฝาก ซึ่งหมายถึง ตัวอ่อนของมดงาน มีขนาดเล็กและตัวหนอนไม่อวบอ้วน ไม่นิยมนำมาบริโภค ในการเก็บผลผลิตไข่มดแดงนั้น จะต้องเก็บให้ได้ผลผลิตคือ ตัวหนอน ดักแด้ และแม่เป้ง ต่อรังให้มากที่สุด จะใช้สวิงในการเก็บผลผลิต จะต้องไม่เก็บราชินีมดแดง และหลีกเลี่ยงการฆ่ามดแดง เมื่อเก็บได้แล้วจะต้องแยกไข่มดแดง (ตัวหนอน และดักแด้) ใส่ถังน้ำแล้วใช้ผ้าขาวบางหมุน มดงานและแม่เป้งจะติดกับผ้า ส่วนไข่มดแดงจะจมอยู่ก้นถัง



สภาพพื้นที่ในการเลี้ยงมดแดง

ควรเป็นพื้นที่ราบและเปิดโล่ง


การเลี้ยงมดแดงอย่างเป็นระบบนั้น วิธีการไม่มีอะไรแตกต่างจากการเลี้ยงทั่วไป แต่เป็นการเลี้ยงมดแดงที่ให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรมีการวางแผนการเลี้ยงมดแดงอย่างเป็นระบบ โดยประยุกต์วิธีการเลี้ยงให้สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งฤดูกาลเก็บเกี่ยว ดังตัวอย่างแนวทางการเลี้ยงมดแดงในพื้นที่ 1 ไร่ โดยเริ่มจากพื้นที่ ขนาด 40x40 เมตร จริงๆ แล้ว อาจมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ปลูกต้นไม้ที่คัดเลือกแล้วว่ามีความเหมาะสมต่อมดแดง ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งควรเป็นพืชไม่ผลัดใบ มีใบเกลี้ยง ขนาดไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ถ้าหากเป็นไม้ผลหรือพืชที่สามารถสร้างประโยชน์อย่างอื่นได้ ก็สามารถช่วยเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 4x4 เมตร หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นกับวัตถุประสงค์หลักและชนิดพืช แต่ควรมีพื้นที่สำหรับการแผ่ขยายเรือนยอดพอสมควร ไม่ควรปลูกให้เรือนยอดชิดติดกันหรือแน่นเกินไป ดังนั้น ระยะเริ่มต้นที่เหมาะสม ควรเริ่มตั้งแต่ 4x4 เมตร ขึ้นไป แต่ถ้าพื้นที่เดิมมีต้นไม้ขึ้นอยู่แล้วก็ให้ดำเนินการเลียนแบบตัวอย่างที่นำเสนอ ต้นไม้อาจไม่ได้ขึ้นเป็นแถวก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับการออกแบบหรือกำหนด แต่ถ้าปลูกขึ้นมาใหม่ควรเป็นแถวเป็นแนวดีที่สุด เพื่อสะดวกแก่การจัดการและการควบคุมดูแล สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีมดแดงอาศัย หรือมีต้นไม้ที่มีมดแดงอาศัยอยู่น้อย อาจจะทำได้โดยการนำรังมดแดงจากที่อื่นมาปล่อย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องแน่ใจว่ารังนั้นมีมดราชินี (มดราชินีเป็นมดขนาดใหญ่ที่สุดและมีตัวเดียวในรัง) วิธีการสังเกตว่าในรังมีมดราชินีหรือไม่ ให้ปล่อยเลี้ยงมดแดงไปประมาณ 1-2 เดือน ถ้าอาณาจักรล่มสลาย นั้นแสดงว่าไม่มีมดราชินี จะต้องไปหารังมดแดงมาปล่อยใหม่ มดแดงจะชอบกินอาหารสดมากกว่าอาหารสุกหรือแห้ง อาหารควรมีขนาดเล็กเพื่อความสะดวกและง่ายแก่การลากหรือคาบกลับรัง วางอาหารในภาชนะที่สร้างขึ้นหรือวางตามง่ามต้นที่มีมดแดงเดินผ่าน แต่อย่าให้ถูกแสงแดด



การให้อาหารมดแดง

รศ.ดร.เดชา ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการให้อาหารมดว่า ในเบื้องต้นควรพิจารณาในแต่ละอาณาจักร โดยอาณาจักรที่อ่อนแออาจต้องให้อาหารในปริมาณที่ถี่และมากกว่าปกติ เพื่อช่วยเร่งให้มดแดงขยายอาณาจักรให้เข้มแข็งขึ้นก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูในการเก็บมดแดง การให้อาหารมดแดงในปริมาณที่มากและถี่นั้นจะกระทำตั้งแต่กลางฤดูฝนเป็นต้นไป เพราะว่าช่วงนี้ราชินีจะเร่งผลิตมดแดงทั่วไปจำนวนมากเพื่อช่วยในการขยายอาณาจักรตอนที่ผลิตไข่มดแดง อาหารที่ให้ช่วงนี้จึงเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงตัวหนอนของมดแดงทั่วไป แต่ในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม การเพิ่มปริมาณอาหารก็เพื่อให้มดแดงมีอาหารสะสมไว้มากพอสำหรับเลี้ยงตัวอ่อน ที่เรียกว่า ไข่มดแดง ถือเป็นการช่วยให้เพิ่มผลผลิตมดแดงได้อีกทางหนึ่ง

จากการสอบถามผู้เก็บมดแดงพบว่า สามารถเก็บได้ 2-3 รอบ ต่อฤดูกาล ขึ้นอยู่กับขนาดของอาณาจักรมดแดง โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน จึงจะสามารถกลับมาเก็บมดแดงในบริเวณเดิมได้ ดังนั้น การเก็บมดแดงที่เลี้ยงในที่นี้จะถือว่ามีรอบในการเก็บ 10 วัน เริ่มเก็บเกี่ยวจากแถวที่ 1 โดยเก็บทั้ง 2 อาณาจักร (1/1 และ 1/2) และเก็บเกี่ยวในแถวที่ 2-10 ในวันถัดไปตามลำดับจนครบ 10 วัน จึงกลับมาเริ่มเก็บในแถวที่ 1 ใหม่ หรืออาจเว้นระยะประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มเก็บในแถวที่ 1 อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ในรอบหนึ่งเดือนสามารถเก็บมดแดงได้ 2-3 รอบ



ตัวอย่าง รายได้จากการเก็บไข่มดแดงในสวนมะม่วง

รศ.ดร.เดชา ได้อาศัยข้อมูลจากการทดลองเก็บมดแดงในสวนมะม่วงที่อยู่ในระหว่างการศึกษาการเลี้ยงมดแดงพบว่า ถ้าสามารถเลี้ยงมดแดงให้สามารถขยายอาณาจักรได้เต็มที่ในต้นไม้ 5-8 ต้น จะทำให้สามารถเก็บผลผลิตมดแดงได้เฉลี่ย ประมาณ 1-2 กิโลกรัม ต่ออาณาจักร ซึ่งถ้าสามารถเก็บได้ทุกวันจะทำให้มีรายได้ประมาณ 400-800 บาท (คิดจากราคาเฉลี่ย 200 บาท ต่อกิโลกรัม) ใน 1 รอบ การเก็บ (10 วัน) จะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 4,000-8,000 บาท และใน 1 เดือน จะสามารถได้มากกว่า 8,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในการเก็บมดแดงในรอบที่ 2 และรอบต่อๆ ไป ปริมาณผลผลิตอาจลดลงบ้าง การวางแผนการเก็บผลผลิตจึงต้องอาศัยการเรียนรู้และศึกษาจากสภาพความเป็นจริง เพื่อที่ทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้อย่างคุ้มค่าตลอดทั้งฤดูกาล




หนังสือ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม เล่มที่ 1" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม เล่มที่ 2" และ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม เล่มที่ 3" รวม 252 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ มูลค่ารวม 50 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 459
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM