เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มะพร้าวลูกผสมกะทิ สุดยอดงานวิจัยไทย กรมวิชาการเกษตรทำได้
   
ปัญหา :
 
 
การปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิเพื่อให้ได้พันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิพันธุ์ใหม่ ที่มีคุณภาพดีทั้งเนื้อและความหอมหวาน ให้ผลผลิตสูงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมมีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ในการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิให้มีคุณภาพทั้งเนื้อและความหอมหวาน จึงนำมะพร้าวน้ำหอมมาใช้เป็นแม่พันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์ด้วยเพื่อเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าและส่งออก โดยดำเนินการทดลองที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี และสวนมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ บริษัท อูติเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน จำกัด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2538-เดือนกันยายน พ.ศ. 2549 มีการดำเนินงานโดยใช้แม่พันธุ์มะพร้าว จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์น้ำหอม สายพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย สายพันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย สายพันธุ์ทุ่งเคล็ด และสายพันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง ส่วนพ่อพันธุ์มะพร้าว จำนวน 1 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์กะทิ โดยใช้ชื่อย่อเป็นชื่อสายพันธุ์ลูกผสมกะทิ ได้แก่ NHK YDK RDK TKK และ WAK

ผลการทดลองสรุปผลได้ดังนี้ พบว่าสายพันธุ์ RDK และ TKK ออกจั่นเร็วที่สุด (27 เดือน) รองลงมาคือ YDK (29 เดือน) NHK (31 เดือน) และ WAK ช้าที่สุด (36 เดือน) และสายพันธุ์ TKK มีจำนวนต้นที่ออกจั่นครบ 50% ของจำนวนต้นที่ปลูกเร็วที่สุด (36 เดือน) รองลงมาคือ YDK (37 เดือน) RDK (38 เดือน) NHK (39 เดือน) และ WAK ช้าที่สุด (48 เดือน) สำหรับผลผลิตมะพร้าวกะทิสายพันธุ์ YDK ในช่วงอายุ 4-7 ปี ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิสูงสุด 661 ผล/ไร่ (20%) ส่วนสายพันธุ์ WAK น้อยที่สุด 299 ผล/ไร่ (16%) ส่วนผลผลิตที่เป็นมะพร้าวธรรมดาสายพันธุ์ YDK ยังคงให้ผลผลิตสูงสุดเช่นกัน (2,717 ผล/ไร่) โดยสายพันธุ์ NHK ให้ผลผลิตน้อยที่สุด 1,569 ผล/ไร่ เมื่อคำนวณรายได้ต่อไร่ ปีที่ 4-7 สายพันธุ์ YDK จะทำให้มีรายได้สูงสุด 28,008 บาท/ไร่ โดยสายพันธุ์ WAK ให้รายได้/ไร่ น้อยที่สุด 13,764 บาท/ไร่ สำหรับสายพันธุ์ NHK แม้จะให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิและธรรมดา จำนวน 1,917 ผล/ไร่ (ช่วงอายุ 4-7 ปี) คิดเป็นอันดับที่ 4 แต่สายพันธุ์ NHK จะมีต้นที่ให้ผลผลิตเป็นกะทิน้ำหอม 55% ของจำนวนต้นที่ปลูก ดังนั้น ผลผลิตที่ได้สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าสายพันธุ์อื่นและสามารถปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ยพันธุ์แท้ต่อไป จากผลการทดลองพบว่า สายพันธุ์ YDK และ NHK เหมาะสมที่จะเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ต่อไร่ให้สูงขึ้นกว่าการทำสวนมะพร้าวธรรมดา 3-4 เท่า

มะพร้าวกะทิ เป็นที่นิยมบริโภคเป็นของหวาน มีเนื้อหนาฟู อ่อนนุ่ม และหวานมัน อร่อย และมีราคาแพง ราคาที่ซื้อจากเกษตรกร ผลละ ประมาณ 25-30 บาท ส่วนราคาขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต กิโลกรัมละ 90 บาท ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่นิยมบริโภคมะพร้าวกะทิกันมาก จึงรู้จักนำมาแปรรูปเป็นของหวาน และส่วนประกอบของอาหารว่าง เช่น pies และ tarts ทำไอศครีมที่มีรสชาติดีที่สุดในโลก นอกจากบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังเป็นประเทศเดียวที่ส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวกะทิไปยังต่างประเทศ ปริมาณและมูลค่าในการส่งออก ในปี 2534 ส่งออก 420 ตัน มูลค่า 40 ล้านบาท ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 643 ตัน มูลค่า 64 ล้านบาท (Romulo N.Arancon Jr,1996) สำหรับประเทศไทยผลผลิตยังไม่พอเพียงที่จะบริโภคภายในประเทศ จึงยังไม่มีการส่งออก ทั้งๆ ที่ตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการ

มะพร้าวกะทิ ไม่ได้จัดเป็นพันธุ์มะพร้าวพันธุ์หนึ่ง ในธรรมชาติไม่มีต้นมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ แต่ผลมะพร้าวกะทิจะเกิดร่วมกับผลปกติในมะพร้าวธรรมดาทั่วไปบางต้นเท่านั้น และไม่ได้เกิดจากทุกผลในต้นนั้น มะพร้าวกะทิถูกควบคุมโดยยีนเพียงคู่เดียว และลักษณะกะทิเป็นลักษณะด้อย (Recessive) ส่วนลักษณะธรรมดาเป็นลักษณะข่ม (Dominance) ต้นมะพร้าวที่ให้ลูกเป็นกะทิอยู่ในสภาพ Heterozygote (อุทัย และคณะ 2536) ดร.อี วี เดอ กูซแมน (E.V.de Guzman) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ที่ลอสบันยอส ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ว่า มะพร้าวกะทิ เป็นมะพร้าวที่มีเอนโดสเปิร์ม (endosperm) ผิดปกติ กล่าวคือ อาหารสะสมในมะพร้าวกะทิมีส่วนประกอบหลักเป็นกาแลคโตแมนแนน (galactomannan) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรต แทนที่จะเป็นน้ำมันมะพร้าวเช่นในมะพร้าวห้าวทั่วๆ ไป (อุทัย, 2547) โดยปกติการสร้างเนื้อมะพร้าวในมะพร้าวกะทิ หลังจากใบสงเคราะห์แสงได้โมโนแซคคาไรด์ (monosaccharide) จะเคลื่อนย้ายจากใบผ่านท่ออาหาร (phloem) เข้าสู่ผลมะพร้าวแล้วแปรรูปโดยเอ็นไซม์ เป็นกาแลคโตแมนแนน มีจีโนไทม์ AAA, AAa, Aaa แล้วแปรรูปต่อๆ ไปตามลำดับ โดยเอ็นไซม์ A เกิดเป็นน้ำมันมะพร้าว เยื่อใยที่เป็นเนื้อมะพร้าวและมีโครงสร้างแข็งในมะพร้าวห้าว (แก่) ส่วนมะพร้าวกะทิเมื่อแปรรูปถึงขั้นตอนการเป็นกาแลคโตแมนแนน จะสะสมเป็นเนื้อมะพร้าวกะทิที่มีโครงสร้างนุ่มเหนียว ไม่มีเยื่อใยแข็งปะปนในเนื้อมะพร้าว แต่มีจีโนไทม์ aaa ไม่มีการแปรรูปต่อๆ ไปตามลำดับ เพราะไม่มีเอ็นไซม์ A ดังนั้น จึงไม่เกิดน้ำมันมะพร้าว ไม่เกิดเยื่อใยที่เป็นเนื้อมะพร้าวที่มีโครงสร้างแข็ง แต่เกิดเนื้อมะพร้าวกะทิที่มีโครงสร้างนุ่มเหนียวขึ้นมาแทน (อุทัย, 2547)

ต้นมะพร้าวลูกผสมกะทิ ถ้าปลูกในที่ปลอดจากมะพร้าวพันธุ์ธรรมดา ผลผลิตที่ได้จะเป็นไปตามกฎของเมนเดล จะได้ผลมะพร้าวเป็นกะทิ 25% ซึ่งมีจีโนไทม์เอ็มบริโอ aa และจีโนไทม์ เอ็นโดสเปิร์ม aaa ผลมะพร้าวลูกผสมกะทิ 50% ซึ่งมีจีโนไทม์เอ็มบริโอ Aa และจีโนไทม์ เอ็นโดสเปิร์ม AAa,Aaa ผลมะพร้าวธรรมดา 25% ซึ่งมีจีโนไทม์เอ็มบริโอ AA และจีโนไทม์ เอ็นโดสเปิร์ม AAA, AAa แต่ในสภาพโดยทั่วไปที่พบต้นมะพร้าวลูกผสมกะทิจะขึ้นปะปนกับมะพร้าวธรรมดา จึงทำให้ผลผลิตจะเป็นกะทิในบางทะลายและปริมาณผลที่เป็นกะทิจะได้ไม่ถึง 25%

ในมะพร้าวพันธุ์ต้นสูง และพันธุ์ต้นเตี้ย จะมียีนที่ควบคุมลักษณะเฉพาะของตัวเอง ซึ่งอยู่ในไซโตรพลาสซึมของเซลล์ไข่ เมื่อใช้มะพร้าวพันธุ์ใดเป็นต้นแม่พันธุ์ ลักษณะของต้นแม่พันธุ์ที่ถูกควบคุมโดยยีนเหล่านั้นจะถ่ายทอดไปยังรุ่นลูก เช่น ทะลายผล สีของก้านทาง และสีของผิวผล (Louis, 2002) ดังนั้น การใช้มะพร้าวน้ำหอมเป็นต้นแม่พันธุ์ ผสมกับละอองเกสรตัวผู้มะพร้าวกะทิ ลักษณะเฉพาะความหอมและความหวานของต้นแม่พันธุ์ควรจะถ่ายทอดไปยังต้นมะพร้าวลูกผสมกะทิ และให้ผลผลิตเป็นกะทิน้ำหอม เมื่อนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงคัพภะเข้ามาช่วย ในการเพาะเลี้ยงผลมะพร้าวกะทิน้ำหอม ก็จะได้ต้นพันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอม

ดังนั้น เพื่อให้ได้มะพร้าวพันธุ์ดีพันธุ์ใหม่เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร จึงจำเป็นต้องดำเนินงานการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวเพื่อให้ได้มะพร้าวลูกผสมสายพันธุ์กะทิที่มีคุณภาพดีและให้ผลผลิตสูงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างน้อย 1 สายพันธุ์



วัตถุประสงค์การปรับปรุงพันธุ์

เพื่อให้ได้มะพร้าวลูกผสมกะทิพันธุ์แนะนำพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูงเพื่อเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าและส่งออก สำหรับเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ยพันธุ์แท้ต่อไป



วิธีการดำเนินงาน

ดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวเพื่อให้ได้มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ โดยใช้พันธุ์มะพร้าวธรรมดา เป็นต้นแม่พันธุ์ และมะพร้าวพันธุ์กะทิเป็นต้นพ่อพันธุ์

1. อุปกรณ์

- ต้นแม่พันธุ์มะพร้าว ได้แก่ พันธุ์น้ำหอม พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย พันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย พันธุ์ทุ่งเคล็ด และพันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง จำนวนพันธุ์ละ 100 ต้น

- ต้นพ่อพันธุ์มะพร้าว ได้แก่ มะพร้าวกะทิ จำนวน 44 ต้น

- อุปกรณ์ในการผสมพันธุ์ (ได้แก่ ถุงพลาสติคเก็บช่อดอก ถุงผ้าใบสำหรับทำหมัน ขวดยาบรรจุ

ละอองเกสร ขวดพลาสติคพ่นน้ำยา ท่อยาง และลูกยางปั๊มลม เป็นต้น )

- อุปกรณ์วัดการเจริญเติบโต

- ปุ๋ยเคมีให้ทางใบและดิน

- สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช

- ฟิล์มและอุปกรณ์ในการบันทึกภาพ

2. วิธีการ

แผนการทดลอง วางแผนการทดลอง แบบ RCD จำนวน 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี ได้แก่ มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ 5 สายพันธุ์ ดังนี้

กรรมวิธีที่ 1 มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมน้ำหอม x กะทิ (NHK)

กรรมวิธีที่ 2 มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK)

กรรมวิธีที่ 3 มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมมลายูสีแดงต้นเตี้ย x กะทิ (RDK)

กรรมวิธีที่ 4 มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมทุ่งเคล็ด x กะทิ (TKK)

กรรมวิธีที่ 5 มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมเวสท์แอฟริกันต้นสูง x กะทิ (WAK)

วิธีการทดลอง

1. ดำเนินการปลูกมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ กรรมวิธีละ 16 ต้น จำนวน 4 ซ้ำ โดยปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะห่างระหว่างต้น 8.5 เซนติเมตร ปลูกสายพันธุ์ลูกผสม น้ำหอม x กะทิ เป็นแถวคั่นแนวเขตระหว่างซ้ำ (border row) จำนวน 2 แถว ขุดหลุมปลูกขนาด 1x1x1 เมตร ใส่ปุ๋ยร็อกฟอสเฟตรองก้นหลุม 500 กรัม/หลุม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ปีที่ 1 จำนวน 1 กิโลกรัม/หลุม ปีที่ 2 ใส่ 2 กิโลกรัม/หลุม ปีที่ 3 ใส่ 3 กิโลกรัม/หลุม ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป ปีละ 4 กิโลกรัม/หลุม โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝน และก่อนสิ้นฤดูฝน กำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องตัดหญ้าสะพายหลังรอบโคนมะพร้าว รัศมี 2 เมตร ส่วนระหว่างแถวและต้นตัดหญ้าโดยใช้เครื่องตัดหญ้าติดท้ายรถแทร็กเตอร์ รดน้ำในช่วงฤดูแล้งทุกปี โดยการให้น้ำแบบระบบสปริงเกลอร์ (ฝนเทียม)

2. เก็บตัวอย่างผลผลิตที่เป็นมะพร้าวกะทิจากมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ 5 สายพันธุ์

จำนวนสายพันธุ์ละ 3 ผล จำนวนทั้งหมด 15 ผล นำมาปอกเปลือกบรรจุลงในถุงพลาสติค ถุงละสายพันธุ์ พันธุ์ละ 3 ผล มัดปากถุงให้แน่น เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง

3. นำตัวอย่างเนื้อมะพร้าวกะทิที่เก็บได้ไปวิเคราะห์หาคุณค่าทางโภชนาการด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

3.1 วิเคราะห์ปริมาณ Calcium และ Iron ด้วยวิธี In home method based on AOAC 2000, by ICP-OES

3.2 วิเคราะห์ปริมาณ Fructose, Glucose และ Sucrose ด้วยวิธี JAOAC (1992)

3.3 วิเคราะห์ปริมาณ Calories, Calories form Fat และ Carbohydrate ด้วยวิธี Method of analysis for nutrition labeling (1993)

3.4 วิเคราะห์หาปริมาณ Protein และ Fat โดยวิธี Modified method based on AOAC (2000)

3.5 วิเคราะห์หาปริมาณ Ash และ Moisture ด้วยวิธี AOAC (2000)

3.6 วิเคราะห์หาปริมาณ Dietary Fiber และ Phosphorus ด้วยวิธี In house Method based on AOAC (2000)

3.7 วิเคราะห์หาปริมาณ Vitamin B2 ด้วยวิธี house Method based on J. Agric. Food Chem (1984).32

3.8 วิเคราะห์หาปริมาณ Vitamin C ด้วยวิธี Compendium of Methods for food analysis (2003)

การบันทึกข้อมูล

1. บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโตทุกๆ 6 เดือน ของทุกสายพันธุ์ ได้แก่ ขนาดรอบโคน ขนาดรอบวงลำต้น ความสูงของลำต้น จำนวนใบ และใบเพิ่ม ความยาวทางใบ ความยาว ความกว้าง และความหนาของก้านทาง อายุการแตกใบย่อย จำนวนใบย่อย ขนาดใบย่อย ลักษณะทรงพุ่ม

2. บันทึกข้อมูลการให้ผลผลิตและคุณภาพ ได้แก่ อายุการออกจั่น ความสูงของจั่น ความยาว และเส้นรอบวงจั่น จำนวนผล/ต้น ผลผลิตที่เป็นมะพร้าวธรรมดา ผลผลิตที่เป็นมะพร้าวกะทิและนำมาคำนวณหารายได้ต่อไร่ ลักษณะและขนาดของผล คุณภาพของผลมะพร้าวธรรมดาและผลมะพร้าวกะทิ

ผลมะพร้าวธรรมดา - บันทึกข้อมูลผลทั้งเปลือก น้ำหนักเนื้อมะพร้าวสด เนื้อมะพร้าวแห้ง

เปอร์เซ็นต์น้ำมัน เปลือก กะลา และน้ำมะพร้าว

ผลมะพร้าวกะทิ - บันทึกน้ำหนักผล น้ำหนักผลปอกเปลือก คุณภาพเนื้อมะพร้าวกะทิ

3. บันทึกข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อมะพร้าวกะทิของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ 5 สายพันธุ์

3. เวลาและสถานที่

ระยะเวลา เดือนตุลาคม 2538-เดือนกันยายน 2549

สถานที่ สวนมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ บริษัท อูติ เมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน จำกัด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

- สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวคันธุลี ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี

- ห้องปฏิบัติการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ

ผลและวิจารณ์ผลการทดลอง

การศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิต

ของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ 5 สายพันธุ์

จากผลการทดลอง ศึกษาการเจริญเติบโตของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ 5 สายพันธุ์ (รูปที่ 1-5) ได้ผลการทดลอง ดังนี้

ขนาดรอบโคน

ขนาดรอบโคนของทุกสายพันธุ์ ในปีที่ 1, 3, 4 และ 5 มีความแตกต่างทางสถิติ ส่วนในปีที่ 2 ทุกสายพันธุ์ ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ในปีที่ 3-5 สายพันธุ์ WAK มีขนาดรอบโคนมากที่สุด และแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับสายพันธุ์ NDK, YDK, RDK และ TKK ซึ่งทั้ง 4 สายพันธุ์ มีขนาดรอบโคนใกล้เคียงกันและไม่แตกต่างกันทางสถิติ (ตารางที่ 1)

มะพร้าวกึ่งต้นสูงและสูง จะมีการเจริญเติบโตของลำต้นโดยโคนต้นจะโตเต็มที่เมื่ออายุ 4 ปี หลังจากนั้น ลำต้นจะเจริญเติบโตด้านความสูง ในปีที่ 5 จะพบว่าขนาดของรอบโคนต้นทุกพันธุ์จะเล็กลง ทั้งนี้ เนื่องจากกาบใบ รอบโคนต้นค่อยๆ หลุดลอกออกไป ดังนั้น การวัดขนาดของรอบโคนต้นหลังปีที่ 4 จะวัดเหนือระดับพื้นดิน 20 เซนติเมตร

ขนาดรอบวงลำต้น

เมื่อต้นมะพร้าวมีอายุ 7 ปี พบว่า ขนาดรอบวงลำต้นเหนือพื้นดิน 20 เซนติเมตร มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง โดยสายพันธุ์ WAK มีขนาดรอบวงลำต้นมากที่สุด 179 เซนติเมตร มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ กับสายพันธุ์อื่นทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน มีค่าอยู่ระหว่าง 142-147 เซนติเมตร และไม่แตกต่างกันทางสถิติ (ตารางที่ 2)

ขนาดรอบวงลำต้นเหนือระดับพื้นดิน 150 เซนติเมตร พบว่า มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง และเป็นไปในแนวทางเดียวกับขนาดรอบวงลำต้น เหนือพื้นดิน 20 เซนติเมตร แต่ทุกสายพันธุ์จะมีขนาดรอบวงต้น เหนือพื้นดิน 150 เซนติเมตร เล็กกว่าระดับ เหนือพื้นดิน 20 เซนติเมตร แสดงให้เห็นว่าทุกพันธุ์ ลำต้นมีสะโพก โดยสายพันธุ์ WAK มีขนาดรอบวงลำต้นมากที่สุด 91 เซนติเมตร แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับทุกสายพันธุ์

ขนาดรอบวงลำต้นใต้ใบแก่สุด แต่ยังไม่แห้งทุกสายพันธุ์ มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับเหนือพื้นดิน 150 เซนติเมตร โดยสายพันธุ์ NHK, YDK และ RDK จะมีขนาดรอบวงลำต้นเท่ากับบริเวณเหนือพื้นดิน 150 เซนติเมตร ส่วนสายพันธุ์ TKK จะมีขนาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่สายพันธุ์ WAK จะมีขนาดรอบวงลำต้น 83 เซนติเมตร เล็กลงจากระดับเหนือพื้นดิน 150 เซนติเมตร ขนาดรอบวงลำต้นที่ระดับเหนือพื้นดิน 150 เซนติเมตร และใต้ใบที่แก่สุด เป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของลำต้น ในช่วงอายุที่ผ่านมา ถ้าขนาดเท่าเดิมแสดงว่ามีความอุดมสมบูรณ์สม่ำเสมอ โตขึ้นแสดงว่าอุดมสมบูรณ์มากกว่าเดิม เล็กลงแสดงว่า ความอุดมสมบูรณ์ไม่เต็มที่

ความยาว 11 ข้อ บนลำต้น (วัดสูงจากพื้นดิน 150 เซนติเมตร)

ความยาวของ 11 ข้อ บนลำต้น ขนาดของรอบวงลำต้นจะมีความสำคัญในด้านความแข็งแรง ต้นมะพร้าวที่มีสะโพกและลำต้นใหญ่จะแข็งแรง สามารถต้านทานต่อกระแสลมแรงได้ดี พบว่า มีความแตกต่างกันทางสถิติ สายพันธุ์ NHK มีช่วงยาวของ 11 ข้อ น้อยสุด 65 เซนติเมตร ไม่แตกต่างกันทางสถิติกับสายพันธุ์ TKK ส่วนสายพันธุ์ YDK มีขนาดเท่ากันกับ RDK (77 เซนติเมตร) และใกล้เคียงกับ TKK (70 เซนติเมตร) ทั้งสามสายพันธุ์ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่ทั้ง 4 พันธุ์นี้ มีความแตกต่างกันทางสถิติกับสายพันธุ์ WAK ซึ่งมีความยาวของ 11 ข้อ 101 เซนติเมตร แสดงว่าสายพันธุ์ NHK เป็นพันธุ์ที่มีปล้องถี่ ส่วนสายพันธุ์ WAK มีปล้องห่าง

จำนวนใบบนต้นมะพร้าว

ผลการทดลองใน ตารางที่ 3 พบว่า ในช่วงปีที่ 1 ทุกสายพันธุ์มีจำนวนใบบนต้นไม่แตกต่างกันทางสถิติ ในปีที่ 2-4 พบว่าสายพันธุ์ TKK และสายพันธุ์ YDK มีแนวโน้มให้จำนวนใบบนต้นสูงมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และในช่วงปีที่ 4 แสดงค่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับอีก 3 สายพันธุ์ แต่ในปีที่ 5 พบว่า สายพันธุ์ TKK YDK WAK และ RDK มีจำนวนใบใกล้เคียงกัน (56.2, 56.0, 55.2 และ 55.0 ใบ ตามลำดับ) ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ส่วนสายพันธุ์ NHK มีจำนวนใบเพิ่มในปีที่ 5 น้อยที่สุด (53.8 ใบ) แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับสายพันธุ์ TKK และ YDK แต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติกับอีก 2 สายพันธุ์ ที่เหลือ

จำนวนใบบนต้นมะพร้าวที่ผลิออกมาต่อต้นต่อปี มีความสัมพันธ์ต่อผลผลิต เพราะลักษณะมะพร้าวที่ดีจะออกจั่นทุกซอกมุมใบ เมื่อใบเกิดจำนวนมาก มะพร้าวต้นนั้นก็จะให้ผลผลิตมากไปด้วย

การศึกษาการให้ผลผลิตของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิทั้ง 5 สายพันธุ์ ปรากฏผล ดังนี้

อายุการออกจั่น

พันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ ที่มีต้นแรกออกจั่นเร็วที่สุดคือ สายพันธุ์ RDK และสายพันธุ์ TKK ออกจั่นเมื่ออายุ 27 เดือน รองลงมาคือ สายพันธุ์ YDK ต้นแรกออกจั่นที่อายุ 29 เดือน สายพันธุ์ NHK ต้นแรกออกจั่นอายุ 31 เดือน และสายพันธุ์ WAK ต้นแรกออกจั่นอายุ 36 เดือน

พันธุ์ที่มีจำนวนต้นออกจั่นครบ 50% ของจำนวนต้นที่ปลูก เร็วที่สุดคือ สายพันธุ์ TKK ออกจั่นเมื่อต้นมีอายุ 36 เดือน รองลงมา ได้แก่ สายพันธุ์ YDK ออกจั่นครบเมื่ออายุ 37 เดือน สายพันธุ์ RDK ออกจั่นครบเมื่ออายุ 38 เดือน สายพันธุ์ NHK ออกจั่นครบเมื่ออายุ 39 เดือน และสายพันธุ์ WAK ออกจั่นครบ 50% ช้าที่สุด อายุ 48 เดือน

การนับอายุการตกผลของสายพันธุ์มะพร้าว จะใช้อายุจำนวนต้นที่ออกจั่นครบ 50% ของจำนวนต้นที่ปลูก เป็นเกณฑ์ในการนับอายุการตกผล ผลการทดลองครั้งนี้ มะพร้าวลูกผสมกะทิทุกสายพันธุ์ออกจั่นเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับการทดลองที่ผ่านมานั้น พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย ผสมกับมะพร้าวใหญ่ และเวสท์แอฟริกันต้นสูง ผสมกับมะพร้าวใหญ่ ออกจั่นครบ 50% เมื่ออายุ 68 เดือน

ผลผลิตมะพร้าวกะทิ

จากตารางที่ 4 ผลการทดลองแสดงว่า มะพร้าวลูกผสมสายพันธุ์ YDK ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิในช่วงอายุ 4-7 ปี สูงสุด (145, 194, 323, ผล/ไร่ ตามลำดับ) และให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิรวม 3 ปี สูงสุด 661 ผล/ไร่ และผลผลิตเมื่ออายุ 7 ปี และผลผลิตรวม 3 ปี มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมอีก 4 สายพันธุ์ มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิรองลงมา ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม TKK และ RDK โดยให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิรวม 3 ปี 510 ผล/ไร่ และ 465 ผล/ไร่ ตามลำดับ ส่วนมะพร้าวสายพันธุ์ลูกผสม NHK และสายพันธุ์ลูกผสม WAK ให้ผลผลิตรวมต่ำที่สุด (348 และ299 ผล/ไร่) แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับ 3 สายพันธุ์ ดังกล่าวข้างต้น

ผลผลิตมะพร้าวกะทิของพันธุ์ลูกผสมกะทิ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และแหล่งปลูก ต้องปลอดจากพันธุ์มะพร้าวธรรมดา ถ้าสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและปลูกในแหล่งที่ปลอดจากพันธุ์มะพร้าวธรรมดาจะให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิจำนวนมาก และมีเปอร์เซ็นต์ผลผลิตมะพร้าวกะทิสูง

เปอร์เซ็นต์การให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ

สำหรับเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมะพร้าวลูกผสมที่เป็นมะพร้าวกะทิ ในช่วงอายุ 4-5 ปี ที่มีการช่วยผสมเกสรด้วยละอองเกสรมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พบว่าทุกสายพันธุ์มีเปอร์เซ็นต์ผลผลิตที่เป็นมะพร้าวกะทิค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 25-40% โดยสายพันธุ์ WAK มีเปอร์เซ็นต์ผลผลิตมะพร้าวกะทิสูงสุด 40% ส่วนสายพันธุ์ TKK ให้เปอร์เซ็นต์ผลผลิตมะพร้าวกะทิต่ำสุดคือ 25% ส่วนผลผลิตเมื่ออายุ 6 และ 7 ปี ซึ่งปล่อยให้ผสมเองตามธรรมชาติพบว่า เปอร์เซ็นต์ผลผลิตมะพร้าวกะทิลดลง มีเปอร์เซ็นต์ผลผลิตมะพร้าวกะทิที่อยู่ระหว่าง 13-19 เปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์ที่มีแนวโน้มให้เปอร์เซ็นต์ผลผลิตมะพร้าวกะทิค่อนข้างสูง ได้แก่ สายพันธุ์ YDK และ NHK ให้เปอร์เซ็นต์ผลผลิตมะพร้าวกะทิรวม 20 และ 18 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ในการปลูกมะพร้าวลูกผสมกะทิ เพื่อให้ได้ผลที่มีเนื้อเป็นกะทิมีเปอร์เซ็นต์สูง จะต้องปลูกในแหล่งที่ปลอดจากมะพร้าวพันธุ์ธรรมดา ในรัศมีที่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ 300 เมตร ก็จะได้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิ 25% ถ้าใช้เทคโนโลยีในการทำหมันและช่วยผสมพันธุ์ด้วย ละอองเกสรมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ จะทำให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิสูงถึง 50% ในการทดลองครั้งนี้ ในปีที่ 4 ได้ทำหมันมะพร้าว จำนวน 2 จั่น/สายพันธุ์ ทำให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิรวมทุกสายพันธุ์สูงขึ้นถึง 30% มากกว่าตามกฎของเมนเดล 5% แสดงว่าถ้าปลูกมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิ ในที่ปลอดพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ธรรมดา และช่วยผสมเกสรด้วยพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ จะทำให้ได้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ 50%

ผลผลิตมะพร้าวธรรมดา

ผลการทดลองในตารางที่ 5 พบว่า ผลผลิตที่เป็นมะพร้าวธรรมดาของมะพร้าวลูกผสมสายพันธุ์ YDK ให้ผลผลิตรวม 3 ปี สูงสุด (2,717 ผล/ไร่) แต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติกับสายพันธุ์ลูกผสม TKK และสายพันธุ์ลูกผสม RDK ซึ่งให้ผลผลิตรวม 3 ปี 2,354 ผล/ไร่ และ 2,303 ผล/ไร่ ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ลูกผสม WAK และสายพันธุ์ลูกผสม NHK ให้ผลผลิตใกล้เคียงกันคือ 1,588 ผล/ไร่ และ 1,569 ผล/ไร่ (ตามลำดับ) ต่ำกว่า 3 สายพันธุ์ข้างต้นและแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ซึ่งผลผลิตในช่วงแต่ละปี (4-7 ปี) มีแนวโน้มเป็นไปในลักษณะเดียวกันผลผลิตรวม

ผลผลิตมะพร้าวธรรมดา ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และเปอร์เซ็นต์ผลมะพร้าวกะทิ สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และเปอร์เซ็นต์ผลมะพร้าวกะทิต่ำ ผลผลิตมะพร้าวธรรมดาจะสูง ผลผลิตของมะพร้าวธรรมดาจะไม่เกิน 75% ถ้าปลูกมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิในที่ปลอดมะพร้าวธรรมดา และมีการดูแลรักษาสวนมะพร้าวที่ดีและถูกต้อง

ผลผลิตรวมของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสม

จากตารางที่ 6 ผลการทดลอง แสดงผลผลิตรวมที่เป็นทั้งผลผลิตมะพร้าวธรรมดาและมะพร้าวกะทิของทุกสายพันธุ์ พบว่า ผลผลิตรวม 3 ปี (อายุ 4-7 ปี) ของมะพร้าวสายพันธุ์ลูกผสม YDK ให้ผลผลิตสูงสุด 3,378 ผล/ไร่ แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับทุกสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตรวมรองลงมา ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม TKK ให้ผลผลิต 2,864 ผล/ไร่ ไม่แตกต่างทางสถิติกับพันธุ์ลูกผสม RDK ที่ให้ผลผลิตรวม 2,768 ผล/ไร่ ส่วนสายพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตรวมต่ำ ได้แก่ สายพันธุ์ลูกผสม NHK และสายพันธุ์ WAK ให้ผลผลิตรวม 1,917 ผล/ไร่ และ 1,887 ผล/ไร่ ตามลำดับ แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญยิ่งกับ 3 สายพันธุ์ ข้างต้น

สายพันธุ์มะพร้าวที่มีลักษณะดี และสามารถถ่ายทอดลักษณะที่ดีไปยังรุ่นลูกได้ โดยไม่กระจายตัว ได้แก่ สายพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย และเวสท์แอฟริกันต้นสูง ทั้ง 2 สายพันธุ์ จึงเป็นต้นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง เช่น PB121, MAWA สวีลูกผสม 1 (มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x เวสท์แอฟริกันต้นสูง) MAHAI (Malayan Yellow dwarf x Hainan tall) ลูกผสมชุมพร 2 (มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x มะพร้าวใหญ่) ชุมพรลูกผสม 60 (เวสท์แอฟริกันต้นสูง x มะพร้าวใหญ่) ในการทดลองครั้งนี้ พบว่า พันธุ์ลูกผสมกะทิมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยผสมกับกะทิ (YDK) ให้ผลผลิตสูงสุด สอดคล้องกับการทดลองที่ผ่านมา สำหรับพันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง x กะทิ (WAK) ซึ่งเป็นพันธุ์ต้นสูงทั้งพ่อและแม่พันธุ์ การให้ผลผลิตในช่วง 4-6 ปี ยังคงต่ำกว่าลูกผสมอื่นทั้ง 4 สายพันธุ์ ในปีที่ 7 เริ่มสูงกว่าพันธุ์น้ำหอม x กะทิ (NHK) มีแนวโน้มที่จะขึ้นสูงสุดในปีที่ 15 เช่นเดียวกับพันธุ์ชุมพรลูกผสม 60

รายได้จากการทำสวนมะพร้าวลูกผสมกะทิ

จากผลผลิตที่ได้จากการปลูกมะพร้าวสายพันธุ์ลูกผสมกะทิ ซึ่งมีทั้งผลผลิตมะพร้าวกะทิและผลผลิตมะพร้าวธรรมดา เมื่อนำผลผลิตทั้งหมดที่ได้มาคำนวณรายได้โดยคิดราคาผลมะพร้าวกะทิ ที่ราคาผลละ 30 บาท และมะพร้าวธรรมดา ราคาผลละ 3 บาท พบว่าผลผลิตรวม 3 ปี (ปีที่ 4-7) ของผลผลิตรวมสายพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK) ให้รายได้รวมสูงสุด 28,008 บาท/ไร่ รองลงมา ได้แก่ รายได้จากผลผลิตรวมของสายพันธุ์ทุ่งเคล็ด x กะทิ (TKK) โดยมีรายได้รวม 22,346 บาท/ไร่ ส่วนรายได้ของผลผลิตรวมของสายพันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง x กะทิ (WAK) มีรายได้น้อยที่สุด 13,764 บาท/ไร่ สำหรับสายพันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย x กะทิ (RDK) และน้ำหอม x กะทิ (NHK) ให้รายได้ผลผลิตรวม 3 ปี 20,892 บาท/ไร่ และ 15,177 บาท/ไร่ ตามลำดับ

จากผลการทดลอง ในตารางที่ 4-6 พบว่า ตัวเลขผลผลิตทั้งที่เป็นมะพร้าวกะทิและมะพร้าวธรรมดา รวมทั้งผลผลิตรวมแสดงให้เห็นว่ามะพร้าวพันธุ์ลูกผสมมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK) มีแนวโน้มให้ผลผลิตดีที่สุด โดยให้ผลผลิตที่เป็นมะพร้าวกะทิสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับพันธุ์ลูกผสมน้ำหอม x กะทิ (NHK) ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิค่อนข้างสูงเช่นกัน คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อพิจารณาจากผลผลิตรวมพบว่า จำนวนผล/ไร่ ค่อนข้างต่ำโดยให้ผลผลิตรวมเพียง 1,917 ผล/ไร่ (ตารางที่ 6) ดังนั้น เมื่อคำนวณผลผลิตเป็นรายได้ พบว่า สายพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK) มีรายได้ในช่วง 3 ปีแรกสูงสุด 28,008 บาท/ไร่ รองลงมาคือ รายได้จากการขายผลผลิตของพันธุ์ลูกผสมทุ่งเคล็ด x กะทิ (TKK), มลายูสีแดงต้นเตี้ย x กะทิ (RDK), น้ำหอม x กะทิ (NHK) และเวสท์แอฟริกันต้นสูง x กะทิ (WAK) ซึ่งให้รายได้/ไร่ (ในช่วง 3 ปี) 22,346 บาท/ไร่ 20,892 บาท/ไร่ 15,177 บาท/ไร่ และ 13,764 บาท/ไร่ ตามลำดับ

จากการพิจารณารายได้ จากการทำสวนมะพร้าวลูกผสมกะทิพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK) ในรอบ 3 ปีแรก ได้จากการขายผลมะพร้าวธรรมดา จำนวน 2,717 ผล/ไร่ ราคา ผลละ 3 บาท เป็นเงิน 8,151 บาท ขายผลมะพร้าวกะทิ จำนวน 661 ผล ราคาผลละ 30 บาท เป็นเงิน 19,830 บาท รวมเป็นเงิน 28,008 บาท/ไร่ ในกรณีที่ทำสวนมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิคู่นี้ ในที่ปลอดพันธุ์มะพร้าวธรรมดา ผลผลิตที่ควรจะได้คือ มะพร้าวกะทิ 884 ผล และมะพร้าวธรรมดา 2,494 ผล ขายได้รายได้ 34,002 บาท/ไร่ และในกรณีที่ใช้เทคโนโลยีช่วยผสมพันธุ์ ด้วยพันธุ์มะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ ผลผลิตที่ควรจะได้ คือ มะพร้าวกะทิ 1,689 ผล และมะพร้าวธรรมดา 1,689 ผล ขายได้รายได้ 55,737 บาท/ไร่

คุณภาพผลมะพร้าวธรรมดา

พบว่าสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมะพร้าวธรรมดาที่มีขนาดผลใหญ่ที่สุดคือ สายพันธุ์ TKK น้ำหนักผล 2,574 กรัม รองลงมา ได้แก่ สายพันธุ์ NHK น้ำหนักผล 2,332 กรัม สายพันธุ์ WAK น้ำหนักผล 2,145 กรัม สายพันธุ์ RDK มีน้ำหนักผล 1,893 กรัม สายพันธุ์ YDK มีขนาดผลเล็กที่สุด 1,873 กรัม แต่มีเปลือกบาง น้ำหนักเปลือก 534 กรัม/ผล คิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักผล มีน้ำหนักเนื้อมะพร้าวสดมากที่สุด 636 กรัม คิดเป็น 34 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักผล มีน้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้งสูงสุด 323 กรัม/ผล รองลงมา ได้แก่ TKK และ WAK มีน้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง 319 กรัม NHK 312 กรัม และ RDK 294 กรัม

ความหนาเนื้อมะพร้าวสด มะพร้าวสายพันธุ์ YDK และ WAK มีเนื้อมะพร้าวสดหนามากที่สุด 1.4 กรัม รองลงมา NHK หนา 1.3 เซนติเมตร ส่วน RDK และ TKK หนา 1.2 เซนติเมตร ความหนาของเนื้อมะพร้าวสดของทุกสายพันธุ์จัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

หลักเกณฑ์การคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวธรรมดา ต้นพันธุ์มะพร้าวที่ดีต้องให้ผลผลิตที่มีผลขนาดปานกลาง-ใหญ่ เปลือกบาง เปอร์เซ็นต์เนื้อมะพร้าวสดสูง ตามเกณฑ์การคัดเลือกส่วนประกอบของผล ต้องประกอบด้วย เปลือก 35% เนื้อสด 28% น้ำ 25% และกะลา 12% (สมชาย และคณะ 2539) เปอร์เซ็นต์ของเปลือก สายพันธุ์ที่อยู่ในเกณฑ์ คือ YDK (29%) RDK (32.5%) และพันธุ์ NHK (35%) เปอร์เซ็นต์เนื้อมะพร้าวสดพันธุ์ที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานคือ YDK (34%) และ RDK (30.3 %) เปอร์เซ็นต์น้ำมะพร้าวมีสายพันธุ์เดียวที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานคือ สายพันธุ์ TKK (25.5%) ส่วนเปอร์เซ็นต์กะลาทุกสายพันธุ์สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (12%)

คุณภาพผลมะพร้าวกะทิ

พบว่า ขนาดของผลมะพร้าวกะทิที่ใหญ่ที่สุด คือ สายพันธุ์ WAK มีน้ำหนักผล 2,205 กรัม และมีน้ำหนักเปลือกมากที่สุด คือ 1,020 กรัม คิดเป็น 46.26 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักผล แต่มีน้ำหนักเนื้อมะพร้าวกะทิน้อยที่สุด 685 กรัม/ผล คิดเป็น 31.07 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักผล สายพันธุ์ NHK มีน้ำหนักผลรองลงมา คือ 2,130 กรัม มีน้ำหนักเปลือก 772 กรัม คิดเป็น 36.24 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักผล แต่มีน้ำหนักเนื้อมะพร้าวกะทิมากที่สุด 730 กรัม/ผล คิดเป็น 34.27 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักผล สายพันธุ์ YDK มีขนาดผลเล็กสุด 1,828 กรัม มีเปลือกบาง น้ำหนักเปลือก 614 กรัม คิดเป็น 33.59 เปอร์เซ็นต์ และมีน้ำหนักเนื้อมะพร้าวกะทิ 720 กรัม คิดเป็น 39.39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าสายพันธุ์อื่นทั้ง 4 สายพันธุ์ (รูปที่ 6)

ลักษณะของเนื้อมะพร้าวกะทิ

เนื้อมะพร้าวกะทิ จำแนกได้ 3 ประเภท คือ

1. เนื้อฟูเต็มกะลาน้ำข้นเหนียว

2. เนื้อฟูปานกลาง น้ำข้นเล็กน้อย

3. เนื้อฟูเล็กน้อย น้ำใส

จากภาพที่ 1 พบว่า สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเนื้อมะพร้าวกะทิ ประเภทที่ 1 สูงสุด ได้แก่ สายพันธุ์ RDK 46.27% เปอร์เซ็นต์ ผลที่มีรสหวาน (ตั้งแต่ 7 องศาบริกซ์ ขึ้นไป) 20.16 % สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเนื้อมะพร้าวกะทิ ประเภทที่ 2 มากที่สุด คือ สายพันธุ์ YDK 47.83 % เปอร์เซ็นต์ ผลที่มีรสหวาน 8.7% สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเนื้อมะพร้าวกะทิ ประเภทที่ 3 มากที่สุด คือ สายพันธุ์ TKK 39.8% เปอร์เซ็นต์ ผลที่หวาน 3.23% ทุกสายพันธุ์มีผลมะพร้าวกะทิที่มีเปอร์เซ็นต์ผลที่หวานในประเภทที่ 1 และ 2 มากกว่าประเภทที่ 3 ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ผลหวานน้อยมาก

ลักษณะของเนื้อมะพร้าวกะทิขึ้นอยู่กับอายุของผลมะพร้าวกะทิ และพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากต้นพ่อพันธุ์กะทิ ซึ่งมีลักษณะที่เกิดเฉพาะต้น ผลมะพร้าวกะทิเมื่อเก็บเกี่ยวที่อายุ 12 เดือน ลักษณะของเนื้อมะพร้าวจะเป็นไปตามพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมา เช่น มะพร้าวลูกผสมกะทิที่ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ ประเภทที่ 1 เนื้อฟูเต็มกะลา น้ำข้นเหนียว ผลผลิตทุกผลของต้นนั้นจะเป็นเช่นนั้น ถ้าเก็บเกี่ยวผลผลิตอายุ 10 เดือนครึ่ง -11 เดือน เนื้อมะพร้าวกะทิทุกผลของทุกสายพันธุ์จะนุ่มแต่ไม่ฟู มีน้ำใส

ต้นพันธุ์มะพร้าวที่ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิน้ำหอม

จากการผสมพันธุ์มะพร้าวระหว่างต้นแม่พันธุ์มะพร้าวน้ำหอมกับละอองเกสรมะพร้าวกะทิ ปรากฏว่าได้ต้นพันธุ์ลูกผสมกะทิ ที่ให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิที่มีเนื้อและน้ำมีกลิ่นหอม เหมือนกับแม่พันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์น้ำหอม รวมทั้งหมด 35 ต้น จากจำนวนทั้งหมด 64 ต้น คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนต้นทดลอง

การผสมพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิระหว่างน้ำหอม x กะทิ (NHK) ได้ผลผลิตเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ผลมะพร้าวกะทิน้ำหอมที่ได้จากการถ่ายทอดพันธุกรรมจากมะพร้าวน้ำหอมที่เป็นต้นแม่พันธุ์ แสดงว่ายีนที่ควบคุมความหอมอยู่ในไซโตรพลาสซึมของเซลล์ไข่ เมื่อใช้น้ำหอมเป็นต้นแม่พันธุ์ จึงถ่ายทอดไปยังรุ่นลูก เช่นเดียวกับยีนที่ควบคุมลักษณะของผลและสีของก้านทาง (Louis, 2002)

การศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของผลมะพร้าวกะทิพันธุ์ลูกผสมกะทิ 5 สายพันธุ์

ผลการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสม 5 สายพันธุ์ ในตารางที่ 7 พบว่า ทุกสายพันธุ์มีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลายชนิด โดยสายพันธุ์ที่มีสารอาหารโดยรวมที่มีประโยชน์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ สายพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x กะทิ (YDK) และสายพันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง x กะทิ (WAK) โดยทั้ง 2 สายพันธุ์ มีปริมาณสารอาหาร Calcium 90.19 mg/kg และ 97.61 mg/kg, Sucrose 1.44% และ 1.62%, Calories 179.62 Kcal/100g และ 200.67 Kcal/100g, Calories from Fat 134.82 Kcal/100g และ 144.27 Kcal/100g, Carbohydrate 10.06 g/100g และ 12.78 g/100g, Protein 1.14 g/100g และ 1.32 g/100g, Fat 14.98 g/100g และ 16.03 g/100g, Dietary Fiber 8.77 g/100g และ 8.02 g/100g, Phosphorus 0.04 g/100g และ 0.04 g/100g ตามลำดับ นอกจากนี้ สายพันธุ์ YDK ยังมีปริมาณ Iron สูงสุด 4.15 mg/kg ส่วนสายพันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย x กะทิ จะมีปริมาณสารอาหาร วิตามินบี 2 และวิตามินซี สูงที่สุด จำนวน 0.03 mg/100g และ 0.87 mg/100g ตามลำดับ

มะพร้าวกะทิ ควรได้รับการส่งเสริมให้รับประทานเป็นอาหารว่างเสริมสุขภาพ นอกจากมะพร้าวกะทิจะมีรสชาติอร่อย หวาน หอม นุ่มแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งนี้ เนื่องจากมีเส้นใยอาหารสูง ในปริมาณ 5.14-8.77 กรัม/100 กรัมเนื้อมะพร้าวกะทิ ในขณะที่เนื้อมะพร้าวธรรมดามีเพียง 2.1 กรัม/100 กรัม

(Gonzales,1983) เส้นใยอาหารมีประโยชน์ช่วยในการขับถ่ายในผู้สูงอายุ มีไขมันต่ำ ในปริมาณ 10.19-16.03 กรัม/100 กรัม ในขณะที่มะพร้าวธรรมดามีไขมัน 26.1 กรัม/100 กรัม จึงสามารถบริโภคมะพร้าวกะทิได้มากกว่ามะพร้าวธรรมดา เพื่อให้ได้ไขมันที่พอเพียงจากมะพร้าวกะทิที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวชนิดห่วงโซ่เกาะเกี่ยวระหว่างคาร์บอนและไฮโดรเจนชนิดปานกลาง โดยเฉพาะกรดลอริก ซึ่งมีสูงถึง 46% คุณสมบัติของกรดลอริกเมื่อบริโภคเข้าไป ร่างกายจะเปลี่ยนกรดลอริกให้เป็นโมโนลอริน ซึ่งมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำนมมารดา กล่าวคือ เป็นสารต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อราโปรโตซัวและไวรัส โดยเฉพาะเชื้อ HIVs การบริโภคไขมันมะพร้าว นอกจากไม่ทำให้อ้วนแล้ว ยังทำให้คอเลสเตอรอล HDL สูงขึ้น และน้ำหนักลดลง (Bruce Fife,2004)



สรุปผล การทดลองและคำแนะนำ

1. มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิระหว่างมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยx กะทิ (YDK) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด จำนวน 3,378 ผล/ไร่/3 ปีแรก คิดเป็นรายได้ 28,008 บาท/ไร่/3 ปีแรก มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต/ไร่ให้สูงขึ้นเป็น 34,002 บาท/ไร่/3 ปีแรก โดยเลือกแหล่งที่ปลูกให้ปลอดจากมะพร้าวธรรมดา และให้มีรายได้สูงขึ้นเป็น 55,737 บาท/ไร่/3 ปีแรก โดยใช้เทคโนโลยีในการทำหมันและช่วยผสมพันธุ์มะพร้าวด้วยละอองเกสรมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ พันธุ์มะพร้าวดังกล่าวจึงสามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ในปี 2550

2. มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิระหว่างพันธุ์น้ำหอม x กะทิ (NHK) ให้มะพร้าวลูกผสมกะทิที่ให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอมทั้งน้ำและเนื้อ จำนวน 55% ของจำนวนต้นที่ปลูก ต้นมะพร้าวลูกผสมกะทิจำนวนดังกล่าวสามารถใช้พัฒนาพันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ย โดยใช้เทคนิคการผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงคัพภะมะพร้าว ในเบื้องต้นพันธุ์คู่ผสมระหว่างน้ำหอม x กะทิ สามารถเสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรได้อีก 1 พันธุ์

3. มะพร้าวกะทิสามารถส่งเสริมให้บริโภคเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบไปด้วยเกลือแร่ วิตามิน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย และไขมันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บให้กับร่างกาย



วิธีการนำไปใช้ประโยชน์

1. เสนอเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรต่อไป

2. ได้แนะนำและเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปปลูกเป็นการค้าและการส่งออกเพื่อเพิ่มรายได้แล้ว

3. มะพร้าวสายพันธุ์ลูกผสมกะทิที่ได้นำไปวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต่อเพื่อให้ได้พันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ย ซึ่งเป็นพันธุ์แท้ เพื่อเสนอขอเป็นพันธุ์แนะนำและรับรอง และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้าทั้งภายในประเทศ และการส่งออกต่อไป

งานวิจัยมะพร้าวลูกผสมกะทิ ถือว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลก

จากผลงานวิจัยที่โดดเด่น เมื่อปี 2551 งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งงานวิจัยยอดเยี่ยมในวาระ กรมวิชาการเกษตรก่อตั้งครบรอบ 36 ปี

สนใจต้นพันธุ์ สอบถามได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 940-5484 ต่อ 135

รายละเอียดบางแง่มุม ถามที่ อาจารย์สมชาย วัฒนโยธิน โทร. (02) 940-5484 ต่อ 118 หรือ (081) 373-0918

สำหรับแปลงวิจัย อยู่ที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี



คำขอบคุณ

ขอขอบคุณ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร (ท่านประเสิรฐ อนุพันธ์) อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ท่านสุขวัฒน์ จันทรปรรณิก) และ คุณถวิล ทวีรัตน์ เจ้าพนักงานการเกษตร ระดับชำนาญการ ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ที่มีส่วนทำให้งานวิจัยเรื่องนี้ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างดี



เอกสารอ้างอิง

สมชาย วัฒนโยธิน, หฤษฎี ภัทรดิลก และคนอง คลอดเพ็ง. 2539. การจัดการการผลิตมะพร้าว. เอกสาร

การสอนชุดวิชาการจัดการการผลิตพืชไร่อุตสาหกรรม. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

หน้า 166-233.

อุทัย จารณศรี และคณะ. 2536. การทำสวนมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ขนาดใหญ่. เอกสารประกอบการ

ประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 3. หน้า 25-31.

อุทัย จารณศรี. 2547. วิวัฒนาการการทำสวนมะพร้าวกะทิการค้า. วารสารเครือข่ายพืชปลูกพื้นเมืองไทย.

ฉบับที่ 2.หน้า 16-18.

Bruce Fife,C.N.,N.D.2004.The Coconut Oil Miracle. A member of pemguim Group (USA) Inc.239 p.

Del Rosario,A.G. and E.N. de Guzman.1982.The Status of Plant Tissue Culture in the Philippines.

In:Proceeding of Costed Symposium on Tissue Culture of Economical Important Plants,

(ed.A.N.Rao).Singgapore.p. 293-294.

Gonzales,Olympia N.1983. Research Efforts on the Food Uses of the Coconut,Coconut

today.Vol.1. No.2. p.73-90.

Louis,I.Henry. 2002. Coconut-TheWonder Plam. Nanjit Offet Printers,India. 220 p.

Romulo, N.Arancon.Jr.1996. Makapuno from the Philippines.Cocoinfo International.Vol.3. No.1.

p.15-17.
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กรกฏาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 459
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM