เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
หลักวิชา 5 ธาตุ กับการเกษตรด้านพืช
   
ปัญหา :
 
 
ท่านผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับคำว่า "ธาตุทั้ง 5" ซึ่งประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และธาตุโลหะ แล้วธาตุทั้ง 5 นี้ไปเกี่ยวข้องกับการเกษตรได้อย่างไร แล้วท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์จะดำรงชีวิตอยู่ได้ต้องมีความสัมพันธ์กับธาตุทั้ง 5 นี้ โดยที่สิ่งมีชีวิตในโลกนี้เกิดมาแล้วก็ต้องตายไปตามอายุขัย แต่ธาตุทั้ง 5 นี้จะยังคงดำรงอยู่ตลอดไป เพียงแต่อาจเปลี่ยนสถานะได้ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ธาตุน้ำ เป็นได้ทั้งของเหลว ของแข็ง และไอน้ำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในขณะนั้นว่าสูงหรือต่ำ ฉะนั้น ถ้าเราคิดจะปลูกพืชให้ประสบความสำเร็จ ก็ควรทำความเข้าใจกับธาตุทั้ง 5 ให้ได้เสียก่อน

หลักวิชา 5 ธาตุ กับการเกษตรด้านพืชเป็นมรดกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจากชาวจีน เนื่องจากบิดาของผมได้อพยพมาจากประเทศจีน ซึ่งก็ได้รับการสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษเช่นกัน หลักวิชานี้จะแตกต่างกับทางฝั่งตะวันตก เพราะไม่มีงานวิจัยรองรับเหมือนของฝั่งตะวันตก ซึ่งทางฝั่งตะวันตกจะมีการบันทึกเป็นตัวอักษรผลของการวิจัยในผลงานนั้นๆ แต่ของชาวจีนจะใช้วิธีถ่ายทอดแบบปากต่อปาก ให้เฉพาะลูกหลานในตระกูลเท่านั้น ส่วนใหญ่จะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันคนนอกตระกูลขโมยวิชาของตระกูลออกไปใช้ประโยชน์ ขอยกตัวอย่างเรื่องหน้ากากเปลี่ยนหน้าของจีนที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก จะถ่ายทอดให้คนในตระกูลเท่านั้น

สำหรับตัวผมก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณพ่อ ตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งในความเป็นจริง หลักวิชานี้จะเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสัตว์ด้วย และในขณะนี้ผมก็กำลังศึกษาเรื่องธาตุทั้ง 5 ที่เกี่ยวกับมนุษย์อยู่ ถ้าได้ผลประการใด คงได้มีโอกาสถ่ายทอดเป็นหนังสือให้คนทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ซึ่งในชั้นนี้ผมจะเขียนเฉพาะด้านพืช เมื่อตอนที่คุณพ่อถ่ายทอดวิชานี้ให้ ก็ใช้วิธีบอกปากเปล่าเป็นภาษาจีน ผมต้องใช้เวลาเกือบ 40 ปี ทดสอบกับเรื่องต่างๆ ที่คุณพ่อถ่ายทอดให้ จนพอเข้าใจว่าพืชไปเกี่ยวข้องอะไรกับธาตุทั้ง 5 เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่าย ผมขอแบ่งหลักการปลูกพืชให้ประสบความสำเร็จเป็น 3 ส่วน โดยอาศัยหลักวิชา 5 ธาตุ ดังนี้

ส่วนที่ 1 ธาตุทั้ง 5 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และธาตุโลหะ

1. ธาตุดิน คือ ธาตุที่เกิดจากหิน สินแร่ และซากพืช ซากสัตว์ต่างๆ ที่ทับถมกันเป็นเวลานานแล้วย่อยสลายเป็นดิน เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมาย เช่น ไส้เดือน หรือจุลินทรีย์ มีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช 13 ธาตุ ในการดำรงชีวิต และเป็นธาตุที่รองรับสสารกับวัตถุต่างๆ บนโลก เช่น ยางพาราที่ยืนต้นได้ ไม่โค่นล้ม ก็เพราะอาศัยดินเป็นตัวยึดรากเอาไว้

2. ธาตุน้ำ คือ ธาตุไฮโดรเจน (H) กับธาตุออกซิเจน (O) ดั่งคำที่กล่าวกันว่า "น้ำ คือชีวิต" เพราะไม่ว่าพืชหรือสัตว์ ถ้าไม่มีน้ำ ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

3. ธาตุลม คือ ธาตุคาร์บอน (C) และธาตุออกซิเจน (O) พืชและสัตว์ก็ต้องหายใจ ถ้าขาดธาตุลม ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ต้นไม้ที่เราเห็นตั้งแต่ราก ลำต้น กิ่ง ใบ ก็คือองค์ประกอบของธาตุคาร์บอน แม้แต่น้ำยางหรือแผ่นยางพาราก็มีธาตุคาร์บอนปะปนอยู่เช่นกัน

4. ธาตุไฟ คือ อุณหภูมิและแสงแดด โดยเฉพาะพืชที่มีสีเขียว (คลอโรฟิลล์) จำเป็นต้องอาศัยแสงแดดในการปรุงอาหาร หรือสังเคราะห์แสง ถ้าพืชขาดแสงแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

5. ธาตุโลหะ คือ ปัจจัยการผลิตทั้งหมด ได้แก่ พันธุ์พืช ธาตุอาหาร สินแร่ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก เช่น ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น ถ้าเป็นพันธุ์พืช ได้แก่ ต้นยางพารา ต้นมะม่วง และพืชชนิดต่างๆ

ส่วนที่ 2 การฝึกอวัยวะทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ปาก และมือ

1. ตา ต้องหมั่นใช้ตาสังเกต หรืออ่านหนังสือวิชาความรู้ต่างๆ ให้มาก เกษตรกรโดยทั่วไปมักขาดการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น

พืชที่เราปลูก จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามฤดูกาล และอายุของมัน เมื่อเราปลูกทุเรียน เราจะรู้สึกและสนใจก็ต่อเมื่อต้นทุเรียนออกดอกและติดผลแล้ว ซึ่งก่อนหน้านั้น เกษตรกรส่วนใหญ่มักไม่ได้สังเกตกระบวนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุเรียน การสังเกตจะทำให้เราสามารถเห็นความปกติหรือความไม่ปกติได้ และสามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดความเสียหาย

การเพาะเห็ดก้อนในโรงเรือน โดยใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุทำก้อน เราต้องฝึกใช้ตาสังเกตสีของขี้เลื่อยว่า ลักษณะสีแบบไหนเหมาะสมที่จะนำมาเพาะเห็ดได้

การสังเกตต้นไม้พื้นเมืองในท้องถิ่น ลักษณะเปลือกหนา เปลือกบาง หยาบหรือเรียบ แข็งหรืออ่อน มีราหรือตะไคร่เกาะอยู่มากน้อยเพียงใด ลักษณะทรงพุ่มใหญ่หรือเล็ก ซึ่งลักษณะโครงสร้างภายนอกเหล่านี้ สามารถประมาณการได้ว่า ในพื้นที่นั้นๆ มีปริมาณน้ำฝนประมาณกี่มิลลิเมตรในแต่ละปี

2. หู ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อมีผู้รู้ ครู อาจารย์ หรือปราชญ์ ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ ต้องตั้งใจฟัง และนำมาวิเคราะห์ แยกแยะหาเหตุและผล ดังคำสอนในพุทธศาสนาที่ว่า เมื่อเกิดผลในปัจจุบัน ก็ต้องมีเหตุมาจากอดีต เช่น การได้กินผลมะม่วงในวันนี้ เหตุก็เพราะเราปลูกต้นมะม่วงมาก่อน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราปลูกต้นยางพาราแล้วออกลูกมาเป็นผลมะม่วง

3. จมูก โดยทั่วไปคนที่ร่างกายปกติ จมูกจะสามารถแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้ดี เช่น กลิ่นน่ารับประทานของทุเรียน กลิ่นหอมของดอกมะลิ กลิ่นเหม็นของขยะ เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรจึงควรฝึกใช้จมูกแยกแยะกลิ่นให้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการทำการเกษตรได้มาก เช่น ฝึกใช้จมูกแยกแยะกลิ่นปุ๋ยชนิดต่างๆ ปุ๋ยยูเรียมีกลิ่นแบบไหน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีมีกลิ่นแบบไหน การดมกลิ่นขี้เลื่อยเพื่อเพาะเห็ด กลิ่นขี้เลื่อยคุณภาพดี จะต้องไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว หรือการใช้จมูกดมกลิ่นดิน จะสามารถบอกได้ว่า ดินตรงนี้มีอินทรียวัตถุมากหรือน้อย มีสารเคมีฆ่าหญ้ามากหรือน้อย

4. ลิ้น ลิ้นสามารถแยกแยะรสชาติได้ ฉะนั้น ควรรู้จักใช้ลิ้นให้เกิดประโยชน์ เช่น เราปลูกไม้ผลอะไรสักอย่าง เราต้องใช้ลิ้นชิมดูว่าผลไม้ที่เราปลูกมีคุณภาพรสชาติตามที่ต้องการหรือไม่ ถ้าชิมแล้วคุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการ แสดงว่าอาจเกิดจากการได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในขณะนั้น เช่น อุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้คุณภาพของผลไม้ด้อยลงได้

5. มือ มือช่วยเราทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย นอกจากเราใช้มือในการจับถือสิ่งของต่างๆ หรือเขียนหนังสือแล้ว เรายังสามารถรับรู้และรู้สึกได้จากการสัมผัสด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นการบีบคลำนวด ในด้านการเกษตรก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

การทำเห็ดก้อน เมื่อเราผสมวัสดุต่างๆ ตามอัตราส่วนแล้ว เราต้องใช้มือกำขี้เลื่อยแล้วแบ เพื่อให้รู้ว่าขี้เลื่อยมีความชื้นพอเหมาะที่จะนำมาบรรจุถุงได้หรือไม่ หรือการหาความชื้นในโรงเปิดดอกเห็ดว่ามีความชื้นพอหรือไม่ ให้ใช้มือโบกสะบัดไปมาในโรงเรือน หลังมือเราก็จะสัมผัสได้ว่ามีความชื้นในขณะนั้นมากน้อยแค่ไหน หรือการใช้มือคลึงหรือบี้ดิน เพื่อให้รู้ลักษณะโครงสร้างเบื้องต้นของดินว่าเป็นดินประเภทไหน เช่น ดินเหนียว ดินร่วน หรือดินทราย เพื่อที่จะได้กำหนดพืชที่เหมาะสมที่จะปลูกกับประเภทของดินนั้นๆ เพราะพืชแต่ละชนิดเหมาะสมกับดินแต่ละประเภทต่างกัน เช่น ข้าว ชอบดินเหนียว พืชผักชอบดินร่วน ยางพารา ชอบดินร่วนเหนียวและดินร่วนทราย

การใช้อวัยวะทั้ง 5 นี้ ผมเพียงยกตัวอย่างขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรที่สนใจนำไปฝึกฝน เพราะมีพืชมากมายหลายชนิดที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพภูมิประเทศ สภาพดิน และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงทำให้การฝึกใช้อวัยวะทั้ง 5 ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป

ส่วนที่ 3 การเข้าใจองค์ความรู้ 4 เรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของตนเอง และศึกษาจากตำรา จากครูอาจารย์ องค์ความรู้ 4 ที่ต้องเข้าใจ ได้แก่

1. ดิน เราต้องมีความรู้พื้นฐานลักษณะโครงสร้างดินในพื้นที่การเกษตรของเราก่อนว่าเป็นดินประเภทใด เช่น ดินร่วน ดินเหนียว ดินทราย ดินลูกรัง มีการระบายน้ำดีหรือไม่ มีความลึกของหน้าดินมากน้อยเพียงใด เพื่อสามารถกำหนดพืชที่ปลูกให้เหมาะสม หรือหากจำเป็นก็ต้องปรับปรุงดินให้เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าจะปลูกทุเรียน ซึ่งเป็นพืชยืนต้น ก็ควรต้องมีหน้าดินลึกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร เพราะรากดูดหาอาหารของทุเรียนจะแผ่ขยายที่ระดับ 50 เซนติเมตร จากผิวดิน แต่หากจะปลูกพืชผัก พืชไร่ หรือพืชล้มลุกต่างๆ ควรมีหน้าดินลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร จากผิวดินก็เพียงพอ หรือหากจะปลูกยางพาราในพื้นที่ดินทราย เช่น ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็จะต้องมีการปรับปรุงดินเพื่อให้ปลูกยางได้ประสบผลสำเร็จ เช่น ปลูกปอเทือง หรือถั่วพร้า ให้เต็มพื้นที่ เมื่อออกดอกก็ไถกลบ จากนั้นขุดหลุมให้กว้าง ยาว และลึก ประมาณ 80 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 7-8 กิโลกรัม ผสมแกลบสด 1-2 กิโลกรัม ผสมกับดินบนแล้วกลบดินลงในหลุมก่อนปลูก ประมาณ 1 เดือน จากนั้นปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว แล้วปลูกยางตาม ในช่วงปีแรกควรมีการให้น้ำต้นยางในช่วงฤดูแล้ง จะช่วยให้ต้นยางรอดตายสูง และมีการปฏิบัติดูแลรักษาตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง

2. สภาพแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช เช่น สภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ (แสงแดด) ลม และความชื้นสัมพัทธ์

2.1 สภาพภูมิประเทศ เช่น พื้นที่ราบ ที่ลุ่ม ที่ดอน พื้นที่ลอนลูกคลื่น พื้นที่สูง ลักษณะต่างๆ ของสภาพพื้นที่จะเป็นตัวกำหนดว่าควรปลูกพืชชนิดไหน จึงจะเหมาะสม เช่น ยางพารา ไม่เหมาะสมปลูกในพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมขัง ระดับน้ำใต้ดินสูง หรือพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 600 เมตร ขึ้นไป พื้นที่ลุ่มดังกล่าวควรปลูกข้าวจะเหมาะสมกว่า

2.2 ปริมาณน้ำฝน มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของพืช พืชแต่ละชนิดมีความต้องการปริมาณน้ำที่แตกต่างกัน ฉะนั้น เราต้องทราบข้อมูลปริมาณน้ำฝนในพื้นที่การเกษตรของเราด้วย เพื่อสามารถกำหนดพืชปลูกที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีด้วย เช่น ยางพารา ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 1,250 มิลลิเมตร ต่อปี และมีการกระจายตัวของฝน หรือมีจำนวนวันฝนตก 120-150 วัน ต่อปี และต้องดูเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ลักษณะดิน ลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วย

2.3 อุณหภูมิ หรือแสงแดด พืชแต่ละชนิดมีความต้องการปริมาณแสงแดดเพื่อการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตแตกต่างกัน เช่น ยางพารา ต้องการแสงแดด 100% ส่วนดาหลา ต้องการแสงแดด 60-70% หรือเห็ดนางรมภูฏานก้อน จะออกดอกได้ดีที่อุณหภูมิในโรงเรือน 29 องศาเซลเซียส เป็นต้น ฉะนั้น เราจึงต้องเข้าใจพืชที่จะปลูกว่า มีความต้องการแสงแดดหรืออุณหภูมิที่เหมาะสมอย่างไร

2.4 ความชื้นสัมพัทธ์ มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโต การผสมเกสร การออกดอก และการติดผล ตลอดจนคุณภาพของผลผลิต เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการความชื้นสัมพัทธ์แตกต่างกัน เช่น ทุเรียน ที่กำลังติดผล ถ้าได้รับความชื้นสัมพัทธ์สูงเกินไป ก็จะทำให้ไส้ซึม คุณภาพไม่ดี

หรืออีกกรณีผมขอยกตัวอย่างจากการทดลองของผม เรื่อง เปลือกลำต้นลองกองแตกก่อนเก็บเกี่ยว ผมได้ทดลองอยู่ 5 ปี ในแปลงทดลอง 12 ไร่ โดยแบ่งเปรียบเทียบการทดลองแปลงละ 6 ไร่ แปลงหนึ่งกำจัดวัชพืชบริเวณรอบโคนต้นจนสะอาด อีกแปลงไม่มีการกำจัดวัชพืช โดยใช้เครื่องตัดหญ้า ตัดปีละครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อลองกองติดผล ก็จะปล่อยให้วัชพืชขึ้นจนรก การให้น้ำและปุ๋ยก็ไม่มีการกำจัดวัชพืชออก และบันทึกอุณหภูมิบริเวณทรงพุ่มทุกวัน วันละ 2 เวลา คือช่วงเช้าเวลา 08.00 น. และช่วงบ่ายเวลา 15.00 น. พบว่า แปลงที่ปล่อยให้มีวัชพืชขึ้นรก ต้นลองกองเปลือกไม่แตก ส่วนแปลงที่กำจัดวัชพืชจนโล่งเตียน ต้นลองกองเปลือกแตก แสดงให้เห็นว่า เปลือกลำต้นบริเวณรอบทรงพุ่ม ที่มีวัชพืชปกคลุม มีความชื้นสูง เมื่อฝนตก เปลือกจะไม่แตก ส่วนต้นที่ไม่มีวัชพืชปกคลุม มีความชื้นต่ำเมื่อถูกฝนเปลือกจะแตกหมด เพราะปรับตัวไม่ทัน เนื่องจากขณะฝนตก อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อปะทะกับอุณหภูมิสูงในทรงพุ่ม จึงทำให้เปลือกแตก

2.5 ลม มีผลต่อการปรุงอาหารของพืช ถ้าลมแรงทำให้ใบพลิกไปมา ก็จะทำให้การปรุงอาหารของพืชไม่ต่อเนื่อง หรือทำให้ต้นไม้หักโค่นล้มเสียหายได้ ยกตัวอย่างเช่น

- การปลูกยางพารา เราควรต้องทราบทิศทางลมในพื้นที่ด้วย ถ้ากระแสลมมาจากทิศใต้ เราต้องปลูกไม้กันลมดักไว้ หรือปลูกยางพันธุ์ต้านทานลมดักไว้ทางทิศใต้ 4-5 แถว ส่วนแถวในใช้พันธุ์ที่ต้องปลูกต่อไป

- โรงเรือนเพาะเห็ด ควรมีฉากกั้นหน้าประตูอีกชั้น เพื่อป้องกันลมพัดเข้าโรงเพาะเห็ด เพราะหากมีลมเข้าโรงเรือน จะทำให้การเดินทางของเส้นใยเห็ดชะงักการเจริญเติบโต

2.6 ฤดูกาล เราต้องทราบฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝน ฤดูร้อน หรือฤดูหนาว ในพื้นที่การเกษตรของเราอยู่ในช่วงเดือนไหน เพื่อสามารถกำหนดการปลูกพืชได้ถูกต้อง โอกาสรอดตายสูง

3. ธาตุอาหารพืช ก็คืออาหารของพืช โดยทั่วไปพืชที่มีใบสีเขียว ต้องการธาตุอาหารทั้งหมด 16 ธาตุ แต่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป 3 ธาตุ ได้แก่ ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O) และคาร์บอน (C) ส่วนอีก 13 ธาตุ จะอยู่ในดิน ซึ่งแบ่ง 3 ส่วน ตามความจำเป็นของพืช ได้แก่

3.1 ธาตุที่พืชต้องการมาก ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K)

3.2 ธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S)

3.3 ธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ ได้แก่ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) ทองแดง (Cu) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) และคลอรีน (Cl)

ถ้าพืชขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง ก็มีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต ฉะนั้น เราต้องเข้าใจในธาตุอาหารพืชแต่ละตัวด้วยว่ามีคุณสมบัติและหน้าที่แตกต่างกัน ถ้าพืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ ก็จะแสดงอาการขาดธาตุอาหารให้เราเห็นได้ ยกตัวอย่างเช่น

ถ้าพืชขาดธาตุไนโตรเจน (N) ตัวใบจะมีสีเหลืองซีดอย่างสม่ำเสมอทั้งใบ ธาตุไนโตรเจนมีหน้าที่สร้างการเจริญเติบโตให้กับพืช เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ (ส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช) แต่ถ้าพืชได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป จะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง และโครงสร้างลำต้นอ่อนแอ ในยางพาราหากได้รับธาตุไนโตรเจนมากเกินไป ลำต้นจะโค้งโน้มลง ธาตุไนโตรเจนมีคุณสมบัติพืชดูดไปใช้ได้เร็วถ้าอยู่ในรูปสารเคมี เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จะละลายน้ำได้ดี เมื่อสัมผัสกับอากาศก็จะระเหยไปในอากาศได้ มีสถานะเป็นกรดและเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในโลก ประมาณ 78% ของธาตุทั้งหมด

ถ้าพืชขาดธาตุฟอสฟอรัส (P) จะเกิดอาการใบไหม้ที่ปลายใบแห้งกรอบ ธาตุนี้มีหน้าที่สร้างเซลล์ตาดอก และระบบราก เป็นส่วนองค์ประกอบของเนื้อไม้ให้แข็งแรง เป็นธาตุมีค่าโมเลกุลสูง ละลายช้า ฉะนั้น การใส่ปุ๋ยที่ให้ธาตุฟอสฟอรัส ต้องใส่ให้กระจาย อย่าให้เป็นกลุ่ม เพราะทำให้พืชตายได้ เนื่องจากธาตุฟอสฟอรัสดูดน้ำเลี้ยงจากรากออกมามากเพื่อปรับสภาพบริเวณนั้นให้ค่าสมดุล รากพืชจึงจะดูดซึมกลับเข้าไปได้ แต่ถ้าบริเวณนั้นมีธาตุนี้มากเกินไป จะทำให้พืชสูญเสียน้ำมาก ทำให้ต้นแห้งตายในที่สุด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปุ๋ยเค็ม ทำให้พืชตาย

ดังนั้น เราต้องมีความเข้าใจคุณสมบัติและหน้าที่ของธาตุอาหารพืชแต่ละธาตุ และสังเกตลักษณะอาการของพืชที่ขาดธาตุอาหารได้ ก็จะทำให้เราสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องและช่วยลดต้นทุน

4. การจัดการก็คือ การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมที่จะปลูกและการดูแลรักษา เช่น ถ้าเราจะปลูกยางพาราในพื้นที่มีปัญหาโรคใบร่วงและฝักเน่า หรือโรคเส้นดำ ที่เกิดจากเชื้อไฟทอปทอร่า (Phytophthora) ระบาด เราต้องปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรคแทนพันธุ์ RRIM 600 ซึ่งอ่อนแอต่อโรค ได้แก่ พันธุ์ RRIT 251 หรือ RRIT 226 หรือ BPM 24 เพราะต้านทานต่อโรคได้ดี ส่วนการดูแลรักษาพืชที่ปลูก เราสามารถศึกษาได้จากตำรา ตามคำแนะนำของพืชแต่ละชนิดได้จากเว็บไซต์ของทางราชการ หรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือจากห้องสมุด

กล่าวโดยสรุป การทำการเกษตรด้านพืชให้ประสบผลสำเร็จ เราต้องรู้จักพืชที่จะปลูก รู้จักสภาพพื้นที่ สภาพดิน และรู้จักสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด รู้จักสังเกต ศึกษา เรียนรู้ ทดลองพิสูจน์หาเหตุผล ซึ่งโดยรวมก็คือ การอาศัยหลักวิชาธาตุทั้ง 5 อวัยวะทั้ง 5 และองค์ความรู้ 4 ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

บทความที่ผมเขียนข้างต้นนี้ ผมได้สรุปนำส่วนที่สำคัญแยกออกเป็น 3 ส่วน โดยอาศัยการได้รับถ่ายทอดมาจากภาษาจีน ผนวกกับประสบการณ์ของตนเอง เพราะถ้าผมเขียนโดยละเอียดในแต่ละส่วน ต้องใช้เวลานานและต้นทุนสูงเพื่อที่จะเดินทางไปทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยการถ่ายภาพลักษณะต่างๆ ในแต่ละท้องที่ เช่น สภาพภูมิประเทศ ลักษณะโครงสร้างดิน ต้นไม้ประจำถิ่น และข้อมูลภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทำให้ต้องรวบรวมเรื่องเหล่านี้เป็นหมวดหมู่แล้วเขียนอธิบายตามภาพประกอบในแต่ละส่วน แต่ ณ เวลานี้ ผมไม่สามารถทำได้ดังที่คิด จึงจำเป็นต้องเรียบเรียงเอาแต่ส่วนที่เป็นหัวใจของการทำการเกษตรด้านพืชที่ประสบความสำเร็จ เขียนเป็นบทความนี้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ บทความนี้เปรียบเสมือนตัวจิ๊กซอว์ 14 ชิ้น ที่ผมใส่ลงในกรอบรูป ส่วนที่เหลือท่านผู้อ่านต้องนำไปต่อยอดเอาเอง เพื่อให้เกิดภาพที่สมบูรณ์ โดยการหมั่นฝึกใช้อวัยวะทั้ง 5 หาประสบการณ์ด้วยตนเอง และศึกษาจากตำราวิชาการต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกัน ท่านก็จะประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน รักษาสภาพแวดล้อมและลดต้นทุน โดยปกติเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคจะใช้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตนเอง แต่ขอถามว่าทุกวันนี้เรานำออกมาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน

จริงอยู่ภูมิปัญญาเหล่านี้ส่วนมากไม่มีงานวิจัยรองรับ แต่ก็ใช้ได้ผลในทางปฏิบัติ เหมือนหลักวิชาธาตุทั้ง 5 ของชาวจีนที่ผมได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งไม่มีงานวิจัยรองรับเช่นกัน แต่ก็ได้ผลในทางปฏิบัติเหมือนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเรา ผมหวังว่า บทความชิ้นนี้จะสามารถจุดประกายความคิด และเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สนใจในการทำการเกษตรได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันพวกเราก็กำลังย้อนกลับไปหาภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่มิใช่หรือ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ฉะเชิงเทรา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 465
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM