เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ไผ่บงหวานเมืองเลย พืชพรรณล้ำค่า สวนไผ่ กม.19 ยินดีนำเสนอ
   
ปัญหา :
 
 
ในงานสัมมนาไผ่ ที่จัดโดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เมื่อเร็วๆ นี้ มีหนุ่มใหญ่คนหนึ่ง ได้นำไผ่บงหวานจากจังหวัดเลยมานำเสนอ ดูแล้วน่าเห็นใจจริงๆ

น่าเห็นใจตรงไหนหรือ

เพียงแต่จอดรถ เพื่อจะนำของลงไปจัดหน้าห้องสัมมนา คนที่มาสัมมนาได้กรูเข้าไปรุมล้อมถามข้อมูล ส่วนหนึ่งขอซื้อต้นพันธุ์ไปปลูก ส่วนหน่อนั้นก็ได้รับความสนใจอย่างมาก กว่าที่จะได้แปรงฟันล้างหน้า ก็สายแล้ว ต้องรอให้สมาชิกเข้าห้องสัมมนาไปก่อน ส่วนข้าวเช้านั้นไม่ได้กินอยู่แล้ว

หนุ่มใหญ่ที่ว่าคือ คุณยลชาญ กมลรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 124 บ้านภูสวรรค์ ตำบลเสี้ยว อำเภอเมือง จังหวัดเลย แปลงปลูกไผ่บงหวานของคุณยลชาญอยู่ห่างจากตัวเมือง 19 กิโลเมตร คนทั่วไปจะรู้จักแปลงไผ่บงหวานดีในนาม "ไผ่บงหวาน กม.19"

ก่อนที่จะทราบรายละเอียดของบงหวานเมืองเลย กม.19 มาทำความรู้จักกับไผ่พื้นเมืองของจังหวัดเลยกันก่อนดีไหม

จังหวัดเลย มีพื้นที่เป็นภูเขาเสียส่วนใหญ่ เทือกภูที่สลับซับซ้อน มีป่าไม้เบญจพรรณขึ้นอยู่เต็มไปหมด ไผ่ก็รวมอยู่ในนั้น เมื่อก่อนป่าไม้สมบูรณ์ หลังๆ มาถูกตัดทั้งนายทุนทำไม้และชาวบ้านที่ตัดเพื่อทำไร่ข้าวโพด พื้นที่ป่าจึงยังคงเหลือเฉพาะที่เขาห้าม หรืออยู่ใกล้ตาจริงๆ เท่านั้น

ไผ่ในธรรมชาติของจังหวัดเลยมีอยู่มาก อาทิ ไผ่ไร่ ไผ่ข้าวหลาม ไผ่รวก ไผ่บง ไผ่ซอด ไผ่เปาะ ไผ่เซิม ไผ่ซาง ไผ่ไร่ลอ ไผ่เฮียะ (คนท้องถิ่นเรียก เฮี้ย) ไผ่ซะวาล

ไผ่นอกธรรมชาติ เกษตรกรนิยมปลูก มีไผ่เลี้ยง ไผ่หวาน ไผ่บงหวาน

การใช้ประโยชน์จากไผ่นั้นมีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย

ไผ่ไร่ เป็นไผ่ที่ใช้กินหน่อมากที่สุด เรียกว่ากินกันในระดับอุตสาหกรรม

ไผ่ข้าวหลาม นิยมนำมาทำข้าวหลาม ที่ขึ้นชื่อมากๆ อยู่ที่บ้านน้ำพุ ก่อนถึงอำเภอด่านซ้าย และที่ตลาดอำเภอด่านซ้าย ข้าวหลามที่ได้จากไม้ไผ่ข้าวหลาม จะมีเยื่อบางกลิ่นหอม ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ก็ทำคล้ายๆ กัน ล้วนแล้วแต่อร่อยทั้งสิ้น

ไผ่รวกก็มีอยู่ทั่วๆ ไป เรื่องของการกินหน่อ สู้ไผ่ไร่ไม่ได้ แต่หากนำมาแปรรูป ไผ่รวกได้น้ำได้เนื้อมากกว่า

ไผ่เลี้ยง ที่จังหวัดเลย มีลำขนาดใหญ่กว่าทางจังหวัดปราจีนบุรี (คนท้องถิ่นเรียกไผ่สร้างไพร ไผ่ช้างไพร และไผ่หางช้าง)

ไผ่หวาน ยังไม่แพร่หลาย ดูลักษณะแล้ว ยังไม่พบเห็นในถิ่นอื่น กาบหุ้มหน่อของเขาสีโอลด์โรส รสชาติหวานสนิท มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ยังไม่มีเผยแพร่ในวงกว้าง ขนาดของหน่อพอๆ กับไผ่ตงขนาดเล็ก



บงหวาน

พืชพรรณล้ำค่า มีมานานแล้ว


ไผ่บงหวาน เป็นไผ่พื้นเมืองที่มีมานานแล้ว จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ที่อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้ความว่า ตนเองเกิดมา ก็เห็นพ่อแม่ปลูกสืบหน่อต่อแนวกันบ้านละกอสองกอ ไม่ได้ทำเป็นการค้า ใครมีที่ดินอยู่ที่ลุ่ม น้ำท่วมในระยะเวลาสั้นๆ เรียกว่าที่น้ำไหลทรายมูล หากปลูกต้นบงหวานไว้ จะได้หน่อขนาดใหญ่ หน่ออวบอ้วน รสชาติดี

แหล่งปลูกบงหวานที่ขึ้นชื่อ อยู่ที่บ้านนาทุ่ม บ้านหนามแท่ง อำเภอด่านซ้าย และที่อำเภอเมือง จังหวัดเลย เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน เวลาไปเดินตลาดท้องถิ่นแถบนั้น จะเห็นหน่อไม้วางคู่กับเห็ด พร้อมเครื่องปรุงอย่างอื่น ใครไปจังหวัดเลย หากมีเวลาว่าง ลองไปเดินที่ตลาดแลง ตลาดประจำจังหวัดเลย จะมีของแปลกใหม่ให้เห็น ส่วนหนึ่งอิมพอร์ตมาจากต่างประเทศ คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ไผ่บงหวานจุดเด่น คือไม่มีความขม

เมื่อตัดหน่อจากต้น ลองกัดดู ไม่มีรสขม แต่ก็ไม่นิยมกินเหมือนกินมะม่วงเขียวเสวย บงหวานทำกินได้หลายอย่าง หากจะผัด ก็สับแล้วนำลงผัดเหมือนผักทั่วไปได้เลย ไม่ต้องต้มน้ำทิ้ง จะแกงก็แกงได้เลย หน่อบงหวานทำอาหารได้สารพัด

ไผ่บงหวานเป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา หากดูแลไม่ดี หน่ออาจจะไม่ใหญ่นัก แต่หากหมั่นสางกอ ตัดต้นเก่าออกบ้าง ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมัก หน่อก็จะมีขนาดใหญ่ ลักษณะทั่วไป ลำขึ้นเบียดกันแน่น แตกกิ่งที่ปลายลำ ลำต้นไม่ตรงนัก เส้นผ่านศูนย์กลางของลำ 3-5 เซนติเมตร สูง 5-8 เมตร บริเวณเหนือข้อเล็กน้อยมีแถบวงแหวนสีขาวรอบลำ มีรากอากาศอยู่รอบข้อ ครีบกาบทั้ง 2 ข้างของกาบหุ้มลำมีขนาดไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกัน

หน่อไม่ใหญ่นัก มีขนาด 200-300 กรัม เนื้อหน่อละเอียด ไม่มีเสี้ยน รสชาติหวาน มัน กรอบ อร่อย

ปัจจุบันมีการปลูกไผ่บงหวานกันอย่างกว้างขวาง ในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง บ้านละต้นสองต้น เป็นผักประจำครอบครัว ขณะเดียวกันก็มีปลูกเป็นการค้า เกษตรกรหลายจังหวัดนำไปปลูกแล้วได้ผล เช่นที่ แพร่ ลำปาง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ชลบุรี สระบุรี สระแก้ว และจังหวัดอื่นๆ อีกมาก



ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

อยู่ได้นาน

ไผ่บงหวานขยายพันธุ์ได้หลายวิธีด้วยกัน


ยุคเก่าก่อนนิยมขุดเหง้าและชำกิ่งแขนง แต่ตรงนี้มีประเด็นให้ต้องพูดถึงอยู่พอสมควร อายุของไผ่บงหวาน ตั้งแต่ต้นงอกจากเมล็ดไม่ต่ำกว่า 50 ปี ถ้าไผ่บงหวานงอกมาได้ 40 ปี หากขยายพันธุ์โดยการขุดเหง้ามาปลูก อายุให้ผลผลิตก็จะอยู่ได้ 10 ปีเศษเท่านั้น

ในฐานะที่เป็นคนท้องถิ่น และเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้น คุณยลชาญจึงได้ปลูกไผ่บงหวานเป็นการค้า ด้วยการเพาะเมล็ด ซึ่งประสบความสำเร็จดีมาก ระยะหลัง คนอยากซื้อพันธุ์ เขาจึงทำเผยแพร่

วิธีการเพาะเมล็ด เพาะในกระบะที่วัสดุเก็บความชื้นได้ดี ราว 3-4 สัปดาห์ ก็งอกแล้ว จากนั้นเลี้ยงดูอยู่ประมาณ 6 เดือน จึงนำลงปลูกได้

"ข้อดีของการเพาะเมล็ด อายุของต้นจะยืนยาว มากกว่า 50 ปีอย่างแน่นอน ที่สำคัญสามารถขนส่งสะดวก ตอนนี้มีผู้สนใจตามที่ต่างๆ สนใจซื้อไม่ต้องเสียค่าน้ำมันมาที่จังหวัดเลย แต่ส่งทางไปรษณีย์ได้ คนที่อยู่สุราษฎร์สั่งทางไปรษณีย์ นำไปปลูกได้ผลแล้ว โทร.กลับมาบอกเล่าด้วยความดีใจ" คุณยลชาญ บอก

วิธีการปลูกไผ่บงหวานนั้น ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 4 คูณ 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 100 ต้น จากต้นก็จะขยายเป็นกอ หลุมที่ปลูกกว้างราว 30 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร หรืออาจจะแคบและตื้นกว่านี้ก็ได้ ระยะปลูกก็เช่นกัน หากมีที่ดินมากอาจจะใช้ระยะกว้างกว่านี้ หากปลูกผสมผสาน ไผ่บงหวานก็ไม่รังเกียจไม้อื่น ไม้ชนิดอื่นก็อยู่ร่วมกับบงหวานได้



ผลตอบแทน

หลายจังหวัดบอกว่า "เยี่ยม"


ตั้งแต่ที่มีการเผยแพร่ต้นพันธุ์ไผ่บงหวานจาก กม.19 ไป ปรากฏว่าคนที่นำไปปลูกบอกว่า เป็นพืชที่ลงทุนไม่สูง ให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของได้ดีไม่น้อย ถึงแม้จะไม่หวือหวาเหมือนพืชอื่น แต่ก็ให้ผลตอบแทนแก่เจ้าของอย่างยุติธรรม

"คนที่นำไปปลูก สามารถทำรายได้ให้ดี ส่วนจะมากหรือน้อยแล้วแต่ผู้ปลูก บางคนปลูกต้นสองต้น เก็บผลผลิตได้ดีใจ เป็นฝีมือตัวเอง คนปลูกมากๆ ที่เคยลงในนิตยสารเทคโนฯ ก็นำพันธุ์ไปจาก กม.19 คนที่ปลูกต่างก็ชอบใจ" คุณยลชาญ บอก

ผลตอบแทนของไผ่บงหวาน ระยะปีสองปี ผลผลิตยังไม่มากนัก แต่เจ้าของก็สามารถเก็บมาปรุงอาหาร เก็บขายได้แล้ว งานเกษตรยุคใหม่น้ำดี ปุ๋ยพอเหมาะ ต้นไม้ตอบสนองให้กับเจ้าของได้เร็ว

เมื่อปีที่ 6 พื้นที่ปลูกไผ่บงหวาน 1 ไร่ เก็บผลผลิตหน่อได้อย่างต่ำ 500 กิโลกรัม ราคาหน่อบงหวานอยู่ระหว่าง 15-50 บาท ต่อกิโลกรัม หากคิดที่ราคา 25 บาท จะมีรายได้ต่อไร่ 12,500 บาท

หากเก็บผลผลิตได้ 1,000 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 20 บาท จะมีรายได้ 25,000 บาท ต่อไร่ เป็นการประเมินขั้นต่ำ

เมื่อมีการดูแลรักษาดี ไผ่บงหวานก็จะให้ผลผลิตได้มากกว่า 1 ตัน ต่อไร่ ต่อปีอยู่แล้ว

การดูแลรักษานั้น สิ่งสำคัญคือการแต่งต้น อย่าให้แน่นทึบเกินไป ที่จังหวัดปราจีนบุรี ไผ่ตงเขาไว้ลำไม่เกิน 8 ลำ ต่อกอ หน่อดกมาก ไผ่บงหวานก็เช่นเดียวกัน ไว้ต้นพอเหมาะหน่อก็ดก ปริมาณลำต้น ไม่ควรหนาแน่นเกินไป

คุณยลชาญบอกว่า ปุ๋ยสำคัญมาก ตามท้องถิ่นชนบท มีฟางข้าว มีแกลบ มูลวัว มูลควาย มูลไก่ ไปกองไว้ที่โคนต้นก็เป็นปุ๋ยอย่างดีแล้ว จะเสริมปุ๋ยสูตรก็ไม่ผิดกติกา โดยใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 สลับกับ 46-0-0 ก็จะให้ผลผลิตมากยิ่งขึ้น

น้ำมีความสำคัญ แต่เกษตรกรที่ปลูกไผ่บงหวานไว้ตามสวนหลังบ้านไม่มีระบบน้ำให้ ก็สามารถมีกินมีขาย

ผู้ปลูกบงหวานเป็นการค้าหลายรายไม่มีระบบน้ำให้

แต่หากอยากให้ออกก่อนฤดู ระบบน้ำและการเตรียมต้นโดยการใส่ปุ๋ยช่วยได้ หน่อบงหวานต้นฤดู จำหน่ายกันกิโลกรัมละ 50 บาท

คุณยลชาญบอกว่า ผู้ที่อยู่แถบนั้น สนใจงานปลูกแวะเวียนไปพูดคุยกันได้ โดยโทร.นัดหมายก่อนที่ (087) 853-0566 และ (080) 766-9732 หรือเข้าไปดูใน www.km19 bamboo.com

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เลย
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM