เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ชมรมเผยแพร่ฯ กับข้อมูลการปลูกพุทราไต้หวันในประเทศไทย
   
ปัญหา :
 
 
หลายคนยังไม่ทราบว่า ไต้หวัน เป็นประเทศที่มีพุทราสายพันธุ์ดีๆ มากมาย มีเกษตรกรไทยนำพันธุ์พุทราจากไต้หวันมาปลูกในบ้านเราจนประสบผลสำเร็จหลายราย เนื่องจากพุทราไต้หวันมีขนาดของผลใหญ่ รสชาติดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้วงการการปลูกพุทราในประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการปลูกพันธุ์ดั้งเดิมหันมาปลูกพุทราไต้หวันกันมากขึ้น อย่างกรณีของพุทรา พันธุ์ "ซุปเปอร์จัมโบ้" ที่มี คุณวารินทร์ ชิตะปัญญา เป็นเจ้าของสายพันธุ์ ได้พันธุ์พุทรามาจากประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2543 และคุณวารินทร์ได้มาปลูกเองเพียง 3 ต้น หลังจากที่คุณวารินทร์ปลูกพุทราพันธุ์นี้ไม่นานก็เริ่มให้ผลผลิต หลายคนที่เห็นในครั้งแรกบอกว่า เหมือนกับพุทราที่ปลูกในประเทศไต้หวัน แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าประเทศพม่าได้พุทราพันธุ์นี้มาจากประเทศไต้หวันหรือไม่ ลักษณะเด่นของพุทราพันธุ์นี้คือ "เป็นพันธุ์พุทราที่ต้นไม่มีหนาม (อาจจะพบหนามบ้างในช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ เมื่อต้นเริ่มให้ผลผลิตหนามจะหายไป) ทำให้สะดวกต่อการจัดการทั้งในด้านของการห่อผลและการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นพุทราที่ให้ผลผลิตเร็ว ปลูกไปเพียง 8 เดือน เริ่มติดผลแล้ว และสามารถปลูกให้ออกดอกติดผลได้ในกระถาง เป็นพันธุ์พุทราที่มีขนาดของผลใหญ่มาก รูปทรงคล้ายผลแอปเปิ้ล และติดผลดกจนต้องปลิดทิ้ง รสชาติหวาน กรอบ น้ำหนักผลเฉลี่ย 6-8 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม (ผลที่มีขนาดใหญ่มากเลี้ยงผลได้มีน้ำหนักถึง 300 กรัม หรือ 3 ขีด) เป็นพุทราที่มีเนื้อมาก เมล็ดมีขนาดเท่าพุทราไทยที่เราบริโภคทั่วไป รสชาติจะอร่อยที่สุดเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม" และได้ตั้งชื่อพันธุ์ว่า "ซุปเปอร์จัมโบ้"

สำหรับพุทราที่มีการนำเข้ามาจากไต้หวันอีกพันธุ์หนึ่ง มีชื่อว่า พันธุ์ "ซื่อมี่" ที่คนไทยมักเรียกกันว่า "พุทรานมสด" จัดเป็นพุทราอีกสายพันธุ์หนึ่งของไต้หวันที่มีขนาดของผลใหญ่และมีน้ำหนักไม่แพ้พันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ เป็นพุทราที่มีรูปทรงของผลเป็นทรงกระบอกหรือทรงยาว ขนาดของผลเมื่อใหญ่เต็มที่จะมีน้ำหนัก 6-8 ผล ต่อกิโลกรัม เนื้อกรอบ ไม่ฝาด ปริมาณไฟเบอร์มาก และมีกลิ่นหอม ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากในเขตภาคเหนือตอนบน

ในขณะเดียวกันที่ไต้หวันเองได้มีการพัฒนาสายพันธุ์พุทราอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีของพุทรา พันธุ์ "มิ่งเฉา" ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทย เรียกว่าพันธุ์ "น้ำผึ้ง" เป็นสายพันธุ์ที่มีการปลูกมากในไต้หวันปัจจุบันนี้ด้วยคุณภาพที่เนื้อหวานและกรอบ มีรูปทรงยาวเป็นรูปกระสวย ขนาดของผลใหญ่มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 6-8 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม (ผลใหญ่สุดหนักมากกว่า 300 กรัม) แตกต่างจากพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้และพันธุ์นมสดที่มีปลูกอยู่ในบ้านเราขณะนี้ จากการที่ผู้เขียนได้ทดลองบริโภคพุทรา พันธุ์ "มิ่งเฉา" พบว่ามีรสชาติหวาน กรอบ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและเมล็ดเล็กมาก (เมล็ดเล็กกว่าพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้)



วิธีการปลูกและบำรุงรักษา

พุทรา พันธุ์ "มิ่งเฉา"

มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ


จากการดูงานปลูกพุทราของคณะชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรที่ประเทศไต้หวัน เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2552 ที่ผ่านมา พบข้อมูลหลายประการเกี่ยวกับการปลูกพุทราในไต้หวันที่นำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ อาทิ อุณหภูมิของสภาพพื้นที่ปลูกพุทราเฉลี่ยไม่ควรสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยจะต้องไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส สภาพดินที่ใช้ปลูกพุทราในไต้หวันจะให้ความสำคัญในเรื่องของอินทรียวัตถุมาก โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยคอก ค่าของความเป็นกรดและด่างของดินเฉลี่ย 6-6.5 (pH=6-6.5) เหมาะสมที่สุด ต้นพุทราไม่ชอบสภาพดินเป็นกรด ถ้าสภาพดินมีค่า pH ต่ำกว่า 5 จะต้องใส่ปูนขาวก่อนปลูก นอกจากนั้น สภาพดินควรจะมีการระบายน้ำที่ดี ถึงแม้จะเป็นสภาพที่ดอน ควรจะทำแปลงแบบยกร่องลูกฟูก

จากการที่ผู้เขียนได้เดินดูสภาพแปลงปลูกพุทราหลายแปลงของเกษตรกรไต้หวันพบว่า มีพื้นที่ปลูกไม่มาก จะมีการกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลง เป็นที่สังเกตว่าการปลูกพุทราไต้หวันหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในแต่ละปี จะมีการตัดแต่งกิ่งทั้งหมดทิ้งให้เหลือเพียงต้นตอและกิ่งหลัก หลังจากนั้นจะมีการนำตายอดหรือตาพันธุ์ดีมาเสียบใหม่ทุกปี ซึ่งแตกต่างจากการปลูกพุทราพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ในบ้านเรา หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะตัดแต่งกิ่งเหลือเพียงแต่ลำต้นและกิ่งหลักที่สูงจากพื้นดิน ประมาณ 50 เซนติเมตร เท่านั้น เมื่อถึงเดือนเมษายนหรือเข้าสู่ช่วงฤดูฝนจะใส่ปุ๋ยคอกและให้น้ำเต็มที่ จะมีกิ่งและใบอ่อนแตกออกมาใหม่ มีการบำรุงรักษาเพื่อให้ต้นเจริญเติบโตออกดอกและติดผลในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จะได้พุทราที่มีคุณภาพดีที่สุด เหตุผลที่มีการติดตาเสียบใหม่ทุกปีของการปลูกพุทราที่ไต้หวันนั้น เนื่องมาจากกลัวการกลายพันธุ์ แต่สำหรับพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ไม่ได้ติดตาใหม่ ไม่พบการกลายพันธุ์ ผลผลิตดกเหมือนเดิม



การให้ปุ๋ย ในการปลูกพุทรา

พันธุ์ "มิ่งเฉา"


ในการให้ปุ๋ยพุทรา พันธุ์ "มิ่งเฉา" นั้น จากการสอบถามนักวิชาการเกษตรทางด้านพุทราของไต้หวัน แนะนำปุ๋ยที่มีไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูงในช่วงบำรุงต้นก่อนออกดอก เมื่อกิ่งระยะออกดอกจะเน้นธาตุฟอสฟอรัส ใช้ปุ๋ยเคมี N:P:K = 1:5:1 เมื่อถึงระยะติดผลอ่อน จะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย สูตร N:P:K = 5:1:1 และช่วงผลใกล้แก่จะเน้นโพแทสเซียมเพื่อเพิ่มความหวาน ยังมีข้อมูลเดิมว่า การใส่ธาตุโบรอนลงไปในดินจะช่วยให้ผลสวยขึ้น เป็นที่สังเกตว่ารากของต้นพุทราที่หาอาหารนั้นจะอยู่ที่ความลึกไม่เกิน 20 เซนติเมตร รากใหญ่และรากเก่าๆ จะมีหน้าที่ยึดลำต้นให้แข็งแรง รากที่หาอาหารจึงมีปริมาณมาก ลึกลงไปเพียง 20 เซนติเมตร เท่านั้น การให้น้ำจะต้องคำนวณให้พอดี ถ้าให้น้ำมากเกินไปปุ๋ยจะใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่



เทคนิคการผลิตพุทราไต้หวัน

ให้ผลใหญ่สม่ำเสมอทั้งต้น


เนื่องจากพุทราสายพันธุ์ไต้หวันมีขนาดของผลใหญ่และให้ผลผลิตดก และวิธีการที่จะทำให้พุทรามีขนาดของผลใหญ่สม่ำเสมอทั้งต้นจะต้องมีการดูแลแตกต่างจากการปลูกพุทราโดยทั่วไป โดยยึดหลักการเทคนิคสำคัญดังนี้

1. หากปล่อยให้ติดผลดกเกินไป จะทำให้ผลมีขนาดเล็กลง และไม่ได้คุณภาพ จะต้องเด็ดทิ้งบ้าง โดยจะไว้ผลเพียง ข้อละ 1-2 ผล เท่านั้น

2. เมื่อผลพุทราไต้หวันมีขนาดใหญ่เท่ากับผลมะนาวจะต้องห่อผล

3. หลังจากปลูกพุทราไต้หวันไปได้ 8 เดือน จะเริ่มออกดอกติดผล ใส่ขี้ไก่เพื่อบำรุงต้น และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 เดือนละ 1 ครั้ง และพ่นปุ๋ยทางใบที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร 0-0-50 เพื่อบำรุงให้ผลผลิตมีรสชาติดี

4. เมื่อต้นพุทรามีขนาดของต้นใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้ไผ่มาทำค้างเป็นรูปตัววี เพื่อควบคุมทรงต้น สะดวกต่อการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต

5. พุทราสายพันธุ์ไต้หวัน เป็นพันธุ์ที่ทยอยให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ไม่เหมือนพุทราที่ปลูกในเชิงการค้าทั่วไป ที่ให้ผลผลิตเพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น ตั้งแต่ออกดอกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใช้เวลาประมาณ 120 วัน

6. การปลูกพุทราไต้หวันในเชิงพาณิชย์จะต้องมีแรงงานเพียงพอและมีความชำนาญในการปลิดผล ห่อผล และเก็บเกี่ยว เพราะจะต้องทำอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าห่อผลช้าแมลงวันทองจะเข้าทำลายเสียก่อน



การเก็บเกี่ยวผลผลิต

พุทรา พันธุ์ "มิ่งเฉา"


เป็นที่สังเกตว่าการเก็บเกี่ยวพุทรา พันธุ์ "มิ่งเฉา" จะเก็บเกี่ยวที่ความแก่ของผล 70-85% แล้วนำเข้าห้องเย็นทันที ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ย 2-6 องศาเซลเซียส พุทราจะคงความสดและคุณภาพดีได้นาน เฉลี่ย 15-20 วัน (บางทีอาจอยู่ได้เป็นเดือน) แต่ในการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งจะต้องมีความประณีต อย่าให้ชอกช้ำ โดยปกติถ้าเก็บขายสดเพื่อส่งตลาดจะเก็บเกี่ยวผลผลิตตอนเช้า ตอนบ่ายจะบรรจุหีบห่อส่งตลาดทันที





การปลูกพุทรา

พันธุ์ไต้หวันในประเทศไทย


โดยปกติแล้วพุทราเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ดินเหนียว ดินทราย หรือแม้กระทั่งดินลูกรัง ขอเพียงให้มีการปรับปรุงดินที่ดี มีการใส่อินทรียวัตถุจำพวกปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก และดูแลเรื่องการระบายน้ำให้ดีก็สามารถปลูกพุทราได้ผลดี (แต่จะชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี) การปลูกควรปลูกในแนวเหนือ-ใต้ จะดีที่สุด เพราะพุทราต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน

กรณีปลูกในพื้นที่ราบแนะนำให้ปลูกระยะระหว่างต้น 4 เมตร และระยะระหว่างแถว 5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 80 ต้น ในการปลูกเกษตรกรส่วนใหญ่จะนิยมใช้กิ่งพันธุ์ที่ได้จากการติดตาหรือทาบกิ่งมาปลูก หรือเกษตรกรบางรายอาจจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ตาที่ติดจะแตกเป็นต้นใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ต้นจะเจริญเติบโตได้เร็วมาก

ในขณะนี้มีเกษตรกรได้นำพุทราพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ และพันธุ์ซื่อมี่ไปปลูกกระจายทั่วประเทศ และได้รับการตอบรับในเรื่องการให้ผลผลิตและรสชาติว่าตรงตามสายพันธุ์โดยไม่เลือกพื้นที่ปลูก คือปลูกได้ทั่วประเทศ เพียงแต่เกษตรกรมีการจัดการระบบแปลงปลูกที่ดีหรือไม่ อย่างกรณีของการปลูกในสภาพพื้นที่ดอนนั้น ถึงแม้จะไม่มีน้ำท่วมขังก็ตาม ควรจะยกแปลงปลูกแบบลูกฟูกเพื่อการระบายน้ำที่ดีและมีส่วนช่วยให้ผลผลิตมีรสชาติดีขึ้น เกษตรกรที่มีเพียงแรงงานในครัวเรือนหรือมีเป้าหมายในการขายผลผลิตพุทราเพียงในตลาดท้องถิ่น ควรจะวางแผนปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ก็พอแล้ว โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 6 เมตร และระหว่างต้น 3 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 90 ต้น

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ต้นพุทราพันธุ์ไต้หวันที่ปลูกไปเพียง 5-6 เดือน ต้นจะเริ่มออกดอกและติดผล และเมื่อต้นมีอายุได้ครบ 1 ปี จะสามารถเก็บผลผลิตได้อย่างน้อย 1,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ไร่ และเมื่อเข้าปีที่ 2 จะได้ผลผลิตทวีคูณมากกว่า 4 เท่าตัว คือ 4,000 กิโลกรัม ต่อไร่ และถ้าขายผลผลิตจากสวนได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 25 บาท พื้นที่ 1 ไร่ ทำเงินได้ถึง 100,000 บาท ภายในเวลา 2 ปี เท่านั้น

สำหรับพุทรา พันธุ์ "มิ่งเฉา" ทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้พันธุ์มาทดลองปลูก คาดว่าภายในปลายปี พ.ศ. 2552 จะทราบผลว่าได้ผลผลิตและมีคุณภาพดีเหมือนกับที่ปลูกในไต้หวันหรือไม่



หนังสือ "การปลูกพุทราไต้หวันในประเทศไทย" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ "ไม้ผลแปลกและหายาก" รวม 124 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์มูลค่ารวม 50 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 462
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM