เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ไผ่หม่าจู พัฒนานิคม ลพบุรี ลำใช้งานได้ดี หน่อทำอาหารอร่อย ใบยังขายได้ ปลูกแล้วธรรมชาติกลับคืนมา
   
ปัญหา :
 
 
พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ได้รับการแบ่งสันปันส่วนมาตั้งแต่สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดูไปคล้ายๆ กับบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ คือเป็นระบบ มีซอย มีถนนผ่าน แต่ต่างกันตรงที่ บ้านแต่ละหลังของคนพัฒนานิคม มีพื้นที่มากถึง 25 ไร่

แต่เก่าก่อน ที่พัฒนานิคมมีชื่อเสียงทางด้านข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หลังๆ มีน้อยลง แล้วก็มีทานตะวันให้ได้ชื่นชมกัน ช่วงต้นฤดูหนาว

พื้นที่ทางการเกษตรของพัฒนานิคม ถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ส่วนใหญ่จะเป็นทุ่งโล่ง เป็นแปลงปลูกพืชไร่ รวมทั้งทุ่งหญ้าลี้ยงสัตว์ ฤดูฝนมีความเขียวขจี ป่าข้าวโพดมองสุดลูกหูลูกตา เหมือนสารคดีในต่างประเทศ

ครั้นเข้าสู่หน้าแล้ง อุณหภูมิของอากาศจะสูงขึ้น คืออากาศร้อนนั่นเอง ถือเป็นเรื่องปกติ

มีกิจกรรมการเกษตรอยู่แปลงหนึ่ง ของเกษตรกรหัวก้าวหน้า ไม่ว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความเปลี่ยนแปลงของที่นี่มีน้อย

ที่นี่ มีความชุ่มเย็น ขณะที่เดินทางร้อนๆ เมื่อเหยียบย่างเข้าไปบริเวณนั้น ความเย็นจะเพิ่มขึ้น แถมมีสิ่งสวยๆ งามๆ มีกลิ่นหอมของดอกไม้ เปรียบเทียบแล้ว เหมือนกับเดินอยู่ในทะเลทราย แล้วไปพบโอเอซีส แต่ในสภาพความเป็นจริง บริเวณนั้นเป็นโอเอซีสต้นไม้ มีไผ่เป็นหลัก อย่างอื่นก็มีไม้ประดับ อาทิ จันทน์ผา ลีลาวดี จั๋ง และที่เริ่มปลูกด้วยเมล็ด คือผักหวาน ประมาณ 1,000 หลุม

เจ้าของแปลงเกษตรกรรมดังกล่าวคือ คุณณรงค์-คุณพิมลพรรณ ไทยเจริญ อยู่บ้านเลขที่ 74/3-4 หมู่ที่ 1 ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี คุณณรงค์เรียนจบทางด้านสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รุ่น 49 สิ่งที่เขาได้มาจากเชียงใหม่ นอกจากวิชาความรู้แล้ว คือคู่ชีวิต คุณพิมลพรรณ สาวจากสันกำแพง คุณรงค์มาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่พัฒนานิคม โดยเปิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการโคนม-โคเนื้อ และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ รู้จักกันดีในนาม "ร้านไทยเจริญ ซัพพลาย"

กิจการของคุณรงค์ดำเนินไปด้วยดี ในฐานะที่เรียนจบมาทางด้านการเกษตร เขาจึงเสาะหาซื้อที่ดิน ได้ที่แปลงหนึ่ง มี 25 ไร่



สำนึกเรื่องโลกร้อน

เรื่องของโลกร้อน ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเกิดขึ้นใกล้ตัว ในการแก้ปัญหานั้นทำได้ เริ่มจากจุดเล็กๆ คุณรงค์ปลูกต้นไม้ในที่ดินที่ว่างเปล่า จนปัจจุบันร่มครึ้ม เวลาเขาเข้าไปอาศัยอยู่ ตัวเขาร้อนน้อยลงอย่างชัดเจน ส่วนจะลดโลกร้อนได้ไหม อาจจะต้องช่วยกันมากๆ หน่อย รวมทั้งทำอย่างอื่นด้วย คือ ลด ละ และเลิก บางอย่าง

พื้นที่ 25 ไร่ คุณณรงค์ปลูกไผ่ไปแล้ว 18 ไร่ ชนิดของไผ่มี ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง หม่าจู หลี่จู๋ และอื่นๆ อีก 4-5 ชนิด กำลังศึกษาดูใจกันอยู่

"เริ่มจากแนวคิดโลกร้อน ผมมีที่แปลงนี้ ผมอยากลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ลดการใช้สารกำจัดแมลง ผมเลือกพืชที่ตรงกับนิสัยของผม คือผมขี้เกียจ จึงเลือกปลูกไม้สัก ไผ่ เมื่อก่อนฟังเรื่องกิ่งไผ่ ไผ่กิ่งเดียวหักได้ เมื่อมามัดรวมกันหักไม่ได้ ไผ่ไฟไหม้ไม่ตาย ที่ดินบางส่วนมีแต่หินจึงปลูกลีลาวดี จั๋ง จันทน์ผา มะพร้าวน้ำหอม ไม้หอม การดูแลรักษาไม่ต้องมาก เน้นใส่ขี้วัวให้ เป็นแนวคิดของ...บ้านไร่ไทยเจริญ...ชื่อไร่ของผมเอง"

คุณณรงค์บอกและเล่าต่ออีกว่า

"ไผ่ที่ปลูกอย่างไผ่หม่าจู มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน หากปลูกในที่ดินสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร ขึ้นไป เส้นผ่านศูนย์กลางจะ 7-8 นิ้ว เนื้อแข็ง สารพัดประโยชน์ หน่ออยู่ในตระกูลของไผ่หวาน ที่พิเศษคือ หน่อไม่มีขน ไม่มีหนาม เหมาะทำตะเกียบ ใบทางสุพรรณบุรีเขาขาย มีคนซื้อไปทำบ๊ะจ่าง หากมีปลูกมากๆ เรื่องของลำ อาจจะทำเรื่องของโอท็อปได้"

คุณรงค์ปลูกไผ่หม่าจูกว่า 100 กอ ปัจจุบันเจริญเติบโตจนร่มครึ้ม หน่อก็เก็บได้อย่างสม่ำเสมอ

แต่ไผ่อีกชนิดหนึ่งที่มีค่อนข้างมาก เป็นไผ่พื้นๆ คือ ไผ่รวก

"ไผ่รวก ดูแลไม่ยาก ใช้ได้ทั้งหน่อ ทั้งลำ เขตพัฒนานิคมนิยมซื้อไปทำรั้วไฟฟ้ากันวัว ใช้กันปีต่อปี ปกติตัดกัน 1 เมตร ผมแถมให้เป็น 1.20 เมตร ไม้อายุ 2 ปี หน่อไผ่รวกช่วงฤดูกาลขาย กิโลกรัมละ 5 บาท หากต่ำกว่านั้นก็แปรรูป หรือเอาไว้ลำเพื่อใช้งาน ราคาลำไผ่รวก 6-7 ลำ 100 บาท หากอยากให้ไม้ไผ่คงทนถาวรแช่น้ำเดือนหนึ่งไม่มียาง มอด ปลวก ก็ไม่ทำลายแล้ว"



ผสมผสานอย่างอื่น

คุณณรงค์เคยจำหน่ายไผ่รวกเป็นกอได้มากถึง 1,400 กอ มีคนขุดไปจัดสวน เป็นแนวกันลม ทั้งนี้เพราะไผ่ราคาไม่แพง มีความคงทน ตายยาก เมื่อมีที่ว่าง จากการขุดไผ่ออกไป เขาปลูกจั๋งแซม พร้อมทั้งปลูกผักหวานด้วยเมล็ด จำนวน 1,000 หลุม ขณะนี้งอกแล้ว 890 หลุม ความยาวประมาณ 1 คืบ

เจ้าของจะพยายามทำให้ได้เหมือนเกษตรกรรายอื่นปลูก คือวันที่ 4 เมษายน 2553 ครบ 1 ปี ให้ได้ความสูง 40 เซนติเมตร

เพราะเป็นนักเกษตร และคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วย ที่แปลงเกษตรของคุณณรงค์มีหิ่งห้อยอยู่พอสมควร

เขาเล่าที่มาที่ไปว่า

"ผมซื้อที่ใหม่ๆ ข้างๆ แปลงนี้ มีหิ่งห้อยฝูงสุดท้ายอยู่ไม่กี่ตัว ผมไม่ค่อยได้ใส่ใจ เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว พอดีแปลงเกษตรของผมใช้สารเคมีน้อยมาก หรือแทบไม่ใช้เลย ปรากฏว่า ช่วงนี้เขามาหลบอยู่ที่สวนผม มีกว่า 100 ตัว กำลังศึกษาอยู่ว่าเขาอยู่กันอย่างไร เบื้องต้นสรุปว่า น้ำต้องดี เพราะหิ่งห้อยเป็นตัวห้ำชนิดหนึ่ง หนอนแมลงปอก็เป็นอีกตัวหนึ่ง น้ำต้องสะอาด ที่สระไม่มีสารเคมีตกค้าง น้ำสะอาดพวกนี้ขยายพันธุ์ได้ ผมใช้พลังงานสะอาด การปั๊มน้ำมาใช้ ก็ใช้กังหันลม"



อาหารจากไผ่หม่าจู

อร่อยมาก


เป็นโอกาสดีมาก เมื่อเข้าไปหาข้อมูลจากคุณรงค์ เจ้าของแปลงเกษตรได้ทำอาหารจากไผ่หม่าจูให้ชิม มีทั้งต้มจืด ผัด ต้มจิ้มน้ำพริก

นอกจากนี้ ก็มีซุบหน่อไม้ เป็นไผ่รวก

คุณต้อม ภรรยาคุณรงค์บอกว่า ไผ่หม่าจูทำอาหารได้หลายอย่าง กรณีการต้มจืด หากอย่างได้รสหวานสนิท ต้มน้ำทิ้ง 1 ครั้ง แต่หากเป็นแกงแบบอีสานไม่ต้องต้มน้ำทิ้ง

ส่วนการผัด เตรียมโดยการสับแล้วต้มน้ำ จากนั้นจึงนำมาผัด หากเป็นทางเชียงใหม่ นิยมใส่วุ้นเส้นเข้าไปด้วย คุณต้อมบอกว่า หน่อหม่าจูมีรสชาติหวาน ไม่มีคาย เวลาตัดมาทำอาหารตัดสูงราว 1 ฟุต หรือจะสั้นกว่านั้นก็ได้

"พื้นที่ 18 ไร่ เน้นไผ่รวกเป็นหลัก ไผ่หม่าจู ก็ขยายเพิ่มขึ้น แนวคิดของเราปลูกพืชที่ดูแลไม่ยาก ใช้สารเคมีน้อย หรือไม่ใช้เลยยิ่งดี ไผ่รวกอเนกประสงค์มาก มีประโยชน์มาก ส่วนหม่าจู เราทำพันธุ์ตามออเดอร์ ต้นละ 60 บาท ชำถุงให้พร้อม" คุณรงค์ บอก

ผู้ที่สนใจ ถามไถ่กันได้ตามที่อยู่ หรือ โทร. (036) 638-350, (081) 946-3318, (081) 651-5735

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ลพบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 462
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM