เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ทำอย่างไรให้มันสำปะหลังปลอดเพลี้ยแป้ง
   
ปัญหา :
 
 
มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่งของไทย จนไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากไนจีเรียและบราซิล และไทยเป็นประเทศที่ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นพืชที่เกษตรกรต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคไม่น้อย ไม่ว่าในด้านผลผลิต ราคา และการระบาดของศัตรูที่สำคัญ เช่น เพลี้ยแป้ง เป็นต้น เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก เพราะเห็นว่าเป็นพืชที่มีความอดทนต่อความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ปลูกง่าย สามารถเติบโตได้ในแทบทุกพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง แม้ในดินที่มีความเป็นกรดสูง ก็สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้น มันสำปะหลังจึงสามารถเจริญเติบโตในดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างของดินอยู่ที่ 5.0-8.0 ปริมาณน้ำฝนที่ต้องการ ตั้งแต่ 1,200-1,500 มิลลิลิตร ต่อปี และอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส

นักวิจัยการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ คุณสรรเสริญ สุนทรทยาภิรมย์ ได้กล่าวถึงการจัดการอย่างถูกต้อง เพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังว่า มันสำปะหลังจะได้ผลผลิตมากหรือน้อยเพียงใด อยู่ที่การจัดการอย่างถูกวิธี บนพื้นฐานความเป็นจริง มิได้อยู่ที่การโฆษณาที่มีหลากหลายวิธีการ บนความคาดหวังว่าจะเนรมิตผลผลิตให้ได้ 20, 30 หรือ 40 ตัน ต่อไร่ ซึ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐาน และหลักความเป็นจริงของพฤกษศาสตร์วิทยามันสำปะหลังเลยแม้แต่น้อย เป็นการขายวิธีการ ขายผลิตภัณฑ์ ต้นพันธุ์ที่อ้างว่าพัฒนาเองในราคาสูงเกินความจริง หรือผลประโยชน์แฝงอื่นๆ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรเสียมากกว่า การเกษตรที่ถูกวิธี ต้องสามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์การเกษตรที่เห็นได้ด้วยตา และสัมผัสได้ด้วยมือ มิใช่ไสยศาสตร์การเกษตรที่เป็นเพียงแต่ความฝันที่ไม่สามารถสัมผัสได้ เกษตรกรจึงควรตระหนักและเน้นพื้นฐานความเป็นจริงของการเกษตรเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เกษตรกรพึงตระหนักคือการจัดการให้ถูกวิธี เกษตรกรส่วนใหญ่มักเห็นว่าเป็นพืชปลูกง่ายจึงละเลยในการจัดการ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจัดการเตรียมต้นพันธุ์ การเตรียมดินและการใส่ปุ๋ย การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว รวมทั้งการรู้จักป้องกันโรคและแมลง เป็นต้น การปลูกมันสำปะหลังในอดีตมักไม่พบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานและปรับตัวได้ดี แต่จากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เริ่มประสบปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืช โรคและแมลง โรคของมันสำปะหลังที่พบ เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคใบจุดไหม้ โรคใบจุดขาว ในบรรดาโรคเหล่านี้ โรคใบจุดสีน้ำตาลรุนแรงที่สุด กรณีนี้สามารถป้องกันได้ โดยเกษตรกรไม่ปลูกมันสำปะหลังให้มีปริมาณต้นมากเกินไป (ปลูกถี่) จนทำให้หนาแน่น การระบายอากาศในพื้นที่ต่ำ ทำให้เกิดโรคดังกล่าว ส่วนแมลง เช่น ไรแดง เพลี้ยแป้ง และแมลงหวี่ขาว เป็นแมลงปากดูดที่ทำลายมันสำปะหลัง จะระบาดในระยะฝนทิ้งช่วงนานเกินไป

คุณสุพจน์ แสงปทุม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดราชบุรี ได้กล่าวถึงวิกฤติการระบาดของเพลี้ยแป้งในขณะนี้ว่า มักระบาดในมันสำปะหลังที่ยังไม่โตซึ่งจะมีผลกระทบต่อการสร้างหัว เพราะพฤติกรรมของเพลี้ยแป้งคือ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ต้น ใบ ยอด และตาของมันสำปะหลัง มีปากแบบเจาะดูด ขับถ่ายมูลหวานออกมาทำให้เกิดราดำ ต่อมาจะเกิดอาการใบร่วง ข้อถี่ ยอดแห้งตาย หรือม้วนงอเป็นก้อนกลม (ลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ) สาเหตุการระบาดของเพลี้ยแป้งยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันมีส่วนทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดขยายวงกว้างขึ้น เกิดจากการขยายพื้นที่ปลูกและมีการใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเพลี้ยแป้งติดไปกับท่อนพันธุ์ จากนั้นหลังปลูกจะมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งกระจายไปสู่ต้นมันสำปะหลังอื่นและแปลงข้างเคียง

การพบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2551 ซึ่งพบจำนวน 2 ชนิด

ชนิดแรก คือเพลี้ยแป้งลาย ซึ่งพบระบาดทั่วไปแต่ยังไม่เคยสร้างปัญหารุนแรงต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ส่วนเพลี้ยแป้งอีกชนิดหนึ่งไม่เคยมีรายงานพบการระบาดในมันสำปะหลังมาก่อน แต่พบการทำลายเสียหายรุนแรงกว่าชนิดแรก เคยมีรายงานว่าการระบาดของเพลี้ยแป้งในประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง 20-80 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของประเทศไทยพบว่า ในหลายพื้นที่ที่พบการระบาดขณะต้นยังเล็กมีความรุนแรงจนต้องไถทิ้งและปลูกใหม่แต่ก็ยังระบาดซ้ำอีก เนื่องจากยังมีเพลี้ยแป้งอยู่บนเศษซากต้น และมีการระบาดที่แปลงข้างเคียง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ต้องใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 500 ต้น รวมทั้งเกษตรกรต้องพ่นสารกำจัดแมลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นรวมถึงการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้แมลงที่มีประโยชน์พวกตัวห้ำตัวเบียนที่จะมาทำลายเพลี้ยตายไปหมดด้วย ดังนั้น เกษตรกรจึงควรรู้จักวิธีป้องกันและกำจัดที่ถูกต้อง

การทำให้มันสำปะหลังปลอดเพลี้ยแป้งให้ได้ผล ต้องใช้วิธีการผสมผสาน ดังนี้

1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 4 วิธี ได้แก่

1.1 ควรมีการไถและพรวนดินหลายๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้ง

1.2 ควรปลูกต้นฤดูฝนเพื่อให้มันสำปะหลังแข็งแรง ทนทานต่อการทำลายของเพลี้ยแป้ง โดยหลีกเลี่ยงการปลูกในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่มันสำปะหลังยังเล็ก และกระทบแล้ง (ในเดือนมกราคมถึงมีนาคม) ช่วงนี้เพลี้ยแป้ง ไรแดง แมลงหวี่ขาวระบาดมีความต้านทานต่ำ และกระทบแล้งพอดี

ระยะเวลาของการปลูกที่เหมาะสมคือ กุมภาพันธ์-มีนาคม (น้ำหยด) หรือต้นฝน (เมษายน-พฤษภาคม) เพราะเป็นช่วงเวลาที่มันเล็กจะอยู่ในระหว่างฤดูฝน ทำให้เจริญเติบโตได้เร็วกว่า หรือการปลูกปลายฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม) ซึ่งจะได้รับน้ำฝนเดือนสิงหาคมและกันยายน

1.3 คัดเลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง และควรใช้พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำ และหลีกเลี่ยงการนำต้นพันธุ์จากแหล่งระบาดเข้ามาปลูกในพื้นที่ ก่อนปลูกทุกครั้งต้องแช่ท่อนพันธุ์ในยาฆ่าเชื้อและไข่ของเพลี้ยแป้งเสมอ หรือมีการแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมากับท่อนพันธุ์

1.4 ถอนต้นหรือตัดส่วนของต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งจำนวนมากออกจากแปลงแล้วเผา หรือทำลาย

2. การใช้ชีววิธี ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 2 วิธี ได้แก่

2.1 ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย ร่วมกับสารจับใบไคดินฉีดพ่น ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนี้

เด็ดยอดมันสำปะหลังที่มีกลุ่มเพลี้ยแป้งอาศัยออก ใส่ถุงพลาสติคสีดำ ตากแดดไว้จนกว่าเพลี้ยแป้งจะตาย

ฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอร์เรียในเวลาเย็น อุณหภูมิต้องไม่เกิน 27 องศาเซลเซียส ความชื้นต้องไม่ต่ำกว่า 50% เชื้อราจะเข้าทำลายเพลี้ยแป้ง ส่วนสารจับใบไคดินที่มีองค์ประกอบของไคโตซานจะทำหน้าที่กระตุ้นการแตกยอดใหม่ และกระตุ้นให้พืชสร้างเอ็นไซม์ไคดินเนส (พิษ) เพื่อป้องกันแมลงปากดูดทุกชนิดที่มีองค์ประกอบของเปลือกหุ้มเป็นไคดินทำลาย ฉีดพ่นซ้ำหลังการพ่นครั้งแรก 5-7 วัน

2.2 ใช้แมลงศัตรูเพลี้ยแป้งควบคุม เนื่องจากเพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ ได้แก่ ด้วงเต่า และแมลงช้างปีกใส

2.3 ทำไร่มันสำปะหลังด้วยระบบชีวภาพ หมักดินให้ดีมีภูมิต้านทานโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล (ปุ๋ยปลาร้า) เพื่อดึงความสมดุลทางธรรมชาติให้กลับคืนมา นอกจากจะให้ผลผลิตสูงสุดจากการเพิ่มศักยภาพของดินให้สมบูรณ์ มีธาตุอาหารครบแล้วยังไม่มีโรค แมลงมารบกวน เป็นการป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุอีกทางหนึ่ง

คุณสุพจน์ กล่าวตอนท้ายว่า เกษตรกรที่เริ่มปลูกมันสำปะหลังในระยะระบาดของเพลี้ย แต่ได้ป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง และต้นมันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ดีก็อย่าประมาท เกษตรกรยังจำเป็นต้องระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันมิให้เพลี้ยแป้งระบาดซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดหรือบริเวณใกล้เคียง ยังมีต้นมันสำปะหลังอายุรอเก็บเกี่ยวเหลืออยู่ ซึ่งมักมีเพลี้ยแป้งอาศัยอยู่ตามลำต้น และบางพื้นที่ฝนทิ้งช่วง ภาวะเช่นนี้อาจทำให้มีการระบาดของเพลี้ยแป้งซ้ำขึ้นอีกได้ อันจะส่งผลต่อเนื่องให้ผลผลิตของปี 2553 ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ดังนั้น จึงขอเน้นเกษตรกรให้เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการระบาด ตรวจดูพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบการระบาดของเพลี้ยแป้งหรือโรค และแมลงอื่นๆ ควรรีบปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอันดับแรก เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล หรือศูนย์บริหารศัตรูพืชที่ใกล้ที่สุด เพื่อป้องกันการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย อันจะส่งผลกับตัวเกษตรกรเองและสิ่งแวดล้อม เพราะโรคและแมลงแต่ละชนิดใช้สารเคมีต่างกัน และถ้าเป็นไปได้ควรพิจารณาการป้องกัน หรือกำจัดทางชีววิธีเป็นอันดับแรก เพื่อความปลอดภัย ประหยัด และหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น สำหรับท่านที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการเตรียมต้นพันธุ์ การเตรียมดินและการใส่ปุ๋ย การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว รวมทั้งการรู้จักป้องกันโรคและแมลงโดยใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล (ปุ๋ยปลาร้า)

สอบถามได้โดยตรงที่ กลุ่มวิชาการและฝึกอบรม สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 70110 หรืออี-เมล amornsri@doae.go.th

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 462
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM