ล่องใต้คราวที่แล้วกับกรมส่งเสริมการเกษตร เขาพาแวะไปดู ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ที่ได้จัดทำแปลงพืชผักเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ในแปลงเรียนรู้หลายรูปแบบ ทั้ง แปลงอิฐบล็อก เพื่อปลูกผักเนื่องจากสภาพพื้นที่ ดิน และข้อจำกัดด้านแรงงาน ทำให้ต้องจัดทำแปลงอิฐบล็อกขึ้นมาปลูกผัก ซึ่งผู้ที่สนใจจะต้องนำไปดัดแปลงให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองภายใต้ความประหยัด ลดต้นทุน และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยผักที่ปลูก ประกอบด้วย ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ปลูกพืชผักในล้อยางเก่า โดยนำล้อยางรถยนต์เก่าวางริมถนนในบริเวณสำนักงานและแปลง เรียนรู้ฯ กว่า 100 ล้อ และปลูกพืชผัก ได้แก่ มะเขือ เปราะ มะเขือยาว พริก ถั่วฝักยาว และแตงกวา จัดทำซุ้มฟักแฟงและอุทยานผักพื้นบ้าน โดยนำพืชตระกูลฟักและสมุนไพร ได้แก่ น้ำเต้าจีน น้ำเต้าขาควาย ฟักเขียว แฟง ฟักเงิน ฟักทอง ขิง ข่า ตะไคร้ โหระพา มาปลูกไว้อย่างสวยงาม ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง มะละกอ และไผ่หวาน โดยปลูกบริเวณริมรั้ว และพื้นที่ว่างรอบ ๆ สำนักงาน...ฉะนั้น ใครไปเยี่ยมชมก็จะได้อะไรดี ๆ ไปใช้ในสวนในไร่ของตนเอง อย่างแน่นอน
แต่ที่น่าสนใจที่จะนำมาเสนอวันนี้คือเรื่องของ การทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในแปลง เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกหันมาบริโภคพืชผักที่ผลิตโดยระบบอินทรีย์กันมากขึ้น เกษตรกรก็ปรับตัวโดยการหันมาใช้สารอินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงพืชผัก มิฉะนั้นจะขายไม่ออก หากอยากจะขายออกก็ต้อง ทำตามสมัยนิยม จริงไหม...
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้นำการทำปุ๋ยหมักสูตรต่าง ๆ มาทำและใช้ในแปลงพืชผัก และ พืชอื่น ๆ โดยมีสูตรการทำ ดังนี้
การทำโบกาฉิ ประกอบด้วย มูลสัตว์ 1 ปี๊บ แกลบดิบ 1 ปี๊บ รำละเอียด 1 ปี๊บ จุลินทรีย์ (EM) 2 ช้อนโต๊ะ กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ น้ำ 10 ลิตร
ขั้นตอนวิธีทำ คือ 1. นำมูลสัตว์ แกลบ ผสมให้เข้ากันแล้วคลุกเคล้ากับรำละเอียด นำไปหมักในกอง 2. ผสม EM กับน้ำและกากน้ำตาลแล้วนำไปราดบนกองปุ๋ยหมักให้ทั่ว 3. กลับกองปุ๋ยหมักทุกวันแล้วปิดด้วยกระสอบป่านทิ้งไว้ 7 วัน ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
การนำไปใช้ประโยชน์
พืชผัก ใช้ประมาณ 1-3 กิโลกรัม/8 ตารางเมตร เดือนละ 1 ครั้ง หรือใช้ปรับปรุงดินทุกครั้งที่เริ่มเตรียมดินปลูกใหม่ บำรุงรักษา เพื่อลำต้นและใบแข็งแรง ถั่วฝักยาว แตงกวา ใช้ประมาณ กิโลกรัม/1 ล้อยางเดือนละ 1 ครั้ง บำรุง รักษา เพื่อลำต้นและใบแข็งแรง มะเขือ และ พริกขี้หนู ใช้ประมาณ กิโลกรัม/1 ลูกล้อยาง เดือนละ 1 ครั้ง บำรุงรักษา เพื่อลำต้นและใบแข็งแรง ฟักแฟง บวบ และ น้ำเต้า ใช้ประมาณ กิโลกรัม ต่อ 1 หลุม เดือนละ 1 ครั้ง บำรุงรักษา เพื่อ ลำต้นและใบแข็งแรง
การทำปุ๋ยหมักแห้ง 24 ชั่วโมง ประกอบ ด้วย หญ้าแห้งหรือใบไม้แห้ง 10 กิโลกรัม โบกาฉิ 5 กิโลกรัม รำละเอียด 5 กิโลกรัม จุลินทรีย์ (EM) 2 ช้อนโต๊ะ กากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ น้ำ 10 ลิตร
ขั้นตอนวิธีทำ มีดังนี้ 1. นำหญ้าแห้งหรือใบไม้แห้ง โบกาฉิ ผสมให้เข้ากันแล้วคลุกเคล้า กับรำละเอียด แล้วนำไปหมักในกอง 2. ผสม EM กับน้ำและกากน้ำตาลแล้วนำไปราดบนกองปุ๋ยหมักให้ทั่ว 3. กลับกองปุ๋ยหมัก 1 ครั้ง และปิดด้วยกระสอบป่านไว้ 18 ชั่วโมง
...จากนั้นก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้…เป็นการทำปุ๋ยหมักเพียง 1 วันเท่านั้น สมกับ เป็นเกษตรกรในยุคที่มีเวลาจำกัด!
หมายเหตุ ข้อมูลจาก สมบูรณ์ เขาไข่แก้ว และ สุภา ด้วงนุ้ย.