เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
การขยายกล้าสักมงคล สายพันธุ์เสาชิงช้า ด้วยวิธีเพาะเนื้อเยื่อ ณ สถานีวนวัฒนวิจัยงาว
   
ปัญหา :
 
 
สืบเนื่องมาจาก เมื่อปลาย พ.ศ. 2547 กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตกแต่งกรุงเทพฯ และโบราณสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นก็คือ "เสาชิงช้า" ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมตามอายุ และเนื้อไม้ผุกร่อนชำรุดมาก กรุงเทพมหานครจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณะเสาชิงช้าขึ้น ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายๆ หน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือ กรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ในการที่คัดเลือกไม้สักทองที่เป็นไม้ท่อนเดียว ที่มีลำต้นเปลาตรง ขนาดความยาวและความโตตามลักษณะเสาชิงช้าเดิม จำนวน 6 ต้น อยู่ในท้องที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ โดยต้นที่ 1 และ 2 เป็นไม้ธรรมชาติอายุ 99 ปี และ 147 ปี ตามลำดับ ส่วนต้นสักที่นำไปทำเสาตะเกียบทั้ง 4 ต้น อายุ 61 ปี เป็นไม้สักในสวนสักป่าห้วยไร่ อยู่ในเขตควบคุมรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ในการที่จะนำไม้สักดังกล่าวไปทำเสาชิงช้าร่วมกับประชาชนชาวแพร่แล้ว กรมป่าไม้ ได้พิจารณาอนุญาตให้พลีต้นสักที่คัดเลือกไว้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้นำไม้สักดังกล่าวไปแปรรูปต่อไป เพื่อร่วมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติครบ 60 ปี ใน พ.ศ. 2549 โดยการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าให้แล้วเสร็จในปี 2550 อันเป็นปีมหามงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา

ก่อนที่จะพลีต้นสักมงคลทั้ง 6 ต้น กรมป่าไม้ ได้เก็บกิ่งพันธุ์ต้นสักดังกล่าวมาขยายโดยการติดตา ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักวิจัยของกรมป่าไม้ได้ศึกษาค้นคว้า เพื่อช่วยในการลดอายุต้นสักที่นำไปสร้างเสาชิงช้า

ก่อนที่จะนำยอดอ่อนไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ที่สถานีวนวัฒนวิจัยงาว จังหวัดลำปาง เพื่อใช้เป็นต้นแม่พันธุ์ในการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและปักชำ เพื่อการผลิตกล้าไม้สักที่มีลักษณะทางพันธุ์เหมือนต้นสักเดิมทุกประการ

คุณสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เพื่อเป็นการบูรณาการในการอนุรักษ์สายพันธุ์สักมงคลที่นำไปทำเสาชิงช้า กรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จึงได้ลงนามบันทึกความร่วมมือการดำเนินการโครงการปลูกต้นสักมงคล สายพันธุ์เสาชิงช้า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขยายพันธุ์ต้นสักมงคลทั้ง 6 ต้น ให้ได้จำนวน 1,000,000 กล้า ในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษา 7 รอบ โดยเริ่มดำเนินการแจกจ่ายกล้าไม้สักมงคล สายพันธุ์เสาชิงช้า ในปี 2552 จำนวน 20,000 กล้า และปี 2553 จำนวน 280,000 กล้า สิ้นสุดโครงการในปี 2554 จำนวน 700,000 กล้า รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,000,000 กล้า

เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีโอกาสภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการดูแล รักษา สายพันธุ์ของต้นสักที่นำไปสร้างเสาชิงช้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์คู่กรุงรัตนโกสินทร์ไปปลูกเพื่อเป็นสิริมงคลได้อย่างทั่วถึง จึงกำหนดให้รับกล้าไปปลูกเพียงคนละ 1 ต้น หากเป็นหน่วยงาน ได้หน่วยงานละ 9 ต้น โดยประชาชนสามารถเข้าไปจองกล้าสัก ผ่านทางเว็บไซต์ www.Klasakmongkul.org หรือที่เว็บไซต์ของกรมป่าไม้ www.forest.go.th โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก เป็นตัวกำหนด หรือติดต่อรับกล้าไม้ที่กรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร และ BIOTECH

คุณสาโรจน์ วัฒนสุขสกุล หัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยงาว กล่าวว่า การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและปักชำ เริ่มต้นด้วยการเก็บกิ่ง ตา จากไม้สักมงคลทั้ง 6 ต้น มาติดตากับต้นตอใหม่ (เหง้าสัก) เพื่อเป็นการลดอายุไม้สักที่นำไปสร้างเสาชิงช้า ที่มีอายุมากเกินไป ไม่เหมาะที่จะนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่การที่นำตาจากกิ่งต้นพันธุ์ มาติดตาเหง้าสัก ก็จะได้ยอดที่เหมาะสมจะนำไปฟอกเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีการที่ได้จากการวิจัยแล้วว่าเหมาะสมที่สุด ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ ได้ติดตาเพื่อขยายพันธุ์ได้ประมาณ 400 กล้า ใช้เวลาเลี้ยงดูประมาณ 6 เดือน ก็ได้ยอดที่สมบูรณ์และเหมาะที่จะนำไปฟอก ฆ่าเชื้อ และเลี้ยงในขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องมีการควบคุมเรื่องแสงและอุณหภูมิ ขั้นที่ 3 เป็นการย้ายต้นกล้าสักมงคลจากขวดเลี้ยงเนื้อเยื่อลงถาดเพาะชำ เพื่อชักนำให้เกิดราก ในเรือนพ่นหมอก ที่ต้องควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ ประมาณ 15-20 วัน เมื่อต้นกล้าเริ่มออกรากมากพอแล้ว ก็ย้ายจากเรือนพ่นหมอกเพื่อปรับสภาพ 5-7 วัน ก่อนจะย้ายชำลงถุง และนำไปเลี้ยงในแปลงเพาะชำ จากนั้นใช้เวลาเลี้ยงดูประมาณ 4 เดือน ก็จะมีขนาดโตพอที่จะจ่ายแจกให้กับประชาชนนำไปปลูกได้

คุณจำนรรจ์ เพียรอนุรักษ์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ กรมป่าไม้ ประจำสถานีวนวัฒนวิจัยงาว กล่าวว่า การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถือว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการที่จะเพิ่มจำนวนกล้าไม้ให้ได้จำนวนมากๆ และรวดเร็ว แต่ต้องใช้เทคนิคสูง โดยเฉพาะการนำเนื้อเยื่อจากยอดพันธุ์มาเพาะเลี้ยงในขวดนั้นจะต้องใช้ความชำนาญในการใช้มีดที่คมและปราศจากสิ่งปลอมปน ต้องทำในห้องปลอดเชื้อ ซึ่งกรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณในการสร้างห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย และปลอดเชื้อ มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 และได้พัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนประสบความสำเร็จ จึงได้ดำเนินการขยายพันธุ์ไม้สักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าในการที่จะรักษาพ่อแม่พันธุ์เดิมเอาไว้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร และ ไบโอเทค ในการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางพันธุ์

นอกจากไม้สักมงคล สายพันธุ์เสาชิงช้าแล้ว ทางสถานียังได้ดำเนินการขยายพันธุ์ไม้สักลูกผสมพันธุ์ดี ที่ได้จากแม่ไม้พันธุ์ดีที่ผ่านการทดสอบสายพันธุ์จำนวนมาก และพร้อมที่จะแจกจ่ายกล้าสักพันธุ์ดีให้กับประชาชนได้นำไปใช้ในการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจต่อไป
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ลำปาง
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 462
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM