เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ละมุดมะกอกใหญ่ (หวานสุก) นงลักษณ์ ทองศรีสมบูรณ์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ต.ดอนไผ่ อ.ดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี แนะทำละมุดนอกฤดูขาย ได้ราคาดี
   
ปัญหา :
 
 
ละมุดมะกอกใหญ่ (หวานสุก) นงลักษณ์ ทองศรีสมบูรณ์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ต.ดอนไผ่ อ.ดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี แนะทำละมุดนอกฤดูขาย ได้ราคาดี

ละมุด ผลไม้รสหวานหอม นิยมบริโภคกันทั่วไป พื้นที่ปลูกแหล่งใหญ่อยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มีแพร่หลายอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์มะกอกใหญ่ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า พันธุ์หวานสุก กับอีกพันธุ์หนึ่งคือ "พันธุ์มาเลย์" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "พันธุ์กระสวย" รูปลักษณะทรงผลจะเป็นทรงรีคล้ายไข่ไก่ ส่วนพันธุ์หวานสุกผลจะออกกลมป้อมๆ ละมุดเป็นพืชชอบน้ำ ปลูกได้ทั้งในระบบพื้นที่ราบหรือยกร่องสวน


คุณนงลักษณ์ ทองศรีสมบูรณ์ เกษตรกรหญิงคนเก่งแห่งบ้านหมู่ที่ 2 ตำบลดอนไผ่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ที่เพิ่งจะวางมือจากการดูแลลูกบ้านเมื่อไม่นานมานี้เอง สืบเนื่องจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมา 5 ปี และอายุเกิน 60 ปี จึงหมดสิทธิ์ต่อการเข้ามาแข่งขันเป็นผู้ใหญ่บ้านอีกครั้งหนึ่ง ทุกวันนี้ อดีตผู้ใหญ่นงลักษณ์จึงอยู่กับบ้านช่วยลูกชายและหลานๆ ทำสวนในที่สวนของตนเอง เนื้อที่ 14 ไร่เศษ

คุณนงลักษณ์ บอกว่า ปลูกละมุดเต็มพื้นที่ 14 ไร่ มีละมุดอยู่ราว 500 ต้น ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์มะกอกใหญ่ หรือพันธ์หวานสุก ละมุดแต่ละต้นอายุราว 12 ปี ปลูกมาแล้วรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 2 ทุกต้นให้ผลผลิตดี

"ละมุดที่สวนจะทำให้เก็บผลได้ในช่วงเดือนกันยายน จะได้ราคาดีกว่าละมุดที่ติดตามฤดูกาล เก็บขายในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งในช่วงนั้นจะมีละมุดออกมาพร้อมๆ กันมากมาย ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ซึ่ง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ราคาขายหน้าสวนถึงกับขาดทุนเลยทีเดียว"

คุณนงลักษณ์ กล่าวและว่า สำหรับที่สวนจะหนีไม่ให้ผลผลิตออกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยทำให้เก็บผลละมุดได้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งทำได้ไม่ยุ่งยากอะไรเลย

คุณนงลักษณ์ แนะนำต่อไปอีกว่า ก่อนอื่นช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศกำลังหนาว เป็นช่วงที่ละมุดพักต้น ระหว่างนี้ต้องทำให้ต้นเบาก่อน คือเก็บผลละมุดผลเล็กผลน้อยออกให้หมด จากนั้นก็บำรุงต้นให้ต้นสะสมอาหารให้เต็มที่ ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ให้แตกใบอ่อนครั้งหนึ่ง

เตรียมต้นให้สมบูรณ์จนกระทั่งเดือนมีนาคมดูว่าต้นสมบูรณ์เต็มที่ ใบเขียวเข้มเป็นมันดีแล้ว งดการให้น้ำ ตากดินให้แห้ง ให้ต้นอดน้ำไม่เกิน 20 วัน ดูใบจะสลดเพราะขาดน้ำ ถึงตอนนั้นให้ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตรเสมอ อัตราส่วน 1 ต้น ประมาณครึ่งกิโลฯ ไม่ต้องมาก พอหว่านปุ๋ยเสร็จให้ขึ้นน้ำทันทีจนดินชุ่ม แล้วเว้นระยะ 2 วัน ขึ้นน้ำที ใบจะสดใสขึ้นมา ไม่ช้าต้นก็จะแตกใบและติดตาดอกให้เห็น ก่อนดอกบานฉีดยาป้องกันแมลงหวี่ขาว ยาควบคุมหนอน และป้องกันเชื้อรา ผสมฉีดให้ทั่ว ประมาณ 2 ครั้ง หลังดอกบานงดการใช้ยา จนกระทั่งละมุดติดผลเล็กๆ คราวนี้ต้องฉีดยาครอบจักรวาลคุมหนอนคุมแมลงทุก 7 วัน ไปเรื่อยๆ

จนกระทั่งผลใหญ่ขนาดผลมะยม จึงค่อยๆ ห่างยา แต่ก็ต้องคุมเป็นระยะ ป้องกันไม่ให้หนอนหรือแมลงลงเจาะผล จนกระทั่งผลใหญ่ขนาดหัวแม่มือจึงจะปลอดภัย

สำหรับฮอร์โมนบำรุงดอก บำรุงผล ก็ต้องให้ทุกระยะของการเจริญเติบโต ทางดินต้องเปลี่ยนสูตรปุ๋ยตามการเจริญเติบโต พอผลโตก็ให้ปุ๋ยหว่านครั้งหรือสองครั้งก่อนเก็บ หากมีฝนตกฉีดฮอร์โมนไม่สะดวกก็ให้ปุ๋ยเกล็ดบ้าง

"เกษตรกรดำเนินสะดวก เป็นนักเคมีกันทุกคน มีอะไรๆ ผสมปนเปกันไปหมด หากจะถามว่าต้องใช้ยาสูตรอะไรบ้าง คงบอกไม่ได้ เพราะว่าลูกชายฉันเขาเป็นนักเคมี ผสมโน่นผสมนี่ เอายาสูตรนั้นสูตรนี้มาผสมปนเปกัน แล้วฉีดป้องกันแมลงศัตรูทำลายทั้งดอก ทั้งผล แถมด้วยฮอร์โมนสูตรต่างๆ อีก ก็เลยบอกไม่ได้ว่าเป็นสูตรอะไร เพราะมันผสมปนเปกัน"

คุณนงลักษณ์ กล่าวอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับบอกต่ออีกว่า ลูกชายฉันเขาก็เป็นนักเคมี เที่ยวไปคุยกับเพื่อนบ้านที่ทำสวนด้วยกัน แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เกษตรกรย่านนี้ดีหน่อยที่ไม่ปิดบังเรื่องของการใช้ยา ใช้ปุ๋ย เราจึงสามารถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันนำมาใช้ในสวนได้ อีกทั้งตัวเองก็ต้องมีการประยุกต์ใช้กับสวนของเราด้วย

สำหรับการปลูกละมุดนั้นไม่ยุ่งยากเลย ใช้กิ่งตอนปลูกจะเหมาะกว่า คุณนงลักษณ์ บอกว่า ขุดหลุมให้ใหญ่สักหน่อย รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก เอากิ่งพันธุ์ลงปลูก รดน้ำสม่ำเสมอ พอต้นแข็งแรงใส่ปุ๋ยทางดินน้อยๆ ใช้สูตรเสมอก็ได้สะดวกดี ให้ปุ๋ย 3 เดือนครั้ง จนกระทั่งต้นเติบโตเต็มที่

ละมุดถ้าได้น้ำสม่ำเสมอ ได้ปุ๋ยบำรุงเต็มที่ ต้นจะโตเร็วมาก เพียงแค่ 3 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว แต่ยังไม่เต็มที่ เข้าปีที่ 4 ละมุดจะเริ่มติดดกขึ้น จะไปให้ผลผลิตดีก็ช่วงปีที่ 5-6 ถึงคราวนี้ต้องบำรุงต้นก่อนติดดอกออกผล หลังเก็บผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ย พักต้นให้ต้นสะสมอาหารจนเต็มที่จึงรดน้ำ แล้วก็ขึ้นน้ำอีกที ละมุดก็จะติดดอกออกผลอีกรุ่นหนึ่ง หากจะให้ละมุดติดผลนอกฤดูก็ให้เตรียมต้นช่วงวันเวลาดังกล่าวข้างต้น

คุณนงลักษณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า พอเก็บผลลงมาจากต้น ก็ยังต้องมาผ่านพิธีการล้างผลกันก่อน โดยการนำผลมาใส่ใน "กร๊อ" ภาชนะทรงกลมทำด้วยตาข่ายหรือไม้ตีแนวขวางโดยรอบ ติดตั้งแช่ไว้ในน้ำครึ่งหนึ่ง เอาผลละมุดใส่ลงไปในกร๊อ ติดเครื่องมอเตอร์ ให้มอร์เตอร์หมุนกร๊อ ละมุดที่อยู่ในกร๊อจะกลิ้งหมุนล้างน้ำจนสะอาด ในกร๊อสามารถใส่ละมุดล้างได้ประมาณ 200 กิโลกรัม หมุนกร๊อในน้ำประมาณ 5 นาที จึงเอาผลละมุดที่ล้างน้ำแล้วออกมา ย้อมสีโดยตักละมุดในกร๊อออกมาด้วยสวิงตาข่ายหนาจุ่มในน้ำผสมสีย้อมละมุด แล้วนำลงในรางไม้เพื่อคัดละมุด

จากนั้นก็ใช้มือคัดแยกละมุดใส่ตระกร้าส่งขาย ละมุดที่เก็บออกมานี้ยังสุกไม่เต็มที่ จะต้องบ่มอีก 2 คืน จึงจะใช้ได้

คุณนงลักษณ์ บอกว่า ลูกชายอีกคนหนึ่งมีแผงขายผลไม้ที่กรุงเทพฯ เขามีลูกค้ามารับซื้อต่ออีกช่วงหนึ่ง ลูกค้าบางรายก็ต้องการละมุดดิบๆ อย่างนี้ เขาจะเอาไปบ่มเองหรือขาย ก็จะบอกลูกค้าว่าจะต้องบ่มต่อ หรือบางรายก็ต้องการละมุดบ่มสามารถรับประทานได้เลย เราก็จะแยกเอาไว้บ่มก่อน ขายตรงนี้อยู่ที่ผู้ซื้อว่าต้องการละมุดดิบหรือบ่มสุกแล้ว

ละมุดจากสวนจะส่งขายไปทั่วประเทศ ส่วนเรื่องของราคาละมุดนั้น คุณนงลักษณ์ บอกว่า หากทำให้เก็บผลได้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร ปีนี้ราคาพอไปได้ แต่ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ละมุดช่วงฤดูกาลคือ เก็บผลตอนเดือน เมษายน-พฤษภาคม ราคาตกถึงกับขาดทุน ละมุดถ้าขายต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท จากหน้าสวน ก็ขาดทุนแล้ว ที่ผ่านๆ มาชาวสวนแย่ไปตามๆ กัน สาเหตุหนึ่งก็คือ ราคาปุ๋ย ราคายาเคมีแพงมาก

คุณนงลักษณ์ บอกว่า ละมุดสามารถปลูกได้ทั่วไป แต่ต้องมีข้อแม้ว่าดินต้องดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถบังคับน้ำได้ ก็สามารถปลูกละมุดให้ผลดีได้ ปลูกละมุดต้องใกล้แหล่งน้ำ หากปลูกระบบไร่ผลผลิตที่ออกมาจะต่างไปจากละมุดสวนแถบดำเนินสะดวก ละมุดจากสวนดำเนินฯสะดวกเนื้อจะละเอียดหวานหอม และกรอบ ส่วนละมุดจากพื้นที่ไร่เนื้อจะออกหยาบเป็นเนื้อทราย ทั้งๆ ที่เป็นละมุดพันธุ์เดียวกัน แต่พื้นที่ปลูกต่างกัน เนื้อละมุดจะออกมาไม่เหมือนกัน

คุณนงลักษณ์ กล่าวอีกว่า ใครๆ มักถามว่า ทำไม ต้องย้อมสีละมุดด้วย เกษตรกรชาวสวนละมุดก็สงสัยเหมือนกันว่าผู้บริโภคทำไมไม่ยอมรับละมุดที่ไม่ย้อมสี เกษตรกรเองไม่อยากเสียเงินไปซื้อสีย้อมละมุดมาย้อมหรอก ราคาค่าสีย้อมละมุดหนึ่งกิโลฯ ราคาพันกว่าบาทแล้ว ไม่ใช่ถูกๆ

ละมุดที่ไม่ย้อมสีผิวเปลือก ผลจะออกสีน้ำตาลขาว ดูไม่สวย ถ้านำมาวางคู่กับละมุดย้อมสี ผู้คนร้อยทั้งร้อยจะเลือกละมุดสวยที่ย้อมสี ในเมื่อผู้บริโภคต้องการละมุดสวย ผู้ขายก็ต้องทำละมุดสวยๆ ขายเช่นกัน ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องผลิตละมุดสวยย้อมสีออกขายด้วยเหตุฉะนี้

สำหรับเกษตรกรรายใดสนใจในเรื่องของละมุด หรือจะซื้อไปขาย ไปดูงาน เชิญโทร. คุยกับ คุณนงลักษณ์ ได้ที่ โทร (081) 704-4194 เจ้าตัวบอกยินดีต้อนรับทุกท่าน...เชิญนะ เจ้าคะ
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 465
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM